นิธิ เอียวศรีวงศ์: อนาคตไทย-กัมพูชาจากคำพิพากษา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เข้าใจได้ไม่ยากว่า ท่ามกลางวิกฤตทางการเมืองที่รัฐบาลเผชิญอยู่เวลานี้ การแจ้งข่าวเกี่ยวกับคำตัดสินของศาลโลกฝ่ายรัฐบาลย่อมต้องเน้นส่วนที่คนไทยห่วงใยที่สุดคือการ "เสียดินแดน" จนฟังดูประหนึ่งว่าเราไม่ต้อง "เสียดินแดน" ส่วนใดเลย

ความเข้าใจเช่นนี้ไม่ช่วยให้การเจรจาตกลงระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งอย่างไรเสียก็ต้องจัดให้เกิดขึ้น มีความราบรื่นสมกับที่จะสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันสืบไป

เท่าที่คนซึ่งไม่มีความรู้กฎหมายระหว่างประเทศเลยอย่างผมจะเข้าใจได้ เราต้องยกดินแดนบางส่วนให้เป็น "พื้นที่ใกล้เคียง" (vicinity) ของปราสาทพระวิหาร ตามคำพิพากษาใน พ.ศ.2505 อย่างแน่นอน นั่นคือส่วนอันเป็นที่ตั้งของชะง่อนผา ซึ่งตามหลักภูมิศาสตร์ ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของตัวปราสาทอย่างปฏิเสธไม่ได้ ในขณะที่ภูมะเขือซึ่งโดยข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์เช่นกัน เป็นเนินเขาอีกลูกหนึ่งที่แยกออกมาจากชะง่อนผาอันเป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหารอย่างชัดเจน ย่อมไม่นับเป็นส่วนหนึ่งของ "พื้นที่ใกล้เคียง"

เงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ซึ่งทีมทนายฝ่ายไทยใช้ในการสู้คดีในพ.ศ. 2505 ครั้งกระนั้น ไม่ได้รับการรับรองให้เป็นเงื่อนไขพึงรับฟังเป็นอันดับแรก (ก่อนสนธิสัญญา) กลับเป็นเงื่อนไขที่มีความสำคัญในคำตัดสินครั้งนี้ เท่ากับความตามสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ให้แบ่งเขตแดนตามสันปันน้ำมีน้ำหนักมากขึ้น (อย่างน้อยก็เท่ากับแผนที่) ศาลยังได้ย้ำในประเด็นนี้ด้วยว่า แผนที่ (ซึ่งเรียกกันว่า 1/200,000) ใช้ได้เฉพาะการชี้ว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของใครเท่านั้น ไม่อาจเอาไปประยุกต์ใช้ทั่วไปทั้ง 100 กม. ของแผนที่ซึ่งเป็นเส้นเขตแดนที่หลายส่วนยังไม่เป็นที่ตกลงเห็นชอบระหว่างไทยและกัมพูชา

หากเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์มีความสำคัญมากขึ้น ไทยได้ประโยชน์ก็จริง แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่า มติ ครม.ใน พ.ศ.2505 ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับภูมิศาสตร์ ถ้าอยากเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ เราก็ไม่สามารถยืนยันเส้นเขตแดนตามมติดังกล่าวได้ มันมีประโยชน์เฉพาะหน้าและประโยชน์อนาคตที่ต้องคิดให้ดีๆ เพราะในโลกของความเป็นจริง ไม่มีใครชนะขาดฝ่ายเดียว หรือแพ้ขาดฝ่ายเดียว ยกเว้นแต่แมนฯยู

มีข้อวิตกที่รู้กันอยู่ในฝ่ายไทย แต่ไม่มีใครพูดถึงอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ตามแนวชายแดน ยังมีปราสาทเก่าของเขมรตั้งเรียงรายอยู่อีกสองสามแห่ง หนึ่งในนั้นคือปราสาทตาเมือนธมในจังหวัดสุรินทร์ ความสำคัญของปราสาทแห่งนี้ก็คือ เป็นแห่งเดียวที่ยังมี "อโรคยศาลา" เหลือให้เห็นอยู่ ส่วนที่อื่นๆ ซึ่งกล่าวไว้ในจารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ว่า โปรดให้สร้างขึ้นตามเส้นทางสู่พิมายได้พังจนไม่เหลือร่องรอยแล้ว อโรคยศาลามักแปลกันว่าโรงพยาบาล (ส่วนจะเหมือนหรือต่างจากโรงพยาบาลตามความเข้าใจในปัจจุบันนั้น ยกไว้ก่อน) ความคิดว่ารัฐมีหน้าที่ (ตามหลักศาสนาหรือตามหลักรัฐประศาสนศาสตร์ก็ตาม) ต้องดูแลความเจ็บไข้ได้ป่วยของข้าราษฎร ไม่เคยปรากฏในรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใด นอกจากกัมพูชาสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของปราสาทตาเมือนธมอยู่ตรงนี้ ส่วนปราสาทซึ่งสร้างขึ้นตามเส้นทางนั้น ยังมีเหลืออีกมากทั้งในกัมพูชาและอีสานใต้

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้หมายความว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เสมอไป ขึ้นอยู่กับการจัดการมากกว่า เช่น แม้ว่าตาเมือนธมอยู่ในครอบครองของไทยเวลานี้ แต่การขุดค้นบูรณะกลับไปเน้นที่ตัวปราสาทมากกว่าอโรคยศาลา ฉะนั้นจึงไม่สู้จะมีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับอโรคยศาลา เช่น ไม่รู้ว่าคนไข้มารับยาแล้วกลับบ้าน หรือบางส่วนได้นอนพักที่โรงพยาบาล ฯลฯ ฉะนั้นว่าเฉพาะการจัดการข้อมูล ดูไม่เพียงพอจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากนัก ส่วนทางวิชาการก็ไม่ได้เพิ่มพูนความรู้อะไรขึ้นมา

ฝรั่งเศสขีดแผนที่ให้เบี้ยวมากินตาเมือนธมไปด้วย จึงเป็นชนวนให้ไทยกับกัมพูชาอาจมีข้อพิพาทกันได้อีก เขาก็อยากได้และเราก็อยากได้เป็นธรรมดา ว่าเฉพาะในส่วนของกัมพูชา นอกจากมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว ต้องไม่ลืมว่าชัยวรมันที่ 7 เป็นวีรกษัตริย์สำคัญ (ที่สุดกระมัง) ในสำนึกของชาวเขมร แม้เป็นสำนึกที่ถูกสร้างขึ้นโดยนักวิชาการฝรั่งเศสเมื่อศตวรรษที่แล้วนี้เอง แต่มันก็กลายเป็นสำนึกของชาวกัมพูชาปัจจุบันไปแล้ว

แต่เราไม่ควรมองคำตัดสินของศาลโลกครั้งนี้ว่า ได้ให้อาวุธอะไรไว้แก่เราในการพิพาทกับกัมพูชาในภายหน้า เพราะศาลโลกย้ำถึงความร่วมมือกันระหว่างสองประเทศในการดูแลรักษามรดกโลก (ซึ่งผมคิดว่าน่าจะรวมถึงมรดกโลกจริงๆ ไม่ว่าได้ขึ้นทะเบียนไว้กับยูเนสโกหรือยังด้วย) การเจรจาอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย มีความเข้าใจซึ่งกันและกันในกรณี "พื้นที่ข้างเคียง" ของปราสาทพระวิหาร จึงเป็นแบบอย่างที่ดี ให้เราสามารถใช้ได้ในอนาคต โดยไม่ต้องแปรให้กลายเป็นการพิพาทระหว่างประเทศอีก

มาถึงเรื่อง 4.6 ตร.กม. คำตัดสินไม่ได้ระบุว่าเป็น "พื้นที่ข้างเคียง" ของปราสาทพระวิหารก็จริง แต่จะเป็นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเจรจาร่วมกันระหว่างกัมพูชาและไทย บางส่วนอาจจะเป็นก็ได้ หากการเจรจากระทำเพื่อยุติความบาดหมางระหว่างกัน ไม่ใช่ข่มขู่ช่วงชิงตามอำเภอใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ท่านทูตวีรชัย พลาศรัย ได้กล่าวว่า ใน พ.ศ.2505 เจ้าหน้าที่ได้ทำแผนแสดงเขตแดนไทยที่ประชิดกับปราสาทพระวิหารไว้สองแผน แผนที่ 1 คือถอยร่นจากบันไดนาคขึ้นปราสาทออกมาในระยะหนึ่ง อันเป็น "พื้นที่ข้างเคียง" ตามคำสั่งศาล (ซึ่งท่านทูตกล่าวว่า แผนนี้ได้ปลดชั้นความลับแล้ว จึงแสดงอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ แต่ผมยังไม่ได้เข้าไปดูเมื่อเขียนบทความนี้) ส่วนแผนที่ 2 คือชิดบันไดนาค อันเป็นแผนที่ ครม.ในสมัยนั้นเลือกใช้ และเป็น "เส้นเขตแดน" ที่ไทยเข้าใจตลอดมาจนทุกวันนี้

สรุปก็คือ "เส้นเขตแดน" ที่ลากขึ้นฝ่ายเดียวนี้ จึงน่าจะเป็นเส้นที่ยืดหยุ่นได้จากการเจรจากันระหว่างไทยและกัมพูชา บางทีเราอาจต้องถอยลงมาระดับหนึ่ง (ตามแผนวิธีที่ 1 ซึ่งเสนอให้ ครม.พิจารณาใน พ.ศ. 2505) จะถอยลงมาถึงกินพื้นที่ 4.6 ตร.กม.หรือไม่ และเพียงใด เป็นเรื่องอนาคตที่ไม่แน่นอน

จึงจะด่วนสรุปว่าไม่ต้องสละพื้นที่ตรงนี้เลยไม่ได้ คนไทยควรเข้าใจว่า พื้นที่ตรงนี้ยังไม่ใช่พื้นที่ภายใต้อธิปไตยของไทยอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งเกิดขึ้นจากมติ ครม.ของไทยฝ่ายเดียวเท่านั้น ถึงเราต้องสละดินแดนนี้ เราก็ไม่ได้ "เสีย" ดินแดน ก็ของยังไม่ใช่ของเรา จะเรียกว่า "เสีย" ได้อย่างไร ในทางตรงข้าม ดินแดนส่วนนี้ก็ยังไม่ใช่ของกัมพูชาเหมือนกัน จะแบ่งกันอย่างไรขึ้นอยู่กับการเจรจา

ผมคิดว่าท่าทีอย่างนี้สำคัญในการเจรจา แต่ท่าทีแบบไม่ยอมเสียดินแดนให้ใครแม้แต่ตารางนิ้วเดียวนั่น นำไปสู่การปะทะกันทางทหารมากกว่าการเจรจา (และใครก็ตามที่คิดว่ากำลังทหารไทยเหนือกัมพูชา ก็ควรคิดใหม่ให้ดี หากเปิดสงครามในแบบเต็มรูป อย่างที่เวียดนามทำใน ค.ศ.1978-9 ซึ่งในความจริง เวียดนามก็หืดขึ้นคอเหมือนกัน แม้ยึดพนมเปญได้รวดเร็ว ไทยอาจเหนือกว่า แต่เรามีกึ๋นหรือสมรรถภาพ ทั้งทางทหารและการเมืองระหว่างประเทศ ถึงขนาดนั้นหรือ ตราบเท่าที่ต้องจำกัดปฏิบัติการทางทหารไว้ที่ชายแดน ไม่มีใครเหนือใครหรอกครับ) และการปะทะกันทางทหารมีแต่ความสูญเสียทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงฝ่ายอื่นๆ ในอาเซียนด้วย

ดังที่กล่าวแล้วว่า เข้าใจได้ไม่ยากที่รัฐบาลต้องเน้นแต่ความไม่สูญเสียหรือทางได้ของคำตัดสิน และก็ประสบความสำเร็จพอที่กันไม่ให้ประเด็นปราสาทพระวิหารเข้าไปอยู่ในประเด็นการประท้วงของกลุ่มประท้วงใหญ่ๆ ได้

แต่บัดนี้ถึงเวลาที่ต้องเตรียมการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อเตรียมใจคนสำหรับการเจรจาซึ่งจะต้องตามมา เพื่อไม่ติดกับ "เสียดินแดน" เหมือนคนไม่มีอนาคต ผมคิดว่ามีประเด็นที่ต้องทำให้ประชาชนไทยส่วนใหญ่เข้าใจและยอมรับในสามประเด็นด้วยกัน

1.ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยและกัมพูชามีค่าและราคาสูงมาก รากเหง้าทางวัฒนธรรมของราชสำนักภาคกลางอยู่ที่เมืองพระนคร เท่ากับรากเหง้าทางวัฒนธรรมหลายอย่างของราชสำนักกัมพูชาก็อยู่ในกรุงเทพฯ ต่างฝ่ายต่างไม่อาจรู้จักวัฒนธรรมที่แท้จริงของตนได้ หากไม่ศึกษาวัฒนธรรมของอีกฝ่ายหนึ่ง ในส่วนการค้า การลงทุนระหว่างกันนั้น มีตัวเลขที่ชี้ให้เห็นได้ชัดอยู่มาก อีกทั้งอาจขยายไปได้อีกมาก หากอนาคตความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศราบรื่นไปด้วยดี

2.เส้นเขตแดนไทยตามสนธิสัญญากับฝรั่งเศส มีสถานะทางกฎหมายระหว่างประเทศดีขึ้นมาก เพราะการแบ่งกันด้วยสันปันน้ำตามสนธิสัญญา จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายพบความเห็นพ้องกันได้ง่ายขึ้นในจุดที่ยังไม่อาจปักปันเขตแดนได้ แผนที่ 1/200,000 อาจใช้ได้ในกรณีจำเป็นบางกรณีเท่านั้น อีกทั้งเมื่อไม่ต้องยึดแผนที่ตายตัวเช่นนั้น ก็จะทำให้เกิดทางเลือกในการจัดการพื้นที่ทับซ้อนได้อีกหลายวิธี ทั้งวิธีที่เราเคยทำกับเพื่อนบ้านด้านอื่นมาแล้ว หรืออาจคิดวิธีใหม่ที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียมด้วย

3.กฎหมายระหว่างประเทศ และสถาบันที่กำกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้มีกติกา ล้วนมีคุณค่าอย่างยิ่งแก่ประเทศเล็กๆ อย่างไทยและกัมพูชา เราทั้งสองฝ่ายไม่อาจอยู่ในโลกของความสัมพันธ์ด้วยอำนาจดิบได้ทั้งคู่ ภายใต้เงาทะมึนของจีนและสหรัฐ สิ่งที่ทั้งไทยและกัมพูชาต้องการเหนืออื่นใด คือระเบียบกฎเกณฑ์ของความสัมพันธ์เยี่ยงอารยชน นับเป็นการไร้สติและไม่ใช้ปัญญาอย่างถึงที่สุด ที่ประเทศเล็กๆ อย่างไทยและกัมพูชาเรียกร้องให้ปิดประเทศ หรือถอนตัวจากองค์กรระหว่างประเทศที่ช่วยประกันการดำรงอยู่ของประเทศเล็กๆ อย่างเรา และยิ่งไร้สติไม่ใช้ปัญญาหนักขึ้นไปอีก หากผลักดันให้ไทยและกัมพูชาแก้ข้อพิพาทกันด้วยกำลังอาวุธ อันเป็นสิ่งที่ประเทศเล็กๆ อย่างเราต้องช่วยกันขจัดให้เกิดขึ้นได้ยากที่สุด หรือเกิดขึ้นไม่ได้เลย

เหนือฟ้ายังมีฟ้า และขอบฟ้าของเราทั้งสองฝ่ายนั้นต่ำมาก

 

 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท