Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ดิอิโคโนมิสต์ วิเคราะหฺ์ว่า การตัดสินของศาลโลกจะช่วยลดอารมณ์ความเกลียดชังของสองชาติได้เล็กน้อย แต่อีกตัวแปรหนึ่งคือสภาพการเมืองภายในประเทศไทยที่มีการปลุกเร้าอารมณ์และดึงเอาความเกลียดชังนักการเมืองมาเป็นเครื่องมือ ทำให้ถูกเพ่งเล็งและสร้างสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านได้ไม่เต็มที่

14 พ.ย.2556 เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2556 เว็บไซต์นิตยสารดิอิโคโนมิสต์ เขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับกรณีปราสาทเขาพระวิหารหลังจากการตัดสินของศาลโลกเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยระบุตามคำตัดสินของศาลว่าพื้นที่เขตป่าโดยรอบปราสาทเขาพระวิหารเป็นส่วนพื้นที่ของปราสาทซึ่งจัดเป็นของกัมพูชาเอง อย่างไรก็ตามศาลโลกยังได้กล่าวอีกว่าพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรซึ่งกัมพูชาอ้างว่าเป็นของตนเองนั้นศาลไม่ได้ตัดสินยกให้กัมพูชา แต่ตัดสินให้ไปเจรจาตกลงกับทางการไทยเอง รวมถึงพื้นที่ 100 กม. โดยรอบเขตแดนด้วย

ดิอิโคโนมิสต์ ระบุว่า การตัดสินในครั้งนี้หากมองในแง่ดี ประเทศไทยก็สามารถบอกได้ว่าเป็นการตัดสินในแบบที่ไม่ลำเอียงเข้าข้างกัมพูชาจากการที่ปฏิเสธข้อเรียกร้องของฝ่ายกัมพูชา และดูเหมือนว่าทั้งสองประเทศจะยอมรับผลการตัดสิน เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของไทยยังยิ้มขณะอยู่ในพิธีกรรม (ภาพ พล.ต.ธรากร ธรรมวินทร ผบ.กกล.สุรนารี กองทัพภาคที่ 2 สวม กอดกับ พล.อ.สไล ดึ๊ก ผบ.กองพลสนับสนุนที่ 3 ของกัมพูชา ระหว่างที่ทั้ง 2 ฝ่ายหารือพัฒนาความสัมพันธ์ ที่จุดประสานงานชายแดนไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2556)

ปราสาทเขาพระวิหารซึ่งเป็นที่สถิตย์ของพระศิวะตามตำนานฮินดูกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชามาเป็นเวลานาน ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่า "ความตึงเครียดทวีเพิ่มมากขึ้นในช่วงปี 2551 เมื่อนายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชาได้ยื่นจดทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ทำให้รัฐบาลไทยในสมัยนั้นนำโดยพรรคประชาธิปัตย์รวมถึงกลุ่มผู้สนับสนุนทหารและ 'รอยัลลิสต์' ที่พยายามสร้างผลประโยชน์ทางการเมืองโดยอาศัยความขัดแย้งกับกัมพูชา"

อิโคโนมิสต์ ระบุอีกว่า การตัดสินในครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสในการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งเป็นไปได้ที่จะทำให้ความเกลียดชังลดน้อยลง แต่การตัดสินมีขึ้นในช่วงที่รัฐบาลทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์กำลังประสบกับวิกฤติความชอบธรรมพอดี และกลายเป็นว่าฮุนเซน ซึ่งเพิ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือน ก.ค.อย่างเฉียดฉิวกลับสร้างความชอบธรรมให้ตนเองได้มากขึ้น ทำให้ตอนนี้การเมืองภายในของไทยจึงเป็นปัจจัยหลักต่อความสัมพันธ์ตึงเครียดระหว่างไทยและกัมพูชา

บทวิเคราะห์ยังได้กล่าวถึงการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินพลาดท่าในกรณีร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งมุ่งหวังเปิดทางให้อดีตนายกฯ ทักษิณกลับมา เป็นการจุดฉนวนอารมณ์ให้กับกลุ่ม 'รอยัลลิสต์' จัด และชาตินิยมจัด รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งพากันออกมาชุมนุมบนท้องถนน ทำให้ยิ่งลักษณ์ไม่สามารถแสดงตัวเป็นมิตรกับกัมพูชามากเกินไปและหากเดินเกมพลาดในประเด็นอ่อนไหวเกี่ยวกับพื้นที่เขตแดนไทยก็อาจทำให้กลุ่มชาตินิยมขุ่นเคือง ซึ่งมีโอกาสเปิดทางให้กับกองทัพสร้างความชอบธรรมในการแทรกแซงเพื่อหาโอกาสมีบทบาทในการเมืองไทย

แม้ว่าจนถึงตอนนี้ประเทศไทยยังหลีกเลี่ยงการรัฐประหารได้ แต่ก็มีการปลุกเร้าอารมณ์โดยกลุ่มผู้ชุมนุม เช่น กลุ่มคนไทยรักชาติซึ่งเป็นกลุ่มย่อยที่แยกมาจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งได้ออกมาชุมนุมเรียกร้องการปกป้องเขตแดนไทย แต่การกล่าวหาของพวกเขาที่บอกว่าการยอมรับผลการตัดสินของศาลโลกเท่ากับเป็นการ "ขายชาติ" นั้นดูจะใช้ไม่ได้นานเนื่องจากการตัดสินเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม

ดิอิโคโนมิสต์ ชี้ว่าเรื่องข้อพิพาทเขาพระวิหารถูกนำมาผูกโยงกับทักษิณเช่นเดียวกับเรื่องการเมืองไทย เมื่อทักษิณดูมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับฮุนเซน นำมาซึ่งความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นในเขตชายแดน จนกระทั่งในยุคสมัยของยิ่งลักษณ์ซึ่งศาลโลกได้มีคำสั่งชั่วคราวให้ทั้งสองประเทศถอนทหารออกจากพื้นที่บริเวณ 17 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาท

ภู โสธิรักษ์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันกัมพูชาเพื่อสันติภาพและความร่วมมือ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับปราสาทเขาพระวิหารและความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ ระบุว่ามีความขัดแย้งสองช่วงใหญ่ๆ คือ ช่วงที่ศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา เมื่อปี 2505 โดยอาศัยแผนที่ของอาณานิคมจากปี 2451 และช่วงที่สองคือหลังเกิดการรัฐประหาร 2549 ในไทย ทางกัมพูชาได้อ้างสิทธิในพื้นที่โดยอาศัยแผนที่เก่าของฝรั่งเศส ขณะที่ประเทศไทยอ้างตามแผนที่ปี 2550 ที่เขียนขึ้นฝ่ายเดียว
 

กรณีการขีดเส้นเขตแดนโดยฝรั่งเศส

ดิอิโคโนมิสต์ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ไม่เพียงแค่เป็นเรื่องในระดับปราสาทเขาพระวิหาร แต่ชนชั้นนำไทยมีแนวทางการเล่าประวัติศาสตร์ของชาติไทยผ่านเรื่องการเสียดินแดนให้กับต่างชาติและประเทศเพื่อนบ้านที่คิดไม่ซื่อ โดยปราสาทเขาพระวิหารเคยอยู่ในพื้นที่ของสยาม ในช่วงศตวรรษที่ 20 จึงถูกเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสบีบให้มอบพื้นที่จังหวัดพระตะบอง ศรีโสภณ และเสียมราฐ ให้กับกัมพูชาซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของฝรั่งเศส

บทวิเคราะห์ในอิโคโนมิสต์ เปิดเผยว่า ผู้ทำแผนที่ของฝรั่งเศสพยายามปักเส้นเขตแดนตามแนวสันปันน้ำ (แนวสันเขาที่แบ่งลุ่มน้ำเวลาฝนตกให้ไหลออกไปสองฝั่ง) ของเทือกเขาพนมดงรักซึ่งตั้งขึ้นเป็นเขตแดนตามธรรมชาติระหว่างไทยกับกัมพูชา แต่เจ้าหน้าที่ 4 คนของฝรั่งเศสผู้เขียนแผนที่ก็ได้ขีดเส้นพรมแดนส่วนของปราสาทโดยให้เข้าไปในเขตของกัมพูชาอย่างไม่มีคำอธิบายซึ่งเป็นการวางเขตผิดด้านของสันปันน้ำ แต่ทางสยามก็ไม่ได้ท้าทายเรื่องการขีดเส้นของฝรั่งเศสมาตลอด 50 ปี แต่พวกเขาขอบคุณที่ชาวฝรั่งเศสช่วยทำแผนที่ให้ ซึ่งการที่ไทยเคยแสดงยอมรับแผนที่นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แพ้คดีเมื่อปี 2505

การตัดสินของศาลโลกในครั้งแรก (ปี 2505) ให้ความชอบธรรมแก่การขีดเส้นของฝรั่งเศส แต่ดูเหมือนว่าการตัดสินครั้งหลังนี้มีการลดขนาดของเส้นที่ขีดลง และให้กัมพูชากับไทยหารือกันเรื่องการปักเขตแดนในส่วนที่ยังไม่ได้ปักเพื่อให้มีแผนที่ซึ่งยอมรับได้กับทั้งสองฝ่าย แต่คิดว่าคงจะหารือไม่เสร็จสิ้นภายในเร็ววันนี้

 


เรียบเรียงจาก

Once more, with feeling, The Economist, 12-11-2013
http://www.economist.com/blogs/banyan/2013/11/thailand-and-cambodia

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net