Skip to main content
sharethis

สมชาย ปรีชาศิลปกุล รองศาสตราจารย์ จากคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นนักกิจกรรมทางวิชาการในนามกลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เขาเป็นนักวิชาการคนแรกๆ ทีพูดเรื่อง Civil disobedience ที่ต่อมามีการแปลเป็นไทยว่าอารยะขัดขืน และเขาเคยเสนอเล่นๆ ครั้งหนึ่งหลังฝุ่นควันรัฐประหารจางและมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งว่า สำหรับนักวิชาการที่เคยแสดงความเห็นผิดพลาดไปในทางหลักการ ตอนนี้อาจจะหันหน้ามายอมรับผิดและนิรโทษกรรมให้กันและกันเสีย เพื่อร่วมกันเดินหน้าต่อไปและรักษาหลักการประชาธิปไตยเอาไว้

แต่เมื่อสถานการณ์ที่จะหันหน้ามาคุยกันด้วยเหตุด้วยผล ด้วยหลักวิชาดูจะยิ่งห่างไกลออกไป และวันนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นอย่างยิ่ง ประชาไทได้พูดคุยกับเขาถึงมุมมองต่อประเด็นหลักนิติรัฐ นิติธรรมที่ต่างก็ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการชุมนุม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นอารยะขัดขืนที่ถูกนำมาอธิบายการเคลื่อนไหวทางการเมืองของทุกฝ่าย ซึ่งเขาเห็นว่าเลยความหมายไปไกลมากแล้ว ข้อเสนอของเขาขณะนี้คือ ยังไม่ต้องพูดอะไรอื่นไกล แค่มองให้เห็นความเป็นคนของคนที่เห็นต่างคิดต่างให้ได้ก่อน บ้านเมืองก็อาจจะคลี่คลายความร้อนระอุลงไปได้ และสารที่สำคัญที่เขาอยากจะสื่อกับผู้ชุมนุมที่ไม่ใช่แกนนำก็คือ ตั้งสติ อย่าเดินตามแกนนำจนละเลยที่จะตั้งคำถาม
 

ประชาไท: คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ถูกนำมาใช้ลดความชอบธรรมของรัฐบาล คุณสุเทพบอกว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่โมฆะไปแล้วเพราะไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาล โดยใช้ตรรกะว่าการไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็เท่ากับไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ รัฐบาลที่ไม่ยอมรับกฎหมายสูงสุดของประเทศก็เป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม อาจารย์มองว่าตรรกะอันนี้ใช้ได้หรือไม่

สมชาย:  ผมคิดว่าตรรกะอันนี้จะเป็นการตัดเอาบางส่วนมา ผมคิดว่าเวลาที่จะพิจารณาปัญหาเรื่องนี้คงต้องคิดถึงที่มันยาวขึ้น อย่างเช่น การที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาใช้อำนาจ ซึ่งมีปัญหามากพอสมควร การที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาแตะในประเด็นเรื่องอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายนิติบัญญัติ ในแง่นี้คือ สามารถถูกตั้งคำถามได้ว่า เอาเข้าจริงศาลรัฐธรรมนูญ ขอบเขตของศาลรัฐธรรมนูญในการทำหน้าที่เรื่องนี้ มีมากน้อยขนาดไหน

ผมคิดว่าเรื่องนี้ถ้าเรามองแล้วตัดเป็นส่วนๆ จะเกิดภาวะที่เราหยิบเอาบางประเด็นมาอ้างเพื่อให้เกิดประโยชน์กับบางฝ่าย เพราะฉะนั้นกรณีนี้ ในแง่หนึ่งต้องมองให้เห็นโครงใหญ่ๆ ทั้งหมดด้วยว่ามีปัญหายังไง

ในทัศนะของผม รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่พยายามจะตรึงอำนาจ พูดง่ายๆ ทำให้อำนาจการเมืองของฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งต้องอยู่ภายใต้กำกับของฝ่ายที่เรียกว่าอนุรักษ์นิยม ดังนั้นเราจะเห็นบทบาทหน้าที่ของฝ่ายที่ไม่สู้จะสัมพันธ์กับประชาชนเท่าไหร่ เช่น ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. บทบาทองค์กรพวกนี้เห็นได้ชัดว่าพยายามที่จะตรึงให้การเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยมยังมีอำนาจเหนืออยู่ ขณะที่เราเห็นแบบนี้สิ่งที่มองก็คือว่า ความพยายามของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง  หรือพูดอีกแบบ คือพยายามที่จะรุกให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแต่ละจุดๆ โดยที่มีองค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่ปกป้องพรมแดนอำนาจของอนุรักษ์นิยมเอาไว้

เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ในแง่หนึ่งที่เราจะมอง คงต้องมองการทำหน้าที่ของรัฐธรรมนูญ 2540 หรือปฏิบัติการของรัฐธรรมนูญ 2540 ให้กว้างขวางขึ้นจะทำให้เราเห็นเรื่องนี้ได้ชัดเจนขึ้น

ประชาไท: แต่ข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อไม่ฟังกฎหมาย ความขัดแย้งก็จะไม่จบ เพราะฉะนั้นศาลจึงเป็นองค์กรที่เป็นที่พึ่งหวัง ถ้าศาลชี้ไปทางใดแล้วก็น่าจะรับ

สมชาย: ในแต่ละสังคมควรมีสถาบันที่ยุติความขัดแย้ง แต่ถ้าเราสังเกตสังคมไทยในช่วงหลังปี 2549 สถาบันหรือกระบวนการยุติธรรมมีปัญหามาก เพราะในแง่หนึ่งคำวินิจฉัยขององค์กรที่เป็นผลผลิตของรัฐธรรมนูญ 2550 เราจะพบว่ามีปัญหาอย่างกว้างขวาง

เพราะฉะนั้น ในแง่นี้การบอกให้ยอมรับอำนาจศาล หรือการบอกว่าเมื่อศาลตัดสินแล้วต้องยุติ ผมคิดว่าในแง่หนึ่งมีผลผูกพันที่ต้องปฏิบัติตาม การบอกว่าไม่ยอมรับถ้ามองให้กว้างก็พูดได้ว่าคือ การไม่ยอมรับความชอบธรรม ซึ่งถ้าเป็นเรื่องแบบนี้ผมคิดว่าทุกคนก็พูดได้ แต่ถ้าเมือไหร่ที่เราลุกขึ้นพูดว่าไม่ยอมรับแล้วพากันพยายามจะล้มศาล โดยไม่อาศัยกระบวนการทางกฎหมาย ผมคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ไม่ชอบแน่ๆ

ผมคิดสิ่งที่พรรคเพื่อไทยทำ คือไม่ยอมรับ น่าจะนัยของมันคือการไม่ยอมรับความชอบธรรมของคำพิพากษาที่เกิดขึ้น แล้วถามว่ามีกระบวนการอะไรที่จะล้มศาลโดยกระบวนการนอกกฎหมาย ก็ไม่เห็น ผมคิดว่าความพยายามต่างๆ ที่เกิดขึ้น คือก็แก้ไขไปตามอำนาจที่มีตามรัฐธรรมนูญกำหนด

เพราะฉะนั้น การพยายามหยิบบางส่วนหรือบางถ้อยคำมาอธิบาย ผมคิดว่าอันนี้น่าจะมีปัญหาอยู่พอสมควร

ประชาไท: ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญภายใต้วิกฤตการเมืองไทยที่ผ่านมา หลายครั้งคำพิพากษาที่ออกก็จะมีข้อโต้แย้ง อาจารย์คิดว่าองค์กรศาลรัฐธรรมนูญถึงวิกฤตที่ต้องมาทบทวนกันหรือเปล่า

สมชาย: ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะเลยวิกฤตไปแล้วนะครับ เราจะพบว่าหลายๆ เรื่องศาลรัฐธรรมนูญตัดสินด้วยคำตัดสินที่ไม่มีตรรกะที่เป็นที่รองรับมากพอสมควร เราจะพบเหตุผลที่ไม่ได้ยึดโยงอยู่บนตรรกะทางกฎหมาย ตั้งแต่กรณีของคุณสมัคร การให้คุณสมัครพ้นไปจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยการอ้างว่าเป็นลูกจ้าง ผมคิดว่าอันนี้ในหลักการทางกฎหมายมันใช้ไม่ได้แน่ๆ นักกฎหมายที่เรียนกฎหมายแรงงานรู้ว่ากรณีคุณสมัครไม่ใช่ลูกจ้าง

เราพบคำตัดสินหลายๆ ครั้งที่เห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลเพียงพอ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ทำไมในระยะหลายๆ ปีที่ผ่านมา คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ถามว่าศาลรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีไหม ผมคิดว่าจำเป็น แต่ทั้งนี้คงต้องอย่างน้อยมีรกระบวนการคัดสรรที่ยึดโย
หรือสัมพันธ์กับประชาชนอยู่ด้วย หรือแม้กระทั่งการตรวจสอบการทำหน้าที่ของศาล คือศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่องค์กรที่อิสระที่คิดจะตัดสินอย่างไรก็ได้ ต้องมีกระบวนการกำกับตรวจสอบ เพื่อยืนยันว่าศาลทำหน้าที่ไปโดยยืนอยู่บนหลักวิชามากกว่าการเข้าข้างทางการเมือง

ถาม: ขณะเดียวกันก็มีความเห็นจากฝั่งที่เข้าอกเข้าใจศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นหน้าที่เป็นศาลทางการเมือง เมื่อเกิดวิกฤตศาลก็ทำหน้าที่พยายามที่จะหาทางออก ประนีประนอมมากที่สุด

สมชาย: ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีหน้าที่ในแง่ของทำหน้าที่ให้เกิดการประนีประนอมทางการเมือง ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะทำหน้าที่วินิจฉัยปัญหาข้อขัดแย้งที่วางอยู่บนหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่โดยวางคำวินิจฉัยตามหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญตรงไปตรงมา จะทำให้ข้อขัดแย้งในหลายๆ กรณียุติลง

แต่ผมคิดว่าการพยายามจะทำหน้าที่ผู้ประนีประนอม แต่บนการวินิจฉัยที่ไม่มีเหตุผล ผมคิดว่ากรณีมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ ถ้าตรงไปตรงมา ก่อนหน้านี้นักวิชาการก็ยอมรับว่ายังไงก็ตามศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถรับเรื่องได้โดยตรงตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ก็ถูกวินิจฉัยจนกระทั่งรับได้

ทั้งหมดนี้ จึงทำให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง อย่างน้อยถ้ามีเหตุผลที่ยอมรับกันได้ ผมคิดว่ามันจะให้ความขัดแย้งเบาลงพอสมควร แต่ผลปรากฏว่ายิ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีมากเท่าไหร่ ยิ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น ก็สะท้อนให้เห็นว่าคุณภาพในตัวของคำวินิจฉัยมีอยู่มากน้อยเพียงใด

ถาม: ตอนนี้ทั้งสองฝั่งการเมืองและมวลชนเองก็อ้างเรื่องการยอมรับในกฎหมาย การเรียกหานิติรัฐ นิติธรรมบ่อยๆ แต่ทำไมเข้าใจไม่ตรงกัน

สมชาย: ทั้งสองฝ่ายพยายามช่วงชิง แล้วก็ตีความหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรมไปตามจุดยืนและทัศนะอุดมการณ์ของตัวเอง ถ้าเป็นฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลก็พยายามตีความหลักนิติรัฐ นิติธรรม ให้หมายถึงการเคารพคำพิพากษาของศาล ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายเสื้อแดงพยายามตีความนิติรัฐนิติธรรมหมายถึง อำนาจสูงสุดของรัฐสภาในการปรับแก้รัฐธรรมนูญ หรืออำนาจสูงสุดของประชาชน อำนาจสูงสุดของนักการเมืองที่มาจากเลือกตั้งจะต้องเป็นหลัก ซึ่งทั้งสองส่วนนี้เป็นส่วนประกอบซึ่งกันและกัน

ผมคิดว่า ความขัดแย้งทางการเมือง ต่างฝ่ายต่างดึงเอาบางส่วนมาเป็นฐานในการสนับสนุนความชอบธรรมของตัวเอง เพราะฉะนั้นมันถึงเกิดสภาพการณ์ที่ทั้งคู่ก็พูดถึงนิติรัฐ นิติธรรม แต่ปรากฏว่าเป็นการพูดกันคนละส่วนหรือคนละด้าน อันนี้ผมคิดว่ามันเป็นภาวะที่จะนำมาซึ่งความขัดแย้งแน่ๆ

ถาม: ภาวะที่เกิดขึ้นตอนนี้กับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอยู่นี้ความหมายของ civil disobedience ไหม

สมชาย: ถ้าในระยะเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวที่นำโดยคุณสุเทพ จนกระทั่งอย่างน้อยจนกระทั่งวันที่ 24 พฤศจิกายนซึ่งมีการชุมนุมใหญ่ ผมคิดว่าแนวโน้มหลักของการชุมนุมยังเป็นไปในทางที่เรียกว่าสันติวิธี และจะเรียกว่าเป็น civil disobedience ก็ได้

แต่หลังจากวันนั้นมา ผมคิดว่ามีความคลุมเครือเกิดขึ้นและดูเหมือนว่ามีแนวที่จะไม่ใช่ civil disobedience อย่างน้อยใจกลางหลักๆ ของ civil disobedience เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อปรับแก้กฎหมายหรือนโยบายบางอย่าง โดยที่ยังเคารพระบบกฎหมายหรือการปกครองโดยรวมอยู่

บัดนี้ เราเห็นได้ชัดว่าคุณสุเทพกำลังพูดถึงระบอบการปกครองใหม่ จะเป็นอะไรก็ว่ากันอีกเรื่อง แต่อันนี้หมายความว่า พอเป็นแบบนี้ สิ่งที่เรียกว่า civil disobedience มันเป็นการเคลื่อนไหวที่ยังยอมรับความชอบธรรมว่า ระบอบการปกครองเป็นพื้นฐานอยู่แต่อาจจะมีนโยบายหรือกฎหมายบางอย่างที่ไม่ได้เรื่อง ต้องถูกปรับแก้ การเคลื่อนไหวแบบ civil disobedience จึงยอมรับโครงสร้างใหญ่ๆ

ผมเข้าใจว่าข้อเสนอต่างๆ ของคุณสุเทพ ไม่ว่าหลัก 6 ประการที่คุณสุเทพประกาศ ผมคิดว่านำไปสู่การปรับโครงสร้างการปกครองใหม่เลย อันนี้ถ้าถามถึงใจกลางของ civil disobedience ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้มันน่าจะก้าวข้าม civil disobedience ไปแล้ว

ถาม: ตอนนี้ต่างคนต่างตีความความหมายของกฎหมาย ศาล ไปคนละทิศละทาง มันเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตวาทกรรมเพื่อให้เกิดความขัดแย้ง เราจะก้าวข้ามวาทกรรมที่แตกต่างหลากหลายอันนี้ยังไง

สมชาย: ผมมีความเห็นว่า การที่ความขัดแย้งครั้งนี้เกิดขึ้น เราน่าจะให้บทเรียนกับคนที่เป็นแกนนำทั้งสองฝ่ายได้ ผมคิดว่าอย่างน้อย แกนนำในพรรคเพื่อไทยที่พยายามผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ทางพรรคเพื่อไทยกล้าผลัก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยเดินหน้าไป เพราะมองข้ามหัวเสื้อแดง และรวมถึงการมองข้ามหัวคนในสังคมไทยว่าจะไม่ลุกขึ้นมาต่อต้าน

ผมคิดว่าสิ่งที่เสื้อแดงควรทำ คือการให้บทเรียนกับพรรคเพื่อไทยและรวมถึงขบวนการเสื้อแดง มวลชนควรพยายามถอยห่างออกมา การพิทักษ์พรรคเพื่อไทยตอนนี้กับการพิทักษ์ประชาธิปไตยเป็นคนละเรื่องกัน ในขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวที่ตอนนี้กำลังเลยจุดที่ผมคิดว่าเพื่อปรับแก้หรือสร้างพลังอำนาจทางสังคมของฝ่ายต่อต้าน กำลังก้าวไปจุดที่มันเลยเถิดไปมากแล้ว

การเคลื่อนไหวของแกนนำ ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม ที่มันเลยเถิดไปได้หรือบ้าระห่ำไปได้ เป็นเพราะว่ายังมีมวลชนสนับสนุนอยู่ ข้อเรียกร้องผมคิดว่ามวลชนแต่ละฝ่ายต้องคิดให้มากขึ้น ต้องตั้งสติให้มากขึ้น อันนี้สำคัญ ผมคิดว่ามวลชนเสื้อแดงก็ต้องตระหนักว่าอย่าเดินตามแกนนำอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง ผมคิดว่าการถูกพรรคเพื่อไทยถีบหัวส่งเมื่อ 3-4 อาทิตย์ก่อนในกฎหมายนิรโทษกรรมคงต้องเป็นบทเรียน

ในขณะเดียวกัน สำหรับคนที่เป็นมวลชนนกหวีดก็ต้องตระหนักว่า ข้อเรียกร้องของคุณสุเทพกำลังเดินไปสู่จุดที่เปิดกว้างมากจนไม่รู้ว่าเป็นอะไร เช่น พูดถึงสภาประชาชน รัฐบาลประชาชน ผมคิดว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่มีฐานความชอบธรรมใดๆ รองรับ จะสร้างสภาประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ได้ยังไงก็ไม่ชัดเจน และดูเหมือนว่ายิ่งเดินหน้ายิ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะให้เกิดความรุนแรงหรือข้อขัดแย้งเกิดขึ้น

ผมคิดว่า มวลชนทั้งสองฝ่ายต้องตั้งสติให้ดี ถ้าจอเรียกร้องหรือประเด็นที่แกนนำเรียกร้องมันเลยเถิดมากเกินไปมวลชนต้องตั้งสติและถอยห่างออกมา ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่มวลชนทั้งสองฝ่ายต้องคิดให้มาก ต้องตระหนักให้มาก อย่าเพียงแต่ฟังแล้วเคลื่อนไหวไปตามการชี้นำของแกนนำแต่ละฝ่าย อันนี้อันตรายมาก

ถาม: มีนักกฎหมายขึ้นเวทีให้คำอธิบายสร้างวาทกรรมกับมวลชนไปบ้างแล้ว อาจารย์คิดว่าบทบาทของนักวิชาการกฎหมายตอนนี้ควรจะเป็นยังไง

สมชาย: สิ่งที่นักวิชาการด้านกฎหมายอันแรก คือควรต้องยึดกับหลักการให้มั่นคง ผมคิดว่าจุดยืนทางการเมืองแต่ละคนต่างก็ได้ แต่กับหลักการทางกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย หลักการในเรื่องระบอบรัฐสภา ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่แต่ละคนควรยึดให้มั่น เราอาจจะมีจุดยืน ระบบรัฐสภามันอาจจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรได้ตามใจเราในชั่วข้ามคืน

ระบอบประชาธิปไตยก็คือเราต้องทนอยู่กับคนที่เราไม่ชอบ สมมติตอนนี้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไม่ชอบขี้หน้ารัฐบาล สิ่งที่ควรทำคือ ขายาความคิดของตัวเองให้กว้างขวาง ซึ่งรัฐบาลชุดนี้มีผลงานให้วิจารณ์ได้มากมายกว้างขวางเต็มไปหมด ก็พยายามเผยแพร่ความคิดออกไปให้กว้างขวาง ถ้าคิดว่านโยบายจำนำข้าวไม่ดี โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นปัญหาก็ขยายความคิดออกไป แล้วทำให้ตัวเองได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง เลือกตั้งครั้งหน้าก็พยายามทำอย่างนี้

ผมคิดว่าระบบรัฐสภาหรือระบอบประชาธิปไตย ข้อดีคือ เสียงข้างน้อยเปลี่ยนเป็นเสียงข้างมากได้ แต่เราควรจะเปลี่ยนมันด้วยเหตุผล ไม่ควรเปลี่ยนมันด้วยกำลัง ด้วยการใช้อำนาจนอกระบบ ผมคิดว่าสิ่งที่นักกฎหมายตอนนี้ควรทำคือ ยืนอยู่ในหลักการให้มั่นคง คนที่เราไม่ชอบหน้าจะเป็นรัฐบาลก็ได้ แต่ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า เราก็รณรงค์ไป วันหนึ่งเราอาจจะกลายเป็นเสียงข้างมากขึ้นมาก็ได้ ในหลายๆ ประเทศก็เป็นแบบนี้ อเมริกาบางช่วงก็เป็นเดโมแครต บางช่วงก็เป็นรีพับลิกัน พอตกเป็นฝ่ายที่รัฐบาลก็รณรงค์และชี้แจงให้เห็นว่าเราดีกว่าอย่างไร มีเหตุผลกว่าอย่างไร

ถาม: หลังรัฐประหาร 2549 อาจารย์เคยเสนอว่าประเทศไทยเล็กเท่านี้ นักวิชาการก็มีเท่านี้ ใครที่เคยไปสนับสนุนรัฐประหารให้แสดงตัวออกมา แล้วนิรโทษกรรมกันจะได้เดินเข้าสู่หลักการแล้วเดินไปข้างหน้ากันใหม่ ถึงจุดนี้อาจารย์ยังมีข้อเสนอทำนองนี้ไหมสำหรับนักวิชาการที่นำเสนอประเด็นหรือหลักการที่ผิดเพี้ยนไปจากประชาธิปไตย

สมชาย: ถ้าพูดในช่วงเวลานี้คงยาก ผมคิดว่าหลายๆ ท่านตอนนี้อุดมการณ์คงล้นทะลักจนบางทีอาจทำให้หลักวิชาที่เคยยึดเป็นหลัก มันคลอนแคลนไป

สิ่งที่ผมอยากเสนอ คือ ตอนนี้ดูเหมือนเราพยายามมองหาความต่างกันระหว่างแต่ละฝ่าย ฝ่ายที่สนับสนุนกับฝ่ายรัฐบาลพยายามมองหาจุดต่าง ผมคิดว่านอกจากการมองหาจุดต่างซึ่งสร้างความเกลียดชังให้เกิดเพิ่มมากขึ้น ในอีกแง่หนึ่งเราพยายามมองหาความเหมือนกันของทั้งสองกลุ่ม หรือกลุ่มอื่นๆ ด้วยก็ได้ เราก็เป็นคนเหมือนกัน เรามีญาติพี่น้องที่เป็นคนรักเหมือนกัน เราก็เป็นคนที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าตอนนี้พื้นฐานสุดคือ มองอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นคนซึ่งอาจจะคิดไม่เหมือนกับเราให้เป็นคน ยังไงเขาก็เป็นคน เขาอาจจะคิดไม่เหมือนเราก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ในสังคมประชาธิปไตยก็มีคนที่คิดไม่เหมือนเราเต็มไปหมด แต่อย่าทำให้อีกฝ่ายหนึ่งกลายเป็นสิ่งที่ไม่ใช่คน

ตอนนี้ที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ การเริ่มมีการปะทะกันของแต่ละฝ่ายเกิดขึ้นในจุดต่างๆ ผมอยากจะเตือนว่า หลังเหตุการณ์พฤษภาปี 2535 มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับคนเจ็บคนตาย สิ่งที่ผมพบเป็นส่วนใหญ่หลังปี 35 คือ คนที่บาดเจ็บ ล้มตาย คนที่สูญเสียคนรักไป ส่วนใหญ่ก็คือคนธรรมดาๆ สามัญชนอย่างพวกเรานี่แหละ ไม่มีแกนนำคนไหนบาดเจ็บล้มตาย

ถ้าใครคิดว่าอยากเปลี่ยนแปลงประเทศ อยากจะทำให้สังคมดีขึ้นก็ทำ แต่ไม่มีสังคมไหนเปลี่ยนในชั่วข้ามคืน เรามีเวลาอีกเยอะที่จะค่อยๆ ปฏิรูปทุกๆ อย่างให้ดีขึ้น สังคมไทยมีวีรชนและผู้เจ็บปวดมามากพอแล้ว ไม่จำเป็นที่เราจะต้องไปเป็นวีรชนและถูกทอดทิ้งให้เพิ่มขึ้น เรามองกันให้เป็นคน อันไหนที่เราต้องแก้ก็ค่อยๆ แก้ เรามีเวลาอีกเยอะ ค่อยๆ ปรับแก้ สังคมไทยคงไม่ได้พังทลายไปในชั่วข้ามคืนนี้ถ้ารัฐบาลยังไม่ได้ออกไป
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net