Skip to main content
sharethis

หนังสือชื่อ "I am Malala" ที่ร่วมกันเขียนโดยมาลาลา ยูซาฟไซ วัยรุ่นหญิงนักรณรงค์การศึกษาในปากีสถานที่ถูกกลุ่มตาลีบันยิง กับนักข่าวอังกฤษ ถูกสหพันธ์รร.เอกชนของประเทศเธอสั่งแบน โดยอ้างว่าเนื้อหาไม่เป็นไปตามหลักศาสนา ขณะที่กลุ่มฝ่ายขวาในประเทศพากันวิจารณ์ว่ามาลาลาตกเป็นเครื่องมือของชาติตะวันตก

12 พ.ย.2556 เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา สำนักข่าวดิอินดิเพนเดนท์ กล่าวถึงกรณีที่องค์กรสหพันธ์สถานศึกษาเอกชนปากีสถาน ซึ่งเป็นตัวแทนของสถาบันการศึกษา 152,000 แห่งทั่วประเทศปากีสถานสั่งแบนหนังสือ "I am Malala" โดยเกรงว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้เกิด "ผลเสีย" ต่อเด็กนักเรียน เนื่องจากเนื้อหาในหนังสือไม่เป็นไปตามหลักศาสนาอิสลาม

หนังสือชื่อ "I am Malala" มีผู้ร่วมเขียนคือ มาลาลา ยูซาฟไซ หญิงวัยรุ่นชาวปากีสถานอายุ 16 ปี นักรณรงค์สนับสนุนการศึกษาผู้เคยถูกกลุ่มตาลีบันยิง กับนักข่าวชาวอังกฤษ คริสติน่า แลมบ์ หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้ว โดยเนื้อหาเล่าถึงชีวิตของมาลาลาขณะอาศัยอยู่ในหุบเขาสวัดซึ่งพ่อของเธอเป็นเจ้าของโรงเรียนเอกชนช่วงที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน เนื้อหาเหล่านี้นำมาจากการเขียนบล็อกในบีบีซีและจากโครงการรณรงค์ให้ผู้หญิงได้รับการศึกษา

การแบนหนังสือดังกล่าวทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาหรือในห้องสมุดของโรงเรียนเอกชน โดยแม้ว่ารัฐบาลปากีสถานจะไม่นำหนังสือเล่มนี้มาสอนในโรงเรียนของรัฐ แต่ก็ยังไม่มีการสั่งแบน

เมอซา คาซีฟ ประธานองค์กรสหพันธ์สถานศึกษาเอกชนปากีสถานกล่าวว่า ทางสหพันธ์ได้ทำการตรวจสอบหนังสือเล่มนี้แล้วลงความเห็นว่าเป็นหนังสือที่ไม่เหมาะสมกับเด็กๆ ชาวปากีสถาน โดยเฉพาะเด็กนักเรียน เนื่องจากปากีสถานเป็นประเทศในเชิงอุดมการณ์และมีอุดมการณ์วางอยู่บนรากฐานของศาสนาอิสลาม หนังสือของมาลาลามีความคิดเห็นที่ขัดแย้งต่ออุดมการณ์ดังกล่าว

คาซีฟอ้างอีกว่าในหนังสือของมาลาลามีการปกป้องงานเขียนของนักเขียนซัลมาน รัชดี (นักเขียนลูกครึ่งอินเดีย-อังกฤษ ผู้เขียนเรื่อง "The Satanic Verses" ที่สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวมุสลิม) บนพื้นฐานเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็น และไม่มีการใช้วลี "ขอความสันติจงมีแต่ท่าน" เมื่อกล่าวอ้างถึงนบีมูฮัมหมัด คาซีฟบอกอีกว่าเขาสงสัยว่ามาลาลาไม่ได้เป็นผู้เขียนเนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือเล่มนี้ เพราะมีการกล่าวอ้างถึงเหตุการณ์ก่อนที่เธอจะเกิด

อย่างไรก็ตาม คาซีฟปฏิเสธว่าที่พวกเขาสั่งแบนไม่ใช่เพราะกลัวถูกโจมตี และเสนออีกว่าหากมาลาลาเปลี่ยนเนื้อหาไม่ให้มี "การทำร้ายจิตใจชาวมุสลิม" ในหนังสือ ทางสหพันธ์ฯ จะพิจารณาการตัดสินใจอีกครั้ง

"พวกเราเป็นผู้สนับสนุนมาลาลารายใหญ่ที่สุด มีโรงเรียนเอกชนถูกปิด (ตอนที่เธอถูกยิง) พวกเราสนับสนุนเธอ ไม่ได้ต่อต้านเธอ เธอเป็นเสมือนลูกสาวของพวกเรา" คาซีฟกล่าว

ชาวปากีสถานมีท่าทีต่อหนังสือเล่มนี้แตกต่างกัน มีคนจำนวนมากบอกว่าหนังสือของเธอถูกชาติตะวันตกนำมาใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ขณะที่ฝ่ายตาลีบันขู่ว่าจะมีการโจมตีร้านหนังสือที่มีหนังสือเล่มนี้ในสต็อก

แต่ผู้เฝ้ามองสถานการณ์ในปากีสถานก็บอกว่าการแบนหนังสือเล่มนี้มีเหตุผลมาจากข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในสังคมปากีสถานจากการกระทำของมาลาลา โดยเมื่อไม่นานมานี้ก็มีข้อถกเถียงกันเรื่องที่โรงเรียนลาฮอร์เริ่มมีการสอนวิชาเพศศึกษา

บินา ชาห์ นักเขียนนิยายและนักรณรงค์ด้านการศึกษาจากเมืองการาจีกล่าวว่า การตัดสินใจแบนหนังสือเล่มนี้มาจากการพยายามต่อต้านมาลาลาและหนังสือของมาลาลาโดยนักวิจารณ์ฝ่ายขวา ชาห์บอกอีกว่าการวิจารณ์ของนักวิจารณ์ฝ่ายขวาทำให้คนรู้สึกสับสนเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้จนทำให้ผู้ใหญ่หลายคนพยายามต่อต้าน

มาลาลาอาจได้รับการสนับสนุนจากชาวปากีสถานหลายคนโดยเฉพาะนักเรียนหญิง แต่ในโรงเรียนบลูมฟิลด์ฮอลล์มีการแสดงความเห็นต่อหนังสือของมาลาลาต่างกันไป เช่น ซูนาช ราซา หญิงวัยรุ่นอายุ 15 ปี กล่าวว่าแม้เธอจะเห็นใจมาลาลา แต่คิดว่าสุนทรพจน์ของมาลาลาที่สหประชาชาติจะเป็นการทำลายความภาพพจน์ของประเทศปากีสถาน

นักเรียนอีกคนขื่อ ยุมนา อัฟซัลอายุ 16 ปี กล่าวว่ามาลาลาเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กผู้หญิงทั่วประเทศเป็นการแสดงให้เห็นความสำคัญของการศึกษา เธอคิดว่าการสั่งแบนหนังสือเป็นเรื่องที่ผิดและเป็นการสมคบคิดเพื่อทำให้คนคิดว่ามาลาลาเป็นหุ่นเชิดของสหรัฐฯ

รามชา โชเอบ นักเรียนหญิงอายุ 15 ปี กล่าวว่าโดยส่วนตัวแล้วเธอคิดว่าการส่งมาลาลาเป็นตัวแทนของปากีสถานไปยูเอ็นเป็นเรื่องที่มีอคติ ในปากีสถานมีเด็กหญิงคนอื่นๆ ที่ใช้ชีวิตยากลำบากกว่ามาลาลาแต่ไม่เคยได้รับการเหลียวแล และเธอคิดว่าในฐานะที่มาลาลาเป็นผู้หญิง เธอควรแสดงให้เห็นภาพด้านบวกของประเทศมากกว่า

อนึ่ง มาลาลา ยูซาฟไซ ถูกคนของกลุ่มตาลีบันพยายามลอบสังหารโดยการยิงที่ศีรษะเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2555 ขณะกำลังเดินทางด้วยรถโดยสารจนถูกส่งไปรักษาตัวที่อังกฤษและกลายเป็นที่รู้จักของทั่วโลกในเวลาต่อมา

องค์กรสิทธิเด็กยูนิเซฟเปิดเผยว่าสถานการณ์ด้านการศึกษาในปากีสถานมีความท้าทายหลายด้าน โดยปากีสถานจัดเป็นประเทศที่มีจำนวนเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษามากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากไนจีเรีย ขณะเดียวกันก็มีเด็กผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้รับการศึกษาโดยเฉพาะในเขตชายแดนติดกับประเทศอัฟกานิสถาน จากการสำรวจพบว่าทั่วปากีสถานมีผู้หญิงวัยผู้ใหญ่ร้อยละ 45 ที่ได้รับการศึกษา ขณะที่ผู้ชายมีอยู่ร้อยละ 70

 

เรียบเรียงจาก

Inspiration or danger? Private schools in Pakistan ban Malala Yousafzai's book, The Independent, 10-10-2013
http://www.independent.co.uk/news/world/asia/inspiration-or-danger-private-schools-in-pakistan-ban-malala-yousafzais-book-8930925.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net