Skip to main content
sharethis

ชัยชนะในคดีของ 'ฉัตรชัย-ชาตรี' ลูกจ้างบ.ไทยอินดัสเตรียลแก๊ส นับเป็นก้าวสำคัญของขบวนการแรงงาน เมื่อศาลฎีกาตัดสินให้ลูกจ้างชนะ หลังนำกระดาษไปถ่ายเอกสารเพื่อยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแล้วถูกนายจ้างฟ้องขโมยกระดาษ

เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน ลงวันที่ 11 เม.ย.2556 โดยพิพากษายืนตามศาลแรงงานกลาง ให้บริษัท ไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) รับลูกจ้างสองคนคือ ฉัตรชัย ไพยเสน และ ชาตรี จารุสุวรรณวงศ์ กลับเข้าทำงาน พร้อมจ่ายค่าชดเชย

ที่มาของคดีนี้ เริ่มเมื่อปี 2547 นายจ้างมีหนังสือเลิกจ้างลูกจ้างทั้งสอง โดยมีผลเลิกจ้างในวันที่ 15 ธ.ค.2547 ต่อมา ลูกจ้างได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ว่าการเลิกจ้างดังกล่าวไม่เป็นธรรม และ ครส.ได้มีคำสั่งให้รับลูกจ้างทั้งสองกลับเข้าทำงาน พร้อมจ่ายค่าเสียหายและให้ปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีและโบนัส

ต่อมา นายจ้างร้องต่อศาลแรงงานกลาง ให้เพิกถอนคำสั่ง ครส. และให้ถือว่าการเลิกจ้างนั้นชอบแล้ว ด้วยเหตุผลว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2547 ฉัตรชัยใช้ให้ชาตรีเป็นผู้ลักกระดาษสำหรับถ่ายเอกสารแล้วนำไปใช้ในกิจการอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการของตนเอง เป็นความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างซึ่งเป็นความผิดอย่างร้ายแรง จึงชอบที่จะเลิกจ้างทั้งสอง นอกจากนี้ ยังระบุว่า ครส.ไม่มีอำนาจสั่งให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานพร้อมทั้งให้จ่ายค่าเสียหาย รวมทั้งไม่มีอำนาจสั่งให้ปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีและโบนัสด้วย

อย่างไรก็ตาม ในชั้นนี้ ศาลแรงงานได้พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากฟัง ครส. ได้ว่า ระหว่างเจรจาข้อเรียกร้องกับนายจ้าง ลูกจ้างทั้งสอง ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ได้ใช้กระดาษไปถ่ายเอกสารในกิจการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพต่อนายจ้าง ซึ่งถือเป็นการใช้ในกิจการอันเกี่ยวเนื่องกับนายจ้างเอง นอกจากนี้ การถ่ายเอกสารยังกระทำโดยเปิดเผย ทำให้นายจ้างทราบว่าทั้งสองเป็นสมาชิกสหภาพและเป็นแกนนำในการเรียกร้อง การนำกระดาษไปถ่ายเอกสารจึงเป็นการกระทำโดยสุจริต ขาดเจตนาลักทรัพย์นายจ้าง ส่วนสาเหตุที่เลิกจ้างก็เพราะนายจ้างไม่พอใจที่ลูกจ้างทั้งสองเป็นแกนนำยื่นข้อเรียกร้องและจัดตั้งสหภาพ การเลิกจ้างจึงไม่เป็นธรรม อีกทั้งเป็นการเลิกจ้างในระหว่างเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน ทั้งยังเป็นอำนาจของ ครส. ที่จะสั่งให้รับกลับ ชดเชย ปรับค่าจ้างและจ่ายโบนัส

ต่อมา นายจ้างอุทธรณ์ในชั้นฎีกา สองประเด็น คือ หนึ่ง การกระทำของลูกจ้างเป็นการลักทรัพย์นายจ้างซึ่งเป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง - ศาลเห็นว่า การเอาทรัพย์ผู้อื่นไปโดยถือวิสาสะที่เข้าใจโดยสุจริตว่ากระทำได้นั้นไม่ถือว่ามีเจตนาทุจริต อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น 

สอง คำสั่ง ครส.ให้รับกลับรวมทั้งจ่ายค่าเสียหาย ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ - ศาลเห็นว่า กฎหมายไม่ได้จำกัดว่า ครส.จะมีคำสั่งได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงสามารถมีอำนาจใช้ดุลพินิจออกคำสั่งได้ตามที่เห็นสมควร ส่วนที่อุทธรณ์แย้งว่าลูกจ้างทั้งสองไม่ได้เป็นผู้โต้แย้งสิทธิในการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีและโบนัสจึงไม่มีค่าเสียหายในส่วนนี้ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหาย เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยในส่วนนี้ ดังนั้น คำสั่ง ครส. จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว พิพากษายืน

0000


"ประชาไท" พูดคุยกับ "ฉัตรชัย ไพยเสน" ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส ซึ่งได้กลับเข้าทำงานตั้งแต่ปี 2549 แล้วหลังจากองค์กรแรงงานต่างๆ ได้ร่วมกดดันและรณรงค์ให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงาน โดยมีข้อตกลงกันว่านายจ้างจะถอนฟ้อง แต่สุดท้าย มีการสู้คดีต่อจนถึงฎีกา

จากคำพิพากษาของศาลฎีกาจะใช้เป็นประโยชน์กับคดีอย่างไรได้บ้าง
ประเด็นการถ่ายเอกสาร ใช้กระดาษ เป็นบรรทัดฐานต่อไปว่าถ้านายจ้างจะใช้วิธีนี้เล่นงานลูกจ้าง ก็มีคำพิพากษาฎีกาออกมาแล้ว จะมาเล่นลูกไม้แบบนี้ไม่ได้อีก

พบปัญหาอะไรบ้างระหว่างต่อสู้คดี
เท่าที่ทราบจาก คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) คดีนี้กลายเป็นคดีที่นานที่สุดในประเทศไทยไปแล้ว นั่นหมายถึงขบวนการต่อสู้ของลูกจ้างหากโดนนายจ้างกลั่นแกล้ง ถ้าต้องต่อสู้คดี มันก็ลำบากที่จะยืนหยัดต่อสู้ขนาดนี้

แม้แต่คำพิพากษาของศาลฎีกาก็จะเห็นว่ามีคำสั่งตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน กว่าจะอ่านก็เดือนพฤศจิกายน โอกาสที่ลูกจ้างจะยืนหยัดต่อสู้อย่างนี้ มันเป็นไปได้ยาก ดังคำกล่าว "ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม" นี่ถือว่าเป็นจุดอ่อนของกระบวนการยุติธรรม

ที่สำคัญที่สุดคือ กฎหมายมีข้อยกเว้นว่า เมื่อมีคำพิพากษาออกมาและนายจ้างได้ปฏิบัติแล้ว โทษอาญาถือว่างดเว้นไป แม้ท้ายที่สุด ลูกจ้างชนะแต่เราก็ไม่สามารถเอาผิดใดๆ กับนายจ้างได้เลย แม้ว่าความผิดเสร็จสมบูรณ์ไปแล้ว ทำให้นายจ้างไม่กลัวและใช้วิธีการแบบเดิมกับลูกจ้างอีก

ดูแล้ว ยากมากสำหรับคนงานที่จะยืนระยะสู้ได้ ส่วนตัวมีปัจจัยอะไร
เรื่องของสหภาพแรงงาน กำลังใจจากเพื่อนสมาชิกผู้ใช้แรงงาน ช่วงที่ลำบากก็ช่วยเหลือ ไม่มีเงิน ทุกคนก็ลงขันช่วยกัน ทำให้ยืนหยัดต่อสู้ได้ ทั้งยังมีองค์กรแรงงานภายนอกเข้ามาให้ความช่วยเหลือ เช่น Industri ALL ประเทศไทย แล้วก็ครอบครัว สำคัญที่สุด ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่สามารถจะยืนอยู่ได้

แล้วภาครัฐอยู่ตรงไหน
กฎหมายอยู่ในมือภาครัฐ เขารู้ดีถึงช่องโหว่ของกฎหมาย แต่ยังปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้โดยไม่ได้ปรับปรุงแก้ไข เหมือนรู้เห็นเป็นใจทำร้ายลูกจ้างด้วย เพราะเขาสามารถทำได้ดีกว่านี้ เช่น ทันทีที่มีคำสั่ง ต้องแจ้งความดำเนินคดีกับนายจ้างทันที ถ้าไม่ปฏิบัติตาม

เสนอว่า ภาครัฐควรมีมาตรการรองรับลูกจ้างในการต่อสู้ เช่น หลัง ครส. มีคำวินิจฉัยมาแล้วว่าลูกจ้างไม่ผิด ควรเยียวยาให้ลูกจ้างเพื่อที่จะยืนหยัดต่อสู้ได้ ควรมีมาตรการ เช่น ประสานกับประกันสังคม เอาเงินมาจ่ายให้ลูกจ้างก่อน แล้วก็ค่อยไปไล่บี้เอากับนายจ้าง

บทเรียนจากคดีนี้
นายจ้างคิดผิดที่สู้ถึงฎีกา เพราะเราได้ตกลงกันแล้วว่าคุณจะถอน มาถึงตรงนี้ความไว้วางใจมันหายไปหมด กระทบกับระบบแรงงานสัมพันธ์ จุดเริ่มต้นของแรงงานสัมพันธ์ก็คือความไว้ใจ เราตกลงกันแล้วคุณไม่ทำตาม นี่คือปัญหาจริงๆ ที่เกิดขึ้น

ไม่รู้ว่าคุณจะได้อะไรจากตรงนี้ คือถ้าฎีกาพลิกก็ได้เลิกจ้างอีกรอบ ฎีกาไม่พลิกก็จะถูกจารึกชื่อไปตลอดกาล ว่าได้กระทำการอันไม่เป็นธรรมกับคนงาน เพราะเหตุไม่ชอบสหภาพแรงงาน ตรงนี้ก็จะอยู่กับคุณไปตลอด แก้ไขไม่ได้แล้ว ฝากถึงนายจ้างอื่นๆ ในการสู้กับลูกจ้างว่า คุณรับจ้างมาบริหาร วันหนึ่งคุณก็ต้องไป แต่ชื่อเสียงของบริษัทยังคงอยู่และคุณเป็นคนทำ ตรงนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น

0000

 


-ศาลแรงงานมีเพียงสองศาล คือ ศาลแรงงานกลาง(ศาลชั้นต้น) และศาลฎีกา

-ระหว่างการเจรจาการไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือ โยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้างผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือ สมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการหรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่ง เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่บุคคลดังกล่าว
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง โดยนายจ้างได้ว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำต้องว่ากล่าวและตักเตือน ทั้งนี้ ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งนั้น ต้องมิได้ออกเพื่อขัดขวาง มิให้บุคคลดังกล่าวดำเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง
(4) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุผลอัน สมควร
ห้ามมิให้ลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิก สหภาพแรงงาน หรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่ง เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องสนับสนุน หรือก่อเหตุการนัดหยุดงาน
(มาตรา 31 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์)

-ห้ามนายจ้างเลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลงโทษ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้าง หรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นผลให้กรรมการลูกจ้างไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน (มาตรา 52 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์)

-นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้
            (1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
            (2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
            (3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
            (4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
           หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
            (5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
            (6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(มาตรา 119 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน)

 

 

คำสั่งศาลฎีกา พิพากษายืน ให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับทำงาน by Prachatai Online Newspaper

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net