ศาลรธน.ฟันธง ส.ว.สรรหา ใครอย่าแตะ - ผิด รธน.แต่ไม่ถึงยุบพรรค

เปิดเนื้อหาละเอียด - ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขที่มาส.ว. ผิดรัฐธรรมนูญ ให้คง ส.ว.สรรหาเพื่อตรวจสอบถ่วงดุล - กระบวนการแก้ไขมิชอบหลายประการ แต่ไม่เข้าข่ายยุบพรรค พร้อมแสดงแนวคิดว่าด้วยหลักนิติธรรมและที่ทางของศาลรัฐธรรมนูญในระบบการเมือง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ที่มา: วิกิพีเดีย/แฟ้มภาพ) 

 

20 พ.ย.2556 เวลาประมาณ 13.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคำร้องในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ โดยล่าช้าจากกำหนดเดิมไปราว 2 ชั่วโมง ท่ามกลางความสนใจของประชาชนและการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์แทบทุกช่อง  

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 ชี้ว่าเนื้อหาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้น ขัดรัฐธรรมนูญ (อ่านรายละเอียดเต็มด้านล่าง)  ส่วนกระบวนการในการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารประกอบการพิจารณา, ระยะเวลาในการเสนอคำแปรญัตติ, การลงคะแนนเสียงที่มีการลงคะแนนแทนกัน ก็ล้วนไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเช่นกัน แต่ในส่วนคำร้องให้มีการยุบพรรคที่เกี่ยวข้องและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองผู้บริหารพรรคนั้น ศาลมีมติ 5 ต่อ 4 ให้ยกคำร้องเนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไข 

คำวินิจฉัยโดยละเอียดในส่วนของเนื้อหา การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  มีดังนี้

“การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศที่ไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่

เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นแม่แบบโดยแก้ไขหลักการคุณสมบัติ ส.ว.หลายประการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 กล่าวคือ ให้ ส.ว.สรรหาเข้ามาเป็นองค์ประกอบร่วมกับ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งในสัดส่วนที่เท่าเทียมกันเพื่อให้โอกาสกับประชาชนทุกภาคส่วนทุกสาขาอาชีพได้มีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ของวุฒิสภาให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติได้อย่างรอบคอบ ทั้งยังกำหนดคุณสมบัติของส.ว.ให้เป็นอิสระจากการเมืองและสภาผู้แทนราษฎร เช่น ห้ามบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งของส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้ามาเป็น ส.ว. และกำหนดเวลาห้ามเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองตำแหน่งทางการเมืองไว้เป็นเวลา 5 ปี เป็นต้น

รัฐธรรมนูญ 50 กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย สภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา ให้มีดุลยภาพระหว่างกันโดยกำหนดบทบาทของวุฒิสภาให้เป็นองค์กรตรวจทาน กลั่นกรองการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ถ่วงดุลอำนาจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยให้สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจตรวจสอบถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อไปในทางจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 270 จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ที่จะให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นอิสระจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริง จึงได้บัญญัติห้ามความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันดังกล่าว หากส.ว.และส.ส.มีความสัมพันธ์กันย่อมไม่อาจคาดหวังได้ว่าจะมีการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาอันเป็นการขัดต่อหลักการดุลและคานอำนาจซึ่งกันและกัน อันเป็นหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญนี้ สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ เป็นการแก้กลับไปสู่จุดบกพร่องที่เคยปรากฏแล้วในอดีต เป็นจุดบกพร่องที่ล่อแหลม เสี่ยงต่อสูญสิ้นศรัทธาและสามัคคีธรรมของหมู่มหาชนชาวไทย เป็นความพยายามนำประเทศให้ถอยหลังเข้าคลอง ทำให้วุฒิสภากลับไปเป็นสภาญาติพี่น้อง สภาของครอบครัวหรือสภาผัวเมีย สูญเสียสถานะและศักยภาพแห่งการเป็นสติปัญญาให้สภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นเพียงเสียงสะท้อนของปวงชนเพื่อที่จะทำลายสาระสำคัญของการมีสองสภา นำไปสู่การผูกขาดอำนาจและขาดการมีส่วนร่วมของปวงประชาหลากสาขาอาชีพ เป็นการกระทบต่อการปกปครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปิดช่องให้ผู้ร่วมกระทำการครั้งนี้กลับมีโอกาสได้อำนาจที่ไมได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ คือ รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากการออกเสียงลงประชามติจากมหาชนชาวไทย

การแก้ไขที่มาของ ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งอย่างเดียว อันเป็นที่มาเหมือนกับ ส.ส. จึงย่อมเป็นเหมือนสภาเดียวกัน ไม่เกิดความแตกต่างและเป็นอิสระซึ่งกันและกันอันเป็นลักษณะของสองสภาและทำให้สาระสำคัญของระบบสองสภาสูญสิ้นไป การแก้ไขให้คุณสมบัติของส.ว.เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับฝ่ายการเมืองหรือส.ส.ย่อมทำให้หลักการตรวจสอบอำนาจและถ่วงดุลซึ่งกันและกันของรัฐสภาต้องสูญเสียไปอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถควบคุมอำนาจเหนือรัฐสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลกัน อันเป็นกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปิดทางให้บุคคลผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการครั้งนี้ ได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

นอกจากนี้การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหารัฐธรรมนูญในมาตรา 11 และมาตรา 11/1 ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในเรื่องกระบวนการการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ว. ส.ส. ที่จะบัญญํติขึ้นใหม่ โดยเมื่อรัฐธรรมนูญมีการประกาศใช้กม.ที่ปรับปรุงดังกล่าวโดยไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 141 ที่จะต้องส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมูญเสียก่อน ซึ่งขัดกับหลักการดุลและคานอำนาจ อันเป็นหลักการในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถออกกฎหมายได้ตามอำเภอใจโดยอาศัยเสียงข้างมากปราศจากการตรวจสอบ

อาศัยเหตุดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จึงวินิจฉัยมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่า การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 122, มาตรา 125 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, มาตรา 126 วรรคสาม มาตรา 251 และมาตรา 302 และวินิจฉัยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ว่า มีเนื้อความที่เป็นหลักการสำคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 50 อันเป็นการกระทำให้ผู้ถูกร้องได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศที่ไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 50 ฝ่าฝืนมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ส่วนที่ผู้ร้องให้ยุบพรรคทีเกี่ยวข้องและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการพรรคเหล่านั้นเห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ ม.68 วรรคสามและวรรคสี่ จึงให้ยกคำร้องในส่วนนี้"

คำวินิจฉัยเกี่ยวกับกระบวนการ พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีประเด็นต่างๆ ดังนี้ 

1) เอกสารร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำมาให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 1 เป็นคนละฉบับกับร่างที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ผู้เสนอร่างและคณะ ยื่นต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างที่จัดพิมพ์ใหม่ที่มีข้อความแตกต่างจากร่างเดิมหลายประการในหลักการ โดยเพิ่มเติมมาตรา 116 วรรค 2 และวรรค 1 ของมาตรา 141 มีผลให้ ส.ว. ที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลงสามารถสมัครส.ว.ได้อีกไม่รอให้พ้น 2 ปี เป็นลักษณะการดำเนินการที่มีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริง ไม่แจ้งความจริงว่าได้จัดทำร่างขึ้นใหม่ให้สมาชิกรัฐสภาทราบทุกคน มีผลเท่ากับว่าการดำเนินการในการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่วไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 (1) วรรค 1  

2) การกำหนดวันแปรกญัตติ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ การอภิปรายแสดงความเห็นในการบัญญัติกฎหมายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสมาชิกรัฐสภา แต่ปรากฏว่า ในวาระที่หนึ่งและสองประธานในที่ประชุมได้ตัดสิทธิผู้อภิปรายและผู้สงวนคำแปรญญัติถึง 50 กว่าคน แม้การปิดการอภิปรายจะเป็นดุลยพินิจประธานการประชุม แต่การใช้ดุลยพินิจและเสียงข้างมากต้องไม่ตัดสิทธิของการทำหน้าที่ของเสียงข้างน้อย นอกจากนี้การนับระยะเวลาในการแปรญัตติไม่ถูกต้อง ประธานได้กำหนดเวลายื่นญัติภายใน 15 วันหลังสภารับหลักการ แทนที่จะเป็น 15 วันหลังจากการลงมติเพื่อเลือกว่าจะใช้เวลา 15 วันหรือ 60 ตามที่มีผู้เสนอ ส่งผลให้เหลือเวลาเสนอคำแปรญัติเพียง 1 วัน เห็นว่า การนับเวลาไม่อาจนับย้อนหลังได้ต้องนับตั้งแต่วันที่ที่ประชุมมีมติ เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมและไม่เป็นกลาง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรคหนึ่งและสอง ขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสองด้วย 

3) การลงคะแนนเสียง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผู้ร้องมีประจักษ์พยานและวิดีทัศน์ ให้เห็นชัดเจนว่า มีสมาชิกรัฐสภาลงคะแนนแทนผู้อื่น โดยใช้บัตรแสดงตนอิเล็กทรอนิกส์ลงคะแนนครั้งละหลายใบ หมุนเวียนเข้าไปในเครื่องอ่านบัตรติดต่อกันหลายครั้ง การดำเนินการดังกล่าวนอกจากละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกรัฐสภาตามมาตรา 122 ของรัฐธรรมนูญแล้ว ยังขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา และขัดหลักการให้สมาชิกมีเพียงหนึ่งเสียง มีผลให้เป็นการออกเสียงที่ไม่ชอบ 

สำหรับประเด็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยหรือไม่นั้น ศาลระบุว่า

ประเทศที่นำเอาระบอบการปกครองประชาธิปไตยมาใช้ในการปกครองประเทศ ล้วนมีวัตถุประสงค์และมุ่งหมายที่จะออกแบบหรือสร้างกลไกในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในอันที่จะทำให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ อีกทั้งสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลองค์กรหรือสถาบันทางการเมือง เพื่อให้เกิดดุลยภาพในการใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชนตามหลักการแบ่งแยกอำนาจที่แบ่งออกเป็น 3 อำนาจคืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ

เจนตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความมุ่งหมายที่จะให้องค์กรหรือสถาบันทางการเมืองปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องชอบธรรมมีความเป็นอิสระและซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ไม่ประสงค์ที่จะให้องค์กรหรือสถาบันการเมืองใดบิดเบือนใช้อำนาจโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาดปราศจากความชอบธรรมทุกรูปแบบ อีกทั้งไม่ประสงค์ที่จะให้องค์กรหรือสถาบันการเมืองหยิบยกหมวดกฏหมายใดมาเป็นข้ออ้างเพื่อใช้เป็นฐานสนับสนุนค้ำจุนในอันที่จะแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้องจากการใช้อำนาจนั้นๆ

อย่างไรก็ดีภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย แม้จะให้ถือเอามติฝ่ายเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ก็ตาม แต่หากละเลยหรือใช้อำนาจอำเภอใจกดขี่ข่มเหงฝ่ายเสียงข้างน้อย โดยไม่ฟังเหตุผลและขาดหลักประกัน ย่อมทำให้ฝ่ายเสียงข้างน้อยไม่มีที่อยู่ที่ยืนตามสมควรแล้วไซ้จะถือว่าเป็นการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร หากแต่จะกลายเป็นรระบอบเผด็จการฝ่ายข้างมาก ขัดแย้งต่อระบอบการปกครองของประเทศไปอย่างชัดแจ้ง ซึ่งหลักการพื้นฐานสำคัญนี้ได้รับการยืนยันมาโดยตลอดว่า กรณีต้องมีมาตรการป้องกันการใช้อำนาจบิดเบือนหรืออำนาจตามอำเภอใจของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เข้ามาใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนโดยไม่ตั้งมั่นอยู่บนหลักการแบ่งการแยกการใช้อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจของปวงชนชาวไทย เพื่อให้แต่ละองค์กรหรือสถาบันการเมืองที่ใช้อำนาจอยู่ในสถานะที่จะตรวจสอบและถ่วงดุล เพื่อทัดทานและคานอำนาจซึ่งกันและกันได้อย่างเหมาะสม มิใช่แบ่งแยกให้เป็นพื้นที่อิสระของแต่ละฝ่ายที่จะใช้อำนาจตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้ เพราะหากปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยปราศจากการตรวจสอบและถ่วงดุลแล้ว ย่มเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดความเสียหายและนำพาประเทศชาติให้เกิดเสื่อทรุดลงเพราะความผิดหลงและมัวเมาในอำนาจของผู้ถืออำนาจรัฐ ซึ่งในการนี้อาจกล่าวได้ว่าองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือศาล ล้วนถูกจัดตั้งขึ้นหรือได้รับมอบอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ดังนั้นการใช้อำนาจขององค์กรเหล่านี้จึงต้องถูกจำกัดการใช้อำนาจทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหา กรณีจึงมีผลให้การใช้อำนาจขององค์กรทั้งหลายเหล่านี้ไม่สามารถที่จะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้

โดยเหตุนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จึงได้นำหลักนิติธรรมมากำกับการใช้อำนาจของทุกฝ่ายทุกองค์กรและทุกหน่วยงานของรัฐบาล ภายใต้หลักการที่ว่านอกจากการใช้อำนาจตามบทกฏหมายที่มีอยู่ทั่วไปแล้วยังต้องใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามหลักนิติธรรมด้วย กรณีจึงใช้การปฏิบัติตามกฏหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือหลักเสียงข้างมากแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมควบคู่ไปด้วย การใช้หลักเสียงข้างมากโดยมิได้คำนึงเสียงข้างน้อยเพื่อหยิบยกมาสนับสนุนการใช้อำนาจตามอำเภอใจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของผู้ใช้อำนาจท่ามกลางความทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนหรือกลุ่มบุคคลกับผลประโยชน์ของประเทศชาติและความสงบสุขของประชาชนโดยรวม และการใดก็ตามที่จะนำมาซึ่งความเสียหายและความเสื่อมโทรมของประเทศชาติหรือการวิวาทบาดหมายและแตกสามัคคีอย่างรุนแรงระหว่างประชาชน การนั้นย่อมขัดกับหลักนิติธรรมตามมาตรา 3 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ 2550  ตามนัยมาตรา 68 

หลักนิติธรรมถือเป็นแนวทางในการปกครองที่มาจากหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติอันเป็นความเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ปราศจากอคติโดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้อง หลักนิติธรรมจึงเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของกฏหมายที่อยู่เหนือบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งรัฐสภาก็ดี คณะรัฐมนตรีก็ดี ศาลก็ดี รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐก็ดีจะต้องยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ส่วนหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยหมายถึงการปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน มิใช่ของแบบแนวความคิดของบุคคลคนใดหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และมิใช่การปกครองที่อ้างอิงแต่ฐานอำนาจมาจากระบบการเลือกตั้งเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ยังมีองค์ประกอบสำคัญอีกหลายประการ มีองค์กรหรือสถาบันในฐานะผู้ใช้อำนาจรัฐมักอ้างอยู่เสมอว่าตนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่กลับนำแนวความคิดของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาปฏิบัติ หาใช่การปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยส่วนรวมภายใต้หลักนิติธรรมไม่

เนื่องจากประชาธิปไตยมิได้หมายถึงเพียงการได้รับเลือกตั้งหรือชนะการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้งมีความหมายสะท้อนถึงความต้องการของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในแต่ละครั้งเท่านั้น หาใช่เป็นเหตุให้ตัวแทนใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องและชอบธรรมตามหลักนิติธรรมแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็กำหนดให้มีศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจเพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมภายใต้หลักการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฏหมายอันเป็นปรัชญาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในอันที่จะทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการธำรงและรักษาไว้ซึ่งความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรค 5 ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐ ประกอบมาตรา 27 ที่ว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้งโดยปริยาย โดยหรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันทางสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฏหมายและใช้บังคับกฏหมายและการตีความกฏหมายทั้งปวง

เมื่อพิจารณาโดยตลอดแล้วเห็นว่าคดีนี้ผู้ร้องใช่สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนุญมาตรา 68 วรรค 2 ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าผู้ถูกร้องได้ทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้

 

ที่มาคดี

สำหรับคำร้องในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่นั้น มีสมาชิกรัฐสภาใช้สิทธิยื่นตีความ หลังจากที่ประชุมรัฐสภาโหวตผ่านวาระ 3 เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเห็นชอบ 358 เสียง ไม่เห็นชอบ 2 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง

คำร้องดังกล่าว "พรรคประชาธิปัตย์" และ"กลุ่ม 40 ส.ว." ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประกอบด้วยคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา กับคณะ คำร้องของ รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. กับคณะ คำร้องของ วิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา และ คำร้องของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โดยศาลรัฐธรรมนูญสั่งรวมคำร้องทั้ง 4 ไว้เป็น 1 สำนวน 

ผู้ร้องนอกจากขอให้ศาลฯวินิจฉัยให้ร่างแก้ไขเป็นอันตกไปแล้ว ยังขอให้ศาลสั่งยุบพรรคเพื่อไทย และ 5 พรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงตัดสิทธิทางการเมือง ส.ส.และส.ว.รวม 312 คน ที่โหวตแก้ไขด้วย

เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มี จรูญ อินทจาร เป็นประธาน ได้ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง มีพยานเข้าไต่สวนรวม 8 ปาก ประกอบด้วย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา, รสนา โตสิตระกูล และส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย วิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ , รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม, นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง

ขณะที่ ปฏิพล อากาศ ทนายความรับมอบอำนาจจาก สุรเดช จิรัฐติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี ผู้ถูกร้องที่ 293 เข้าร่วมการไต่สวน ส่วนสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และสมาชิกรัฐสภาผู้ถูกร้องอีก 311 คน ปฎิเสธการเข้าร่วมไต่สวน นอกจากนี้ ศาลฯ ยังได้เรียก สุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ อัจฉรา จูยืนยง ผู้อำนวยการกลุ่มงานโสตทัศนูปกรณ์ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นพยานของศาลเข้าไต่สวนด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท