Skip to main content
sharethis

แฉครั้งล่าสุดของสโนว์เดนเผยการสอดแนมคืบใกล้เข้ามาถึงประเทศเพื่อนบ้าน จากเอกสารลับของหน่วยข่าวกรองออสเตรเลียปูดเรื่องพยายามดักข้อมูลโทรศัพท์เครือข่าย 3G โดยมีเป้าเป็นผู้นำสำคัญในประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงปธน. ยูโดโยโน และภรรยา ทำให้อินโดนีเซียโต้ตอบด้วยการเรียกทูตกลับประเทศ

18 พ.ย. 2556 เอกสารลับล่าสุดที่ถูกเปิดโปงโดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ระบุว่าทางการออสเตรเลียพยายามสอดแนมการใช้โทรศัพท์มือถือของประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน รวมถึงของภรรยาประธานาธิบดี รัฐมนตรีระดับสูง และผู้ร่วมงานคนอื่นๆ

เอกสารดังกล่าวระบุช่วงเวลาเดือน พ.ย. 2552 เปิดเผยรายละเอียดว่ามีผู้ที่ถูกสอดแนม ได้แก่ประธานาธิบดีและคนวงในรัฐบาลอีก 9 คน รวมถึงรองประธานาธิบดีโบดิโอโน ผู้ซึ่งไปเยือนออสเตรเลียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีรัฐมนตรีที่มีโอกาสลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียในปีหน้า และสตรีหมายเลขหนึ่ง คริสเตียนี เฮราวาตี

รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย มาร์ตี นาตาเลกาวา แสดงความไม่พอใจหลังจากทราบเรื่องการเปิดโปงดังกล่าว อีกทั้งยังประกาศว่าจะมีการพิจารณาปฏิบัติการร่วมกันกับออสเตรเลียในประเด็นสำคัญใหม่อีกครั้ง เช่น การให้ความร่วมมือเรื่องการลักลอบขนส่งสินค้า และเรื่องการก่อการร้าย

การนำเสนอเนื้อหาเอกสารดังกล่าวผ่านสื่อบรรษัทกระจายเสียงแห่งออสเตรเลีย (Australian Broadcasting Corporation หรือ ABC) กับสำนักข่าวเดอะการ์เดียน มีโอกาสทำให้เกิดความตึงเครียดทางการทูตระหว่างสองประเทสเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลออสเตรเลียมีนโยบายส่งตัวผู้อพยพทางน่านน้ำกลับประเทศอินโดนีเซีย

เอกสารที่ถูกเปิดโปงเป็นรูปแบบภาพสไลด์ โดยมีที่มาจากกระทรวงกลาโหมของออสเตรเลียและกรมข้อมูลสัญญาณของออสเตรเลีย (Australian Signals Directorate) ซึ่งเป็นกรมที่เกี่ยวกับงานข่าวกรอง กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยี 3G ในเอเชียเพื่อดักสัญญาณโทรศัพท์มือถือ โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับรุ่นและยี่ห้อของโทรศัพท์ต่างๆ ที่เหล่าผู้นำอินโดนีเซียใช้ โดยหนึ่งในภาพสไลด์เหล่านี้มีหน้าหนึ่งระบุชื่อหัวข้อว่า "การดักข้อมูลเสียงของประธานาธิบดีอินโดนีเซีย"

ในสไลด์หัวข้อดังกล่าวเปิดเผยว่ามีการโทรเข้าสู่เครื่องของประธานาธิบดี ยูโดโยโน โดยเครื่องไม่ทราบหมายเลขจากประเทศไทย แต่การโทรก็ไม่ยาวนานพอที่หน่วยงานข่าวกรองของออสเตรเลียจะบรรลุเป้าหมายได้

ในสไลด์อีกตัวหนึ่งเน้นการเก็บข้อมูลของโทรศัพท์ที่มีการสื่อสารกับเครื่องโทรศัพท์ของยูโดโยโน โดยมีการบันทึกหมายเลขที่โทรเข้าและโทรออก ระยะเวลาที่ใช้โทร ประเภทการใช้ว่าเป็นการใช้เสียงหรือการส่งข้อความเอสเอ็มเอส ซึ่งทางหน่วยข่าวกรองได้ขยายปฏิบัติการสอดแนมไปยังผู้ที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดี

ผู้ใกล้ชิดประธานาธิบดีที่ตกเป็นเป้าดังกล่าวประกอบด้วย ยูซุฟ คาลลา อดีตรองประธานาธิบดี ผู้สมัครจากพรรคโกลคาร์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียปี 2552, ศรี มุลยานี อินดราวาตี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังปี 2552 และในปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการบริหารเวิลด์แบงค์กรุ๊ป, แอนดี มัลลารังเกง อดีตนักวิจารณ์และพิธีกรรายการโทรทัศน์ผู้กลายมาเป็นโฆษกรัฐบาลในตอนนั้น, ซอฟยาน จาลิล ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีรัฐวิสาหกิจ จนถึงเดือน ต.ค. 2552 และ วิโดโด อาดี ซูซิปโต อดีตผู้นำกองทัพอินโดนีเซียผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้านความมั่นคงจนถึงเดือน ต.ค. 2552

ใต้แผ่นสไลด์ในแต่ละแผ่นยังมีข้อความคำขวัญของของกรมข้อมูลสัญญาณของออสเตรเลียที่กล่าวไว้ว่า "เปิดเผยความลับของพวกเขา ปกป้องความลับของพวกเรา" โดยกรมข้อมูลฯ เป็นผู้จัดหาข้อมูลเหล่านี้

เอกสารชุดหนึ่งเกี่ยวกับวิธีการดักข้อมูลของเครือข่าย 3G ระบุว่า การใช้เทคโนโลยี 3G ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใกล้จะสมบูรณ์ โดยมีการระบุวันที่จะเริ่มใช้เทคโนโลยี 3G ในประเทศต่างๆ อย่าง กัมพูชา, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และไทย


อินโดฯ เรียกทูตกลับ
หลังจากที่มีการเปิดโปงในเรื่องนี้ ทางการอินโดนีเซียได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตประจำออสเตรเลียกลับประเทศ รวมถึงบอกว่าจะมีการพิจารณาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอีกครั้ง นอกจากนี้เหล่าผู้นำที่ตกเป็นเป้าการสอดแนมตามที่ระบุในเอกสารลับก็ออกมาแสดงความกังวลและบางส่วนแสดงความไม่พอใจ เช่น ยูซุฟ คาลลา ผู้ที่มีโอกาสลงสมัครแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดีปีหน้าบอกว่าการสอดแนมเป็นเรื่องผิดกฎหมายและไม่คิดว่าประเทศที่เป็นมิตรกันจะทำการดักฟังกันเช่นนี้

ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีของผู้นำเยอรมนี, บราซิล และเม็กซิโก ถูกสอดแนมโดยกลุ่มประเทศที่เรียกว่า 'ดวงตาทั้งห้า' (Five Eyes) ซึ่งเป็นชื่อเรียกห้าประเทศที่มีหน่วยงานปฏิบัติการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองร่วมกันได้แก่องค์กรจากประเทศสหรัฐฯ, อังกฤษ, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และแคนาดา

ความตึงเครียดระหว่างอินโดนีเซียและออสเตรเลียเกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนต.ค. ที่ผ่านมาหลังจากที่หนังสือพิมพ์ Der Spiegel ในเยอรมนี และหนังสือพิมพ์ Fairfax ของแคนาดาเปิดเผยเอกสารที่ระบุว่า หน่วยการทูตออสเตรเลียในทั่วทวีปเอเชียทำหน้าที่เป็นผู้ดักสัญญาณและข้อมูลทางโทรศัพท์ และเดอะการ์เดียนก็เคยเปิดเผยถึงกรณีที่หน่วยงานข่าวกรองออสเตรเลียทำงานร่วมกับสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) ในปฏิบัติการสอดแนมหมู่ขณะการประชุมเรื่องโลกร้อนในบาหลีปี 2550

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี โทนี่ แอ๊บบอตต์ ของออสเตรเลียก็กล่าวว่าเรื่องการสอดแนมนี้อยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลในอดีตคือพรรคแรงงาน แอ็บบอตต์กล่าวอีกว่าการกระทำของออสเตรเลียเป็น "การศึกษาวิจัย" มากกว่า "การสอดแนม" และข้อมูลที่ได้รับจะนำมาใช้ในทางที่ดี นอกจากนี้ยังยืนยันว่าความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับอินโดนีเซียกำลังไปได้ดีและจะยิ่งดีขึ้น

รองประธานาธิบดี บอดิโอโน ของอินโดนีเซีย กล่าวระหว่างการเยือนออสเตรเลีย ก่อนหน้าที่จะมีการเปิดโปงว่า ประชาชนชาวอินโดนีเซียมีความกังวลต่อเรื่องการสอดแนม และควรจะมีระบบอะไรบางอย่างที่เป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการนำข้อมูลของแต่ละฝ่ายมาใช้ทำลายกัน

 

เรียบเรียงจาก

Australia's spy agencies targeted Indonesian president's mobile phone, The Guardian, 18-11-2013
http://www.theguardian.com/world/2013/nov/18/australia-tried-to-monitor-indonesian-presidents-phone

Indonesia recalls Canberra ambassador as phone-tapping diplomatic row grows, The Guardian, 18-11-2013
http://www.theguardian.com/world/2013/nov/18/indonesia-recalls-canberra-ambassador-phone-australia

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net