Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จั่วหัวหมายเหตุตัวโตๆ ก่อนว่า สเตตัสนี้ อาจไม่ถูกใจนักข่าวหลายๆ ท่านผมก็กราบขออภัยล่วงหน้า แต่โปรดถกเถียงกันในเชิงหลักการและเหตุผล ทั้งหมดรวบรวมเอาความรู้สึกนึกคิดต่อบางประเด็นคล้ายๆ กัน จากนักข่าวภาคสนามบางส่วน(ย้ำว่าบางส่วน นับนิ้วดูก็ไม่ถึงสิบคน เพราะผมไม่รู้จักทุกคน และส่วนใหญ่ก็กระจัดกระจายไปตามขบวนดาวกระจายของม๊อบ บ้างหมุนวนมาเจอ บ้างก็ไม่ได้เจอกันเลย) แต่ก็มีความสำคัญ และอยากสะท้อนมุมมองนี้ให้นักข่าวมากพรรษาช่วยตริตรองหาทางออก หรือคนนอกวงการได้เข้าใจบางปัญหาของวิชาชีพสื่อมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้ง

ถ้านักข่าวรุ่นใหม่หมายถึงนักข่าวอายุงานไม่เกิน 5 ปี ผมน่าจะอยู่ในเยอเนเรชั่นกลางเก่ากลางใหม่ ผลงานอาจเทียบไม่ได้กับนักข่าวรุ่นเก่าอายุงานเกิน 15 ปี แต่ถือว่าผมโชคดีที่เติบโตขึ้นมาทำหน้าที่สื่อมวลชนในช่วงที่บ้านเมืองประสบปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และปัญหาภาคใต้ ซึ่งช่วยหล่อหลอมสำนึกบทบาทหน้าที่ของตนกว่าบทท่องจำในหนังสือจริยธรรมและกฏหมายสื่อมวลชนมากนัก

ผมมองว่าเป็นโอกาสไม่ใช่วิกฤต...

แต่มันเป็นโอกาสที่ไม่ง่ายเลยสักนิด สำหรับการเป็นสื่อมวลชนในสังคมที่ถูกแบ่งแยกด้วยสีเสื้อและการเลือกข้างทางการเมือง

มันมีความจำเป็นแค่ไหนที่นักข่าวต้องเลือกข้าง? –ผมอ่านเจอสเตตัสที่น้องนักข่าวภาคสนามของโทรทัศน์ช่องหนึ่งตั้งเอาไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน ช่วงที่นักข่าวภาคสนามหลายชีวิตสะท้อนออกมาจุดยืนของตัวเองผ่าน FB  หลังจากที่นักข่าวชื่อดังคนหนึ่งจากช่องมากสีเดินขึ้นเวทีปราศรัย ผม(ซึ่งอยู่ในช่วงพักร้อน ไม่ได้ลงไปทำข่าว) เข้าใจอารมณ์สเตตัสของน้องนักข่าวคนนั้นในขณะนั้นว่า จะทำให้นักข่าวภาคสนามทำงานลำบากมากขึ้น เพราะสถานการณ์มันเริ่มท้าทายให้เลือกระหว่างจุดยืนในบทบาทหน้าที่ และ การเลือกข้างทางการเมือง

  “จำเป็นแค่ไหนที่นักข่าวต้องเลือกข้างทางการเมือง” ผมตั้งคำถามนี้เอาไว้ในใจ ณ ขณะนั้น และท้ายที่สุดชั่วระยะเวลาไม่นาน ก็มีเสียงเรียกร้องให้สื่อออกไปร่วมขบวนปฏิวัติประชาชน มีการโพสต์ข้อความโจมตี สื่อแท้-เทียมในเฟซบุ๊ค ทั้งหมดทั้งมวลมันไม่ได้ต่างไปจากสถานการณ์ม๊อบแดงหลังปี 2549 จนถึงปี 2553 เลยแม้แต่น้อย

“สื่อไม่รักประชาธิปไตย สื่อของเผด็จการ” นั่นคือข้อหาโจมตีสื่อมวลชนในขณะนั้น เป็นข้อโจมตีที่ชวนอึดอัด เพราะสร้างความแตกแยกในแวดวงนักข่าวทั้งภาคสนามและที่นั่งอยู่ในกองบรรณาธิการไม่น้อย ตัดภาพมาในปลายปี 2556 กลางม๊อบปฏิวัติประชาชนที่นำโดยอดีต ส.ส.สุเทพ เทือกสุบรรณ คำครหาไม่ได้แตกต่างกันแม้แต่น้อย

ใครที่เป็นนักข่าวพอจะมองเห็นภาพการทำงานของนักข่าวภาคสนามออก แต่ใครที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงนี้คงยากจะเข้าใจ กล่าวคือนักข่าวภาคสนามได้รับมอบหมายให้ติดตามทำข่าวม๊อบ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของแกนนำ การขับเคลื่อนของม๊อบในแต่ละวันส่งข่าวให้กองบรรณาธิการเผยแพร่ หรือหากเป็นข่าวโทรทัศน์ก็จะนำเสนอประเด็นในข่าวต้นชั่วโมง ข่าวเช้า ข่าวค่ำ หรือช่วงเวลาข่าวของตัวเอง มันจะไม่ยุ่งยากนัก หากเป็นสื่อที่เลือกข้างอย่างชัดเจนแล้วที่จะนำเสนอประเด็นให้ต่อเนื่องในแต่ละวัน แต่สำหรับนักข่าวจากสังกัดที่ไม่ได้ประกาศเลือกข้างออกมา ต้องทำข่าวด้วยจุดยืนของสื่อที่ไม่เลือกข้าง หรือพวกที่ต้นสังกัดมีภาพลักษณ์ของสื่อฝ่ายตรงข้าม จะได้รับความยากลำบากอย่างยิ่ง เช่นการเข้าถึงแกนนำเพื่อติดต่อขอสัมภาษณ์ในภาคสนาม มักจะฝ่าด่านเข้าไปได้ยาก ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษจากพวกการ์ด หรือบางทีก็สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งหากแกนนำปลุกเร้ามวลชนจนอารมณ์คุขึ้นมา

ส่วนพวกนักข่าวที่เลือกข้างแล้ว สามารถนั่งกระดิกเท้าหลังเวที รอสัมภาษณ์พิเศษแกนนำคนสำคัญได้อย่างสบายใจ และยังสามารถรู้ประเด็นล่วงหน้าส่งต้นสังกัดก่อนเพื่อน จากความสนิทสนมกับบรรดาแกนนำทั้งหลาย

แต่นักข่าวหลายคน แม้ต้นสังกัดจะมีภาพลักษณ์อย่างไร ในระหว่างข่าวม๊อบที่ต้องมากินอยู่ท่ามกลางมวลชนก็ยังพยายามรักษาจุดยืนของตัวเอง ไม่ส่งข่าวบิดเบือนใดๆ (แต่หากหนังสือพิมพ์เผยแพร่แบบบิดเบือนออกไป นั่นหมายถึงผ่านมือของ บ.ก.หรือกองบรรณาธิการของโต๊ะข่าวแล้ว ไม่ใช่ความรับผิดชอบของนักข่าวภาคสนาม ส่วนโทรทัศน์ข้อเท็จจริงก็ผ่านหน้าจออยู่แล้ว) แต่เมื่อข่าวเผยแพร่ออกไป นักข่าวภาคสนามคือคนแรกที่จะถูกจับตามองจากมวลชนของม๊อบ

แต่ในส่วนของโทรทัศน์ ยังมีองค์ประกอบอื่นที่นำมาซึ่งความยุ่งยากของนักข่าวภาคสนาม นอกจากภาพลักษณ์ของต้นสังกัด ยังมาจาก “นักข่าวเซเลบ” หรือ “ผู้ประกาศ” ที่ทำหน้าที่อยู่หน้าจอ เพราะคนเหล่านี้คือผู้สื่อสารโดยตรงกับประชาชน คนรับสื่อมักจำจดภาพลักษณ์ของคนเหล่านั้นแทนสถานีโทรทัศน์ แทนนักข่าวภาคสนามทุกคน ไม่มีใครรับรู้ว่านักข่าวภาคสนามทำงานหนักแค่ไหนกว่าจะได้ข่าวหรือบทสัมภาษณ์แต่ละชิ้น แต่เมื่อมันถูกอ่านผ่านปาก “ผู้ประกาศเซเลบที่เลือกข้าง” ผู้ชมจะจดจำรับรู้สารนั้นไปอีกรูปแบบ    

นักข่าวสาวรุ่นน้องของผมคนหนึ่งถูกผู้ชุมนุมกระชากแขนถามว่าจะรายงานข่าวบิดเบือนหรือไม่ที่กระทรวงการคลัง 2-3 วันที่ผ่านมา ส่วนอีกคนก็ถูกผู้ชุมนุมเข้ามาข่มขู่ (ใกล้เคียงกับคำว่าคุกคาม)ให้เสนอข่าวการบุกปิดล้อมกระทรวงการคลังดีๆ

ย้อนกลับไปเมื่อการชุมนุมของชาวสวนยางภาคใต้ที่ควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราชเมื่อหลายเดือนก่อน ซึ่งม๊อบชาวบ้านก็ถูกมองว่าเป็นฝั่งตรงข้ามรัฐบาล นักข่าวก็ประสบปัญหาเดียวกัน เมื่อนักข่าวสาวรุ่นน้องคนหนึ่งถูกผู้ชุมนุมเข้ามาข่มขู่คุกคามตอนขอสัมภาษณ์ ส่วนเพื่อนนักข่าวอีกคน นัดสัมภาษณ์แกนนำไว้ แต่ผู้ชุมนุมบางรายจะพาไปสถานที่เปลี่ยวแห่งหนึ่งซึ่งอยู่คนละพื้นที่ ดีที่แกนนำบางคนพยายามช่วยเหลือออกมา มิเช่นนั้นคงยากจินตนาการว่าเป็นหรือตาย

นี่คือภาพรวมที่ผมอยากเล่าให้ฟังนอกจากความเหนื่อยยากลำบากที่ต้องลงไปตากแดดตากฝนบนท้องถนนเพื่อเอาข้อเท็จจริงมาให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูล ยังต้องกลายเป็นเหยื่อทางอารมณ์ของผู้ชุมนุมบางกลุ่ม ที่เขาต้องการสะท้อนความรู้สึกไปยังต้นสังกัดหรือผู้ประกาศ “เซเลบ” ไม่กี่คนในประเทศนี้

ผมไม่ได้บอกว่าการเลือกข้างทางการเมืองเป็นสิ่งไม่ดี นั่นเพราะเข้าใจว่า การตื่นตัวทางการเมืองเป็นสำนึกรับผิดชอบของพลเมืองประเทศนี้อยู่แล้ว แต่คนบางหน้าที่ ก็เหมือนนกบางประเภทที่มีปีกแต่ไม่จำเป็นต้องบิน

ชั่วๆ ดีๆ ในสถานการณ์ความขัดแย้ง สื่อมวลชนก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการนำพาออกจากวิกฤตได้ แต่นั่นก็ต้องยืนให้มั่นในจุดที่ควรยืน เมื่อไหร่ที่เผลอไผลลงไปร่วมในความขัดแย้งด้วย ยิ่งทำให้วิกฤตรุนแรงบานปลาย

ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรก็ควรเป็นไปอย่างนั้น ปากกา (หรือมือถือ) กล้องถ่ายภาพนิ่งและเคลื่อนไหวเป็นเครื่องมือสำคัญ คำว่า “ประโยชน์ของชาติ” สำหรับสื่อมวลชนจึงไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกข้างทางการเมือง หากเรายึดถือเอาความสัตย์ ยึดมั่นในข้อเท็จจริง มันก็เป็นประโยชน์ของชาติ –ที่หมายความถึงประชาชนในประเทศนี้ทั้งมวล ไม่ต้องขึ้นเวทีปราศรัย ไม่ต้องบริภาษผ่านหน้าจอโทรทัศน์  

แต่นกหวีดที่คล้องอยู่ในลำคอ และผ้าคาดลายธงชาติที่ผูกไว้ตรงหน้าผากของนักข่าว-ผู้ประกาศเซเลบบางคนทำให้นักข่าวภาคสนามทำหน้าที่ยากลำบาก สุ่มเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตอย่างคาดไม่ถึง เอาแค่ปัจจุบันที่สุดขณะนี้ก็คือความอึดอัดหัวใจเป็นที่สุด

เพื่อนนักข่าวของผมบ่นว่า มันคงแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ปล่อยให้นักข่าวภาคสนามเผชิญปัญหากันตามลำพัง เพราะนอกจากต้นสังกัดเลือกข้างอย่างเด็ดเดี่ยวแล้ว สมาคมนักข่าวฯ ทั้งสององค์กรก็เลือกข้างทางการเมืองไปแล้ว จริยธรรมสื่อมวลชนกลายเป็นคำภีร์เก่าในตู้โชว์โบราณ

วันที่ตึกของสื่อมวลชนช่องหนึ่งถูกปิดล้อม พิธีกรเล่าข่าวถูกม๊อบบังคับให้เป่านกหวีดซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรง ทั้งที่เคยวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของพิธีกรคนดังกล่าวอย่างเข้มข้นมาก่อน แต่เมื่อถึงเวลาปกป้องอย่างเข้มข้นบ้างกลับไม่มีใครทำ จริยธรรมของสื่อมวลชนไม่เลือกที่รักมักที่ชังเป็นแน่ องค์กรสื่อก็ไม่ควรเลือกสื่อให้ปกป้องมิใช่หรือ

หรือจะปล่อยให้มืดบอดเช่นนี้กันต่อไป ใครใคร่หยิบนกหวีดหรือตีนตบไปพร้อมกับสมุดปากกาก็ได้อย่างนั้นหรือ แล้วคนที่อยู่ตรงกลางความขัดแย้งที่ไปหาข้อเท็จจริงได้จากไหน

ตกลงเราเป็น “สื่อ” เพื่อ “มวลชน” หรือเป็นส่วนหนึ่งของมวลชนกันแน่!

 

 

ที่มา: facebook สื่อต้องเลือกข้างทางการเมืองด้วยหรือไม่?! : คำถามจากนักข่าวภาคสนาม ต่อความสับสนของบทบาทหน้าที่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net