ไปเหนือกว่าการเมืองเหลือง/แดงสู่การปฏิวัติของประชาชนที่เป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

1. สิทธิการปฏิวัติของประชาชน

ท่ามกลางพลวัตรของการต่อสู้ทางการเมืองแบบเหลือง/แดงที่ยาวนานมาเกือบหนึ่งทศวรรษ สิ่งที่คงคุณค่าและสถิตสถาพรตลอดมาคือ การเข้าร่วมจากประชาชนทุกภาคส่วนแสดงออกซึ่งสิทธิการปฏิวัติ(Right of revolution) ในการรวมกำลังเพื่อโค่นรัฐบาลที่พวกเขาเชื่อว่าไร้ความชอบธรรมในการปกครองประเทศอย่างทั่วด้าน ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองอย่างฉับพลัน

การสำแดงพลังของพลเมืองนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดสถานการณ์ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิวัติของประชาชน(People's revolution) สถานการณ์ดังกล่าวมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการคือ หนึ่ง รัฐบาลหมดความชอบธรรมและไม่อาจปกครองประเทศได้ สอง ประชาชนรวมตัวสำแดงพลังและเจตจำนงในการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองเรือนแสนเรือนล้าน และ สาม กลไกของรัฐแตกแยกเป็นฝักฝ่าย ผละจากรัฐบาลและเข้าร่วมกับการปฏิวัติของประชาชน สถานการณ์จะจบลงด้วยชัยชนะของประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เข้าแทนที่รัฐบาลเก่า หรือความพ่ายแพ้ของประชาชนซึ่งถูกปราบปรามโดยรัฐบาลเก่า                         

2. การปฏิวัติของประชาชนที่พึ่งพาอำนาจอื่น

ในสถานการณ์ที่จะนำไปสู่การปฏิวัติของประชาชนนั้น หากประชาชนขาดการจัดตั้งตนเองขึ้นเป็นอำนาจใหม่ เช่น จัดตั้งเป็นสภาประชาชน และขาดข้อเสนอเพื่อการเปลี่ยนผ่านอำนาจการเมือง เช่น แนวทางการจัดตั้งและบริหารประเทศของรัฐบาลใหม่ ประชาชนก็จะพึ่งพาอำนาจอื่น เช่น แกนนำ ทหาร ระบบราชการ หรือกลุ่มอำนาจอื่นๆ ดังกรณีรัฐบาลสัญญา และสภาสนามม้าหลังเหตุการณ์14 ตุลาคม รัฐบาลอานันท์หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และกรณีรัฐบาลสุรยุทธ์หลังเหตุการณ์โค่นรัฐบาลทักษิณปี 2549 ล่าสุดที่อียิปต์ได้รัฐบาลทหารถึงสองครั้งหลังการปฏิวัติของประชาชนในปี 2554 และ 2556    

การเมืองสีเหลืองคือ การเมืองที่ประชาชนพึ่งพาอำนาจอื่นให้เข้ามาทำการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองแทนประชาชน เช่น พึ่งพานายกฯพระราชทาน หรือพึ่งพาทหารทำรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549  ผลก็คือ กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในการปฏิวัติถูกแทนที่ด้วยข้าราชการระดับสูง นักวิชาการ นักธุรกิจ และบุคคลในแวดวงระดับนำต่างๆซึ่งประชาชนไม่ได้มีส่วนเลือกให้ไปเป็นตัวแทนทำหน้าที่ และไม่สามารถตรวจสอบ กำกับ หรือถอดถอนตัวแทนเหล่านั้นได้ ตรงกันข้ามพวกเขาถูกแต่งตั้งโดยกลุ่มทหารที่ทำการรัฐประหาร ดังนั้นการต่อสู้ทางการเมืองจึงไปไม่ถึงจุดหมาย แต่ค้างเติ่ง ครึ่งๆกลางๆ และกระทั่งหันเหออกไปจากเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน

บัดนี้ การเมืองที่ประชาชนพึ่งพาอำนาจอื่นขาดความชอบธรรม และไม่ทำให้ดอกผลของการต่อสู้ตกอยู่กับประชาชนอย่างแท้จริง ทางออกเดียวที่เป็นทางสายเอก คือ การเมืองภาคประชาชนที่พึ่งสติปัญญาของตนเองและด้วยความเป็นตัวของตัวเอง

3. การปฏิวัติของประชาชนที่พึ่งพาตนเองและเป็นตัวของตัวเอง

การไปให้เหนือกว่าการเมืองสีเหลือง คือ การส่งเสริมประชาธิปไตยทางตรง โดยให้ประชาชนที่เข้าร่วมต่อสู้ดำเนินการจัดตั้งองค์กรของตนเองในรูปแบบของสภาประชาชน สมาชิกสภาประชาชนมาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมต่อสู้(ไม่ใช่การขอพระราชทาน และไม่ใช่การกระทำแทนโดยแกนนำอย่างที่กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ-กปท.ได้เคยทำ)  ประชาชนในที่นี้คือ บุคคลในสาขาอาชีพต่างๆทั้งปวงที่เห็นด้วยกับการปฏิวัติโค่นรัฐบาลที่ปราศจากความชอบธรรม และมีการรวมตัวต่อสู้ในสถานที่ต่างๆ สมาชิกสภาประชาชนจะทำหน้าที่กำกับการต่อสู้ของประชาชน และผลักดันข้อเสนอหรือแนวทางในการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมือง

สภาประชาชนต้องถูกกำกับ ดูแล ตรวจสอบ และกระทั่งถูกถอดถอนได้โดยประชาชนที่เป็นผู้เลือกเข้าไป สภาประชาชนอาจเกิดขึ้นในขอบเขตจังหวัด อำเภอ ตำบล เทศบาล และ/หรือสาขาอาชีพต่างๆ เช่น สภาคนทำงานสาธารณสุขสุราษฎร์ธานี สภาคนงานอุตสาหกรรมภาคตะวันออก สภาชาวนาจังหวัดสุรินทร์ สภาข้าราชการทหารทุกระดับชั้นของภาค 3 เป็นต้น

เมื่อประชาชนมีองค์กรจัดตั้งของตนเองเพื่อการปฏิวัติของประชาชนแล้ว ประชาชนยังจำเป็นต้องมีข้อเสนอและ/หรือแนวทางเพื่อแทนที่รัฐบาลเก่าที่ล้มไป นั่นคือ

1. จะต้องจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้น โดยเลือกตั้งฝ่ายบริหารจำนวนหนึ่งไปทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในระยะเปลี่ยนผ่าน

2. เตรียมการให้มีการเลือกตั้งด้วยระบบที่ความเป็นธรรมและความเท่าเทียมเป็นใหญ่ แทนที่ระบบเลือกตั้งที่ทุนเป็นใหญ่ กล่าวคือ ให้การเข้าร่วมการเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆตั้งอยู่บนการใช้งบประมาณแผ่นดินที่เท่าเทียมกัน และเน้นการประชันขันแข่งกันในด้านแนวนโยบายพัฒนาประเทศที่มุ่งเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ โดยลงโทษหรือตัดสิทธิ์อย่างรุนแรงกับการใช้ทุนหรือกลไกรัฐเพื่อให้ได้คะแนนเสียง

3. ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และการจัดตั้งตนเองในรูปแบบของสภาประชาชน สิทธิการชุมนุม การรวมตัว และสิทธิการปฏิวัติ ให้อยู่อย่างยั่งยืนเพื่อตรวจสอบ และปรับปรุงการทำงานของฝ่ายบริหาร และผู้แทนของประชาชน

นี่คือ ประชาธิปไตยทางตรงของประชาชนพลเมืองที่มีสำนึก ซึ่งเหนือกว่าประชาธิปไตยที่ทุนเป็นใหญ่ และไปพ้นจากการพึ่งพาอำนาจอื่น

4. การต่อสู้กับการต่อต้านการปฏิวัติของประชาชน

เมื่อการปฏิวัติของประชาชนเกิดขึ้น รัฐบาลเก่าที่ถูกโค่นอำนาจไปย่อมหาหนทางดำเนินการต่อต้านการปฏิวัติของประชาชน(Counterrevolution) นั่นคือ การจัดตั้งมวลชนและกระทั่งกองกำลังโดยรัฐบาลเก่าเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลใหม่ และ/หรือภาคประชาชน เพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐกลับคืนมา โดยเป็นการต่อสู้ทั้งด้วยความรุนแรงและด้วยการเคลื่อนไหวต่างๆที่อาศัยความได้เปรียบของทุน กลไกรัฐและพรรคพวก

การเมืองสีแดงคือ การต่อต้านการปฏิวัติของประชาชนที่พึ่งพาการรัฐประหารของทหารนั่นเอง ซึ่งมีเป้าหมายสุดท้ายคือ การได้กลับมามีอำนาจของกลุ่มทุนด้วยระบบประชาธิปไตยที่ทุนเป็นใหญ่ ในเป้าหมายนี้ มวลชนที่เข้าร่วมต่อสู้ไปกับขบวนการเสื้อแดงได้กลายเป็นเบี้ยทางการเมือง และถูกจัดตั้งให้ต้องขึ้นต่อการนำของกลุ่มแกนนำจนไม่สามารถจัดตั้งตนเอง และเคลื่อนไหวตรวจสอบ กำกับ และควบคุมพรรคการเมืองของกลุ่มทุนทักษิณและพรรคพวกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่กลุ่มทุนพรรคพวกนี้จะมุ่งทำแต่สิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของกลุ่มตนยิ่งกว่าอื่นใด ดังกรณีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม การคอรัปชั่นเชิงนโยบายในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของกลุ่มทุนพรรคพวกในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น

การไปให้เหนือกว่าการเมืองสีแดงคือ การรู้แจ้งเห็นจริงถึงประชาธิปไตยที่ทุนเป็นใหญ่ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ของแผ่นดินคือ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และความไร้ซึ่งประชาธิปไตยที่ภาคประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ความขัดแย้งและต่อสู้กันนั้นไม่ใช่เพียงแค่การต่อสู้ระหว่างชนชั้นนำเท่านั้น แต่มีการต่อสู้ระหว่างชนชั้นปกครองกับประชาชนอีกด้วย

เมื่อตาสว่างได้ขนาดนี้แล้วจึงหันมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทางตรงของภาคประชาชน และส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคประชาชนต่อสู้ทางการเมืองด้วยความเป็นตัวของตัวเอง โดยพึ่งพากำลังและสติปัญญาของประชาชน

5. ไปเหนือกว่าการเมืองเหลือง/แดงสู่การปฏิวัติของประชาชนที่พึ่งพาตนเอง และด้วยความเป็นตัวของตัวเอง

การปฏิวัติของประชาชนเป็นภารกิจอันใหญ่หลวงที่ต้องอาศัยกำลังของทุกภาคส่วน และต้องแสวงหาแนวร่วมกับทุกกลุ่มที่เห็นด้วยมาสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยที่ประชาชนยังคงรักษาความเป็นอิสระในการรวมตัวจัดตั้งของตนไว้ได้ และรักษาสติปัญญาที่เป็นตัวของตัวเองไว้ได้ สิ่งนี้เป็นหน้าที่ของปัญญาชนและผู้นำประชาชนที่จะช่วยรักษาความเข้มแข็งของภาคประชาชนด้วยการให้ข้อเสนอแนะที่ถูกต้อง เหมาะสมและรู้ประมาณแก่สภาประชาชนที่กำลังต่อสู้ในสถานการณ์อันแหลมคม

นี่คือทางสายเอก ที่จะนำพาประเทศก้าวข้ามการเมืองที่พึ่งพาแต่ขั้วอำนาจอื่น และทำให้ประชาชนกลายเป็นเพียงแค่หางเครื่องของชนชั้นนำในการต่อสู้ทางการเมือง ไปสู่ประชาชนที่มีสำนึกพลเมืองซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำและผู้กำหนดชะตากรรมของประเทศ โดยแสวงหาความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนที่เห็นด้วยในแนวทางประชาธิปไตยทางตรง และการสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน

ประเทศชาติของเราผ่านการปฏิวัติของประชาชนมาแล้วหลายครั้งหลายคราและนำพาสังคมไปสู่ประชาธิปไตยของประชาชนมากขึ้นทุกขณะ การปฏิวัติของประชาชนจึงเป็นความเป็นจริงของชีวิตที่พวกเราควรใคร่ครวญให้จงหนักว่า การปฏิวัติของประชาชนครั้งต่อๆไปควรให้เกิดผลที่ดี ที่ตรง ที่สมควร และที่นำไปสู่การดับทุกข์ของประชาชนอย่างแท้จริงยิ่งๆขึ้นได้อย่างไร?
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท