Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

   
หลังจากที่วุฒิสภาปัด“ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทาง การเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ....” ตกไปเพราะร่างฯนี้ ล้างผิดให้ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่พลพรรคประชาธิปัตย์ พวกเสื้อเหลืองที่นิยมลัทธิทหาร ทำให้พรรคเพื่อไทยถอนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมและร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่ค้างอยู่ในสภาทั้งหมด ซึ่งนั่นเท่ากับว่านักโทษการเมืองจะยังถูกคุมขังต่อไป หลังจากที่รอคอยความยุติธรรมมานานกว่าสามปีแล้ว   โดยพรรคอ้างเหตุผลว่า ต้องการสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้นในชาติ

ผู้เขียนไม่เชื่อว่าจะปรองดองแล้วยุติความขัดแย้งทางการเมืองได้จริง เพราะ 

1.ผู้ถูกกระทำหลังการรัฐประหารปี 49 ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติจากระบบยุติธรรมสองมาตรฐาน และถูกทหารสลายการชุมนุมปี 53 เข่นฆ่าพวกเขา แต่ยังลอยนวลอยู่ในสังคม 

2.พื้นที่อุดมการณ์ประชาธิปไตยยังไม่ถูกรื้อฟื้น ก.ม.หมิ่นฯ 112 ยังคงถูกบังคับใช้ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง   นักโทษการเมืองถูกใช้ต่อรองทางการเมือง ปรองดองกับเผด็จการทหาร ฝ่ายอนุรักษณ์นิยม

3.การปรองดองกับฝ่ายเผด็จการสนับสนุนรัฐประหารต้องการผูกขาดอำนาจและความศรัทธาไว้แต่เพียง ฝ่ายเดียว เพื่อรักษาผลประโยชน์ คงสภาพสังคมเดิมไว้ ทำให้นับวันพรรคเพื่อไทย และแกนนำหัวขบวนเสื้อแดง กองเชียร์ของพรรค จะทำผิดพลาดมากขึ้นทุกวัน จนถูกคนเสื้อแดงที่เป็นอิสระทางความคิดบางกลุ่มประณามว่า หักหลังประชาชนที่ร่วมต่อสู้กับพรรค ต้านอำมาตย์ที่โค่นล้มระบบเลือกตั้ง

นอกเหนือจากความผิดพลาดที่พรรคเพื่อไทยเสนอพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯฉบับเหมาเข่ง เข้าสู่สภา และการไม่มีนโยบายรื้อฟื้นประชาธิปไตย ปล่อยนักโทษการเมือง ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ถูกทหารแทรกแซงกลับคืนสู่สังคม  ยังประสบปัญหาจากการใช้แนวนโยบายประชานิยม ที่กำลังเดินไปสู่ทางตัน คือรายได้ งบประมาณของรัฐจำกัดมากขึ้น  ไม่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนเท่าที่ควร เพราะมีปัญหาในทางปฏิบัติมาก อีกทั้งความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจยังดำรงอยู่

ผู้เขียนต้องการนำเสนอข้อผิดพลาดของรัฐบาลและหัวขบวนเสื้อแดง ปัญหาสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน และทางออกสำหรับขบวนการเสื้อแดง ให้หลุดพ้นจากการเมืองที่ช่วงชิงอำนาจ ทำรัฐประหาร กดขี่ประชาชนของชนชั้นนำ

ข้อผิดพลาดของพรรคเพื่อไทย

1.การยกโทษให้แก่ฆาตกร ฆ่าประชาชนผู้ชุมนุมเสื้อแดงปี 2553 ในขณะที่คนพวกนี้ไม่รู้สึกรู้สาอะไร

2.การคงกฎหมายเผด็จการ ก.ม.อาญามาตรา 112 และทอดทิ้งนักโทษคดีนี้ไม่ให้รับความยุติธรรม แม้แต่สิทธิในการประกันตัว

3.การล้างผิดให้อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่ยังมีชนักติดหลัง สะท้อนให้เห็นว่า คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าหลักสิทธิเสรีภาพของนักโทษการเมืองและความยุติธรรม โดยใช้อุบายเอาเสรีภาพของนักโทษ กฎหมายเผด็จการ 112 แลกกับการกลับมาของทักษิณ ปรองดองทำแนวร่วมกับฆาตกร และคณะผู้ก่อการรัฐประหาร เพื่อให้รัฐบาลอยู่ในอำนาจต่อไป

ข้อผิดพลาดของแกนนำเสื้อแดง คือการไม่ทำอะไรเพื่อรื้อฟื้นประชาธิปไตยอย่างจริงจัง กล่อมเกลาให้มวลชนเป็นกองเชียร์ให้พรรคเพื่อไทยมากกว่าสร้างความเป็นอิสระทางความคิดและมีวาระการเมืองที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนคนส่วนใหญ่  ซ้ำล่าสุดโจมตีกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากการชุมนุม 53 ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับวรชัยตั้งแต่แรก ด้วยท่าทีที่ลดทอนความน่าเชื่อถือของร่างฯนี้ เช่น หาว่าจะทำให้นักโทษการเมืองถูกขังต่อไปบ้าง  ไม่ได้นิรโทษผู้ที่ต้องคดีอยู่ในเรือนจำโดยเฉพาะคดีเผาทำลายทรัพย์สิน และคดีอาญาร้ายแรงต่างๆ มากกว่ามีท่าทีหนุนหลักการเอาผิดคนสั่งฆ่าและฆ่าประชาชน และหลักสิทธิในการประกันตัวนักโทษการเมือง

ความผิดพลาดนำมาสู่การฟื้นอำนาจของฝ่ายตรงข้าม วาทกรรมคนดีมีศีลธรรม รักชาติรักแผ่นดิน รักพระมหากษัตริย์ของพรรคประชาธิปัตย์และพวกเสื้อเหลืองก็หวนคืนสู่การเมืองบนท้องถนน ในฐานะที่มองว่าถูกรัฐบาลกระทำจากร่างพ.ร.บ.เหมาเข่ง ล้างผิดให้ทักษิณ คนโกงชาติ และมีผู้ชุมนุมมาร่วมแสดงพลังนับแสน  โดยชูธงล้มรัฐบาล ขจัดตระกูลชินวัตรออกไปจากการเมือง เพราะเป็นต้นตอของความชั่วร้ายทั้งหมด  โดยอ้างตรรกะเผด็จการรัฐสภาเหมือนเช่นก่อนการรัฐประหารปี 49 คือ ระบอบทักษิณทำให้ระบบรัฐสภาเป็นเพียงตรายางของนายทุน ให้เข้ามามีอำนาจโดยผ่านการเลือกตั้งที่ทุจริต ซื้อเสียง สภากลายเป็นสิ่งไม่ดี ทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภา เกิดสภาทาส เป็นศูนย์รวมอำนาจของระบอบทักษิณ คุกคามศาล ใช้คนยากจนเป็นเครื่องมือ กดขี่ขูดรีด   จึงนำไปสู่การเรียกร้องปฏิรูปประเทศไทย ตั้งสภาประชาชนแทน  เชิดชูการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยสมบูรณ์ แบบ (จากนั้นก็กลายเป็นการเชิดชูระบอบการปกครองด้วยกษัตริย์)  และได้ลงชื่อถอดถอนส.ส. 310 คน ประกาศขอให้มีการหยุดงาน

และความผิดพลาดก็ได้นำไปสู่การเสนอให้ยุบสภาของกลุ่มนักวิชาการที่เห็นใจเสื้อแดง เพราะไม่ต้องการเห็นการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายตรงข้าม

ส่วนปฏิกิริยาตอบโต้ของรัฐบาลและแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คือการเรียกหาพลังคนเสื้อแดง คานอำนาจกับพวกประชาธิปัตย์ ด้วยวาทกรรมต่อต้านการทำรัฐประหารทุกรูปแบบ รักษารัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มาจากการเลือกตั้ง  การแก้ไขก.ม.ร.ธ.น.เป็นอำนาจของรัฐสภา เพราะรัฐสภามาจากอำนาจของประชาชน จะต้องไม่มีอำนาจนอกระบบ มือที่มองไม่เห็นเข้ามาแทรกแซงอีกครั้ง  และปฏิเสธคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้การแก้ไขที่มาและคุณสมบัติของ สมาชิกวุฒิสภา ที่ให้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเป็นโมฆะ เพราะขัดกับร.ธ.น.มาตรา 68 เข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง 


การเมืองล้าหลังของชนชั้นนำไทย

การเมืองของผู้นำ ชนชั้นนำสองฝ่ายข้างต้นวนเวียนอยู่กับข้อถกเถียงเก่าๆ ช่วงชิงอำนาจรัฐมากกว่าการผลักสังคมไปข้างหน้า พรรคเพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดงคิดภายใต้กรอบเสรีนิยมที่ยื่นเสรีภาพเฉพาะระดับผู้นำ นายทุน ไม่พ้นกรอบทักษิณ แทนที่จะแก้ไขระบบยุติธรรม แล้วนำทักษิณกลับมาพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง   

ส่วนพวกประชาธิปัตย์ เสื้อเหลืองที่หนุนรัฐประหารมีทัศนะการเมืองล้าหลังดักดานยิ่งกว่า เนื่องจากยังใช้วาทกรรมรักชาติรักแผ่นดิน  แม้จะมีการเรียกร้องปฏิรูปประเทศไทยสภาประชาชน แต่ไม่มีทางเป็นไปได้  เพราะมีที่มาของการล้มระบบเลือกตั้ง เป็นการปฏิรูปสังคมภายใต้กรอบวัฒนธรรมของฝ่ายขวา  ยินยอมให้แกนนำจากพรรคปชป.นำการชุมนุม  ยอมรับที่จะรักษาก.ม.หมิ่นพระบรมเดชานุภาพไว้เป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรง ข้าม  นั่นคือพวกปฏิรูปที่พร้อมใช้แนวฟาสซิสต์ทำลายประชาธิปไตย ทำลายคนที่เห็นต่าง

สำหรับขบวนการภาคประชาชนที่สนับสนุนการต่อสู้ตามแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นักพัฒนาเอกชนออกมาต้านนิรโทษกรรมเหมาเข่งที่ล้างผิดให้ทักษิณ มากกว่ากล่าวถึงการเอาคนสั่งฆ่าประชาชนปี 53 มาลงโทษ  แม้จะมีสอดแทรกประเด็นปัญหาสิทธิเสรีภาพของแรงงาน แต่พูดภายใต้กรอบอุดมการณ์ฝ่ายขวา ดังเห็นจากแถลงการณ์ของสรส.  (สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) แถลงการณ์ฉบับที่ 4 เรื่อง ร่วมสำแดงพลังเปลี่ยนแปลงประเทศไทย. ที่มา เว็บไซด์ สรส. http://www.thaiserc.com/ ) ที่ต้องการปฏิรูปประเทศที่ให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพมีส่วนร่วมตามสัดส่วน  พร้อมกับยอมรับเรื่องระบบสรรหาส.ว.ตามคำตัดสินของศาลร.ธ.น. (เครื่องมือรับใช้ผู้ก่อการรัฐประหาร 49)  การเคลื่อนไหวของแรงงานกลุ่มนี้ วนเวียนอยู่กับฐานคิดจุดยืนเดิม มุ่งเอาชนะทุนทักษิณอย่างเดียวโดยไม่สนใจกติกาประชาธิปไตย
 

กรอบคิดของฝ่ายขวากำลังโกหกคำโตว่าจะสามารถปฏิรูปประเทศไทยได้ เพราะ

1.สภาประชาชนข้อเสนอของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เจตนากีดกันคนเสื้อแดงรากหญ้าออกไป และลดทอนระบบการเลือกตั้งระดับชาติ โดยอ้างระบบรัฐสภาเผด็จการเสียงข้างมาก แล้วให้คนดีที่เคยสนับสนุนเผด็จการรัฐประหารมาปกครองแทน  ซึ่งเท่ากับกำลังบั่นทอนระบอบประชาธิปไตยที่ให้อำนาจแก่ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

2.ประชาชนรากหญ้าจะเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายของประเทศ ควบคุมตรวจสอบการทำงานของรัฐ ตัวแทนของตนได้อย่างไร หากไม่มีอำนาจอยู่ในมือ เช่น อำนาจศาล ตุลาการที่ยังไม่สามารถเลือกตั้ง ตรวจสอบ ถอดถอนได้ แล้วจะเรียกได้อย่างไรว่า อำนาจตุลาการคืออำนาจอธิปไตยอำนาจหนึ่งของประชาชน ตามที่พร่ำสอนกันในสถาบันการศึกษา  องค์กรอิสระ องค์กรสิทธิมนุษยชน ส.ว. ที่มาจากการสรรหาที่ผ่านมาก็ล้วนเลือกปฏิบัติกับคนเสื้อแดง ไม่คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน ฉะนั้น จึงหาหลักประกันอะไรไม่ได้ที่ คนยากจน ผู้ใช้แรงงานจะได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้เสมอหน้ากับผู้มีอำนาจรัฐ และกลุ่มทุนทุกกลุ่มได้

3.การส่งเสริมสิทธิในการชุมนุม รวมตัว เพิ่มอำนาจในการเจรจาต่อรองของแรงงาน คนยากจนไม่สามารถเข้าถึงได้จริงภายใต้รัฐเผด็จการอำนาจนิยม หรือการนำของพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด ที่คอยเป่าหูสาธารณชนอยู่ตลอดเกี่ยวกับเผด็จการรัฐสภา แต่ตัวเองเอาชนะใจประชาชนไม่ได้ แข่งขันไม่ได้   ก็ฉวยโอกาสขึ้นสู่อำนาจด้วยการเข้าข้างเผด็จการทหารและมือเปื้อน เลือด  ทั้งไม่มีข้อเสนอปรับปรุงระบบเลือกตั้งให้โปร่งใส ขจัดปัญหาคอรัปชั่น และส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองสู่ประชาชนในท้องถิ่น  ฉะนั้นการพูดถึงปัญหาคอรัปชั่นที่ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบอย่างเท่าเทียมกันจึงเป็นเรื่องโกหก

4.ประวัติศาสตร์การเมืองในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย และในอดีตของไทย แรงงาน คนยากจนต่อต้านเผด็จการทหาร ที่คอรัปชั่นอำนาจและผลประโยชน์ของประชาชน  เพราะวัฒนธรรมทหารนิยมที่โน้มเอียงใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบไม่สามารถแก้ไข ปัญหาวิกฤตใดๆ ได้

5.การอวดอ้างความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อให้ถูกมองว่าเป็นคนดี เอาเข้าจริงลัทธิชาตินิยมมีผลประโยชน์เดียวกันกับประชาชนหรือไม่  ความมั่งคั่งของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาจากอะไร ศาสนาสอนให้เรามีสิทธิเสรีภาพได้จริงหรือ ชาติที่ว่าหากเป็นของประชาชนแล้ว ทำไมยังยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ทหาร ศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้ แล้วจะสร้างวัฒนธรรมการตรวจสอบ การปกครองตนเองของประชาชนได้อย่างไร

6.การทำลายเสรีภาพในการถกเถียงความคิดทางการเมืองที่ก้าวหน้า ไม่อนุญาตให้ประชาชนมีอำนาจที่สมบูรณ์ โดยการใช้กฎหมายเผด็จการปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชน  ฉะนั้นหากจะสู้เรื่องประเด็นสิทธิและความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงาน ต้องยอมรับกรอบชาตินิยม มาปิดปากตัวเองไม่ให้วิจารณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์กับทหารอย่างนั้นหรือ  ยอมตกเป็นทาสระบอบคนดีที่วิจารณ์ไม่ได้ใช่หรือไม่ ถ้าเช่นนั้น เมื่อไรมวลชนจะมีความคิดก้าวหน้า แข่งขันการเมืองของพวกชนชั้นปกครอง และเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นประชาธิปไตย

ดังนั้น การเมืองของฝ่ายขวา ที่จ้องขจัดระบอบทักษิณให้สิ้นซากก็ได้เข้าทำลายระบบประชาธิปไตยไปพร้อมๆ กัน และนิยมการใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหาการเมือง ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศจะไม่ได้ประโยชน์จากการเมืองของพวกล้าหลังนี้
 

ทางออก : ไปให้ไกลกว่ากรอบคิดเสรีนิยมและประชานิยม

เนื่องจากผู้เขียนไม่ได้คาดหวังอะไรจากพรรคเพื่อไทย แต่คาดหวังให้ขบวนการเสื้อแดงเอาชนะฝ่ายเผด็จการอำมาตย์ และเอาชนะใจมวลชนมากขึ้น  ฉะนั้น จึงควรแก้ไขข้อผิดพลาดข้างต้น ไม่ให้ถูกฝ่ายตรงข้ามฉุดกระชากการเมืองไทยให้ถอยหลัง ต้องปล่อยนักโทษการเมือง ยกเลิก 112 เดินหน้าสู่การสร้างรัฐสวัสดิการ ไปให้ไกลกว่ากรอบคิดเสรีนิยมและประชานิยม

ทั้งนี้ นโยบายประชานิยมของรัฐบาลเริ่มส่อแววถึงทางตัน ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน ไม่สามารถกระจายปัจจัย ทรัพยากร ความมั่งคั่งอย่างยุติธรรม ไม่ช่วยลดปัญหาการคอรัปชั่น  และแนวเสรีนิยม (มือใครยาวสาวได้สาวเอา) ที่ปัญญาชนและนักการเมืองกระแสหลักเชียร์อยู่ไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยให้ ประชาชนมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ

แน่นอน รัฐต้องมีหน้าที่ดูแลประชาชน คนยากจน ผู้ใช้แรงงาน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี แต่จากการอ่านบทวิเคราะห์เรื่องนโยบายประชานิยม และติดตามบางโครงการ เช่น โครงการรับจำนำข้าว เงินเดือนป.ตรี 15,000 ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 มองว่า ประเด็นปัญหาหลักคือ ประชาชนยังยากจนอยู่ รายได้และสวัสดิการต่ำ คุณภาพชีวิตไม่ดีขึ้น ทำงานหนักแต่ไม่มีหลักประกัน ตกงานง่าย เพราะรัฐไม่มีรายได้พอที่จะดูแลประชาชน ทั้งๆ ที่เงินมีเยอะ และประเทศไทยไม่ใช่ประเทศยากจน

ปัญหาโครงการรับจำนำข้าวล่าสุด ที่ชาวนายังไม่ได้รับเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งผู้เขียนมองว่า ไม่ใช่ปัญหาการขาดทุนสองแสนล้านบาท อย่างที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ยกมาเป็นข้อวิจารณ์หลัก เพราะสนใจแต่เรื่องปัญหาวินัยการคลัง การแทรกแซงกลไกตลาดราคาข้าว เกิดปัญหาระบายข้าวในราคาที่ต่ำและทำให้รัฐขาดทุน  (นิพนธ์  พัวพงศกร. 27 มิ.ย. 56 ปัญหาจากการล่มสลายของโครงการรับจำนำข้าว. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.  )   ผู้เขียนกลับมองว่า จะทำอย่างไรให้การช่วยเหลืออุดหนุนของรัฐมีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือชาวนายากจนมากกว่านี้   ซึ่งองค์กรเลี้ยวซ้ายได้มีข้อเสนอแก้ปัญหาผู้ผลิตให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และแก้ปัญหาผู้บริโภคให้สามารถซื้อข้าวในราคาถูก  ด้วยการให้รัฐรับซื้อข้าวราคาแพงจากชาวนา และขายข้าวราคาถูกให้แก่ผู้บริโภค ในส่วนต่างนั้นรัฐก็นำเงินภาษีที่เก็บในอัตราก้าวหน้าจากคนรวยมากๆ  โดยเฉพาะพวกโรงสี พ่อค้าส่งออกข้าว ในอัตราสูงพิเศษมาอุดหนุน หรือไปลดงบประมาณอื่นๆ ที่สิ้นเปลือง เช่นงบประมาณทหาร และงบพิธีกรรมต่างๆ (อ่านเพิ่มเติมใน วัฒนะ วรรณ. 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556. ลดเงินจำนำข้าว ความอัปลักษณ์ของพวกคลั่งกลไกตลาด. เว็บไซด์องค์กรเลี้ยวซ้าย )


การเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า บทพิสูจน์ความรักต่อประชาชน

ขบวนการคนเสื้อแดงจะต้องพิสูจน์ว่าผู้นำของตัวเองรักประชาชนจริงหรือไม่  แรงงานก็ต้องพิสูจน์เช่นกันว่า ผู้นำแรงงานมีวิสัยทัศน์และความจริงใจในการสร้างผลประโยชน์ทางชนชั้นและ ประชาธิปไตยของแรงงานหรือไม่  เพราะการเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้าจะต้องไม่มีข้อยกเว้นให้กลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง เช่นเดียวกันกับระบบในอังกฤษ  และเพิ่มอัตราการเก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดาและรายได้นิติบุคคลจากคนรวยมากๆ  เพราะคนรวยจำนวน 20% ของประชากรทั้งหมดในประเทศมีรายได้เท่ากับ 50%-60% ของจีดีพี มีบัญชีเงินฝากธนาคาร ถือครองที่ดินจำนวนมาก ซื้อขายที่ดินเก็งกำไร เล่นหุ้น  ระดับผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นบริษัทมีรายได้มากกว่าพนักงาน 60-100 เท่า  แต่การจัดเก็บรายได้โดยภาพรวมของไทยอยู่ในระดับต่ำ อยู่ที่ร้อยละ19 ต่อ GDP ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกลุ่มอาเซี่ยน  และค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว   ฉะนั้นหากเพิ่มฐานการเก็บภาษีทรัพย์สินจากคนรวยจำนวนสามแสนกว่าคน จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่ำร้อยละ 22 ของจีดีพี

แต่รัฐบาลกลับผลักดันนโยบายลดอัตราภาษีรายได้บุคคลธรรมดาเพื่อนำเงินไปใช้บริโภคมาก ขึ้น หลังจากที่ลดภาษีรายได้นิติบุคคลให้บริษัทเพื่อจูงใจนักลงทุน  โดยหวังว่าเมื่อคนมีรายได้มากขึ้น ก็ใช้จ่ายมากขึ้น และหวังว่าการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะช่วยดึงดูดผู้มีรายได้ให้เข้า สู่ระบบฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามากขึ้น (ปัจจุบันมีผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในระบบประมาณ 2 ล้านคนเท่านั้น) ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพื่อใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศได้มาก ขึ้น (เว็บไซด์ อาร์วายทีไนน์. รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556, http://www.ryt9.com/s/mof/1781630 )   แต่รัฐบาลไม่มีนโยบายเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ใช้แรงงานให้เพียงพอต่อการค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างมาก และเพิ่มหลักประกันความมั่นคงตั้งแต่เกิดจนตาย  เช่น จัดสวัสดิการเรียนฟรี รักษาพยาบาลฟรี เงินบำนาญให้แก่ประชาชนอย่างถ้วนหน้า  ซึ่งเท่ากับว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะตกเป็นภาระของปัจเจก /ครอบครัวแบบตัวใครตัวมัน   เมื่อรัฐบาลไม่ได้รักไม่ได้จริงใจต่อประชาชน ฉะนั้นจึงเป็นภารกิจเร่งด่วนของคนเสื้อแดง ผู้รักประชาธิปไตยที่จะทวงคืนความยุติธรรม สร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นด้วยการกดดันรัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องที่สร้างประชาธิปไตย ตามกรอบที่เสนอมา

 

 

 

หมายเหตุผู้เขียน: *บทความนี้ปรับปรุงจากบทความเรื่อง"มองการเมือง (ถอยหลัง)ของชนชั้นนำผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม ตอนที่2" จากเว็บไซต์องค์กรเลี้ยวซ้าย  )

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net