ทีดีอาร์ไอเสนอตั้ง 'องค์กรเฝ้าระวังการคลัง' ห่วงกู้นอกงบประมาณทำเจ๊งยาว

ซ้ายไปขวา:  บรรยง , เดือนเด่น, ปรีดิยาธร, ศาสตรา, ภาวิน

 

19 พ.ย.2556 เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนาประจำปี 2556 ในหัวข้อ “โมเดลใหม่การพัฒนา: สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยการเพิ่มผลิตภาพ” ที่โรงแรมโซทาราแกรนด์ฯ

หนึ่งในหัวข้อหลักที่มีการนำเสนอคือ เรื่องบทบาทภาครัฐในการจัดสรรทรัพยากรด้านการเงินและการคลัง โดยมีผู้นำเสนอคือ เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ.การวิจัย ทีดีอาร์ไอ, ศาสตรา สุดสวาสดิ์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า, ภาวิน ศิริประภานุกูล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. มีผู้วิจารณ์คือ บรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน-ภัทร และดำเนินรายการโดย มรว.ปรีดิยาธร เทวกุล

ภาวิน กล่าวว่าการนำเสนอจะแบ่งเป็น 2 ประเด็นหลักคือ 1.การดำเนินนโยบายการคลัง การจัดเก็บภาษีและการใช้จ่าย มีความรับผิดชอบทางการคลังและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือไม่ 2.มาตรการกึ่งการคลัง ถูกใช้ในขนาดใหญ่ขึ้นและมีความถี่เพิ่มขึ้น สินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ คุ้มค่าและส่งเสริมผลิตภาพหรือไม่

โดยปกติแล้วเชื่อว่ารัฐบาลใช้จ่ายเพิ่มเศรษฐกิจจะขยายตัวดี แต่การศึกษาพบว่า การใช้จ่ายภาครัฐในหลายประเทศเพิ่มขึ้นต่ำแต่เศรษฐกิจถึงกับหดตัวด้วยซ้ำ สาเหตุอาจเป็นเพราะการใช้จ่ายไปอยู่กับกลุ่มคนมีรายได้สูง ไม่ได้นำมาใช้ต่อ, การใช้จ่ายภาครัฐเบียดเบียนทรัพยากรจากเอกชน ทั้งที่รัฐสร้างการเติบโตได้ไม่เท่าเอกชน นอกจากนี้ยังมีตัวชี้วัดหลายตัวที่เกี่ยวพันกัน เช่นกาที่ระดับหนี้สาธารณะสูงหรือการขาดดุลการคลังต่องเนื่อง ส่งผลเกิดความกังวลในระบบเศรษฐกิจ เอกชนยิ่งชะลอการลงทุน ขณะที่สัดส่วนลงทุนของรัฐเป็นตัวสะท้อนการสร้างการเติบโต ถ้าไปแย่งชิงทรัพยากรมาแล้วไม่ได้จ่ายในส่วนที่สร้างความเติบโตเศรษฐกิจก็จะติดลบ

หากดูการจัดเก็บภาษีและการใช้จ่ายภาครัฐ จะสามารถแบ่งการเก็บภาษีเป็นสองกลุ่มหลักคือ บิดเบือนและไม่บิดเบือนพฤติกรรมภาคเอกชน ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐแบ่งเป็นส่งเสริมและไม่เสริมผลิตภาพ รายจ่ายที่ไม่ส่งเสริมผลิตภาพของภาคเอกชน เช่น การแจกเช็คช่วยชาติ การจำนำข้าว สินค้าธงฟ้า รถคันแรก  และยังบิดเบือดแรงจูงใจในการพัฒนาตัวเองของภาคเอกชนด้วย งานศึกษาจากต่างประเทพบว่า การขาดดุลงบประมาณอย่าต่อเนื่อง การเพิ่มของหนี้สาธารณะ สัดส่วนรายจ่ายการลงทุนภาคัฐที่ลดลง เป็นปัจจัยส่งผลลบต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจทั้งหมด และพัฒนาการของประเทศไทยกำลังดำเนินไปในภาพลบเช่นนั้น สิบกว่าปีที่ผ่านมาไม่มีปีไหนที่หนี้สาธารณะลดลง สัดส่วนการลงทุนภาครัฐก็ลดเรื่อยๆ เรามีเกณฑ์คุมให้รับผิดชอบทางการคลัง แต่เกณฑ์ก็ตั้งหลวมๆ ไม่ทำตามก็ได้ มีการกู้เงินนอกงบประมาณถี่ขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากโครงการไทยเข้มแข็ง โครงการการบริหารจัดการน้ำ และสโครงการองล้านล้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้น่าจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว

 

 

ศาสตรา นำเสนอต่อ โดยพยายามตอบคำถามว่า ทำไมจึงพบลักษณะการเงินการคลังแบบนี้ในหลายประเทศ  นักเศรษฐศาสตร์การคลังหลายคนพยายามอธิบายว่า เหตุผลเพราะมีแรงจูงใจทางการเมืองจากรัฐบาล คือ  รัฐบาลมักมองประโยชน์ระยะสั้น เพราะเขาไม่ทราบว่าจะอยู่ได้กี่ปี จึงทำให้คิดโครงการที่ไม่รอบคอบแต่มุ่งตอบโจทย์การเมืองตนเอง นอกจากนี้การใช้งบประมาณ ทรัพยากรการคลังร่วมกัน หากใช้มากในปัจจุบันอาจเบียดเบียนทรัพยากรในอนาคตได้ เป็นการสร้างข้อจำกัดให้รัฐบาลในอนาคต แต่ก็ไม่มีกรอบใดไปควบคุม และสุดท้าย ใช้ดุลยพินิจทางการคลังมากกว่านโยบายที่ปรับเสถียรภาพเศรษฐกิจอัตโนมัติ (automatic stabilizer) จึงควรทำงบประมาณสมดุล

แล้วควรแก้ปัญหาอย่างไร ศาสตรานำเสนอว่า ประเทศที่มีปัจจัยเชิงสถบันการคลังที่ดี นำไปสู่ผลการดำเนินการทางการคลังที่ดี เช่น รัฐบาลจะทำงบเกินดุลเพิ่มขึ้น มีหนี้ลดลง เรากำลังพูดถึงแผนงบประมาณระยะปานกลาง ซึ่งกระทรวงคลังก็มีการทำ แต่การใช้ข้อมูลนี้ไม่ถึงกับไปกำหนดงบประมาณประจำปี หากกฎหมายการคลังมีการบังคับใช้ตรงนี้ ไทยก็พร้อมจะทำได้ สำหรับบางประเทศเช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เพื่อให้ไปสู่แผนที่ตั้งไว้ถึงกับมีกฎความรับผิดชอบทางการคลัง กำหนดว่าหากรัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณเกินแผนระยะปานกลางที่ตั้งไว้ ต้องมาแถลงต่อสภาและอธิบายว่าจะทำอย่างไรให้กลับเข้าสู่แผนเดิมได้ สำหรับกฎการคลังของไทยก็มีแต่เป็นกรอบหลวมๆ และมีจุดอ่อนจำนวนมาก ดังนั้นจึงนำเสนอการแก้ปัญหาคือ องค์กรเฝ้าระวังทางการคลังอิสระ (PBO)

PBO ต้องอิสระจากฝ่ายบริหาร ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายในฝ่ายหนึ่งในทางการเมือง หน้าที่หลักคือ วิเคราะห์นโยบายทางการคลังและงบประมาณ PBO ของบางประเทศมีหน้าที่คาดการณ์เศรษฐกิจและฐานะการคลังข้างหน้า ตลดจนวิเคราะห์ต้นทุนโครงการของภาครัฐด้วย ตอนนี้มี 27 ประเทศที่มี PBO ไทยก็มีแนวโน้มที่จะเกิดหน่วยงานนี้ได้ สถาบันพระปกเกล้าและทีดีอาร์ไอก็มีโครงการนำร่องที่จะนำเสนอเรื่องนี้ การมีหน่วยงานนี้จะเพิ่มความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ เสริมระบบรัฐสภาในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร รวมถึงเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย

“ระหว่างประเทศที่มีและไม่มีพีพีโอ เราพบว่า ประเทศที่มีพีบีโอจะจัดทำงบเกินดุล และหนี้สาธารณะลดงมากกว่าประเทศที่ไม่มี ความผิดพลาดทางนโยบายก็มีน้อยกว่า” ศาสตรากล่าว

ถามว่าพีบีโอจะมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือไม่  ศาสตรากล่าวว่า จากการทดสอบโดยใช้แบบจำลอง ผลโดยสรุปพบว่า การจัดตั้งพีบีโอในประเทศต่างๆ ไม่ได้มีผลโดยตรงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่หากสามารถนำสู่การจัดทำงบประมาณขาดดุลที่ลดลงก็จะมีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ ส่วนบทบาทวิเคราะห์ต้นทุนโครงการัฐก็จะส่งผลบวกต่อรายจ่ายรัฐที่มีผลิตภาพ

เดือนเด่น นำเสนอลงไปในรายละเอียดเพื่อให้เห็นการใช้ประสิทธิภาพในการใช้จ่ายของรัฐบาล ผ่านมาตรการกึ่งการคลังอย่างหนึ่ง นั่นคือ สินเชื่อสำหรับธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( Small and Medium Enterprises – SMEs) ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions – SFIs)   เนื่องจากการให้ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อ เป็นการใช้เงินนอกงบประมาณ หากเป็นเอ็นพีแอลก็เป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องเพิ่มทุนให้สถาบันการเงินเหล่านั้น จึงศึกษาเพื่อดูว่าการดำเนินงานมีประสิทธิภาพและผลิตภาพหรือไม่

ทั้งนี้ เอสเอ็มอีเป็นส่วนสำคัญมากทางเศรษฐกิจที่รัฐควรส่งเสริม เพราะมีสัดส่วนการจ้างงาน 80% ของการจ้างงานทั้งหมด และคิดเป็น 37% ของจีดีพี จึงต้องตอบคำถามสำคัญว่าใช้เงินในการส่งเสริมอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยมีคำถามพื้นฐานในการศึกษาคือ เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนจริงหรือไม่ , สถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้งหลายมีส่วนช่วยได้จริงไหม และสุดท้ายคือช่วยได้อย่างมีคุณภาพไหม

เดือนเด่นให้ภาพกว้างว่าประเทศไทยมีเอสเอ็มอีอยู่ราว 2.78 ล้านราย โดยมีผู้เข้าถึงสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ประมาณ 1.1 ล้าน ส่วนอีก 1.67 ล้านรายเข้าไม่ถึง สาเหตุที่เข้าไม่ถึงคือ 1.ต้นทุนของธนาคารพาณิชย์สูงในการปล่อยสินเชื่อวงเงินต่ำ เช่น ต้นทุนในการตรวจสอบเรื่องเครดิต , 2.เอสเอ็มอีขาดข้อมูลที่จะให้กับธนาคาร เช่น สินทรัพย์ค้ำประกัน สเตทเม้นท์ แผนการประกอบธุรกิจ รัฐบาลได้เข้ามาช่วยปิดช่องว่างตรงนี้ผ่าน 3 วิธี 3 ช่องทางหลัก คือ 1.รัฐบาลปล่อยสินเชื่อเองผ่านธนาคาร SMEs , รัฐบาลค้ำประกันสินเชื่อให้ ผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยให้ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ปล่อยกู้เช่นเดิม และยังมี Exim Bank ซึ่งเน้นเรื่องธุรกิจนำเข้า นอกเหนือจากนี้ยังอีกเจ้าคือ สํานักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งมีลักษณะมาตรการร่วมลงทุนกับวิสาหกิจ

สำหรับการดำเนินการ ณ ปี 2555 บสย. มีการค้ำประกันให้ราว 55,000 รายคิดเป็นกว่า 42%  มีภาระค้ำประกันสะสมที่ 180,000 ล้านบาท   ส่วนของเอสเอ็มอีแบงก์มีปล่อยสินเชื่อให้ราว 80,000 ราย คิดเป็นกว่า 57% มียอดสินเชื่อคงค้าง 96,000 ล้านาท  58% ส่วนที่เป็นลักษณะร่วมลงทุนนั้นมีเพียง 53 รายคิดเป็น 0.04% ที่ผ่านมาบทบาทของสถาบันการเงินลักษณะนี้เพิ่มขึ้นรวดเร็ว ในปี 2555 นั้นสินเชื่อคงค้างทั้งระบบมี 12 ล้านล้าน เป็นสินเชื่อในลักษณะนี้ถึง 4 ล้านล้านบาทหรือ  33% โดยโครงการรับจำนำข้าวปี 2553-2556 วงเงิน 300,000 ล้าน ทำให้สินเชื่อขยายตัวก้าวกระโดด

สำหรับแนวทางการประเมินประสิทธิภาพ เดือนเด่นใช้ตัวชี้วัด 3 เรื่องหลัก ได้แก่ ความคอบคลุม ต้นทุน และความคุ้มค่า พบว่า 1.จากเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงเงินทุน 1.67 ล้านราย แม้ว่าจะมี SFIs เหล่านี้แล้วก็ยังเข้ามาได้น้อยมาก คิดเป็น 5% ของที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ หรือแทบจะปิดช่องว่างไม่ได้ แล้ว 5% ที่ให้สินเชื่อก็พบว่า วงเงินกู้ต่อรายกลับสูงกว่าของธนาคารพาณิชย์เสียอีก โดยวงเงินเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีประมาณ 2 แสนบาท แต่ บสย.ปล่อยให้ถึงรายละ 3 ล้าน ซึ่งไม่ใช่ชายขอบจริงๆ

2.สำหรับต้นทุนที่รัฐลงทุน พิจารณาโดยการนำเอ็นพีแอล (หนี้เน่า) ลบด้วยเงินสำรองหนี้เผื่อสูญที่ธนาคารเฉพาะกิจเหล่านี้ตั้งไว้ ลบด้วยกำไร แล้วบวกเงินชดเชยจากภาครัฐ ซึ่งพบว่าเอสเอ็มอีแบงก์ รัฐต้องรับภาระ 2.2 หมื่นล้าน หนี้เสีย 32% กันสำรองไว้ไม่ครอบคลุม กำไรไม่มีติดลบ 4 พันล้าน ภาระทางการคลังต่อการปล่อยกู้ 1 รายคือ 300,000 บาท  ส่วนเอ็กซิมแบงก์หนี้เสียไม่เยอะและมีกำไร  ขณะที่ บสย. รัฐมีภาระแบกรับสินเชื่อประมาณ 40,000 ล้าน หนี้เสีย 3-4%  ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

ในเรื่องความคุ้มค่า เดือนเด่นดูจากการประเมินรัฐวิสาหกิจ 60 แห่งที่รัฐต้องทำรายงานทุกปี 60 ส่วนของเอสเอ็มอีแบงก์ปรากฏว่าให้น้ำหนักผลการดำเนินงานเพียง 20%  ที่เหลือเป็นเรื่องการบริหารจัดการตัวเอง เช่น 35% เป็นการดำเนินแผนตามนโยบาย , การดำเนินงานตามนโยบาย 35% และไม่ได้ตอบเลยว่าประเทศได้อะไร เอสเอ็มอีได้อะไร  ส่วนบสย. 95% เป็นสินเชื่อตามโครงการของรัฐ ที่เหลือเป็นการปล่อยสินเชื่อตามปกติ อย่างไรก็ตาม โครงการของรัฐราว 55% ไม่ได้เกี่ยวกับการเพิ่มผลิตภาพเลย เช่น ชะลอการเลิกจ้าง, ฟื้นฟูอุทกภัย, ช่วเหยลือจากเหตุทางการเมือง (เผาเซ็นทรัลเวิลด์) นอกจากนี้โครงการต่างๆ ยังเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นที่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็เปลี่ยนนโยบาย ทำให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเหล่านี้ไม่มีทิศทางในการดำเนินการ

สรุป การใช้เงินในส่วนสถาบันการเงินเฉพาะกิจเหล่านี้ไม่บรรลุเป้าหมาย ไม่สามารถปิดช่องว่างของเอสเอ็มที่ที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนได้จริง ที่เข้าไปใช้ก็ไม่ใช่รายย่อยจริงๆ ไม่มีกลไกติดตามตัวสอบ ต้นทุนสูงมากแต่ตอบไม่ได้ว่าได้อะไรกลับคืนบ้าง การดำเนินงานไม่มีทิศทาง แต่ละแห่งดำเนินการไปเรื่อยๆ ตามรัฐบาล ไม่มีการปล่อยกู้ที่จะสร้างผลิตภาพให้กับเอสเอ็มอีอย่างแท้จริงระยะยาว

เดือนเด่นกล่าวถึงข้อเสนอแนะ ว่า ควรปรับนิยามของเอสเอ็มอีใหม่ เพื่อให้การช่วยเหลือเข้าถึงรายย่อยจริงๆ และสามารถกระจายได้กว้างขวางมากขึ้น , ธนาคารของรัฐไม่ควรมีหนี้เสียถึง 30%  และควรอยู่ภายใต้กำกับธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) เช่นกัน และต้องมีการประเมินความคุ้มค่าของโครงการ ประเมินต้นทุนและประโยชน์ที่ได้รับทุกปี, เมื่อรัฐปล่อยสินเชื่อเองแล้วพบว่าค่าใช้จ่ายสูงมาก 300,000 บาทต่อราย หากให้เอกชนปล่อยสินเชื่อแล้วรัฐค้ำประกันพบว่าใช้แบกภาระเพีย 40,000 บาทต่อราย จึงควรให้เอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนมากกว่า สุดท้าย ต้องีภาพยุทธศาตร์ของการพัฒนาเอสเอ็มอี เพราะมีเรื่องอื่นมากกว่าเรื่องสินเชื่อ การวางยุทธศาสตร์ต้องเป็นภาพรวม

บรรยง วิจารณ์ว่า การตั้งสถาบันอิสระเพื่อตรวจสอบนโยบายการคลังนั้น เรื่องสำคัญมากคือความเป็นอิสระ คำถามคือจะอิสระนานแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อมีบทบาทมากขึ้น ประการต่อมา ภารกิจที่มอบหมายนั้นคาดหวังคุณภาพที่ลึกซึ้ง แต่สำคัญกว่านั้นคือคุณภาพของรัฐสภา ประเทศที่หน่วยงานเหล่านี้ทำงานได้ผลจะต้องมีคุณภาพของรัฐสภาค่อนข้างสูง คานอำนาจฝ่ายบริหารได้มาก แต่ในประเทศไทยน่าจะลำบาก อย่างไรก็ตาม สนับสนุนให้มีการจัดตั้งดังที่นำเสนอ ซึ่งน่าจะเป็น policy watch ที่จะให้ข้อมูลกับฝ่ายวิชาการและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

นอกจากนี้บรรยงยังมีคำถามต่อประเด็นการเข้าถึงทุนของเอสเอ็มอีว่า ควรตั้งคำถามว่ามีกลไกอื่นๆ ที่ควรปรับปรุงมากกว่าที่รัฐจะเข้าไปแทรกหรือไม่ เพราะเอสเอ็มอีก็มีทั้งที่มีศักยภาพและที่ไม่ควรมีอีกต่อไป เพราะสภาพการณ์เปลี่ยนไปเช่น โชว์ห่วย ตรงนี้ควรมีงานวิจัยให้ลึกซึ้งขึ้น เอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรมี 2 ปัจจัย คือ 1.ปัญหาบรรษัทภิบาลของเอสเอ็มอีเอง ระบบบัญชี กลไกวางแผน การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า การตรวจสอบการใช้งาน จากข้อสังเกตที่เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงสิ่งเหล่านี้เกิดจากความจงใจเพื่อเลี่ยงภาษี กับบางส่วนที่ขาดความรู้ความสามารถที่จะสร้างระบบบรรษัทภิบาล ตรงนี้หน่วยงานรัฐเข้าไปเสริม ให้การศึกษาได้ , 2.กฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายล้มละลายและกฎหมายการบังคับทรัพย์สิน ซึ่งถูกรวมอยู่ในกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ กฎหมายเหล่านี้มุ่งพิทักษ์ผลประโยชน์ของลูกหนี้เน่ามากเกินไป เนื่องจากช่วงที่ออกกฎหมาย มีเอ็นพีแอลถึง 47% ในระบบจึงมีแรงจูงใจทางการเมืองให้ออกกฎหมายคุ้มครองคนจำนวนมาก แต่สภาพการณ์ตอนนี้เปลี่ยนไป หากกู้ธนาคารแล้วสินเชื่อมีปัญหา เชื่อไหมว่าใช้เวลา 10 ปีกว่าธนาคารจะยึดกิจการได้  และ LGD loss given default  หรือหนี้เสียในกลุ่มเอสเอ็มอีนั้นสูญเสียถึง 40% เกือบเท่ากับสินเชื่อบัตรเครดิต ด้วยเหตุนี้ธนาคารจึงไม่อยากให้กู้ การมีกฎหมายสองฉบับนั้นอยู่ทำให้คนจำนวนน้อยสร้างภาระต้นทุนให้ทั้งระบบ จึงอยากให้มีการศึกษาเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายส่วนนี้ด้วย และรัฐเองก็ควรลดบทบาทตัวเอง เพราะขนาดรายจ่ายของเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นมาก ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนก็มีทิศทางชัดเจนแล้วว่าจะลดบทบาทของรัฐและส่งเสริมเอกชน

ปรีดิยาธร กล่าวด้วยว่า กฎการคลังเข้มงวดอยู่แล้ว แต่นักการเมืองหมดเก่งกว่า เสนอให้ตั้งกฎให้ชัดเจนขึ้นว่า หากเกินความเสียหายในการใช้จ่าย ปีงบประมาณหน้าต้องตั้งงบใช้ทันที หรือ กำหนดเพดานการกู้นอกงบประมาณให้ไม่เกิน 20% ของงบประมาณปกติ เรื่องเอสเอ็มอี ขณะนี้เงินกู้เอสเอ็มอีกอยู่ในธนาคารพาณิชย์ 2.5 ล้านล้านบาท ควรต้องกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์แข่งกัน เรื่องกฎหมายอาจมีปัญหาดังที่บรรยงกล่าว  แต่ขณะนี้คณะกรรมการพัฒนากฎหมายกำลังดูเรื่องนี้ให้อยู่ นอกจากนี้ควรปรับชื่อและนิยามให้เหลือเพียง SE bank (ธนาคารวิสาหกิจขนาดย่อม) เท่านั้น กำหนดวงเงินกู้น้อยสำหรับรายย่อย ส่วนขนาดกลางนั้นให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการ  

 

 

ดาวน์โหลด บทความฉบับเต็ม 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท