Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้เอง สหรัฐอเมริกาก็ได้จัดงานระลึกถึงการครบรอบ 50 ปีการถึงแก่อสัญกรรมของประธานาธิบดีคนที่ 35  คือจอห์น เอฟ เคนเนดี  เคนเนดีเป็นประธานาธิบดีคนที่ 4 ซึ่งถูกสังหารขณะดำรงตำแหน่งประธานธิบดี ซึ่งประธานาธิบดี 3 คนแรกได้แก่อับราฮัม ลินคอล์น,เจมส์ เอ การ์ฟิลด์และวิลเลียม แม็คคินเลย์  ไม่นับประธานาธิบดีอีกหลายคนที่ถูกลอบยิงแต่รอดมาได้อย่างเช่นโรนัลด์ เรแกน

เคนเนดีนับได้ว่าเป็นประธานาธิบดีคนที่ได้รับความนิยมจากคนอเมริกันสูงสุดคนหนึ่ง  ถึงแม้เขาจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเพียงไม่ถึง  3  ปี (เป็นที่คาดการณ์กันว่าถ้าเขาไม่เสียชีวิตก็คงจะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีถึง 8 ปีหรือ 2 สมัย) แต่ก็ได้ทำประโยชน์ให้กับสหรัฐอเมริกามากมายไปพร้อมกับชีวิตในด้านมืดและข่าวอันอื้อฉาว รวมไปถึงนโยบายการต่างประเทศที่ทั้งสำเร็จคือคลี่คลายวิกฤตการณ์คิวบา (ปี 1962) ในสายตาของพวกเสรีนิยม แต่ล้มเหลวในสายตาพวกหัวรุนแรง เป็นเรื่องน่าสนใจว่าการลอบสังหารเคนเนดีได้ก่อให้เกิดทฤษฎีสมคบคิดแก่คนอเมริกันอย่างมากมายในรอบ 50 ปี (ซึ่งมากมายจนไปถึงความเชื่อที่ว่าเคนเนดียังไม่ตาย) พร้อมกับข้อสรุปที่ยังสรุปกันไม่ได้เต็มปากเสียทีว่า ลี ฮาร์วีย์ ออสวัลด์เป็นคนยิงเคนเนดีเพียงคนเดียว  เหตุใดประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมักหลงตัวเองหรือได้รับการยกย่องจากชาวโลกว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยจึงยังคงยืนงงงวยอยู่กับการที่ผู้นำสูงสุดของตนถูกฆ่าอย่างเลือดเย็นกว่าครึ่งศตวรรษหรือว่าเพราะสหรัฐฯ มีระบบราชการและผู้มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญอันยิ่งใหญ่และตรวจสอบไม่ได้อยู่เบื้องหลังเช่นเดียวกับความงงของคนไทยจำนวนมากที่พบว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจยิ่งกว่าฝ่ายนิติบัญญัติ

ต่อไปนี้เป็นปูมประวัติของจอห์น เอฟ เคนเนดีรวมไปถึงเรื่องอำนาจและเซ็กส์ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่นำไปสู่การเสียชีวิตของเขาในที่สุด อนึ่งผู้เขียนได้แปลหลายส่วนจากเว็บวีกิพีเดียและและเรียบเรียงจากหลายแหล่งข้อมูลมานานหลายปีแล้ว ก่อนจะเอามาเขียนใหม่อีกครั้งด้วยความรู้สึกสบายใจว่าตัวเองจะไม่ถูกกฏหมายอาญามาตรา 112 เล่นงานว่าได้เขียนในด้านลบเกี่ยวกับอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เหมือนกับที่ได้เขียนถึงอดีตกษัตริย์ของบางประเทศ


ประวัติและโรคภัยไข้เจ็บ

เคนเนดีเกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ปี 1917 เมืองบรูกไลน์ รัฐแมสซาชูเซตส์ เป็นบุตรชายของโจเซฟ พี เคนเนดี และโรส ฟิตซ์เจอรัล   บิดาของเขา เป็นคหบดีผู้มั่งคั่งเชื้อสายไอริช และเป็นผู้สร้างตระกูลเคนเนดีให้ยิ่งใหญ่ ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจว่าทั้งจอห์นและโรเบิร์ต เข้าสู่วงการทางการเมืองได้ก็เพราะการผลักดันของผู้เป็นพ่อ โจเซฟครั้งหนึ่งเคยเป็นเอกอัครราชทูตของสหรัฐอเมริกาประจำอังกฤษและรู้จักกับประธานาธิบดีรูสเวลท์อย่างดี เพราะตัวเองเป็นคนระดมทุนให้ตอนเลือกตั้ง

เคนเนดีเข้าเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งในรัฐคอนเนคติกัตซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนสำหรับชนชั้นสูงที่หรูหราที่สุดในสหรัฐ ฯ และก็เข้าเรียนสาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics and Political Science) ที่อังกฤษ เป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนจะไปลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยปรินส์ตันแต่ต้องลาออกเสียก่อนเพราะป่วยเป็นโรคดีซ่าน จึงไปเรียนที่มหาวิทยาลัย   ฮาวาร์ด สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนจบในปี 1938 ชื่อของงานนิพนธ์ชื่อ "เหตุใดอังกฤษจึงหลับไหล" (Why England Slept) เป็นการวิเคราะห์ว่าทำไมอังกฤษจึงอ่อนข้อให้กับเยอรมันนาซีในสนธิสัญญามิวนิกโดยยอมให้เยอรมันเข้ายึดแคว้นซุเดเทนแลนด์ของเช็กโกสโลวาเกียเป็นที่น่าสังเกตว่าบิดาของเขาตอนเป็นเอกอัครราชทูตอยู่ที่อังกฤษก็เห็นดีเห็นงามกับการยอมอ่อนข้อต่อเยอรมันของนาย    เนวิลล์ แชมเบอร์แลนด์นายกรัฐมนตรีอังกฤษในสมัยนั้น งานนิพนธ์ชิ้นนี้ต่อถูกนำไปตีพิมพ์ออกวางแผงและขายดิบขายดี ซึ่งน่าส่งอิทธิพลถึงนโยบายการต่างประเทศของเคนเนดีไม่มากก็น้อย

เคนเนดีสมัครเข้ารับราชการในกองทัพในปี 1941 คงด้วยความเป็นคนอ่อนแอขี้โรค จึงถูกปฏิเสธ แต่ในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน เขาก็ถูกรับเข้ากองทัพเรือ ด้วยเส้นสายของพ่อ มีหน้าที่สรุปข่าวให้กับเลขานุการของกองทัพเรือ ว่ากันว่าในช่วงนี้เขาไปมีความสัมพันธ์กับสตรีนางหนึ่งซึ่งมีข่าวลือว่าเป็นสายลับของเยอรมันนาซี ซึ่งจะกลายเป็นข้อมูลสำหรับ เจ เอดการ์ ฮูเวอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางในขณะนั้นใช้เป็นเครื่องมือในการหาผลประโยชน์กับตระกูลเคนเนดีต่อไป แต่เคนเนดีก็ถูกย้ายไปฝึกในโรงเรียนหน่วยสำรองของหน่วยข่าวกรองของกองทัพเรือที่เซาท์ คาโรไลนา เสียก่อนและเข้าร่วมสงครามระหว่างสหรัฐ ฯกับญี่ปุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิก ติดยศทหารคือ นาวาเอก

ปี 1943 เคนเนดีประกอบวีรกรรมช่วยเพื่อนทหารด้วยกันขณะที่เรือพีที 190 ของเขากำลังจะโจมตีญี่ปุ่นในตอนกลางคืนแต่ถูกเรือพิฆาตของญี่ปุ่นเข้าเล่นงานเสียก่อน เคนเนดีได้รับบาดเจ็บที่หลังซึ่งก็เจ็บมาแล้วก่อนหน้านี้มาแล้ว แต่เขาสามารถช่วยลูกน้องหลายคนให้พ้นจากวิกฤตการณ์ครั้งนั้น โดยการประคับประคองซากเรือไปถึงเกาะและได้รับการช่วยเหลือในเวลาต่อมา เขาได้รับเหรียญกล้าหาญ ก่อนปลดประจำการในปีที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม

พี่ชายของเขาคือโจเซฟ พี เคนเนดี จูเนียร์หาได้โชคดีเหมือนเขาไม่ โจเซฟเสียชีวิตขณะพยายามเอาเครื่องบินติดระเบิดไปชนฐานจรวดวีสองของเยอรมัน แต่กระโดดร่มหนีออกมาไม่ทันตามแผน ก่อนหน้านี้โจเซฟ จูเนียร์ ได้ชื่อว่าเป็นความหวังอันสูงสุดของครอบครัวเคนเนดีเพื่อจะเล่นการเมืองในอนาคต แต่เมื่อเสียชีวิต ผู้เป็นน้องชายก็ได้เป็นคนสืบทอดเจตนารมณ์นี้ของตระกูล ปี 1946 เคนเนดีสมัครลงเลือกตั้งและได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเขตบอสตัน ในนามของ พรรคเดโมแครตและในปี 1952 ก็ได้เป็นวุฒิสมาชิก ภายใต้สโลแกนว่า “เคนเนดีจะทำให้เมซซาจูเซสท์มากกว่านี้” แต่ที่เขาชนะก็จากการเฉือนคู่แข่งด้วยคะแนนเสียงอย่างหวุดหวิด

ในปี 1956 เคนเนดีพยายามจะเสนอตัวเพื่อเป็นตัวแทนของพรรคเดโมเเครตในการเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่พรรคกลับเลือกคนอื่นแทน กระนั้นนักการเมืองหนุ่มก็ได้รับชื่อเสียงขึ้นมากโข จนเคนเนดีประสบความสำเร็จในปี 1960 และก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปีนั้น โดยการเฉือนเอาชนะ อดีตรองประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันของพรรค รีพับลิกันด้วยคะแนนที่หวุดหวิดที่สุดในประวัติศาสตร์

ขอขั้นรายการตรงนี้ด้วยเรื่องความรักของเคนเนดี (ซึ่งมีผลทางการเมืองทางอ้อม) นั้นคือเคนเนดี ในปี 1951 ได้พบกับสาวสวยผู้ดีชาวนิวยอร์ก ผู้ทำงานเป็นนักข่าวและนักถ่ายภาพจากหนังสือพิมพ์วอชิงตัน ไทมส์-แฮร์โรลด์  ชื่อว่าแจคเกอลิน ลี บูวิเออร์ ที่เดินทางมาสัมภาษณ์นักการเมืองในวอร์ชิงตัน ดีซี ทั้งคู่ตกหลุมรักกันอย่างแรง แจ็คกี้นั้นเคยมีคู่หมั้นมาแล้วเป็นนักเล่นตลาดหุ้น แต่ด้วยครอบครัวเห็นว่าเธอกับหมอนั่นอยู่คนละชั้นกันก็เลยกดดันให้มีการถอนหมั้น สุดท้ายแจ็คกี้ก็แต่งงานกับเคนเนดี ในปี 1953 มีลูกด้วยกันสี่คน ด้วยอายุเพียง 31 ปี แจ็คกี้ได้ชื่อว่าเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งที่มีเสน่ห์ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ และนำสีสันมาสู่ทำเนียบขาวในช่วงที่เคนเนดีเป็นประธานาธิบดี

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เคนเนดีได้เป็นประธานาธิบดีก็คือการโต้วาทีกับริชาร์ด นิกสัน ผ่านโทรทัศน์ ในวันที่ 26 กันยายน 1960 นับว่าเป็นการถ่ายทอดสดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ให้ชาวอเมริกันผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงได้ดูกันทั่วหน้า และเห็นหน้ากันจะ ๆ นี่เองที่ทำให้เคนเนดีได้ใจของคนอเมริกันอย่างมาก จากความหล่อ และท่าทางหนักแน่น (คิดว่าอภิสิทธิ์คงจะพยายามเลียนแบบ) ส่วนนิกสันซึ่งหล่อน้อยกว่า (จมูกยาวๆ กลายเป็นจุดที่สื่อโจมตีเขาเมื่อขึ้นเป็นประธานาธิบดีว่าเหมือนพีน๊อกคีโอ) ทำคะแนนได้ไม่ดี เจอคำถามอะไรใหม่ๆ หน่อย ก็ตอบไม่ค่อยได้ ท่าทางหลุกหลิกและเหนื่อยล้า แต่ที่น่าสนใจคือมีการสำรวจผู้ฟังการโต้วาทีทางวิทยุเห็นว่านิกสันพูดทำคะแนนได้ดีกว่า แถมยังมีหลายคนโจมตีว่าการเลือกตั้งที่ชนะกันเฉียดฉิวนี้เต็มไปด้วยการโกงคะแนนเสียง

เคนเนดีเข้าสาบานรับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 20 มกราคม 1961 และได้กล่าวคำปราศรัย พร้อมกับวลีที่จะเป็นอมตะต่อไปนั้นคือ “Ask not what your country can do for you, ask what you can do for your country" (โปรดอย่าถามว่าประเทศของคุณจะทำอะไรให้คุณบ้าง แต่จงถามว่าคุณจะทำอะไรบ้างให้กับประเทศของคุณ) นอกจากนี้เคนเนดียังเรียกร้องให้ชาติต่าง ๆ ร่วมใจกันต่อสู้กับศัตรูตัวจริงของมนุษยชาตินั่นคือ ทรราช (คงจะด่ากระทบพวกโซเวียต) ความยากจน โรคภัยและ สงคราม เขาถือได้ว่าเป็นประธานาธิบดีที่หนุ่มที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกา นั่นคือดำรงตำแหน่งเมื่ออายุเพียง 43 ปี และยังเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก เพราะคนอเมริกันนับถือนิกาย โปรเตสแตนท์กันเป็นส่วนใหญ่ ด้วยสาเหตุนี้ทำให้พรรคเดโมแครตลังเลใจที่จะส่งเขาสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะกลัวว่าเขาจะโดนสันตะปาปาชักใยอยู่เบื้องหลัง แต่เคนเนดีก็พิสูจน์ให้เห็นว่าทั้งหมดเป็นแค่ความระแวง

นอกจากนี้เคนเนดียังเป็นประธานาธิบดีที่ขี้โรคที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐ ฯ เลยก็ว่าได้ ตอนเขาอายุยังไม่ถึงสามขวบดีก็ป่วยเป็นโรคอีดำอีแดง (Scarlet Fever) อย่างหนัก จนพ่อของเขาต้องไปเฝ้าไข้เขาอยู่นานกว่าจอห์นน้อยจะหายดี แต่สุขภาพก็ไม่เคยดีอีกเลย แม่ของเขายังบันทึกโรคของเขาตอนเด็กว่าเป็นโรคไอกรน โรคหัดและโรคอีสุกอีใส ตอนหนุ่ม เคนเนดียังเป็นโรคแอดดิสัน ซึ่งเป็นความผิดปกติของต่อมเหนือไต ที่คนโดยมากไม่ค่อยจะเป็นกัน (เคนเนดีปิดบังเรื่องตัวเองป่วยโรคนี้อยู่นาน) และอาการเจ็บหลังที่กำเริบหนักหลังจากประสบอุบัติเหตุจากที่เรือญี่ปุ่นบุกเรือของเขา จน ภายหลังจากแต่งงานได้สองปี เคนเนดีต้องไปผ่าตัดที่กระดูกหลังแต่อาการแย่ลงจนเกือบจะตาย จนพระต้องไปทำพิธีสวดให้เขาในฐานะคนใกล้ตาย

ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจว่าจะมีการแฉว่าในช่วงที่เขาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐ ฯ ระหว่างสงครามสงครามเย็นที่ต้องพบกับความเครียดอันมหาศาล เขาต้องกินยาเป็นกำมือรวมถึงยานอนหลับหรือยาคลายเครียด (ว่ากันว่ารวมไปถึงยาสปีดหรือยาม้าด้วย !!!) ประมาณว่า ถ้าเคนเนดีไม่ถูกลอบสังหารเสียก่อนก็คงจะเป็นโรคพวกที่ว่านี้ตายเป็นแน่ แต่กระนั้นเคนเนดีก็มีสิ่งปลอบประโลมจิตใจได้อย่างดีอีกอย่างหนึ่ง ให้ทายสิ อะไร ?

เซ็กส์และอำนาจ

...........เปล่าหรอกไม่ใช่กำลังใจจากภรรยา เพราะนั่นมันเป็นหนังเรื่อง A Beautiful Mind หากแต่เป็นเรื่องกามารมณ์ … และกับผู้หญิงอื่นเสียด้วย จากสถิติ เข้าใจว่าเคนเนดีได้หลับนอนกับผู้หญิงจำนวนมากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงทั่วไป โสเภณี นักกีฬา ภรรยาของคนอื่นก็ไม่เว้น  ซ้ำร้ายมีเด็กสาวที่เคยฝึกงานในทำเนียบข่าวออกมาแฉว่าเมื่อเธอตั้งท้องกับเคนเนดีก็ถูกประธานาธิบดีบังคับให้ไปทำแท้ง (ทั้งที่เคนเนดีนับถือคาทอลิกซึ่งต่อต้านการทำแท้ง)  สำหรับดาวยั่วสุดฮอตมาริลีน มอนโรว์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอได้สร้างความเกรียวกราวเมื่อไปร้องเพลง Happy Birthday to Mr. President ซึ่งในรายการฉลองวันเกิดของเคนเนดีถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ เมื่อปี 1962 บางทฤษฎีบอกว่า เคนเนดีได้แบ่งปันสาวสวยผู้นี้กับโรเบิร์ตน้องชายของเขาแม้แต่ในขณะประกอบกิจกาม และก็มีบางทฤษฎีบอกว่า โรเบิร์ตพัวพันกับความตายของมอนโรว์ (บ้างก็ว่าเป็นพวกมาเฟีย) ว่ากันว่าในช่วงวิกฤตการณ์คิวบาซึ่งโลกกำลังไปใกล้หายนะแบบเส้นยาแดงผ่าแปด เคนเนดียังมีแก่ใจคิดถึงเรื่องเซ็กส์ เขาเคยเกริ่นกับโรเบิร์ต แม็คนามารารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมถึงเลขานุการสาวสวยที่ทำงานอยู่ที่เพนตากอน หรือที่ทำการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ ฯ “ผมอยากได้ชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของหล่อน คืนนี้เราอาจจะหลีกเลี่ยงสงครามก็ได้”

แต่เรื่องกามารมณ์ของท่านประธานาธิบดีที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือเรื่องของ สาวสวยนามว่า จูดิท เอกเนอร์ ผู้ที่เข้ามาพัวผันพับเคนเนดีโดยผ่านแฟรงค์ ซีเนตร้า นักร้องชื่อดัง เจ้าของเพลง My way กับ New York New York นั่นแหละ ปู่แฟรงค์ ได้แนะนำให้เธอรู้จักและมีความสัมพันธ์กับเคนเนดีตอนที่เขายังเป็นวุฒิสมาชิกและเป็นผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในปี 1960   แต่แล้วปู่แฟรงค์ของเราก็แนะนำให้เอ็กซ์เนอร์รู้จักและเป็นเมียน้อย กับเจ้าพ่อ นามว่าแซม เกียนกานา  ว่ากันว่า เธอจึงกลายเป็นตัวประสานความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลเคนเนดีและเจ้าพ่อมาเฟีย ในเรื่องการโค่นล้มคาสโตร  นี่เป็นไปได้ว่า อาจจะเป็นหนึ่งในเงื่อนงำสำหรับ การสังหารประธานาธิบดีเคนเนดี ก็ได้ เพราะพวกเจ้าพ่อมาเฟียต้องการจะโค่นล้มคาสโตร ที่มาทำลายผลประโยชน์ของพวกตนในคิวบา (เหมือนกับในเรื่อง Godfather ภาค 2) แต่เมื่อปฏิบัติการอ่าวหมู (Bay of Pigs) ล้มเหลว พวกเขาก็คิดว่าเกิดจากความอ่อนแอของเคนเนดี

แต่แล้วเอ็ดการ์ ฮูเวอร์ผู้อำนวยการเอฟบีไอ ได้แจ้งให้เคนเนดีทราบว่าความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่กำลังถูกจับตาดูอยู่ (เพื่อบอกเป็นนัยว่ากำลังแบล็คเมล์ท่านประธานาธิบดีอยู่) เรื่องของเขาและเธอจึงสิ้นสุดลงในปี 1962 เกียนกานาเองสิบปีต่อมาถูกสังหารโหดก่อนที่จะขึ้นศาลเพื่อไปให้การในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลเคนเนดีกับมาเฟีย  ตามความจริงแล้ว ความสัมพันธ์นี้มีมาตั้งแต่สมัยพ่อของเคนเนดีคือโจเซฟทำธุรกิจค้าเหล้าเถื่อนเสียด้วยซ้ำ ส่วนปู่แฟรงค์เองก็โดนเอฟบีไอเล่นงานเรื่องความสัมพันธ์กับมาเฟีย มาริโอ พูโซ่นักเขียนชื่อดังถึงกลับเอาเขาไปเป็นตัวละครคือจอห์นนี ฟอนแทน นักร้องผู้ที่ถูกมาเฟียเชิดในนวนิยายเรื่อง The Godfather

สำนักอัยการเมือง New Orleans เวลา 12.35 วันที่ 22 พฤศจิกายน 1963 (ฉากในภาพยนตร์ JFK) Jim Garrison อัยการของนิว ออร์ลินส์ กำลังก้มหน้าก้มตาทำงานอยู่บนโต๊ะ มีเสียงเปิดประตู เขาหันไปมอง พบว่าเป็นลูกน้องของเขาซึ่งมีสีหน้าเคร่งเครียด

“หัวหน้า ประธานาธิบดีถูกยิง ที่เมืองดัลลัส ...... เมื่อห้านาทีที่แล้ว”
“เป็นอะไรมากไหม ?”
“ยังไม่มีการแถลง ครับ แต่พวกเขาคิดว่ากระสุนโดนที่หัว”

แกร์ริสันและลูกน้องรีบไปยังร้านอาหารซึ่งเป็นที่เดียวในละแวกนั้นที่มีโทรทัศน์ (เมื่อห้าสิบกว่าปีที่แล้ว คนมีโทรทัศน์ถือว่าฐานะดี) อัยการหนุ่มหวาดวิตกมากต่ออาการของเคนเนดี เพราะตัวเองชื่นชอบประธานาธิบดีคนนี้เป็นพิเศษ และแล้วความกลัวของเขาก็เป็นจริงเมื่อมีข่าวด่วนออกมายืนยันว่าเคนเนดีถึงแก่อสัญกรรมแล้ว เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าเมื่อคนทั้งหลายที่ออกันอยู่ในผับต่างมีปฏิกิริยาแตกต่างกันไป หลายคนเงียบ หลายคนร้องไห้ แต่ใครคนหนึ่งกลับปรบมือด้วยความสะใจ พร้อมกับบอกว่า “ ลาก่อน ไอ้ลูกหมาเอ้ย สมควรตายได้แล้ว” ทำไมคนอเมริกันถึงมีปฏิกิริยาแตกต่างกันเช่นนั้น เพราะอะไร ?

มุมมองด้านบวกของเคนเนดี

รายการข่าวการลอบสังหารประธานาธิบดียังได้สัมภาษณ์ผู้หญิงผิวดำคนหนึ่งที่ร้องห่มร้องไห้ “ท่านได้ทำประโยชน์มากมายให้กับประเทศนี้ เพื่อคนสีผิว ทำไม ?” สหรัฐฯในต้นศตวรรษที่ยี่สิบยังเหยียดสีผิวและกีดกั้นคนผิวดำอยู่มาก เคนเนดีได้พยายามหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งในสมัยหน้าจากคนผิวดำโดยการตอกย้ำความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายในปี 1954 ที่ยุติการแบ่งแยกสีผิวเช่นให้คนผิวดำสำหรับการเข้าเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยร่วมกับคนขาว ก่อให้เกิดความไม่พอใจสำหรับพวกหัวอนุรักษ์นิยมอย่างมากโดยเฉพาะรัฐทางใต้

เคนเนดียังมีผลงานชิ้นโบว์แดงอื่น ๆ เช่น การผลักดันให้มีสนธิสัญญาการครอบครองระเบิดนิวเคลียร์  การขอให้รัฐสภาอนุมัติงบจำนวนมหาศาลสำหรับโครงการอะพอลโลซึ่งมุ่งหวังให้มนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ และประสบความสำเร็จหกปีหลังจากที่เคนเนดีเสียชีวิต  เริ่มโครงการนิวฟรอนเทียร์เน้นการช่วยเหลือชาวอเมริกันในด้านการศึกษา การแพทย์ ฯลฯ และเคนเนดียังตั้งหน่วยพีซ คอร์พส์ ซึ่งเป็นหน่วยที่ไปให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศโลกที่สามทางด้านความจำเป็นพื้นฐาน จนมีคนตั้งสมญาให้เขาและบรรดารัฐมนตรีทั้งหลายว่าเป็นพวกคาเมลอต (Camelot) ซึ่ง มีที่มาจากตำนานของอัศวินคู่ใจของกษัตริย์อาเธอร์

มุมมองด้านลบของเคนเนดี

ความล้มเหลวของการบุกรุกอ่าวหมูหรือเบย์ออฟพิกส์ (Bay of Pigs)ใน ปี 1961  วิกฤตการณ์คิวบาในปี 1962  สิ่งเหล่านี้เราสามารถมองได้สองด้าน ถ้ามองด้านสันติภาพ เคนเนดีเป็นคนดี แต่ถ้ามองแบบก้าวร้าวดุดันแบบพวกอนุรักษ์นิยม หรือพวกนิยมทหาร ถือว่าเคนเนดี ตัดสินใจไม่เด็ดขาด ยอมอ่อนข้อให้พวกคอมมิวนิสต์ และจริง ๆแล้วเคนเนดีก็ดุดันอยู่ลึก ๆ เช่นสนับสนุนโครงการคิวบาหรือความพยายามในการโค่นล้มคาสโตร และยังอยู่เบื้องหลังการปฏิบัติโค่นล้ม ประธานาธิบดีของเวียดนามใต้คือ โง ดินห์เดียมในปี 1963  โง เองถูกประหารชีวิตไม่กี่อาทิตย์ก่อนเคนเนดีถูกลอบสังหาร (ถ้ามองแบบชาวพุทธก็คือกรรมตามสนอง แต่ถ้ามองแบบสังคมศาสตร์ก็คือเรื่อง”อำนาจไม่เคยปราณีใคร”) นอกจากนี้ความอื้อฉาวทางเพศของเคนเนดียังทำให้คนอเมริกันไม่น้อยมองเขาในด้านไม่ดี

ความตาย

วันศุกร์ ที่ 22 พฤศจิกายน 1963 เวลา 11.40 น. เคนเนดีพร้อมคณะเดินทางมาถึงเมืองดัลลัส      รัฐเท็กซัส ซึ่งอยู่ทางใต้เพื่อหาเสียงในการเลือกตั้งปี 1964 ในรัฐนี้ที่เขาและรองประธานาธิบดีจอห์นสันไม่ค่อยได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งปี 1960 เท่าไรนัก และเพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างสมาชิกพรรค     เดโมแครตประจำรัฐแท็กซัส การมาของเขาและคณะทำให้มีความวิตกกันถึงเรื่องการรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลอบยิง ดังนั้นตำรวจเมืองดัลลัสจึงเตรียมพร้อมที่จะรักษาความปลอดภัยด้วยมาตรการที่เข้มงวดที่สุดในประวัติศาสตร์แต่แล้วเจ้าหน้าที่ของหน่วยสืบราชการคนหนึ่งก็บอกว่าไม่ต้องมีหน่วยตำรวจคุ้มกันติดตามรถของประธานาธิบดี ต่อมาตำรวจดัลลัสมาให้การต่อคณะกรรมการว่า ถ้าหากมีการคุ้มกันดังที่วางแผนไว้ ประธานาธิบดีอาจจะไม่ถูกสังหาร หรืออย่างน้อยฆาตกรก็ต้องถูกจับกุมตัวทันที

แผนถูกวางไว้ว่าประธานาธิบดี พร้อมกับภริยาและรองประธานาธิบดีจะนั่งรถลีมูซีนยี่ห้อลินคอล์น คอนทิเนนทัล ปี 1961 แบบเปิดประทุน ในขณะนั้นยังไม่มีการนำเอากระจกกันกระสุนมาใช้สำหรับรถประธานาธิบดี ขบวนรถมีมอเตอร์ไซด์ตำรวจนำเป็นแถว (เหมือนที่เราเห็นในหนังฝรั่ง) มาจากสนามบินเลิฟฟิลด์ ไปรอบใจกลางเมืองดัลลัส เพื่อที่เคนเนดีจะไปกล่าวคำปราศรัยที่ ศูนย์การค้าใหญ่แห่งหนึ่ง และรับประทานอาหารเที่ยงกับคนสำคัญเมืองดัลลัส ขบวนรถยังคงวิ่งไปเรื่อยๆ แต่ต้องหยุดถึงสองครั้งเพื่อที่ว่าประธานาธิบดีจะได้จับมือกับบรรดาชาวเมืองดัลลัสที่แห่แหน ชูป้ายมาต้อนรับเคนเนดี ก่อนหน้าที่ขบวนรถจะขึ้นถนนใหญ่ มีผู้ชายคนหนึ่งวิ่งตรงมาหาประธานาธิบดี แต่ถูกพวกหน่วยสืบราชการลับจับตัวไว้ทัน

เวลา 12.29 ขบวนรถก็เดินทางมาถึงดีลีย์ พลาซ่า และเลี้ยวขวาจากถนนใหญ่ไปยังถนนฮุสตัน และขบวนรถก็เลี้ยวไปทางซ้าย ผ่านตึกที่ชื่อคลังเก็บหนังสือเรียนของแท็กทัส ซึ่งเป็นตึกเจ็ดชั้น ทันใดนั้นเสียงปืนก็ดังขึ้น........

จากปากคำของพยานผู้กำลังใช้กล้องถ่ายเหตุการณ์ครั้งนั้น ได้ความว่า เขาได้ยินเสียงปืนนัดแรกและเห็นเคนเนดีผงะไปทางแจ็กกี้ พร้อมกับเอามือกุมหน้าอกด้านซ้ายและเมื่อกระสุนนัดที่สองดังขึ้น เขาก็เห็นศีรษะของเคนเนดีเปิดออก พร้อมกับเลือดสาดกระเซ็น (ปัจจุบันยังมีการถกเถียงกันว่ามีการยิงกี่นัดและคนยิงมีกี่คน) ผู้ที่พลอยซวยไปด้วยคือ จอห์น คอนเนลลี ผู้ว่าการรัฐแท็กซัส ที่นั่งอยู่ด้านหน้ารถคู่กับคนขับ เขาถูกกระสุนลูกหลงเข้าตรงหลังแต่ยังมีแรงกรีดร้องว่า “ไม่ ไม่ ไม่ พวกมันกำลังจะฆ่าพวกเราหมด !!!”

ส่วนแจ็คกี้กลายเป็นคนสติแตกพยายามปีนไปทางด้านหลังของรถเพื่อที่จะเก็บเอาส่วนของสมองของเคนเนดีที่กระเด็นไป ผู้คุ้มกันคนหนึ่งก็รีบเข้าไปปกป้องร่างของคนทั้งสอง แล้วรถของประธานาธิบดีก็ถูกขับออกไปอย่างเร่งด่วนยังโรงพยาบาลปาร์กแลนด์ เมโมเรียล ซึ่งไม่ไกลจากที่นั่น ประธานาธิบดีเคนเนดีได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการว่าเสียชีวิตในอีกสามสิบนาทีต่อมา .......

ช่วงบ่ายของวันที่ 22 พฤศจิกายน 1963 หรือวันเดียวกับที่ประธานาธิบดีเคนเนดีถูกลอบสังหารนั้น ชาวอเมริกันได้รับรู้ถึงการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยนามว่าลี ฮาร์วีย์ ออสวัลด์( Lee Harvey Oswald) ชายหนุ่มอายุ 24 ปีผู้นี้ได้ยิงตำรวจเสียชีวิตก่อน จะนั่งรถแท็กซี่หนีเข้าไปในโรงหนังแท็กซัสโดยไม่จ่ายค่าตั๋วดูหนัง ทำให้คนเก็บเงินโทรศัพท์เรียกตำรวจ (ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่าสำหรับคนที่ลอบยิงประธานาธิบดีมาหมาดๆ จะโง่ยอมเสี่ยงทำให้เกิดเรื่องเพียงเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นหรือไม่)

ตำรวจกว่าสามสิบนายก็กรูเข้าไปในโรงหนังจับเพื่อกุมผู้ต้องสงสัยคนเดียว แต่ผู้ที่เข้าถึงเขาเป็นคนแรกถูกชกหน้าหงาย เกิดการต่อสู้กันนิดหน่อย ก่อนที่ออสวาล์ดจะถูกหิ้วปีกออกไป แต่ก็โวยวายลั่นว่าตัวเองไม่ได้ขัดขืนอะไร สาเหตุที่ออสวัลด์ถูกจับกุมเพราะมีคนยืนยันว่าเห็นเขาอยู่ตรงหน้าต่างของตึกคลังเก็บหนังสือเรียนของแท็กทัส ตอนที่เคนเนดีถูกยิง ทางตำรวจได้แจ้งให้ทุกหน่วยทราบถึงรูปพรรณของคนร้าย ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งซึ่งลาดตะเวน อยู่แถวโอค คลิฟฟ์ ในเวลา 13.15 น. เห็น ออสวัลด์เข้าก็ขอตรวจค้น เลยถูกยิงตาย โดยมีใครหลายคนเป็นประจักษ์พยาน จนเขามาถูกจับกุมในที่สุด

ออสวัลด์ถูกตั้งข้อหาฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีสังหารประธานาธิบดี แต่เขาปฏิเสธอย่างแข็งขัน โดยบอกว่าตัวเองเป็นแค่ Patsy หรือแพะรับบาป ทั้ง ๆที่มีการค้นพบปืนไรเฟิลที่ชั้นหกของตึก คลังเก็บหนังสือเรียนของแท็กทัส  ที่สั่งซื้อภายใต้นามแฝงของออสวัลด์ ประวัติของหมอนี่ไม่เบาเหมือนกัน เคยเป็นนาวิกโยธิน ซึ่งทำให้เขาฝักใฝ่และเชี่ยวชาญในเรื่องปืน แต่กลับมาฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ เคยอพยพไปตั้งรกรากที่โซเวียตในปี 1959 พร้อมกับขอยกเลิกสัญชาติอเมริกัน จนได้ภรรยาเป็นคนรัสเซีย แต่ก็หูตาสว่างเห็นความไม่ได้เรื่องของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตเลยกลับมาอยู่ที่อเมริกา และหันมาฝักใฝ่กับ    ฟิเดล คาสโตรแทน ออสวัลด์ได้งานทำชั่วคราวที่ตึกเจ็ดชั้นตึกนั้น ในช่วงที่เคนเนดีถูกลอบสังหาร

แต่แล้วก่อนที่จะถูกดำเนินคดีวันที่ 24 คือสองวันต่อจากนั้น ออสวัลด์ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวไปส่งเข้าคุกที่อยู่ใกล้ กับสถานีตำรวจดัลลัส เพราะได้รับจดหมายขู่ฆ่า ขณะที่เขาและตำรวจที่คุมตัวอย่างแข็งขันเดินลงมาจากลิฟท์มายังที่จอดรถใต้ดินของรถพัก ท่ามกลางบรรดาผู้สื่อข่าวจำนวนมาก  แจ็ค รูบี้ เจ้าของกาสิโนและผู้กว้างขวางย่านนั้นก็วิ่งเข้าไปยิงออสวัลด์อย่างอุกอาจ ท่ามกลางสายตาของชาวอเมริกันนับล้านคนผ่านกล้องโทรทัศน์ที่กำลังถ่ายทอดสด ออสวัลด์บาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา รูบี้ อ้างว่าเพราะต้องการช่วยเหลือแจ็คกี้ อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแบบสด ๆ ร้อน ๆ ไม่ให้ต้องทนทุกข์ทรมานกับขบวนการขึ้นโรงขึ้นศาล ซึ่งแน่นอนว่าคำอ้างของเขาฟังไม่ขึ้น แต่รูบี้ก็ป่วยตายก่อนจะถูกนำขึ้นศาล มีชาวอเมริกันไม่น้อยที่สงสัยว่า ต้องมีคนอยู่เบื้องหลังเขาเพื่อที่จะฆ่าตัดตอนออสวัลด์เป็นแน่

วันที่ 29 ของเดือนเดียวกัน ประธานาธิบดีคนใหม่คือลินดอน บี จอห์นสันซึ่งสาบานตนเข้าดำรงตำแหน่งบนเครื่องบิน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาโดยมีผู้พิพากษานามว่า เอิร์ล วาร์เรนเป็นประธาน ภายใต้ชื่อที่นิยมเรียกกันว่า คณะกรรมการวาร์เรน (ที่น่าสนใจคือมีอดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางหรือซีไอเอ ที่ถูกเคนเนดีไล่ออกคืออัลเลน ดัลเลส รวมอยู่ด้วย) ทำการตรวจสอบที่เกิดเหตุและสืบสวนพยานอย่างละเอียดจึงสรุปว่า ออสวัลด์เป็นผู้สังหารประธานาธิบดีเพียงผู้เดียว มีการยิงด้วยปืนไรเฟิลเพียงสามนัดเพราะพบปลอกกระสุนจำนวนเท่านั้นอยู่ที่ชั้นหกของตัวอาคาร มีเพียงนัดเดียวที่พลาดเป้า กระสุนที่เข้าไปที่คอของเคนเนดีเป็นกระสุนนัดเดียวกันที่โดนตรงหลังของ ผู้ว่าการรัฐแท็กซัส ส่วนแรงจูงใจในการลอบสังหาร ไม่มีการพูดถึง แม้ออสวัลด์จะเคยอยู่ในโซเวียตมาก่อน ถึงแม้ข้อสรุปนี้จะได้รับการยอมรับจากรัฐบาลอย่างเป็นทางการแต่ก็ถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงจากหลายฝ่ายในเวลาต่อมา

เหตุใดเคนเนดีจึงถูกลอบสังหาร ?

ยังมีคนอเมริกันจำนวนมหาศาลยังติดใจสงสัยเบื้องหลังการลอบสังหารเคนเนดี จนถึงทุกวันนี้รวมไปถึง อัยการของเมืองนิว ออร์ลินส์ เช่นจิม แกร์ริสันด้วย เขาคือแรงบันดาลใจและแหล่งข้อมูลสำหรับ            โอลิเวอร์ สโตนผู้เชิดชูเคนเนดีในการทำหนังเรื่อง JFK ที่ออกฉายเมือ่ปี 1991 และมีส่วนอย่างยิ่งสำหรับความเข้าใจของคนทั่วโลกเกี่ยวกับการลอบสังหารเคนเนดี แกร์ริสันมีความเชื่อว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารประธานาธิบดีเคนเนดี ไม่ใช่ ออสวัลด์ ชายหนุ่มผู้นี้เป็นเพียงแพะรับบาป ที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ในหนัง ขณะที่แกร์ริสันซึ่งแสดงโดยเควิน คอสเนอร์ นั่งดูทีวีที่ถ่ายทอดการแถลงของออสวัลด์ เขาก็พูด     เปรย ๆ  ว่า “เขาดูใจเย็นมากเหลือเกินสำหรับคนที่ตกอยู่ใต้แรงกดดันขนาดนั้น”

แกร์ริสันมีความเชื่อว่า ออสวัลด์รู้จักกับ ใครหลายคนที่นำเขามาเป็นแพะรับบาป บุคคลเหล่านั้นต่างมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับหน่วยงานของรัฐบาลเช่นซีไอเอหรือเอฟบีไอรวมไปถึงพวกใต้ดินเช่น มาเฟีย ไม่ว่า เดวิด เฟอร์รี เคลย์ ชอว์ หรือกาย แบนิสเตอร์ แกร์ริสันจึงพยายามนำสองคนแรก (ส่วนคนหลังสุดชิงกลับบ้านเก่าเสียก่อน) ไปสอบสวนและขึ้นศาล แต่ก็ได้รับการขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนพยานที่เกี่ยวข้องหรือรู้เรื่องราวต่าง ๆ ถูกข่มขู่ ไม่กล้ามาให้ปากคำ บางคนก็ถูกเก็บ ชอว์โดนยกฟ้องและแฟรรี่เองถึงแม้จะรอดจากเงื้อมือของกฏหมาย ก็ตายอย่างมีเงื่อมงำ แกร์ริสันเอง ก็โดนกล่าวหาว่าสติเฟื่อง อยากดังจึงข่มขู่พยานเพื่อสร้างเรื่องราวขึ้น

ในระหว่างการพิจาณาคดีของเคลย์ ชอว์ เมื่อปี 1969 ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของหนัง แกร์ริสันพยายามจะบอกแก่สาธารณชนอเมริกันว่า แท้ที่จริง ผู้สังหารเคนเนดีมีหลายคนทำงานกันเป็นทีมและเตรียมตัวกันมาอย่างดี จุดที่มือสังหารอยู่ไม่ใช่เพียงจากหน้าต่างของตึกเท่านั้นหากยังจากเนินที่มีหญ้าปกคลุม ซึ่งอยู่ใกล้รถขบวนประธานาธิบดี มีการยิงจากปืนไรเฟิลสองกระบอกถึงหกนัด ในขณะที่ออสวัลด์ซึ่งอยู่ในตึกนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเลยและอาจจะไม่ได้ยิงตำรวจด้วย ออสวัลด์คือผู้บริสุทธิ์ !!!

จุดสรุปของหนังเรื่องนี้ (ซึ่งไม่รู้ว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่) ก็คือตอนที่แกร์ริสันเดินทางไปพบกับอดีตนายทหารที่ใช้ชื่อปลอมว่า ผู้พัน X (แสดงโดยโดนัลด์ ซูเทอร์แลนด์)  X ได้เล่าให้ฟังถึงความไม่ชอบมา      พากลในวันที่เคนเนดีเดินทางมายังดัลลัส โดยที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯ ต่างปล่อยปละละเลยเรื่องการรักษาความปลอดภัย ราวกับจะเปิดช่องให้มือสังหารทำงานได้สะดวก ที่ออกมาสรุปเรื่องราวทั้งหมดว่า

1.เกิดจากหน่วยข่าวกรองกลางหรือซีไอเอเพราะหลังจากที่เบย์ออฟพิกส์ล้มเหลว เคนเนดีต้องการลดอำนาจของ ซีไอเอโดยการไล่บรรดาผู้บริหารระดับสูงออกเช่นดัลเลส และมอบอำนาจให้กองทัพในการปฏิบัติงานใต้ดินแทนซีไอเอ

2. เกิดจากความพยายามของเคนเนดีในการถอนทหารอเมริกันทั้งหมดออกจาก เวียดนามภายในปี 1965 ซึ่งเป็นการขัดผลประโยชน์ของกลุ่มอุตสาหกรรมอาวุธ (Military-industry Complex) อย่างแรงและนายทหารทั้งหลายที่มีเอี่ยวด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ ในวิกฤตการณ์คิวบาที่เคนเนดีตกลงกับครูซชอฟผู้นำของสหภาพโซเวียตได้อย่างสันติ ก็ทำให้คนพวกนั้นไม่พอใจเป็นยิ่งนัก ซ้ำเคนเนดียังใฝ่ใจในเรื่องสันติภาพ ต้องการยุติสงครามเย็น เป็นไปได้เช่นกันว่า รองประธานาธิบดีลินดอน บี จอห์นสันจะล่วงรู้ในเรื่องนี้ด้วย เพราะหลังจากที่จอห์นสันได้เป็นประธานาธิบดี เขาก็ลงนามในการส่งกองกำลังทหารเข้าไปในเวียดนามแทนที่จะถอนออก  ทฤษฎีนี้ได้รับการไม่เห็นด้วยจากนักวิชาการหลายคนเช่นนอม ชอมสกี เขาเห็นว่าเคนเนดีนั้นจริงๆ แล้วมีแผนที่จะขยายอำนาจทางทหารไปในเวียดนาม ดังนั้นถึงแม้เคนเนดีไม่ถูกลอบสังหาร สหรัฐฯ ก็จะเข้าสู่สงครามเวียดนามอยู่ดี
 

สรุปก็คือเคนเนดีนั้นเหมือนกับจูเลียส ซีซาร์ จักรพรรดิ์โรมันที่ถูกลูกน้องรอบข้างเป็นศัตรูและรุมสังหารเขาในที่สุด ในประวัติศาสตร์มีอยู่สี่ครั้งที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ ถูกสังหาร แต่ครั้งนี้คือการทำรัฐประหาร หรือ Coup d’état เคนเนดีถูกโค่นโดยระบบราชการอันยิ่งใหญ่ (ซึ่งก็ยังเป็นความเชื่ออีกเช่นกัน)

ถึงแม้แกร์ริสัน ชี้ให้สาธารณชนถึงความเท็จจริงเหล่านี้ แต่ด้วยพยานบุคคลที่ไม่น่าเชื่อถือ ทำให้ความพยายามของเขา กลายเป็นเพียงหนึ่งใน การไต่สวนหรือทฤษฎีการสมรู้ร่วมคิด (Conspiracy) จนถึงทุกวันนี้โดยนักประวัติศาสตร์หรือคณะกรรมการของรัฐบาลยังคงต้องทำงานต่อไปถึงสาเหตุการลอบสังหารประธานาธิบดี หรือจนกว่า ความจริงยังไม่มีใครประจักษ์ชัด แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ คนผิดก็ไปเกิดใหม่นานแล้ว

นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีเกี่ยวกับการลอบสังหารอื่น ๆ อีกที่ไม่ได้อยู่ในฉากนั้น หรือว่าไม่ได้อยู่ในหนังว่าเกิดจากการบงการของ

1.รองประธานาธิบดีจอห์นสัน ซึ่งได้ข่าวระแคะระคายว่า เคนเนดีจะไม่เอาเขามาเป็นคู่หูในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1965 แถมตอนที่เคนเนดียังเป็นประธานาธิบดี จอห์นสันเองยังต้องคดีเรื่องทุจริตอยู่หลายคดี เมื่อจอห์นสันได้เป็นประธานาธิบดีเรื่องพวกนี้ก็หายไปในกลีบเมฆ นอกจากนี้จอห์นสันและ        ฮูเวอร์ยังพยายามทำให้สาธารณชนเชื่อว่า ออสวัลด์เป็นคนฆ่าเพียงคนเดียว แฟ้มทั้งหมดของการสืบสวนการลอบสังหารของคณะกรมการวาร์เรนถูกเก็บไว้ภายใต้คำสั่งของจอห์นสันจะเปิดออกมาดูได้ก็ต่อปี 2093

2. พวกมาเฟียที่สูญเสียผลประโยชน์จากการยึดประเทศของคาสโตร และปฏิบัติการเบย์ออฟพิกส์ในการโค้นล้มคาสโตรไม่สำเร็จ ทำให้คนเหล่านั้นโมโหโกธาเป็นยิ่งนัก (ภาพยนตร์ได้แก่ต่างว่าเคนเนดีถูกผู้อำนวยการของซีไอเอหลอกในเรื่องปฏิบัติการนี้)

3. นอกจากนี้ข้อสอง ยังโยงมายัง ฮูเวอร์ผู้อำนวยการ FBI ผู้เกลียดชังเคนเนดี ที่ต้องการจำกัดอายุของผู้อำนวยการ FBI ให้ไม่เกิน 70 ปี ถ้าหากเคนเนดีได้รับการรับเลือกตั้งอีกครั้ง ฮูเวอร์จะต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่เมื่อจอห์นสันเป็นประธานาธิบดี เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการเอฟบีไอ “ตลอดชีพ” ถึงแม้       ฮูเวอร์จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสังหารโดยตรง แต่เขาอาจจะรู้ว่าเป็นฝีมือของมาเฟียซึ่งแบ็คเมล์เขาเกี่ยวกับความเป็นพวกรักร่วมเพศ จึงเงียบไว้ก่อนดีกว่า

4. พวกคิวบา อาจจะเป็นพวกคิวบาพลัดถิ่นที่โกรธแค้นเคนเนดีที่ไม่ยอมช่วยเหลือพวกเขาใน ปฏิการ   เบย์ออฟพิกส์ หรืออาจจะเป็นฝีมือของคาสโตรที่ต้องการล้างแค้นเคนเนดี ซึ่งพยายามจะลอบสังหารเขา

5. เป็นฝีมือของครูซชอฟหรือพวกผู้นำหัวรุนแรงในเครมลิน แต่ทฤษฎีนี้อ่อนเกินไปเพราะครูซชอฟเองถือว่าเคนเนดีเป็นคนที่สามารถตกลงกันได้ และเคนเนดียังถูกโจมตีว่าอ่อนข้อให้กับสหภาพโซเวียต จนมีคนมาตั้งทฤษฎีว่าเคนเนดีเป็นสายลับให้กับทางเครมลิน

บทส่งท้าย (ในภาพยนตร์)

แกร์ริสันรู้สึกเลือดขึ้นหน้าเมื่อได้ยิน ผู้พัน X พูดถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารจบ

“ไม่น่าเชื่อเลย ว่าพวกเขาฆ่าเคนเนดีเพียงเพราะเขาต้องการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง.... ในยุคนี้ในประเทศนี้”

ผู้พูดซึ่งนั่งอยู่บนเก้าอี้ยาวตัวเดียวกันยิ้มและจ้องตาแกร์ริสันเหมือนเขาเป็นเด็กอายุสามขวบ

“เขาฆ่าผู้นำกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณแล้ว มีกษัตริย์หลายพระองค์ถูกปลงพระชนม์ คุณแกริสัน การเมืองคืออำนาจ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น”..............

 

 

ป.ล. ปัจจุบัน ตัวจิม แกร์ริสัน และโอลิเวอร์ สโตน ก็โดนโจมตีจากหลายฝ่ายเกี่ยวกับหลักฐานที่ยังสรุปไม่ได้จากหนังเรื่อง JFK แกร์ริสันเองประวัติส่วนตัวก็ไม่ได้ดูสวยงามอย่างที่ปรากฏอยู่ในหนังของสโตน  และดังที่ได้กล่าวมาข้างบน ตัวเคนเนดีเองก็ไม่ได้ดีอย่างที่สโตนยกย่องนัก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net