Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การประกวดนางงามจักรวาล หรือที่รู้จักกันในนาม เวที "Miss Universe" ในปีนี้ จัดขึ้นที่กรุงมอสโค ประเทศรัสเซีย ค่ำวันที่ 9 พฤศจิกายน ตามเวลาท้องถิ่น (เวลาตี 1 โดยประมาณตามเวลาในประเทศไทย ของวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา)


photo from missuniverse.com

เวทีการประกวดนี้ จัดขึ้นทุก ๆ ปี โดยจะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงสถานที่และประเทศที่ใช้ในการจัดงานทุก ๆ  ปี โดยมีนายโดนัลด์ ทรัมป์ นักธุรกิจชื่อดังชาวอเมริกัน ผู้ซึ่งได้ซื้อกิจการองค์กรนางงามจักรวาล (Miss Universe Organization) มาจาก Gulf and Western Industries ในปี 1996 เป็นผู้อำนวยการการประกวดเวทีดังกล่าว

ทำไมเวทีประกวด Miss Universe ซึ่งมีจุดประสงค์เพียงแค่ประชันความงามของสาวสวยจากทั่วทุกมุมโลก จึงความสำคัญมากถึงขั้นจะต้องแข่งขันกับทุกปี? หรือแท้ที่จริงแล้วการประกวดนางงามเวที Miss Universe นั้นอาจมิใช่แค่การประกวดความงามและประชันโฉมกันเท่านั้น หากแต่จัดขึ้นโดยมีเหตุผลด้านเศรษฐกิจการเมืองมารองรับ

 

การเมืองเรื่องการประกวด

การประกวดเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการประกาศชื่อเมืองและประเทศที่จะใช้ในการประกวด จากนั้นแต่ละประเทศก็จะเริ่มต้นเฟ้นหานางงามที่เหมาะสมเพื่อมาเก็บตัวและทำกิจกรรมร่วมกันในกองประกวด จนกระทั่งรอบโชว์ตัวหรือ "Preliminary" มาถึง คะแนนการประกวดก็จะส่งผลต่อการเข้ารอบในวันประกวดจริง โดยแยกคะแนนจากรอบโชว์ชุดว่ายน้ำ (Swimming Suit Competition), โชว์ชุดราตรี (Evening Gown Competition), และการสัมภาษณ์รายบุคคล

ซึ่งในปีนี้ กองประกวดปรับเปลี่ยนการถามคำถามที่เรียบง่ายมาสู่ "Truth of Dare" ซึ่งหมายถึงการให้ผู้เข้าประกวดแนะนำตัวและตอบคำถามที่ได้จากการจับฉลาก และการทำท่าทางหรืออัปกิริยาต่าง ๆ ที่ตามคำสั่งฉลากที่จับได้ ซึ่งมันจะเป็นคำสั่งที่แหวกแนว ตลกขบขัน และไม่จริงจัง อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงภาพลักษณ์ของนางงามที่มีมิติ [1] กล่าวคือ ในด้านหนึ่งนางงามเหล่านี้งามสง่า เลอค่าและสูงส่ง ในขณะเดียวกัน ก็มีอีกด้านที่เป็นธรรมชาติ ตลกขบขัน มองโลกในแง่ดี โดยคงความสวยงามเอาไว้ได้

ในวันประกวดจริง จะมีเพียงผู้ที่ได้รับคะแนนสะสมในรอบ Preliminary สูงสุด 15 อันดับเท่านั้นที่จะได้ผ่านเข้ารอบเป็น Semifinalist จากนั้นทั้ง 15 คนจะต้องเดินโชว์ชุดว่ายน้ำเพื่อเข้าสู่รอบ 10 คนสุดท้าย และจะเหลือเพียง 5 คนสุดท้ายเท่านั้นหลังจากที่ประชันโฉมในชุดราตรี ทั้ง 5 คนที่ผ่านเข้ารอบจะมีเพียงการตอบคำถามบนเวทีและการเดินโชว์ครั้งสุดท้าย (Final Look) เพื่อประเมินความเหมาะสมก่อนจะประกาศผลว่าใครคือ Miss Universe ประจำปีนั้น ๆ

การประกวดเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างน้อยใน 2 มิติ ได้แก่ 1. การเมืองเรื่องนางงาม และ 2. การเมืองเรื่องเวทีการประกวด

 

1. การเมืองเรื่องนางงาม: นางงามทั้ง 86 คนบนเวทีการประกวด Miss Universe แลดูเป็นภาพลักษณ์ด้านวัฒนธรรมที่งดงาม ปราศจากความเป็นการเมือง หากแต่ในความเป็นจริงเบื้องหลังของการประกวดกลับกลายเป็นการเมืองระหว่างประเทศ

อันที่จริงแล้ว นางงาม Miss Universe มีภาระหน้าที่เฉกเช่นเดียวกับองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ กล่าวคือ เธอคือผู้ธำรงรักษาคุณค่าและบรรทัดฐานระหว่างประเทศให้ดำรงอยู่ต่อไป ผ่านกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพและการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส (อันเป็นการประกอบสร้างและผลิตซ้ำความเป็นหญิงที่ดีตาม “Normativity” หรือระเบียบแบบแผนทางเพศนั่นเอง)

การส่งนางงามเข้าประกวดก็มีลักษณะที่มิได้แตกต่างไปจากการส่งตัวแทนของประเทศเข้าร่วมองค์กรระหว่างประเทศแต่อย่างใด เพราะกิจกรรมที่สาวงามได้มาทำร่วมกันก็เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงการสร้างสรรค์และธำรงรักษาสันติภาพโลกด้วยความงามทั้งภายในและภายนอกของพวกเธอ

ไม่เฉพาะเพียงแต่การถูกเสนอให้เป็นตัวแทนของประเทศในการเข้าร่วมการประกวด การนำเอาวัฒนธรรมแห่งชาติของผู้เข้าร่วมการประกวดทุกคนมาทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่มีตัวตนและสามารถสวมใส่ห่อหุ้มร่างกายได้ผ่านชุดประจำชาติยังถือเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่างเรือนร่างของผู้หญิงกับวัฒนธรรมแห่งชาติอีกด้วย

 

2. การเมืองเรื่องเวทีการประกวด: การจัดเวทีประกวดยึดโยงกับการเมืองระหว่างประเทศอย่างเหนียวแน่น เนื่องด้วยการประกวดถูกจัดขึ้นด้วยความร่วมมือกันระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์นักธุรกิจชื่อดังเจ้าของบรรษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาและ NBC เครือข่ายสถานีโทรทัศน์ของสหรัฐอเมริกา ดังนั้น การใช้อำนาจครอบงำเพื่อตอกย้ำความเป็นเจ้ามหาอำนาจของโลกผ่านการมอบมงกุฎแก่สาวงามจึงไม่ใช่เรื่องแปลก

ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกา ในฐานะประเทศเจ้าของเวทีการประกวด เคยได้รับตำแหน่งเป็นผู้ชนะบนเวทีโลกมาทั้งสิ้น 8 ครั้งเลยทีเดียวตลอดช่วงเวลา 61 ปีที่ผ่านมา [2]

อย่างไรก็ตาม กระบวนการตัดสินบนเวทีนี้ถูกตั้งข้อสงสัยในความคลุมเครืออยู่บ่อยครั้ง จนมีการสถาปนาคำศัพท์ที่ว่า "Trump's Choice" อันหมายความว่าเป็นนางงามที่ผ่านเข้ารอบมาได้ด้วยการตัดสินใจของทรัมป์ โดยไม่อิงกติกา

กระบวนการตัดสินบนเวทีนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจและผลประโยชน์แห่งชาติของบรรดาชาติมหาอำนาจที่แฝงฝังอยู่ในทุกขั้นตอนการประกวด

 

 

ความเป็นไปในเวทีประกวดปี 2013

ข้อสังเกตประการสำคัญที่ทั้งโลกต่างจับตามองการประกวดในปีนี้คือ สถานที่จัดการประกวด ซึ่งก็คือประเทศรัสเซีย ที่มีนโยบายกีดกันการแสดงออกถึงความหลากหลายทางเพศ อันเป็นเหตุให้แอนดี้ โคเฮน พิธีกรประจำเวทีการประกวด ผู้ซึ่งแสดงออกถึงรสนิยมทางเพศอย่างเปิดเผมออกมาประกาศถอนตัวเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม

ในขณะเดียวกันก็มีสาวงามจำนวนหนึ่งออกมาประกาศถอนตัวออกจากการประกวด เช่น สาวงามจากประเทศอัลเบเนีย โคโซโว และจอร์เจียได้ประกาศไม่เข้าร่วมการประกวดประจำปีนี้เนื่องด้วยความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่ทั้ง 3 ประเทศมีต่อมหาอำนาจรัสเซียเจ้าภาพประจำปี 2013 ประเด็นดังกล่าวเป็นเหตุให้ฟาดิล เบริชา ช่างภาพชื่อดังประจำกองประกวด ผู้ถือสัญชาติอัลเบเนีย ถอนตัวออกจากการประกวดในปีนี้ด้วยเช่นกัน

ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ โอลิเวีย คัลโป สาวงามจากสหรัฐอเมริกา สัญชาติเจ้าของการประกวด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวด Miss Universe 2012 ได้ปรากฏตัวอยู่บนเวทีบ่อยครั้งในฐานะ “พี่เก่า” นั้น อาจสามารถสะท้อนให้เห็นได้ด้วยว่า ตำแหน่ง “พี่เก่า” นี้เป็นบุคคลที่มีอภิสิทธิ์ที่จะขึ้นไปปรากฏตัวบนเวทีแต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเกม

การปรากฏตัวของเธอเป็นไปเพื่อตอกย้ำความสูงส่ง/เลอค่าของตำแหน่งที่นางงามและประเทศต้นสังกัดนางงามจะได้รับ ผ่านภารกิจของ Miss Universe ที่มักเป็นการร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพ การรณรงค์โครงการที่เกี่ยวข้องกับผู้ด้อยโอกาสในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก อีกทั้งยังผลิตซ้ำมาตรฐานความงามของรูปร่างหน้าตาของหญิงสาวจากภูมิภาคต่าง ๆ ต่อไป การจัดเวทีประกวดนางงามจึงเป็นผลผลิตของการกระทำซ้ำ/ผลิตซ้ำความงามแบบมาตรฐาน ในขณะเดียวกันชุดคุณค่าความงามแบบมาตรฐาน (เชิงนามธรรม) ของทุกภูมิภาคก็ดำรงอยู่ได้ด้วยการจัดเวทีประกวดนางงาม (ในเชิงรูปธรรม)

อีกทั้งไม่ต้องสงสัยด้วยเลยว่า การปรากฏตัวของเธอบนเวทีเป็นเครื่องย้ำชัดว่าเวทีนี้เคยมีมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ครอบครองตำแหน่งและมงกุฎมาแล้ว ดังนั้น การปรากฏตัวบนเวที “บ่อยครั้ง” ของเธอจึงมิใช่เรื่องแปลก

อย่างไรก็ตาม ในการประกวดปีนี้ สาวงามจากสหรัฐอเมริกากลับไม่ได้รับเลือกเข้าสู่รอบ 5 คนสุดท้าย และในท้ายที่สุด ผลการประกวดประจำปีนี้ก็ตกเป็นของกาบริเอล่า อิสเล่อร์ สาวงามจากประเทศเวเนซูเอล่า ตามด้วยสาวงามจากประเทศสเปน เอกวาดอร์ ฟิลิปปินส์ และบราซิล ตามลำดับ [3]

 

ชาติ, ความงาม, เรือนร่าง

แม้ว่าการประกวดนางงามในระดับโลกถูกจัดขึ้นเพื่อตอบสนองจุดประสงค์หลัก คือการสร้างและผลิตซ้ำความงามสากลขึ้นเป็นมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ความงามดังกล่าวมิใช่ความสวยงาม น่าหลงใหลเพียงแค่รูปร่าง หน้าตา และบุคลิกภาพ ของผู้เข้าประกวด หากแต่ความงามทางกายภาพจะต้องมาพร้อมกับทุนอื่น ๆ ที่ตนมี ทั้งทุนทางสังคมและทุนทางเศรษฐกิจ

แม้ว่าการประกวดจะอ้างว่าจัดขึ้นเพื่อตอบสนองการยอมรับความงามแบบสากลที่มีความแตกต่างหลากหลาย กล่าวคือ ไม่ว่าผู้เข้าร่วมการประกวดจะมาจากประเทศใด ภูมิภาคใด ชาติพันธุ์ใด ทรงผมใด หน้าตาแบบใด เสื้อผ้าแบบใด พวกเธอก็สามารถได้รับการยอมรับว่างดงามได้ไม่แพ้กัน อย่างไรก็ตาม การกล่าวว่าความงามที่ปรากฏบนเวทีนี้เป็นความงามในเชิงสัมพัทธ์ย่อมเป็นการกล่าวเกินจริง เพราะเวทีนี้ไม่ได้เปิดกว้างอย่างแท้จริงต่อความหลากหลายในมิติอื่น ๆ เช่นผู้เข้าร่วมการประกวดมีเพศสภาวะแบบใด มีความบกพร่องทางร่างกายหรือไม่ มีรูปร่างที่ผิดแผกจากมาตรฐานที่กองประกวดคาดหวังหรือไม่ เป็นต้น เช่นนั้นแล้ว ความหลากหลายที่ปรากฏบนเวทีย่อมเป็นเพียงความหลากหลายที่มีกรอบหรือถูกตีเส้นไว้อย่างจำกัดนั่นเอง

เหนือสิ่งอื่นใด ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างการประกวดนางงามและธุรกิจของโดนัล ทรัมป์ก็คือก่อสร้างทรัมป์ทาวเวอร์ อันเป็นสัญลักษณ์สะท้อนการลงทุนของทรัมป์ในประเทศนั้น ๆ กล่าวคือ การสร้างตึกทรัมป์ทาวเวอร์เปรียบได้กับการล่าอาณานิคมในรูปแบบใหม่ ที่เจ้าอาณานิคมอย่างบรรษัทยักษ์ใหญ่ชาติอเมริกันของนายทรัมป์ ได้ใช้ตึกเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจับจองเป็นเจ้าของพื้นที่หรือดินแดนต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงนัยทางเพศโดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ตึกทรัมป์ทาวเวอร์จึงมีคุณลักษณะเสมือน "Phallic Architecture" หรือสถาปัตยกรรมที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของ "องคชาติ" ของชายผิวขาวชาวตะวันตกที่รุกล้ำกล้ำกรายเข้าสู่พื้นที่อันบริสุทธิ์งดงามอันเปรียบเสมือน “โยนี” ของหญิงสาวผิวสีชาวตะวันออก

เช่นนั้นแล้ว หากเราอธิบายว่านางงามนั้นว่า "งาม" เพราะความงามเพียงลำพังย่อมไม่เพียงพอ หากแต่การประกวดความงามในครั้งนี้เป็นการประกวดความงามของทั้งเรือนร่างสตรีบนเวทีและภูมิศาสตร์ทางเศรษฐกิจของประเทศของตนต่างหาก กล่าวคือ เรือนร่างของพวกเธอที่ใช้ในการอวดโฉมบนเวทีนั้น เกิดจากการการหนุนนำของชาติเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากนายทุนยักษ์ใหญ่ชาวอเมริกัน

ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า เหล่าสาวงามจากประเทศต่าง ๆ กำลังรับภาระอันใหญ่หลวงจากประเทศของตนและประชาคมโลกในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ในแง่หนึ่งพวกเธอก็ต้องแบกรับค่านิยมและบรรทัดฐานระหว่างประเทศในการธำรงรักษาสันติภาพ แต่ในอีกด้านหนึ่งพวกเธอก็ถูกรัฐของตนใช้เป็นเครื่องตอบสนองความต้องการของเพศชาย ล่อลวงและเรียกร้องการลงทุนและการจับจองเรือนร่างจากชายผิวขาวชาวตะวันตก

การประกวดนางงามบนเวที Miss Universe จึงสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของรัฐสมัยใหม่ที่แม้ว่าจะคงไว้ซึ่งความเป็นชายที่หาญกล้า แข็งแกร่ง ไม่ย่อท้อต่อการรุกรานของชาติศัตรู แต่ในขณะเดียวกันรัฐสมัยใหม่ก็ยังคงไว้ซึ่งการใช้ความเป็นหญิงเป็นเครื่องมือในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน

 

เอกสารอ้างอิง:

เชิงอรรถ:

  1. เช่น ชาลิตา แย้มวัณณังค์ หรือ “ลิตา” สาวงามจากประเทศไทย ถูกถามว่า หากเธอสามารถมีพลังพิเศษได้ เธอจะมีพลังแบบใด (ในส่วนของ “Truth”) และจากนั้นก็ได้รับคำสั่งให้ลองแนะนำตัวเป็นภาษาสัตว์ประหลาด (ในส่วนของ “Dare”) ในขณะเดียวกัน กาบริเอล่า อิสเลอร์ สาวงามผู้พิชิตมงกุฎประจำปีนี้ถูกถามว่ามื้ออาหารที่สมบูรณ์แบบสำหรับคุณมีลักษณะอย่างไร และจากนั้นก็ได้รับคำสั่งให้เป่าหมากฝรั่งให้แตก เป็นต้น
  2. หากนับรวมประเทศเปอร์โตริโกที่ครึ่งหนึ่งมีสถานะเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาก็จะนับได้ทั้งหมด 13 ครั้งเลยทีเดียว
  3. ผลการประกวดประจำปีนี้ ตำแหน่ง Miss Universe ตกเป็นของ สาวงามจากประเทศเวเนซูเอล่า ทั้งนี้เธอได้ฝ่าฟันเข้าสู่รอบโชว์ชุดว่ายน้ำ 15 คน  อันประกอบไปด้วย คอสตาริก้า, ยูเครน, จีน, เอกวาดอร์, สหราชอาณาจักร, อินโดนีเซีย, เวเนซูเอล่า, โดมินิกัน, เปอร์โตริโก, สเปน, สหรัฐอเมริกา, นิการากัว, สวิตเซอร์แลนด์, อินเดีย, บราซิล, และฟิลิปปินส์ ในขณะที่ในรอบโชว์ชุดราตรี สาวงามทั้ง 10 คนจากประเทศยูเครน, ฟิลิปปินส์, โดมินิกัน, สหรัฐอเมริกา, อินเดีย, สหราชอาณาจักร, สเปน, เอกวาดอร์, เวเนซูเอล่า, และบราซิล ต่างก็แสดงความงดงาม บุคลิกภาพ และความสวยงามของเครื่องแต่งกายจนในที่สุดก็เข้าสู่รอบ 5 คนสุดท้ายอันประกอบไปด้วยประเทศเอกวาดอร์, บราซิล, สเปน, ฟิลิปปินส์, และเวเนซูเอล่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net