Skip to main content
sharethis

กรรมการสิทธิฯ แนะพาเด็กไปชุมนุมต้องระวังไม่ให้ซึมซับการปลุกเร้าความเกลียดชัง สื่อมวลชนไม่พึงเสนอภาพ  เนื้อหาที่เป็นการระบุตัวตนของเด็กที่ทำให้เสียหาย หากมีแนวโน้มรุนแรงพาออกทันที

22 พ.ย. 2556 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกแถลงการณ์ "เรื่องข้อห่วงใยต่อเด็กและเยาวชนที่อยู่ในที่ชุมนุม" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่องข้อห่วงใยต่อเด็กและเยาวชนที่อยู่ในที่ชุมนุม


จากการเฝ้าสังเกตการณ์การชุมนุมในขณะนี้ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับเครือข่ายพลเมืองเฝ้าระวังความรุนแรงทางการเมือง รวมถึงภาพข่าวทางสื่อมวลชนที่ได้มีการนำเสนออย่างต่อเนื่องนั้น ปรากฏว่ามีเด็กและเยาวชนอยู่ในที่ชุมนุม ทั้งในลักษณะการเข้าร่วมโดยตรง การติดตามผู้ปกครองไปเข้าร่วมชุมนุม หรือการอยู่ในที่ชุมนุมด้วยเหตุอื่นใดก็ตาม คณะอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านเด็ก สตรี และความเสมอภาคของบุคคล ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชนที่อยู่ในที่ชุมนุมดังกล่าว จึงเสนอข้อห่วงใยต่อบุคคล หน่วยงาน และผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ดังต่อไปนี้

1. เด็กและเยาวชนมีสิทธิและเสรีภาพที่จะแสดงออกในความคิดเห็นทางการเมือง และการชุมนุมอย่างสงบโดยปราศจากอาวุธ ตามที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ การที่ผู้ปกครอง ผู้เกี่ยวข้องอาจประสงค์ให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการชุมนุม อันเป็นส่วนหนึ่งของความเข้าใจหลักพื้นฐานสิทธิเสรีภาพนั้น เป็นสิ่งที่กระทำได้ตามกฎหมาย

2. พึงหลีกเลี่ยงการพาเด็กที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เข้าร่วมการชุมนุมโดยไม่จำเป็นสำหรับเด็กและเยาวชนอื่นใดที่อยู่ในที่ชุมนุมนั้น เป็นหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุม ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดูแลการชุมนุม ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ จะต้องปกป้องคุ้มครอง โดยระมัดระวังการใช้ภาษา มลภาวะทางเสียง หรือการแสดงออกต่าง ๆ ไม่ให้เด็กและเยาวชนสัมผัสและซึมซับกับการปลุกเร้าการสร้างความเกลียดชัง หรือการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ อันส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กและเยาวชน

3. เวทีชุมนุมและสื่อมวลชนไม่พึงเสนอภาพ  เนื้อหา ที่เป็นการระบุตัวตนของเด็กและเยาวชนในลักษณะที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย อันอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ ชื่อเสียง สิทธิประโยชน์อื่นใด ตลอดจนสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน

4. ในการชุมนุม ต้องไม่ใช้เด็กเป็นแนวหน้าที่สุ่มเสี่ยงอันตราย

5. หากสถานการณ์มีแนวโน้มไปสู่ความรุนแรง ผู้จัดการชุมนุม ผู้ปกครองของเด็กที่เข้าร่วมชุมนุม ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดูแลการชุมนุม จะต้องนำเด็กออกจากพื้นที่การชุมนุมโดยเร่งด่วน

คณะอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านเด็ก สตรี และความเสมอภาคของบุคคล หวังว่าบุคคล หน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ตลอดจนสื่อมวลชน จะได้ตระหนักถึงข้อห่วงใยทั้งหมดนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net