เอฟทีเอ ว็อทช์ บุกกรมเกษตร ค้าน 'โจรสลัดชีวภาพ UPOV 1991'

ตัวแทนเกษตรกร เครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม และเอฟทีเอว็อทช์ บุกกรมวิชาการเกษตร ยื่นหนังสือคัดค้านอนุสัญญา UPOV 1991 ชี้เป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศเหนือทรัพยากร
 
18 พฤศจิกายน 2556 ที่กรมวิชาการเกษตร องค์กรภาคประชาชน องค์กรสาธารณประโยชน์ ตัวแทนจากสภาเกษตรกรแห่งชาติ และเอฟทีเอ ว็อทช์ซึ่งติดตามกรณีที่สหภาพยุโรป และบริษัทยักษ์ใหญ่ร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญา UPOV 1991 โดยมี Mr. Martin Ekvad ประธานของ UPOV จะมาบรรยายเพื่อโน้มน้าวให้ข้าราชการกรมวิชาการเกษตรเห็นดีเห็นงามกับอนุสัญญาดังกล่าว ในวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน ที่ตึกกสิกรรมกรมวิชาการเกษตร โดย เครือข่ายภาคประชาชนประมาณ 30 คน ได้ไปรวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านเนื่องจากเห็นว่าอนุสัญญาฉบับนี้ ละเมิดสิทธิเกษตรกร ละเมิดอธิปไตยของประเทศเหนือทรัพยากร และส่งเสริมให้บรรษัทเมล็ดพันธุ์ผูกขาดมากยิ่งขึ้น
 
ตัวแทนเกษตรกรและภาคประชาสังคมเดินทางมาถึงหน้าตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตรตั้งแต่เช้าตรู่ มีการแสดงล้อเลียน โดยมีชายคนหนึ่งสวมสูทคุกเข่ากำลังยื่นพานใส่เมล็ดพันธุ์ส่งให้ชายอีกคนหนึ่งที่แต่งตัวเป็นโจรสลัด เบื้องหลังเป็นธงและป้ายฝ้ามีข้อความคัดค้านอนุสัญญายูปอพ 1991
 
 
เวลาประมาณ 08.30 น. นายดำรง จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรออกมารับหนังสือจากตัวแทนผู้คัดค้าน โดยปฏิเสธว่าตนเองไม่รู้ไม่เห็นกับการจัดประชุมนี้  และกล่าวว่าไม่เอาด้วยกับอนุสัญญาฉบับนี้อยู่แล้ว เพราะรักชาติเหมือนกัน และรักชาติมากกว่าอีกหลายคน ตัวแทนภาคประชาชนแย้งว่าในหนังสือเชิญให้มาร่วมรับฟังการบรรยายนั้น มีลายมือชื่อของอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเองเป็นคนลงนาม จึงเป็นไปไม่ได้ที่กรมวิชาการเกษตรจะจัดการประชุมเรื่องที่จะกระทบกับเกษตรกรและผลประโยชน์ของประเทศโดยอธิบดีไม่ได้รับรู้
 
เมื่อถึงเวลา 09.30 น. ซึ่งตามกำหนดการเป็นการบรรยายของประธานยูปอพ เครือข่ายเกษตรกรและภาคประชาสังคมได้เดินทางเพื่อขอยื่นหนังสือคัดค้าน แต่ถูกขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตร โดยบอกให้ประชาชนรออยู่ตรงโถงหน้าห้องประชุมโดยระบุว่า ไม่มีการประชุมและไม่มีตัวแทนของยูปอพมาบรรยาย แต่เมื่อตัวแทนคนหนึ่งของกลุ่มผู้คัดค้านเล็ดลอดเข้าไปในห้องประชุมกลับพบว่า นาย Martin กำลังบรรยายให้ข้าราชการและผู้เข้าร่วมประมาณ 150 คนอยู่ในห้องประชุม
 
แม้จะถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปในห้องประชุมโดยอ้างว่าไม่มีเก้าอี้เพียงพอ แต่ผู้คัดค้านยืนยันว่าพร้อมจะนั่งพื้น และโต้แย้งว่าทำไมตัวแทนของบริษัทมอนซานโต้และบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติจึงได้รับโอกาสมากกว่าเกษตรกรรายย่อย ทางเจ้าหน้าที่จึงจำยอมให้ภาคประชาชนเข้าไปในห้อง และรอเวลาที่จะยื่นหนังสือตามที่ได้มีการต่อรองก่อนหน้านี้ว่า อนุญาตให้ภาคประชาชนยื่นหนังสือคัดค้านได้เมื่อถึงช่วงเวลาพักรับประทานของว่าง
 
ก่อนถึงช่วงพักรับประทานของว่าง นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และข้าราชการของกรมแจ้งว่า นายมาร์ตินซึ่งผู้บรรยายอยู่ไม่ได้เป็นตัวแทนของยูปอพแต่ประการใด แต่มาจากสมาคมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ของยุโรป จึงขอปฏิเสธที่จะให้ยื่นหนังสือ
 
กลุ่มประชาชนผู้คัดค้านโต้แย้งว่า กรมวิชาการเกษตรได้ปิดบังข้อมูลและให้ข้อมูลเท็จต่อภาคประชาชนมาเป็นลำดับรวมถึงคำกล่าวอ้างนี้ด้วย เพราะมีหลักฐานชัดเจนในหนังสือเชิญประชุมของกรมฯเองที่ระบุตำแหน่งของมาร์ตินว่าเป็นตัวแทนของยูปอพ อีกทั้งในเว็บไซท์อย่างเป็นทางการของยูปอพเองก็ได้ระบุอย่างชัดเจนว่ามาร์ตินซึ่งเป็นตัวแทนของสหภาพยุโรปได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานของยูปอพ (chairman of the UPOV Administrative and Legal Committee) ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2556 และมีวาระดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบ 3 ปี  (ดู UPOV Press Release, October 24, 2013)
 
ตัวแทนของภาคประชาชนจึงใช้ช่วงเวลาที่ประธานของยูปอพ บรรยายเสร็จและเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมซักถาม เดินเข้าไปยื่นหนังสือคัดค้านต่อประธานของยูปอพ
 
ในรายงานของจดหมายที่ยื่นต่อ Martin Ekvad, Chairperson of the UPOV Administrative and Legal Committee ให้เหตุผลการคัดค้านอนุสัญญา UPOV 1991 โดยมีสาระสำคัญ 5 ประการคือ
 
1)        ทำลายสิทธิเกษตรกรในการเก็บรักษาและแลกเปลี่ยนสายพันธุ์พืช ซึ่งเป็นสิทธิตามวิถี
เกษตรกรรมของเกษตรกรรายย่อย และเป็นสิทธิได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญของไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 66
2)        ทำลายกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ ภายใต้พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542  ซึ่ง
เป็นกฎหมายที่ร่างขึ้นโดยยึดหลักการตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ การแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับ UPOV เป็นการทำลายประสิทธิภาพการคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองของประเทศไทยอย่างร้ายแรง และเป็นการสนับสนุนโจรสลัดชีวภาพในทางอ้อม
3)        มีรายงานการศึกษาเป็นจำนวนมากที่รายงานว่าการเข้าร่วม UPOV ส่งผลกระทบต่อการ
ปรับปรุงพันธุ์ของนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อย วิสาหกิจชุมชน และ เอื้ออำนวยให้บริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ผูกขาดพันธุ์พืชมากยิ่งขึ้น
4)        จากการศึกษาในประเทศไทยพบว่าเกษตรกรรายย่อยต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้น
ใน 2-6 เท่าตัวจากระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 
ในท้ายจดหมายฉบับดังกล่าว ตัวแทนของภาคประชาชนระบุว่า “เราขอประกาศให้ทราบว่าเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทย องค์กรภาคประชาชน และเอฟทีเอว็อทช์จะเคลื่อนไหวคัดค้าน UPOV 1991 อย่างถึงที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้ประเทศไทยต้องเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวภายใต้การเจรจาเอฟทีเอระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศไทย”
 
ระหว่างการยื่นหนังสือคัดค้านของภาคประชาชน นางชุติมา รัตนเสถียร ข้าราชการกรมวิชาการเกษตร ผู้เชี่ยวชาญด้านคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าใกล้ชิดกับยูปอฟ และเป็นหนึ่งของผู้ประสานงานให้มีการประชุมครั้งนี้ พูดด้วยเสียงอันดังว่า “กลุ่มประชาชนที่เข้ายื่นหนังสือวันนี้เป็นพวกไม่มีมารยาท และไม่ให้เกียรติกรมฯและผู้บรรยาย”
 
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนภาคประชาชนไม่ได้ใช้โอกาสนั้นโต้เถียงต่อข้าราชการคนดังกล่าว แต่กล่าวอธิบายต่อผู้เข้าร่วมประชุมว่า “เรามาในฐานะตัวแทนของเครือข่ายเกษตรกร และองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอนุสัญญาฉบับนี้ เราควรได้รับสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเช่นเดียวกับบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ที่ได้รับสิทธิดังกล่าวมาโดยตลอด เรายอมที่จะเสียมารยาทตามมาตรฐานของคนบางคน เพื่อจะปกป้องความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อย และทรัพยากรชีวภาพของประเทศ”
 
ตัวแทนของเกษตรกรรายย่อยและภาคประชาสังคมระบุว่า หลังจากยื่นหนังสือต่อประธานของยูปอพ  ได้ตระหนักว่าพวกเขาไม่ได้ต่อสู้กับสหภาพยุโรป และบรรษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่เท่านั้น แต่กำลังต่อสู้กับความเชื่อและทัศนคติของข้าราชการในกรมวิชาการเกษตรกลุ่มหนึ่ง ที่เชิดชูว่าอนุสัญญายูปอพของฝรั่งนั้นดีต่อประเทศไทยและนำพาเกษตรกรรมไทยไปสู่ความเจริญเหมือนในยุโรปและสหรัฐ
 
พวกเขาชี้ว่า การมีกฎหมายพันธุ์พืชที่ลิดรอนสิทธิของเกษตรกร และเอื้ออำนวยประโยชน์ให้บรรษัทเมล็ดพันธุ์มากๆนั้น จะนำมาซึ่งการลงทุนและการพัฒนาสายพันธุ์พืชใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรกรรม พวกเขาจึงปิดหูปิดตาและไม่อยากรับฟังเสียงของเกษตรกรรายย่อย องค์กรสาธารณะประโยชน์ และนักวิชาการอิสระด้านปรับปรุงพันธุ์พืชและทรัพย์สินทางปัญญาจำนวนมาก ที่เตือนว่าการเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญายูปอพ จะสร้างผลกระทบต่อเกษตรกร และปล่อยให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามายึดครองทรัพยากรชีวภาพของประเทศ ดังที่ได้เกิดกระแสการลุกขึ้นมาคัดค้านการผูกขาดเมล็ดพันธุ์และระบบอาหารเกิดขึ้นในทั่วโลก รวมทั้งแม้แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท