Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปัญหาผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยซึ่งได้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมไทยในขณะนี้ จนกระทั่งเหตุการณ์ลุกลามบานปลาย  เนื่องจากประเทศไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองอยู่ก่อนแล้ว คู่ขัดแย้งได้ฉวยเอาคำวินิจฉัยดังกล่าวไปใช้ประโยชน์สำหรับฝ่ายตน พร้อมกับคำวินิจ ฉัยนั้นเองได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชนและนักวิชาการอย่างมาก

การถูกวิพากษ์วิจารณ์ของศาลรัฐธรรมนูญของไทยกรณีคำวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ สมาชิกวุฒิสภา(สว.)มาจากการเลือกตั้งเป็นอันตกไป แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ ประเด็นหนึ่ง คือ การวิจารณ์เหตุผลของคำวินิจฉัยของศาล ประเด็นที่สองคือ การวิจารณ์ที่โยงจากส่วนแรก, ที่มาของตุลาการศาล รัฐธรรมนูญ และประเด็นที่สาม คือ ขอบเขตการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

ในส่วนของประเด็นแรกนั้นข้อวิจารณ์มุ่งไปที่ความสมเหตุสมผลของคำวินิจฉัย ซึ่งคำวินัยของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องยึดโยงกับข้อกฎหมายในรัฐธรรมนูญ โดยระเบียบวิธีการตัดสินของศาลยุติธรรมโดย ปกติทั่วไป ประเด็นที่สองซึ่งเป็นการวิจารณ์ที่ว่าด้วยที่มาของศาลรัฐธรรมนูญและที่มาของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนเหมือนในอารยะประเทศ  ส่วนประเด็นที่สาม ขอบเขตการใช้อำนาจในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งวิจารณ์กันว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ขยายอาณา เขตการตัดสินเกินไปจากอำนาจของตัวเอง ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการวินิจฉัยกรณีบทบัญญัติ กฎหมายที่ออกมาใหม่ขัดแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น คำวินิจฉัยครั้งนี้จึงเป็นการขยาย อำนาจในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกไปจากอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่

ผลของการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวทำให้เสียงส่วนใหญ่ของสถาบันนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎรปฏิเสธไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จนกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองใน ประเทศไทยอยู่ในเวลานี้

ผมอยากให้พิจารณาเปรียบเทียบถึงบทบาทหน้าที่และการถ่วงดุลอำนาจ ของอำนาจตุลาการกับอีก 2 อำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหารของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นประเทศแม่แบบประชาธิปไตยประเทศหนึ่งในโลก บนหลักการพื้นฐานของประเทศที่ปกครองโดย ระบอบประชาธิปไตย ที่มีหลักปรัชญาซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” หรือประชาชนเป็นใหญ่ ทั้งยังเป็นที่ทราบกันดีว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไม่ใช่การปกครอง ที่สมบูรณ์แบบแต่เป็นการปกครองที่ดีที่สุดเท่าที่ “วิสัยของมนุษย์”จะนำมาใช้เพื่อการอยู่ร่วมกัน อย่างสันติได้

วิสัยมนุษย์นั้น หมายถึง ธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชนผู้ยังมีกิเลส หากเป็นในทางพุทธศาสนาก็ หมายถึงมนุษย์ที่ยังมีโลภ โกรธ หลงอยู่ หลักการเชิงปัญหา คือ ทำอย่างไรมนุษย์ถึงจะอยู่ร่วมกันอย่างมี สันติ ไม่ทำร้ายเบียดเบียนซึ่งกันและกัน กติการ่วมทางสังคมในการอยู่ร่วมกันจึงถูกกำหนดขึ้น มนุษย์ส่วนมากมองว่า การทำตามเสียงส่วนมากน่าจะพอทำให้สังคมอยู่กันอย่างสันติได้ แม้ว่าจะไม่สามารถทำให้เกิดสันติกับทุกส่วนหรือทุกคนในสังคมก็ตาม จนเป็นที่มาของสัญญาประชาคม และกติกาประชาธิปไตย

เหมือน จอห์น ล็อค กล่าวไว้ใน Two Treatises of Government (1689) ว่า อำนาจแท้จริงของผู้ปกครองนั้นมาจากประชาชน  ประชาชนควรจะเป็นผู้ที่ใช้สิทธิของตนเลือกผู้ปกครองขึ้นมา ซึ่งวิธีที่เหมาะสมมากที่สุดได้แก่ การใช้เสียงข้างมากในการตัดสิน เพื่อการอยู่ร่วมกันของชุมชนรัฐอย่างสันติ  ดังนั้นหากรัฐถูกปกครองด้วยเสียงส่วนน้อยก็จะกลายเป็นการปกครองที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่ง คือ เผด็จการ

มนุษย์ได้ลองผิดลองถูกในเรื่องการปกครองมามาก  ผลจากการลองผิดลองถูกทำให้ผู้คน สังเวยชีวิตจำนวนมากเช่นกัน

ที่จริงมนุษย์รับรู้เรื่องสัญญาประชาคมมาก่อนที่จะเกิดกติกาประชาธิปไตยเสียด้วยซ้ำ เพียงแต่ไม่ชัดเจนเหมือนการลงประชามติอย่างในยุคประชาธิปไตยที่สืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน โดยที่ก่อนหน้านั้นแม้แต่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เอง หากผู้นำปกครองรัฐอย่างไม่เป็นธรรม ก็อาจสร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นกับมหาชน จนนำไปสู่การโค่นล้มผู้นำคนนั้นๆโดยประชาชนได้ ซึ่งในประวัติศาสตร์มีให้เห็นมากมาย

รัฐธรรมนูญสหรัฐฯตระหนักถึงปัญหาความขัดแย้งของคนในสังคมรัฐ โดยมีบทเรียนจาก ประวัติศาสตร์ของยุโรป จึงได้จัดระบบดุล 3 อำนาจอย่างเหมาะสม (เท่าที่ทำได้) ในที่นี้จะขอยก ในส่วนของการดุลอำนาจของอำนาจตุลาการมาอธิบาย เปรียบเทียบกับปัญหาการดุลอำนาจของฝ่ายตุลาการ ในเมืองไทย ที่ถูกวิจารณ์ว่ากำลังกลายเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จ (absolute power) หรืออำนาจสูงสุดชนิดใหม่ โดยเฉพาะก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญ

ว่าไปแล้วสร้างความสับสนอยู่ไม่น้อยเมื่อเทียบกับอำนาจตุลาการใน ระบบสากล เพราะศาลรัฐธรรมนูญของไทยถูกเรียกว่า “องค์กรอิสระ” ก็เลยไม่ทราบว่าจะเอาไปไว้ในฝ่ายอำนาจไหนในสามอำนาจ  ซึ่งสำหรับกลไกตามระบอบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย อำนาจที่สาม คือ อำนาจตุลาการย่อมต้องมีการยึดโยงกับอำนาจของประชาชนหรือตัวแทนของประชาชนไม่มากก็น้อย ฉะนั้นการชื่อว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ”  โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญถูกอ้างในฐานะส่วนหนึ่งของอำนาจตุลาการจึงเป็นเรื่องแปลกอย่างหนึ่ง

ในระบบการเมืองสหรัฐฯ ไม่มีการใช้คำว่า องค์กรอิสระที่ชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด หากมีเพียงระบบการดุล 3 อำนาจ คือ นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการเท่านั้น เพราะภายใต้กติกาประชาธิปไตย ไม่ควรมีองค์กรใดมีอิสระอย่างถึงที่สุด แต่ทุกองค์กรมีที่มาที่ไปเพื่อคานอำนาจของกันและกัน เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือใช้อำนาจตามอำเภอใจได้

ระบบตุลาการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ เป็นอย่างนี้ครับ

หนึ่ง ใช้ระบบการยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง ผู้พิพากษาของศาลสูงถูกแต่งตั้งโดยสภาสูงหรือ วุฒิสภา(ซีเนต) โดยการเสนอชื่อของประธานาธิบดี ในทางปฏิบัติประธานาธิบดีมักจะเลือกบุคคลสังกัดพรรคเดียวกัน มีทัศนะทางการเมืองที่สอดคล้องกัน เนื่องจากการดำรงตำแหน่งผู้ตุลาการหรือผู้พิพากษามีความเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของประธานาธิบดีในด้านกฎหมาย

ขณะเดียวกันอาจเรียกได้ว่าระบบศาลของอเมริกันทุกระดับเกี่ยว ข้องกับการเมืองไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ศาลท้องถิ่นในหลายมลรัฐ ผู้พิพากษามาจากการเลือกตั้งโดย ตรงของประชาชน วิธีการนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเชื่อว่าการเลือกตั้งผู้พิพากษาทำให้ประชาชนได้ ใช้สิทธิอย่างเต็มที่ตามแนวทางประชาธิปไตย ด้วยเหตุที่ผู้พิพากษาที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ย่อมมีจิตสำนึกเหนือกว่าผู้พิพากษาในฐานะเป็นพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งสำหรับวัฒนธรรมอเมริกันแล้ว การไม่ยอมรับผู้พิพากษาในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำของรัฐมีสูงมาก ทำให้เกิดระบบการ พิจารณาคดีที่เรียกว่า “คณะลูกขุน” (Jury)ขึ้น  โดยตำแหน่งเจ้าหน้าที่ผู้พิพากษาเป็นเพียงเครื่องมือในการจัดระบบด้านเทคนิคกระบวนการพิจารณาและเทคนิคทางด้านกฎหมายเท่านั้น

สอง ขอบเขตอำนาจการวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ   ศาลสูงอเมริกันมีหน้าที่ในการพิจารณากฎหมายที่ บัญญัติโดยฝ่ายนิติบัญญัติ(คองเกรส) และฝ่ายบริหาร(รัฐบาล)ว่าขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น  ไม่ตีความเกินเลยอำนาจของตัวเอง โดยเฉพาะในอำนาจของอีกสองฝ่าย  ดังนั้น ข้อเท็จจริงการตีความของศาลสูงอเมริกัน คือ ศาลสูงมีงานเกี่ยวกับการตีความกฎหมายน้อยมาก ส่วนหนึ่งเพราะมีเรื่องร้องเรียนน้อย อีกส่วนหนึ่ง เพราะขอบเขตของอำนาจศาลในการตีความโดนจำกัด จากส่วนฝ่ายนิติบัญญัติ  ซึ่งเป็นฝ่ายที่สามารถออกฎหมายเพิ่มหรือจำกัดอำนาจการตีความกฎหมาย(บทบาทหน้าที่)ของศาลสูงได้ ยกเว้นแต่ในเรื่องระเบียบข้อบังคับของศาลสูง

กฎหมายรัฐธรรมนูญอเมริกันกำหนดให้ สภานิติบัญญัติมีอำนาจกล่าวโทษผู้พิพากษาได้ หากพบว่าผู้พิพากษาประพฤติตนในทางไม่ชอบในการปฏิบัติหน้าที่ คองเกรสมีอำนาจในการฟ้องร้องเพื่อปลดผู้พิพากษา สมาชิกสภาสูงจะเป็นผู้พิจารณาคดีที่ผู้พิพากษากระทำความผิดทางอาญา ผู้พิพากษาเองจึงต้องระวังความประพฤติในการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากไม่มีสิทธิพิเศษปลอดจากการถูกฟ้องร้อง ถ้าประพฤติตนไม่ชอบ

สาม ผลของคำวินิจฉัยของศาลสูงหรือตุลาการสูงสุด คำสั่งศาลสูงแม้เป็นเรื่องที่ผูกพันกับอำนาจอีกสองฝ่าย แต่คำสั่งและคำพิพากษาของศาลสูงจะใช้ได้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยความร่วมมือของฝ่ายอื่น เช่น ฝ่ายบริหาร เป็นต้น ดังนั้น หากฝ่ายอื่นไม่ยอมทำตาม คำสั่งศาลสูงก็ด้อยประสิทธิภาพลง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น เพราะคำวินิจฉัยของศาลสูง เป็นไปในแง่การตีความในประเด็นที่ขัดกับกฏหมายรัฐธรรมนูญเท่านั้น เช่น การออกกฎหมายใหม่ของมลรัฐต่างๆ ที่ส่วนใหญ่หากมีการฟ้องต่อศาลสูง ก็เป็นเพียงการวินิจฉัยว่าขัดหรือไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น

 น่าสังเกตด้วยว่า การตัดสินของศาลสูงอเมริกันไม่ก้าวล่วงไปถึงกระบวนการภายในของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เช่น การลงไปล้วงลึกถึงที่มาของการออกฎหมาย แต่จะพิจารณากฎหมายที่ออกมาแล้วเท่านั้น ว่าขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น หรือหากเป็นกฎหมายทั่วไปก็จะพิจารณาว่ากฎหมายที่ออกมาโดยรัฐบาลท้องถิ่น (Local law) ขัดกับกฎหมายกลาง(Federal law)หรือไม่ อย่างไร

ที่สำคัญ คือ รัฐธรรมนูญอเมริกันได้วาง ระบบที่เรียกว่า “การแก้ไข” หรือ Amendment ที่หมายถึง การตีความของศาลสูงอเมริกันนั้นอาจถูกลบล้าง(Overrule) ได้ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, คำวินิจฉัยของศาลจึงไม่ใช่เป็นคำตัดสินสุดท้ายที่จะแก้ไขอะไรไม่ได้อีกต่อไป นอกเหนือไปจากระบบการถ่วงดุลศาลจากประชาชนในเชิงของการยอมรับของสาธารณะหรือ Public Acceptance

Public Acceptance ที่หมายถึง คำตัดสินของศาลจะต้องได้รับการยอมรับและต้องไม่ขัดแย้งกับสาธารณะจนเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งกันในระหว่างหมู่ชนหรือประชาชนโดยทั่วไปอีกด้วย

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net