Skip to main content
sharethis

ขณะที่ชาวอเมริกันหลายคนได้นั่งอยู่ที่โต๊ะอาหารเพื่อทานไก่งวงและพายฟักทองใน 'วันขอบคุณพระเจ้า' แต่พนักงานส่วนหนึ่งของห้างวอลมาร์ทยังต้องรับบริจาคอาหารจากเพื่อนร่วมงาน เพราะไม่มีรายได้มากพอจะซื้ออาหารเย็นเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาล

21 พ.ย. 2556  ดิอินดิเพนเดนท์รายงานสภาพความเป็นอยู่ของชีวิตพนักงานวอลมาร์ทส่วนหนึ่งในช่วงเทศกาล 'วันขอบคุณพระเจ้า' (Thanksgiving Day) ที่แม้ว่าเหล่าเจ้าของห้างจะเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แต่พนักงานเหล่านี้ยังมีรายได้ไม่มากพอ

'วันขอบคุณพระเจ้า' (Thanksgiving Day) เดิมทีเป็นเทศกาลที่เกี่ยวกับศาสนา แต่ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดายุคปัจจุบันถือเป็นวันหยุดเฉลิมฉลองซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา ได้รับอิทธิพลจากการอพยพของชาวยุโรปอพยพเข้ามาในทวีปอเมริกาเหนือ โดยในสหรัฐฯ จะกำหนดให้วันพฤหัสบดีในสัปดาห์ที่สี่ของเดือน พ.ย.เป็นวันขอบคุณพระเจ้า

ดิอินดิเพนเดนท์ เปิดเผยว่าในช่วงสัปดาห์นี้ มีรูปภาพคำขอร้องของพนักงานวอลมาร์ทในเมืองแคนตัน รัฐโอไฮโอ ขอร้องให้เพื่อนร่วมงานบริจาคอาหารให้กับเพื่อนร่วมงานบางครอบครัวที่ไม่มีทุนทรัพย์พอที่จะทำอาหารใน 'วันขอบคุณพระเจ้า' ซึ่งรูปภาพนี้ถูกเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก และแน่นอนว่าผู้ที่ร่วมการบริจาคนี้ก็จะซื้อสินค้าจากในวอลมาร์ทเอง ซึ่งกลายเป็นการใช้ค่าแรงของพวกเขาที่ไม่มากนักจ่ายคืนให้กับบริษัท

ห้างวอลมาร์ทเป็นธุรกิจเอกชนยักษ์ใหญ่ซึ่งตระกูลวอลตันผู้เป็นเจ้าของธุรกิจนี้อยู่ใน 12 อันดับของบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ขณะเดียวกันก็กลายเป็นตัวอย่างสำคัญของความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เนื่องจากความมั่งคั่งของตระกูลนี้มีมากกว่าชาวอเมริกันรายได้ต่ำร้อยละ 40 รวมกัน

หนึ่งในกลุ่มพนักงานที่ได้รับบริจาคเป็นพนักงานอายุ 31 ปีชื่อแอนโธนี กอยเธีย ผู้ทำงานจัดวางสินค้าบนชั้นในช่วงกะกลางคืน ที่วอลมาร์ท สาขาลอสแอนเจลิสมาเป็นเวลามากกว่าหนึ่งปีแล้ว แต่แม้ว่าเขาจะทำงานเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวมถึงต้องเข้ากะงานในวันหยุดเทศกาล 12 ชั่วโมง แต่เขาก็มีรายได้แค่ราว 12,000 ดอลลาร์ต่อปี (ราว 380,000 บาท) เขากับภรรยาและลูกที่เพิ่งเกิดใหม่บอกว่าไม่มีแผนการอะไรเป็นพิเศษในวันขอบคุณพระเจ้าและไม่มีเงินซื้อของขวัญวันคริสต์มาสให้ลูก เพราะตัวเขาเองยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะจ่ายค่าเช่าเดือนต่อไปได้อย่างไร

แม้ว่าโครงการบริจาคอาหาร จะมาจากการจัดการโดยกลุ่มพนักงานด้วยกันเอง แต่โฆษกของวอลมาร์ท โครี่ ลุนด์เบิร์ก ก็ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อคลีฟแลนด์เพลนดีลเลอร์ อ้างว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมบริษัทที่ผู้ร่วมงานจะระดมกำลังช่วยเหลือกันยามเมื่อมีคนตกทุกข์ได้ยาก

บิล ไซมอน ประธานสาขาในประเทศสหรัฐฯ เคยบอกว่าพนักงานของวอลมาร์ท 475,000 คนได้รับค่าจ้างมากกว่า 25,000 ดอลลาร์ต่อปี (ราว 795,000 บาท) แต่บริษัทวอลมาร์ทมีการจ้างงานชาวอเมริกัน 1.3 ล้านคน ซึ่งหมายความว่ามีอีก 825,000 คน ที่ได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าที่กล่าวไว้

ในวอชิงตันดีซี ส.ส.พรรคเดโมแครตได้เรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 7.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 230 บาท) เป็น 10.10 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 320 บาท) โดยเฉพาะกับห้างวอลมาร์ทที่มีอัตราค่าจ้างต่ำมาก

แต่ทางบริษัทก็อ้างว่าพวกเขาจะมีการปรับอัตราค่าจ้างทั้งหมดโดยเฉลี่ยประมาณ 12.78 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 400 บาท) แต่คำว่า "โดยเฉลี่ย" ของพวกเขารวมเอาอัตราค่าจ้างของระดับผู้จัดการเข้าไปด้วย และไม่รวมส่วนของพนักงานพาร์ทไทม์ ซึ่งนักกิจกรรมบอกว่าตัวเลขจริงๆ อยู่ที่ประมาณ 9 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 280 บาท) นอกจากนี้ วอลมาร์ทยังถูกกล่าวหาเรื่องสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยและมีการจ้างคนทำงานน้อยเกินไป

เมื่อวอลมาร์ทเปิดสาขาไชน่าทาวน์ในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาก็มีการต่อต้านอย่างมากจากนักรณรงค์ ในช่วงต้นเดือนนี้เอง วอลมาร์ทสาขาไชน่าทาวน์กลายเป็นที่ประท้วงการให้ "ค่าแรงในระดับพอยังชีพ" ในการชุมนุมครั้งนั้นมีผู้ประท้วง 500 คน และมีคนถูกจับกุมมากกว่า 50 ราย

เกลน อาร์นอโด ผู้อำนวยการสหพันธ์แรงงานอเมริกันสาขาลอสแอนเจลิส หนึ่งในแกนนำการประท้วงบอกว่า พวกเขาต้องการกดดันวอลมาร์ทเพื่อให้กลายเป็นตัวอย่างถึงสิ่งที่ผิดปกติในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยที่อาร์นอโดเชื่อว่าสหรัฐฯ มีความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้สูงสุดนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 และถือเป็นประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้สูงสุดในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งวอลมาร์ทเป็นหนึ่งในปัจจัยของความไม่เท่าเทียมนี้

เดนเซล จอห์นสัน อายุ 49 ปี หนึ่งในพนักงานวอลมาร์ทที่เตรียมตัวประท้วงหยุดงานในดัลลัส รัฐเท็กซัส เขาเล่าว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เขาย้ายจากห้างอัลเบิร์ทสันมาทำงานที่วอลมาร์ท แต่ค่าแรงของเขาก็ลดลงจากชั่วโมงละ 12 ดอลลาร์เป็นชั่วโมงละ 9 ดอลลาร์ ปีที่แล้วเขามีรายได้น้อยกว่า 15,000 ดอลลาร์ (ราว 477,000 บาท) เขาเองถูกจัดอยู่ในพนักงานพาร์ทไทม์ที่ต้องทำงานในช่วงวันขอบคุณพระเจ้าเช่นเดียวกับกอยเธีย

จอห์นสันเล่าว่า มันคือการต่อสู้ พนักงานส่วนใหญ่ในวอลมาร์ทเคยต้องผลัดกันยืมเงินมาแล้ว และถ้าหากใครมีเหลืออยู่น้อยก็จะมีการลงขันเพื่อช่วยให้คนอื่นสามารถซื้ออาหารประทังชีวิตได้ตลอดสัปดาห์ และถึงให้คืนในอีกสัปดาห์ถัดไป

การประท้วงหยุดงานในดัลลัสเป็นหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวช่วงฤดูวันหยุดของกลุ่ม OUR วอลมาร์ท ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้วเพื่อพยายามรวมกลุ่มสหภาพคนงานวอลมาร์ท เมื่อช่วงวันขอบคุณพระเจ้าปีที่ผ่านมามีการนัดประท้วงหยุดงานพร้อมกัน 1,000 สาขาในสหรัฐฯ

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติสหรัฐฯ (NLRB) สืบพบว่าทางวอลมาร์ทพยายามข่มขู่พนักงานอย่างผิดกฎหมายว่าจะมีการลงโทษหากพวกเขาหยุดงานในวัน 'แบล็กฟรายเดย์' ซึ่งเป็นวันศุกร์หลังวันขอบคุณพระเจ้าที่มักจะมีการออกจับจ่ายซื้อหาสินค้ามากที่สุดของปีในสหรัฐฯ

NLRB ระบุว่า มีพนักงานบางส่วนถูกสั่งคุมความประพฤติอย่างผิดกฎหมาย หลังจากหยุดงานประท้วง ด้านกลุ่ม OUR วอลมาร์ท ระบุว่า ทางบริษัทได้คุมความประพฤติพนักงานมากกว่า 80 คนตั้งแต่เดือน มิ.ย. และไล่พนักงานที่ทำตัวเป็นผู้นำแรงงานออก 20 คน

ในช่วงปีที่แล้วบริษัทวอลมาร์ทใช้เงิน 7,600 ล้านดอลลาร์ซื้อหุ้นของตัวเองทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าหุ้นและทรัพย์สินของตระกูลวอลตันเอง แต่ถ้าหากส่วนหนึ่งของกำไรที่พวกเขาได้มีการใช้ไปร้อยละ 50 เพื่อเพิ่มค่าจ้างให้กับพนักงาน จะทำให้พนักงานที่ทำงานเต็มเวลาและตลอดทั้งปีมีรายได้ต่อปีอย่างน้อย 25,000 ดอลลาร์ต่อปี ตามที่เหล่านักรณรงค์ต้องการ

มีรายงานระบุว่าหากห้างค้าปลีกขนาดยักษ์ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว คนงานในสหรัฐฯ มากกว่า 1.5 ล้านคนจะถูกฉุดขึ้นจากความยากจนและการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของพวกเขาจะช่วยสร้างงานใหม่อย่างน้อย 100,000 งาน

ดิอินดิเพนเดนท์ระบุว่าห้างวอลมาร์ทมักจะโต้ตอบประเด็นขัดแย้งนี้ด้วยการอ้างว่าพวกเขาเป็นผู้สร้างโอกาสด้านอาชีพ โดยมีพนักงานประมาณ 25,000 คนได้รับการเลื่อนขั้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 พวกเขาให้สิทธิลดราคาแก่พนักงาน รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านการประกันสุขภาพและการเกษียณอายุ แต่กอยเธียและคนอื่นๆ ก็บอกว่าสิทธิประโยชน์เหล่านี้เล็กน้อยเกินความจำเป็นที่มี ทำให้เขาพึ่งพาระบบประกันสุขภาพของรัฐแทน

ในรัฐลอสแอนเจลิสมีคนงานรายได้ต่ำมากกว่าเขตเมืองในรัฐอื่นๆ ของสหรัฐฯ โดยอาร์นอโดกล่าวว่า ผู้เสียภาษีจะกลายเป็นคนที่คอยเกื้อหนุนพนักงานเหล่านี้แทน เนื่องจากพนักงานไม่สามารถอาศัยระบบประกันสุขภาพของบริษัทเลยต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลของรัฐ ขณะที่วอลมาร์ทซึ่งมีเงินอยู่จำนวนมากสามารถจ่ายค่าแรงที่ดีและจัดให้มีระบบประกันสุขภาพและสิทธิประโยชน์ที่ดีได้ แต่พวกเขาก็ไม่ทำ

 


เรียบเรียงจาก

Thanksgiving: As America celebrates with turkey and pumpkin pie, Walmart employees donate food to colleagues who cannot afford a Thanksgiving dinner, The Independent, 20-11-2013
http://www.independent.co.uk/news/business/news/giving-thanks-for-what-exactly-as-america-celebrates-with-turkey-and-pumpkin-pie-walmart-employees-donate-food-to-colleagues-who-cannot-afford-a-thanksgiving-dinner-8952700.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net