อัยการไม่อุทธรณ์คดีฟ้อง '3 แกนนำไทรอัมพ์' ชุมนุมร้องรัฐบาลอภิสิทธิ์แก้ปัญหาเลิกจ้าง

อัยการไม่อุทธรณ์คดี 3 แกนนำไทรอัมพ์ข้อหามั่วสุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง กรณีชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลอภิสิทธิ์แก้ไขปัญหาถูกเลิกจ้างตั้งแต่ปี 2552 หลังอัยการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์หลายครั้ง คดีสิ้นสุดตามกระบวนการทางกฎหมาย

12 พ.ย.2556 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Lawyers Association) แจ้งข่าวว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมาได้ครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์คดีฟ้อง น.ส.บุญรอด สายวงศ์ กับพวกรวม 3 คน ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองและเมื่อเจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก อันเนื่องจากการชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลแก้ไขปัญหาถูกเลิกจ้างในปี 2552 ซึ่งอัยการไม่อุทธรณ์ จึงถือว่าคดีสิ้นสุดในศาลชั้นต้นจะไม่มีการนำขึ้นมาพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ได้อีกต่อไป

คดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2556 ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าเป็นการชุมนุมอย่างสงบและไม่เข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมาย ตามขั้นตอนของกฎหมายคู่ความมีสิทธิอุทธรณ์ได้ภายใน 1 เดือน แต่คดีนี้อัยการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์หลายครั้ง และครั้งสุดท้ายครบระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 11 พ.ย.2556 ซึ่งอัยการไม่อุทธรณ์คดีในระยะเวลาที่กำหนด

“การชุมนุมของกลุ่มแรงงานไทร์อัมพ์เป็นผลมาจากการพยายามยื่นข้อเรียกร้องต่อนายอธิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่ไม่มีความคืบหน้าจึงต้องมารวมตัวกันชุมนุมที่บริเวณรัฐสภาเพื่อให้รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาโดยเร็ว เมื่อมีตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาลมารับข้อเรียกร้องแล้ว ก็เลิกชุมนุมกันอย่างสงบ ไม่มีการใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญหรือก่อให้เกิดความวุ่นวาย การชุมนุมของกลุ่มแรงงานจึงเป็นการชุมนุมโดยสงบไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง” ส่วนหนึ่งของคำพิพากษา

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากการชุมนุมของคนงานที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2552 เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล กรณีคนงานบริษัทไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กว่าสองพันคนถูกเลิกจ้างจาก โดยประสงค์จะร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ซึ่งมีนโยบายชัดเจนในการแก้ไขปัญหาแรงงาน แต่เมือกลุ่มผู้ชุมนุมทราบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่านายกรัฐมนตรีมีกำหนดการประชุมที่รัฐสภา จึงได้เดินทางไปที่รัฐสภา ภายหลังที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้พบตัวแทนฝ่ายรัฐบาลคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายไพฑูรย์ แก้วทอง ผู้ชุมนุมตัดสินใจยุติการชุมนุม

แต่ในขณะที่การชุมนุมกำลังจะยุติลง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ากดดันให้สลายการชุมนุม และมีการใช้เครื่องขยายเสียงระดับไกล หรือ LRAD กับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยไม่มีขั้นตอนการแจ้งเตือนการสลายการชุมนุมดังกล่าว ซึ่งในวันเดียวกันนั้น มีการออกหมายจับและดำเนินคดีกับแกนนำของผู้ชุมนุม และศาลอาญามีคำสั่งยกฟ้องคดีดังกล่าวในตอนสายของเมื่อวานนี้

อ่านคำพิพากษาคดี

 

หมายเหตุ: แก้ไขความถูกต้องของข้อมูลเมื่อวันที่ 14 พ.ย.2556 เวลา 14.00 น.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท