รายงาน : คดีดูหมิ่นรัชกาลที่ 4 เส้นแบ่งเวลาใหม่ของมาตรา 112

 

มาตรา 112 เป็นที่โจษจันกันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเว็บไซต์นิติราษฎร์เผยแพร่คำพิพากษาศาลฏีกาคดีดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

คำพิพากษากรณีนี้น่าสนใจ เพราะเพิ่งพิพากษาเมื่อวันที่ 8 พ.ค.2556 (อ่านคำพิพากษาเดือนตุลาคมที่ผ่านมา) เป็นคดีที่อยู่นอกการจับตาของนักวิชาการ นักกิจกรรม สื่อมวลชนที่ติดตามเรื่องนี้ คล้ายว่าจู่ๆ ก็ พลั๊วะ!! โผล่ขึ้นมาบนดิน ทำให้อดคิดต่อไม่ได้ว่ามีคดีที่เราไม่รู้อีกกี่มากน้อย สำคัญที่สุดคือ มันเป็นคดีที่ไปถึงชั้นฎีกา เป็นการวางบรรทัดฐานการตีความกฎหมายอย่างเป็นทางการ ซึ่งบรรทัดฐานในครั้งนี้คือ การหมิ่นกษัตริย์ในอดีตนับเป็นความผิดตามมาตรา 112

ที่ผ่านมาแม้การตีความของตำรวจ อัยการ ศาล ว่าอะไรหมิ่นหรือไม่ จะถูกตั้งคำถามว่าอาจตีขลุมและอ่อนไหวต่อการวิพากษ์วิจารณ์เกินไป ทั้งคดีโยนธง พ่นสเปรย์ เขียนนิยาย ไม่ยืนในโรงหนัง แปลหนังสือต่างประเทศ ขายซีดีสารคดีต่างประเทศ เป็นต้น  แต่ก็ไม่เคยมีกรณีไหนที่การตีความนั้นเกี่ยวพันกับ “เวลา” เหมือนกรณีนี้

จำเลยในคดีนี้คือ นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่งในจังหวัดชลบุรี สิ่งที่อัยการ โจทก์ฟ้องคือข้อความตอนหนึ่งที่เขาพูดออกอากาศทางวิทยุชุมชน คลื่น 93.25 MHz ชื่อรายการ "ช่วยกันคิดช่วยกันแก้" เรื่องราวเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล เมื่อปี 2548   โดยจำเลยเท้าความถึงการแพ้การเลือกตั้งคราวก่อน

สิทธิพร วัชรกิติวณิช  ลูกชายของจำเลยซึ่งศึกษาด้านนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าให้ฟังว่า ช่วงนั้นกำลังจะมีการเลือกตั้ง พ่อของเขาพูดในรายการวิทยุและถูกฝ่ายตรงข้ามนำไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจ ในรายการนั้นพ่อของเขาได้พูดถึงการเลือกตั้งครั้งก่อนที่พ่ายแพ้คู่แข่งว่ารู้สึกอย่างไร โดยเล่าถึงการถูกชักชวนไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามแต่ไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากการบริหารภายในกลุ่มนั้นมีการรวบอำนาจ สมาชิกไม่มีสิทธิออกเสียง

“พ่อก็พูดถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พูดว่าไม่มีสิทธิเสรีภาพที่จะทำอะไรเพื่อประชาชน แต่อัยการโควทเฉพาะคำพูดตอน ร.4 เจตนานั้นพูดเรื่องการเมืองท้องถิ่นล้วนๆ ไม่ได้พูดเรื่องประวัติศาสตร์หรือสถาบันกษัตริย์แม้แต่น้อย” สิทธิพรกล่าว

“....เมื่อสักครู่มีเบอร์โทรเข้ามาหลังไมค์ มาสอบถามเรื่องว่าทำไมคุณณัชกฤชสอบตกเพราะสาเหตุใด สาเหตุใดเราไม่ต้องพูดถึงหรอกครับ เอาว่าการที่เราสอบตกนั้นเนี๊ยะ ทุกวันผมเดินด้วยความภาคภูมิใจอย่างสง่าาม จากในหน้าที่ตอบรับดีผมได้เจอะเจอทุกวันนี้มีแต่ความรู้สึกดีๆ ฉะนั้น เรามีความภูมิใจในตัวเรานะครับว่า เราคงยึดอุดมการณ์แล้วก็ศักดิ์ศรีของความป็นมนุษย์.....ผมเคยได้รับโอกาสนะครับ ชวนให้ไปเป็นสมาชิกเหมือนกับท่านที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่ผมปฏิเสธ แต่ผมปฏิเสธครับท่านผู้ฟังครับ เพราะศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ในสิ่งใดที่เราคิดว่าเราไปแล้วเนี๊ยะ ถ้าเราทำด้วยความอิสระ ทำด้วยความคิดเสรี เพื่อพี่น้องประชาชน เราไปครับ แต่ถ้าเราต้องไป แล้วต้องเป็นเหมือนกับสมัยรัชกาลที่ 4 เราไม่เป็นครับท่าน ยุคนั้นหมดไปแล้ว แต่บ้านเมืองนี้อาจจะมีอยู่บ้าง บางส่วนนะครับ บางส่วนยังมีอยู่บ้าง ก็คือ ความภาคภูมิใจในตัวผม คิดถึงทีไรเราก็มีความภาคภูมิใจตลอด" ข้อความที่ปรากฏตามฟ้อง

ลูกชายจำเลยยังเล่าถึงกระบวนการระหว่างพิจารณาคดีด้วยว่า จากการปรึกษาหารือกับทนาย มีการเทียบเคียงกับคดีทางการเมืองอย่างของนายวีระ มุสิกพงศ์ เมื่อปี 2531 ซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน ทำให้เห็นพ้องกันว่าคดีลักษณะนี้คงมีหนทางเดียวคือ รับสารภาพ

คดีของวีระเป็นการกล่าวปราศรัยหาเสียงและถูกฝ่ายตรงข้ามนำไปฟ้อง วีระพูดถึงการเลือกเกิดไม่ได้ หากเลือกได้คงเกิดเป็น “พระองค์เจ้าวีระ” ครั้งนั้นวีระซึ่งดำรงตำแหน่งรมช.มหาดไทย เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ถูกศาลฏีกาพิพากษาจำคุก 4 ปี ติดคุกอยู่ราว  1 เดือนจึงขอพระราชทานอภัยโทษออกมาได้

“คุณพ่ออแถลงต่อศาลรับสารภาพว่า พูดถ้อยคำจริง แต่ไม่มีเจตนาหมิ่นพระองค์ท่าน หากการพูดดังกล่าวได้ล่วงเกินหรือหมิ่นรัชกาลที่ 4   ขอลุแก่โทษต่อศาล แต่ศาลก็มองว่านี่คือการรับสารภาพแล้ว จึงพิพากษาคดีออกมาอย่างที่ทราบ”

วันที่ 3 พ.ค.2550 ศาลชั้นต้น พิพากษาลงโทษ จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดลงให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี  

โดยเหตุผลในคำพิพากษานั้นระบุว่า “ข้อความดังกล่าวมีความหมายเป็นการใส่ความหมิ่นประมาท ดูหมิ่นรัชกาลที่ 4  ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในอดีตเปรียบเทียบว่ายุคของพระองค์เหมือนต้องไปเป็นทาส ไม่มีความเป็นอิสระ มีการปกครองที่ไม่ดี ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้รัการที่ 4 เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง โดยเจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ”

ในชั้นสอบสวน จำเลยได้รับการประกันตัว ขณะที่ศาลชั้นต้นก็เพียงแต่รอลงอาญา จำเลยจึงไม่ต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำ

“โชคดีมากที่คดีเกิดก่อนจะมีกระแสมาตรา 112” สิทธิพรกล่าว

อาจเป็นจริงดังสิทธิพรว่า เพราะหลังการรัฐประหารปี 2549 ความคิดทางการเมืองขัดแย้งรุนแรง มีผู้ต้องคดี 112   เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีไม่กี่รายได้ที่รับการประกันตัว

หลังมีคำพิพากษา จำเลยในคดีนี้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลโดยไม่อุทธรณ์ แต่อัยการอุทธรณ์เนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีร้ายแรงที่ไม่ควรรอลงอาญา

ที่น่าสนใจคือ วันที่ 28 ก.ค.2552 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โดยระบุเหตุผลว่า กษัตริย์ตามบทบัญญัติมาตรา 112 หมายถึงกษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์ การดูหมิ่นกษัตริย์ในอดีตไม่เข้าองค์ประกอบความผิด คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัย (รายละเอียดดูในล้อมกรอบ)

สิทธิพรเล่าว่า จากนั้นอัยการได้ฏีกา โดยเชื่อมโยงให้เห็นว่าการหมิ่นกษัตริย์ในอดีตนั้นกระทบต่อกษัตริย์ในปัจจุบัน และกฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นพระองค์ไหนจึงจะเข้าข่ายความผิด จากนั้นศาลฎีกาก็มีคำพิพากษาที่เชื่อมโยงอดีตและปัจจุบันให้ชัดเจนขึ้น โดยระบุว่า คดีเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เป็นคดีความมั่นคง กษัตริย์ในอดีตเกี่ยวพันทางสายโลหิตกับกษัตริย์ปัจจุบัน ประชาชนยังคงสักการะบูชากษัตริย์ในอดีต การดูหมิ่นกษัตริย์ในอดีต ย่อมกระทบกับกษัตริย์ในปัจจุบันและกระทบกับความมั่นคงของชาติ พิพากษากลับให้บังคับคดีไปตามศาลชั้นต้น (รายละเอียดดูในล้อมกรอบ)

อย่างที่บอกว่าคำพิพากษาคดีนี้สำคัญอย่างยิ่ง เพราะมันได้ขยับเส้นที่ห้ามก้าวผ่านไปอีกขั้นหนึ่ง อย่างน้อยที่สุด แวดวงวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมืองที่มักอธิบายเหตุการณ์ในอดีตอย่างตรงไปตรงมา โดยเข้าใจว่ามีอิสระภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนดอาจจะต้องทบทวนกระทั่งรื้อความเข้าใจกันใหม่

สำหรับความคิดเห็นทางนิติศาสตร์ต่อคำพิพากษาฉบับนี้ แม้แต่อาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นผู้เผยแพร่คำพิพากษาเองก็ไม่มีข้อวิจารณ์ปรากฏ มีเพียงปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในสมาชิกนิติราษฎร์ ที่โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

“ตั้งแต่ศึกษากฎหมาย อยู่ในแวดวงกฎหมายมา การวิจารณ์คำพิพากษาที่ง่ายที่สุด คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๓๗๔/๒๕๕๖ (องค์คณะผู้พิพากษา นายศิริชัย วัฒนโยธิน, นายทวีป ตันสวัสดิ์, นายพศวัจณ์ กนกนาก) เพียงนำคำพิพากษานี้ออกเผยแพร่ ก็แทบไม่ต้องวิจารณ์ใดๆ อีก เพราะคำพิพากษาฟ้องคุณภาพโดยตัวของมันเอง”

ขณะเดียวกันก็มีนักศึกษาไปโพสต์ถามความเห็นของ กิตติศักดิ์ ปกติ อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ต่อกรณีนี้ในเฟซบุ๊ก เขาตอบว่า

“ช่วยอธิบายหน่อยว่า ดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทตรงไหน ที่สำคัญการปกครองสมัยใดสมัยหนึ่งล้าสมัย เพราะยังมีทาส ก็เป็นข้อเท็จจริง ไม่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศตรงไหน เพราะพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ หรือการถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีทาสในสมัยนั้นหรือไม่ มีโจรผู้ร้ายหรือไม่ แต่อยู่ที่ทรงตั้งอยู่ในราชธรรมหรือไม่ ถ้าไม่ตั้งอยู่ในราชธรรม และเป็นข้อเท็จจริงเช่นนั้น การนำมากล่าวก็ไม่ทำให้พระเกียรติยศลดลง ยิ่งถ้ากล่าวถึงความมั่นคงของรัฐ กฎหมายมุ่งคุ้มครองความมั่นคงในปัจจุบันไม่ใช่ในอดีต 

คำพิพากษานี้ว่าการปล่อยให้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพกษัตริย์ในอดีต จะเป็นช่องทางให้กระทบต่อพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ปัจจุบัน แต่ไม่ได้ชี้ให้เห็นว่า กรณีนี้เป็นการดูหมิ่นอย่างไร กฎหมายห้ามหมิ่น ไม่ได้ห้ามการกระทำที่อาจเป็นช่องทางให้มีการกระทำอันเป็นการดูหมิ่นแต่อย่างใด ความผิดอาญานั้นจะเป็นความผิดได้อย่างน้อยต้องครบองค์ประกอบ ไม่ใช่ผิดเพราะจะเป็นช่องทางให้คนอื่นทำผิด เพราะการนำมากล่าวไว้ในคำพิพากษาก็อาจเป็นช่องให้มีคนคิดทำตามอย่าง หรือทำเพื่อประท้วง ดังนี้คำพิพากษาก็เป็นช่องทางให้คนทำผิดไปด้วย มิต้องเอาผู้กล่าวข้อความในคำพิพากษามาลงโทษด้วยหรือ ยิ่งถ้าจะกล่าวถึงการกระทำในแง่ที่อาจเปิดช่องให้กระทบความมั่นคง หากการกระทำใดยังไม่กระทบต่อความมั่นคง ก็ยังไม่เป็นผิดไปได้”

นอกเหนือจากนี้ยังมีบทวิเคราะห์ของ ‘อรชุน เจนธนุรวิทยา’ ระบุว่า ข้อความตามฟ้องไม่มีตอนใดที่เป็นการ “ใส่ความ” องค์รัชกาลที่ 4 เป็นแต่เพียงการกล่าวเปรียบเทียบแก่ผู้ฟังโดยยกตัวอย่าง “ระบบการเมืองการปกครอง” ในสมัยนั้นซึ่งมีระบอบการปกครองที่แตกต่างจากสมัยปัจจุบัน คำวินิจฉัยของศาลนอกจากจะตีความหมายข้อความของจำเลยจนผิดเพี้ยนเกินเลยจากที่ปรากฏตามความเป็นจริงแล้ว ยังเป็นการทำลายหลักวิชาองค์ความรู้ว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองอีกด้วย

นอกจากนี้ตามหลัก “กรรมเป็นเครื่องบ่งชี้เจตนา” จะเห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะใส่ความหรือดูหมิ่นรัชกาลที่ 4 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงขาด “องค์ประกอบภายใน” ของการกระทำความผิด และโดยพื้นฐานแห่งหลักวิชาทางอาญา การตีความกฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด คำพิพากษาดูเสมือนนำบทบัญญัติมาตรา 327 มาใช้เทียบเคียงเพียงบางส่วน ซึ่งหลักการพื้นฐานการใช้กฎหมายอาญาจะอาศัย “การเทียบเคียงกฎหมาย” ที่มีใจความใกล้เคียงมาลงโทษจำเลยไม่ได้

เหล่านี้คือข้อโต้แย้งบางประการที่มีต่อคำพิพากษาคดีนี้ และยังไม่มีใครรู้ว่าจะคำพิพากษานี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานที่แข็งแกร่งอีกส่วนหนึ่งของมาตรา 112 หรือไม่ จะมีจำเลยเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะจากรั้วมหาวิทยาลัย

ไม่กี่ปีก่อน มีอาจารย์คณะอักษรศาสตร์สถาบันหนึ่งถูกเพื่อนอาจารย์ร้องทุกข์กล่าวโทษด้วยมาตรานี้ เนื่องจากออกข้อสอบให้นักเรียนวิเคราะห์บทบาทสถาบันกษัตริย์ ปัจจุบันคดีนั้นระงับไปแล้ว แต่ใครจะรับประกันได้ว่าข้อสอบอื่นๆ จะไม่เดินบนเส้นทางนี้

 

 

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ (บางส่วน)

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) หรือไม่ คดีนี้โจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมาย มาตรา 112 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท  ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี เห็นว่า คำว่า"พระมหากษัตริย์" ตามบทมาตราดังกล่าวหมายความถึง พระมหากษัตริย์ซึ่งยังทรงครองราชย์อยู่ในขณะกระทำความผิด แต่ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยได้ใส่ความหมิ่นประมาท ดูหมิ่นรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในอดีต ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตามบทมาตราดังกล่าว เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาา มาตรา 158(5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลอุทธรณ์ภาค2 ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์  พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

นายเสถียร ศรีทองชัย

นายจักร อุตตโม

นายโสภณ บางยี่ขัน

 

คำพิพากษาศาลฎีกา (บางส่วน)

บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์จะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งยังคงครองราชย์อยู่ในขณะกระทำผิดหรือไม่ และมิได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์ที่ถูกกระทำจะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยังครองราชย์อยู่ พิจารณาแล้วเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวอยู่ในลักษณะที่ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แสดงให้เห็นว่า แม้การกระทำผิดจะกระทบต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท เพียงพระองค์เดียว ย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ปัจจุบันอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังคงได้รับความเคารพสักการะให้ทรงเป็นประมุขของประเทศ เป็นจอมทัพไทย กฎหมายที่ผ่านรัฐสภาโดยฝ่ายนิติบัญญัติ การแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรี ประธานสภา ประธานศาลฏีกา พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่งกระทำโดยการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้พระมหากษัตริย์สืบทอดสันตติวงศ์ทางสายพระโลหิตต่อกันมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชต้นราชวงศ์ตลอดมาจนกระทั่งรัชกาลปัจจุบัน ประชาชนในประเทศจึงผูกพันกับพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นที่เคารพสักการะซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือ บุคคลใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้ ด้วยเหตุนี้การที่กฎหมายมิได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น ผู้กระทำจึงจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้จะกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่ ดังจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระอัยกาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน หากตีความว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นองค์ปัจจุบันที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาท ให้กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้ ดังได้กล่าวในเบื้องต้นมาแล้วว่าประชาชนชาวไทยผูกพันกับสถาบันกษัตริย์มาตลอด แม้จะเสด็จสวรรคตไปแล้วประชาชนก็ยังเคารพพสักการะ ยังมีพิธีรำลึกถึงโดยทางราชการจัดพิธีวางพวงมาลาทุกปี ดังนั้น หากมีการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้วก็ยังกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนอันจะนำไปสู่ความไม่พอใจและอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้

ฏีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น ที่โจทก์ฏีกาขอให้ไม่รอการลงโทษแก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพ แสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้สำนึกในการกระทำ จึงมีเหตุที่รอการลงโทษเพื่อให้จำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไป ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

นายศิริชัย วัฒนโยธิน

นายทวีป ตันสวัสดิ์

นายพศวัจณ์ กนกนาก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท