Skip to main content
sharethis

19 พ.ย. 2556  องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กำหนดให้วันที่ 19 พ.ย. ของทุกปีถือเป็นวันห้องสุขาโลกเพื่อส่งเสริมเรื่องสุขอนามัยการขับถ่ายและให้ประชากรในที่ต่างๆ ของโลกสามารถเข้าถึง 'ห้องสุขา' ที่สะอาดได้ โดยการมีสุขาที่สะอาดจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวบุคคลและสังคมโดยรวม เช่นในเรื่องสุขภาพ การเพิ่มผลผลิตในการทำงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มูลค่าของทรัพย์สิน และการท่องเที่ยว

สำนักข่าวอัลจาซีรานำเสนอแผนภาพอินโฟกราฟฟิก แสดงสถิติการเข้าถึงสุขาจากการสำรวจทั่วโลก มีประชากร ราว 1,800 ล้านคนสามารถเข้าถึงระบบสุขาภิบาลที่พัฒนาแล้ว ประชากรราว 2,500 ล้านคน สามารถเข้าถึงระบบสุขาภิบาลที่มีการพัฒนาในบางด้าน ขณะที่ประชากรอีกราวร้อยละ 15 ยังคงขับถ่ายในพื้นที่เปิด

แผนภาพระบุอีกว่าประชากรที่ยังคงขับถ่ายในพื้นที่เปิดมีร้อยละ 80 มาจากประเทศเอเชียใต้ และภูมิภาคแอฟริกาใต้ซาฮาร่า โดยในประเทศกลุ่มแอฟริกาใต้ซาฮาร่ามีมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ยังไม่มีระบบสุขาภิบาลที่ได้รับการพัฒนาแล้ว

ข้อมูลสถิติในแผนภาพซึ่งอ้างอิงจากยูเอ็นและองค์การอนามัยโลกยังได้กล่าวถึงความเกี่ยวข้องระหว่างเรื่องสุขาภิบาลกับมิติชีวิตด้านอื่นๆ เช่น เรื่องที่บันคีมูน เลขาธิการยูเอ็นกล่าวว่าการมีห้องน้ำในโรงเรียนจะทำให้มีเด็กผู้หญิงเข้าเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11, ระบบสุขาที่แย่ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของรัฐลดลงร้อยละ 7.2 และมีเด็กเสียชีวิตด้วยโรคท้องร่วง 800,000 รายทุกปี

"การขาดระบบสุขาภิบาลที่ดีทำให้มีเด็กเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 2,000 คนจากโรคท้องร่วง นอกจากนี้ยังส่งผลต่อประชากรพิการ และประชากรผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อการถูกกระทำทางเพศ" ยูเอ็นระบุในเว็บไซต์

เว็บไซต์ยูเอ็นระบุอีกว่า ระบบสุขาภิบาลและระบบการประปาที่ไม่ดียังทำให้ประเทศกำลังพัฒนาสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจปีละ 260,000 ล้านบาท

"ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ในโลกสามารถเข้าถึงโทรศัพท์มือถือได้แล้ว แต่หนึ่งในสามของประชากรทั้งหมด (ราว 2,500 ล้านคน) ยังคงเข้าไม่ถึงระบบสุขาภิบาลที่ถูกสุขลักษณะไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำหรือสุขา ซึ่งมีสิ่งเหล่านี้มีผลอย่างมากต่อสุขภาพของมนุษย์, ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, เรื่องความปลอดภัย, สิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม" ยูเอ็นระบุ

ด้วยเหตุนี้ยูเอ็นจึงมีข้อมติว่าด้วย "สุขาภิบาลในทุกด้าน" (Sanitation for All) ซึ่งมีการรับรองมติดังกล่าวนี้ในการประชุมสมัชชาใหญ่เมื่อเดือน ก.ค. 2556 โดยได้กำหนดให้วันที่ 19 พ.ย. เป็นวันสุขาโลก

อินโฟกราฟิกของอัลจาซีราระบุอีกว่า นับตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา การขับถ่ายในที่โล่งลดลงอย่างมาก โดยในปี 2533 ประชากรในพื้นที่เขตเมืองสามารถเข้าถึงสุขาภิบาลที่มีการพัฒนาแล้ว 1,736 ล้านคนจากทั้งหมด 2,269 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 76.5 ขณะที่ในปี 2554 มีประชากรในเขตเมืองที่สามารถเข้าถึงสุขาภิบาลที่มีการพัฒนาแล้ว 2,887 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 3,615 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 80

 

เรียบเรียงจาก

World Toilet Day, UN
https://www.un.org/en/events/toiletday/

World Toilet Day: Flushed with success, Aljazeera, 19-11-2013
http://www.aljazeera.com/indepth/features/2013/11/world-toilet-day-flushed-with-success-2013111910736178467.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net