Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อุณหภูมิการเมืองขณะนี้ ถึงจุดที่ทั้งฝ่ายหนุนและฝ่ายต้านรัฐบาลคิดว่าได้เวลาเดินให้สุดซอยเสียที จนละเลยวิถีทางระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถูกออกแบบไว้อย่างน่าทึ่ง ว่าหากขัดแย้ง หรือขาดฉันทามติร่วมในเรื่องสำคัญ ทางออกหนึ่งคือ “ยุบสภา”

ผมคงไม่มีอะไรจะสื่อสารไปยังฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งจ้องล้มรัฐบาลอยู่ทุกขณะ ทุกวิธีการ

ผมเพียงอยากสื่อสารไปยังฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลด้วยกัน ว่าทำไมควรหาทางยุบสภา

1 อย่างที่หลายคน เช่นอาจารย์สมศักดิ์ ได้ย้ำเตือนว่าเวลาสูญเสีย คนที่สูญเสียคือคนธรรมดา มิหนำซ้ำพอได้ชัยชนะชั่วคราว ผู้นำแต่ละฝ่ายมีความสุขกับอำนาจและไม่ยอมเสี่ยงอะไรอีกแล้วเพื่อทำสิ่งที่ดีกว่า (ก่อนมีอำนาจเสี่ยงได้ทุกอย่างแม้ชีวิตผู้คน) การยุบสภาคือการหลีกเลี่ยงการเสียชีวิต อิสรภาพของประชาชน อย่างค่อนข้างมีโอกาสสูงว่าจะสูญเปล่า

2 ผมไม่เชื่อว่าประเทศไทยจะหลีกเลี่ยงการเสียชีวิต อิสรภาพได้ตลอดไป ผมเชื่อลึกๆว่าวันหนึ่งอาจนองเลือดได้อีก เพียงแต่ผมอยากหวังว่าหากต้องนองเลือดอีกรอบ ต้องเป็นรอบที่ฝ่ายประชาธิปไตยมีโอกาสเดินให้สุดซอย ท่ามกลางความชอบธรรมทางการเมืองและหลักการกฎหมาย

หลังไทยรักไทย (จงใจใช้ชื่อเดิม เพื่อบอกว่าผมไม่อาจยอมรับคำตัดสิน) ชนะเลือกตั้งหลังสุด ความชอบธรรมสูงพอที่จะทำอะไรให้ดีขึ้น แต่เขาเลือกและหวังจะรอมชอม เขาไม่ต้องการเสี่ยงอะไรอีกต่อไป แม้แต่การเสี่ยงน้อยเช่นการเอานักโทษการเมืองออกจากคุก

หากยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ฝ่ายประชาธิปไตยต้องกดดันไทยรักไทยให้น้ำหนักเรื่องโครงสร้างการเมืองควบคู่กับเรื่องเศรษฐกิจอย่างชัดเจน หากไทยรักไทยชนะเลือกตั้งเขาจะได้ไม่มีข้ออ้างต่างๆนานาเหมือนครั้งก่อน

ถึงตอนนั้นหากต้องแตกหักทางการเมือง อย่างน้อยฝ่ายประชาชนมีความหวังว่าจะไม่สูญเปล่า เพราะประเด็นของการต่อสู้เพื่อให้ได้มาคือหลักการที่ถูกนำเสนออย่างชัดเจน

หลักการที่ว่า “สู้เพื่อได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง” ควรเป็นเป้าหมายขั้นต่ำสุดของฝ่ายประชาธิปไตย บทเรียนที่ผ่านมาหลายช่วงให้ข้อคิดว่าเป้าหมายรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่เพียงพอ ประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างการปกครอง รัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

3 สำหรับผมการยุบสภา ไม่ถือเป็นความพ่ายแพ้ นอกจากเชื่อกันว่าเป้าหมายสุดท้ายทางการเมืองคือมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

ผมอยากชวนให้คิดว่า “ยุบสภา” คือวิถีทางปกติคู่กับ “เลือกตั้ง”  บ่อยครั้งรัฐบาลต่างประเทศไม่ได้ทำอะไรผิด เขาเลือกยุบสภาเพื่อถามประชาชน ว่าที่รัฐบาลจะทำนั้นเอาแน่ไหม หากเอาแน่ยืนยันอีกที แล้วจะทำตามนั้น

4 ยุบสภา แล้วไม่มีการเลือกตั้ง? ผมคิดว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมคิดเช่นนั้น แต่เขากล้าทำหรือ? ประวัติศาสตร์ชี้ว่าปิดกั้นไม่ได้นาน แต่ยิ่งต้องปล่อยให้เลือกตั้งเร็วขึ้น สมัยถนอมเกิดตุลา 16 สมัยสุจินดาเกิดพฤษภา 35 สมัยคมช.เกิดพฤษภา 53

หากฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีความเกลียด ความกลัวปิดกั้นสูง จนกระทั่งชั่งน้ำหนักผลเสียที่จะเกิดขึ้นผิดไป นั่นคือการเร่งระดับความชอบธรรมให้ฝ่ายประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ เพียงแต่หากเกิดอีกรอบ อย่าให้สูญเปล่า ต้องหวังให้มากกว่าการได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ฝ่ายประชาธิปไตยต้องเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างการเมือง รัฐธรรมนูญ อย่างเป็นรูปธรรม


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net