Skip to main content
sharethis

เตรียมออกหลักปฏิบัติการประมูลคลื่นทีวีดิจิตอล เพื่อให้การประมูลเป็นธรรม โปร่งใส  ด้านกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทนฯ เรียก กสทช.ชี้แจงประเด็นการจัดประมูลทีวีดิจิตอล 20 พ.ย.นี้

17 พ.ย.2556 การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) วันจันทร์ที่ 18 พ.ย. นี้ กสท.เตรียมออก(ร่าง)หลักปฏิบัติการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ ซึ่งหลักปฏิบัติที่เตรียมจะพิจารณานี้ เป็นแนวทางสำคัญของการดำเนินการประมูลให้เป็นธรรม โปร่งใส และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดได้กำหนดหลักปฏิบัติการประมูลไว้ 6 หมวด ดังนี้

1.การเตรียมการประมูล 2.การเข้าสู่สถานที่การจัดประมูล 3.การประมูล 4.การติดต่อสื่อสารระหว่างการประมูล 5.การประกาศและรับรองผลการประมูล 6.มาตรการรักษาความเป็นธรรม และผลประโยชน์ของรัฐในการประมูล รวมถึง ภาคผนวก ก หนังสือยินยอมเพื่อการรักษาข้อมูลสารสนเทศที่ต้องห้ามเปิดเผยและป้องกันการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และภาคผนวก ข สิ่งของและอุปกรณ์ที่อนุญาตนำเข้าห้องประมูล เป็นต้น

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.  กล่าวว่า เกณฑ์นี้จะมีผลบังคับใช้ต่อผู้เข้าร่วมประมูลทุกราย ขอฝากให้ทุกบริษัทช่วยกันจับตาร่างนี้เพื่อให้ทุกเกณฑ์เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และสำนักงานควรมีการซักซ้อมสร้างความเข้าใจก่อนการประมูลจริง

นอกจากนี้ ที่ประชุมเตรียมพิจารณาข้อมูลชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ตามที่ ศุภชัย ศรีหล้า ประธานคณะกรรมาธิการฯ มีหนังสือเชิญ ประธาน และกรรมการ กสทช.ทุกท่าน เข้าร่วมประชุม เพื่อสอบถามข้อมูลข้อเท็จจริงในประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดประมูลทีวีดิจิตอล ทั้งในเรื่อง ข้อกฎหมาย หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ความแตกต่างข้อดีข้อเสียระหว่างการให้สัมปทานกับการจัดประมูลคลื่นความถี่เพื่อขอรับใบอนุญาต รวมถึงผลกระทบด้านต่างๆ ต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบกิจการ มาตรการแก้ไขและเยียวยาที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งขอข้อมูลการขอสนับสนุนเงินงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา หน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ จาก กสทช.รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณ ตั้งแต่ปี 2553 – 2556 ขอทราบรายละเอียดงบประมาณค่าใช้จ่าย และแผนการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน การใช้อำนาจชะลอการเปิดประมูลทีวีดิจิตอลได้หรือไม่  ข้อมูลต่างประเทศที่มีการประมูลคลื่นความถี่ทีวีดิจิตอล การจัดการคลื่นสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และประเด็นแนวทางการควบคุมเนื้อหารายการโทรทัศน์ที่มีการฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ในรายการที่ใช้ถ้อยคำหมิ่นประมาทหรือไม่เหมาะสม และเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม ทั้งโทรทัศน์ภาคพื้นดินและผ่านดาวเทียม

สุภิญญา กล่าวถึงการที่ กสทช.ถูกตรวจสอบเป็นเรื่องการประมูล หรือการตั้งคำถามเข้ามาทั้งจากกรรมาธิการ กลุ่มต่างๆ หรือแม้แต่สหภาพฯ เป็นเรื่องที่ดี เพราะการประมูลย่อมมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงเป็นหน้าที่ กสทช.ควรชี้แจง ซึ่งตนเชื่อว่าข้อมูลที่จะเตรียมหารือเพื่อเข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการ จะออกมาด้วยดี สามารถสร้างความเข้าใจในการประมูลครั้งนี้ที่ยึดตามกรอบกฎหมาย ส่วนถ้ามีข้อบกพร่องอะไรจะช่วยกันปรับปรุง แต่หากจะไม่ให้เกิดการประมูลเลยคงเป็นไปไม่ได้เพราะจะกระทบต่อทิศทางการปฏิรูปโครงสร้าง และระบบโทรทัศน์ไทย ที่เราอยากจะใช้โอกาสการประมูลครั้งนี้ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนระบบโทรทัศน์จากระบบอะนาล็อกเป็นดิจิตอลเท่านั้น แต่ถือเป็นโอกาสสำคัญในการเปลี่ยนระบบสัมปทานกึ่งผูกขาดมาเป็นระบบใบอนุญาต ที่เปิดโอกาสตลาดให้มีการแข่งขันมากขึ้น สุดท้ายแล้วผู้บริโภคจะมีทางเลือกในการรับชมมากขึ้น  อันนี้เป็นหลักสำคัญที่ กสทช.ต้องดำเนินการตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555 – 2559) ซึ่งในวันพุธที่ 20 พ.ย. นี้ เวลา 10.00 น. จะเข้าร่วมชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว ณ ห้องประชุมหมายเลข 213 – 214 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา 2

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net