สภาประชาชนไม่ใช่หางเครื่องการต่อสู้ของการเมืองสองขั้วอำนาจ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หนึ่งเดือนของการต่อสู้ล่วงไปแล้ว ข้อเสนอการจัดตั้งสภาประชาชน และรัฐบาลประชาชนของสุเทพและแกนนำการต่อสู้ในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนแต่ประการใด สร้างความเคลือบแคลงสงสัยกับผู้ใส่ใจในการต่อสู้ของประชาชนว่า สิ่งที่จะมาแทนที่รัฐบาลและรัฐสภาของพรรคเพื่อไทยนั้นคืออะไร? สุดท้ายคือ การสมคบกันระหว่างแกนนำกับข้าราชการทหารระดับนำแล้วแต่งตั้งสภาประชาชนขึ้นมาเองหรือไม่? ถ้าใช่ นั่นย่อมไม่ใช่การปฎิวัติของประชาชน แต่เป็นการช่วงชิงกระทำแทนประชาชนโดยอาศัย “มวลมหาประชาชน”เป็นเพียงหางเครื่องของการต่อสู้ หรือเป็นเพียงเบี้ยทางการเมืองเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เราควรมาทำความเข้าใจกันว่า สภาประชาชนที่จริงแท้ควรเป็นอย่างไร?

กิตติศักดิ์ ปรกติ นักวิชาการที่สนับสนุนสภาประชาชน ยกตัวอย่างที่เขาเห็นเป็นต้นแบบ เช่น การจัดตั้งการประชุมโต๊ะกลมที่โปแลนด์(Polish Round Table) ในปีค.ศ.1989 แต่ข้อเท็จจริงของต้นแบบดังกล่าว คือ การสมคบกันระหว่างแกนนำฝ่ายค้านของสหภาพแรงงานโซลิดาริตี้ กับระดับนำของพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์รวมกันประมาณ 50 คน มาดำเนินการเจรจาหาทางออกให้กับประเทศ ซึ่งสุดท้ายลงเอยด้วยการต่อรองอำนาจกันในระดับนำของขั้วอำนาจโดยต่อมาประชาชนได้การเลือกตั้งที่ทำให้เกิดรัฐบาลและรัฐสภาที่มีผู้แทนที่มาจากขั้วอำนาจทั้งสองฝั่ง และนำประเทศไปสู่การขายกิจการของรัฐให้เอกชน(Privatization) กันอย่างรุนแรง ทำให้คนตกงานเป็นจำนวนนับล้านคน ค่าแรงถูกแช่แข็งและสวัสดิการสังคมถูกทำลาย โดยที่ประชาชนไม่สามารถรวมตัวต่อต้าน และไม่มีโอกาสใช้สื่อสาธารณะเสนอความเห็นได้เลย นี่คือความจริงของชีวิตชาวโปแลนด์ภายหลังปีค.ศ.1991

ดังนั้นสภาประชาชนที่เลว ที่คด ที่ไม่สมควร และที่กดประชาชนเป็นเพียงเบี้ยทางการเมือง คือ การแต่งตั้งแกนนำสองขั้วอำนาจไปสมคบกันหาทางออกโดยไม่ฟังเสียงประชาชน และไม่สนับสนุนให้ประชาชนจัดตั้งตนเอง และเลือกผู้แทนของตนเองไปหาทางออกให้กับประชาชน

ในทางตรงกันข้าม สภาประชาชนที่ดี ที่ตรง ที่สมควร และที่นำพาประชาชนไปสู่การสถาปนาอำนาจอธิปไตยของประชาชนอย่างแท้จริงนั้น ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1. สภาประชาชน เป็นการจัดตั้งตนเองท่ามกลางการต่อสู้ แกนนำการต่อสู้จะต้องสนับสนุนให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าทุกสาขาอาชีพที่เห็นด้วยกับการโค่นรัฐบาลที่ไร้ความชอบธรรม และอยากปฏิรูปประเทศให้ดีกว่าเดิมได้เลือกตั้งผู้แทนของกลุ่มตน แล้วมารวมเป็นสภาประชาชนแห่งชาติ ประกอบด้วยผู้แทนนับร้อยนับพันคนจากทั่วประเทศ (ตัวอย่างในอดีตสภาประชาชนมีจำนวนประมาณ 600 – 1,000 คน) ที่ประชุมแห่งนี้จะเป็นที่ที่ผู้แทนของประชาชนมาคิดหาทางออกให้กับประเทศ และกำกับการต่อสู้ของประชาชนเพื่อให้ทางออกนั้นบรรลุผล

2. เหตุที่ต้องจัดตั้งสภาประชาชนในท่ามกลางการต่อสู้ ก็เพราะในสถานการณ์ต่อสู้จะเกิดพลเมืองที่มีสำนึก(Active citizen) อย่างมากมายและกว้างขวาง คนเหล่านี้คือ กำลังของแผ่นดินที่หากได้จัดตั้งตนเองอย่างเข้มแข็งแล้ว จะเป็นหลักประกันในการรักษาดอกผลของการต่อสู้ให้เกิดกับประชาชน พวกเขาจะติดตาม ตรวจสอบ และรวมตัวจัดตั้งเพื่อคะคานอำนาจกับแกนนำ หรือผู้นำขั้วอำนาจต่างๆ ตลอดจนกระทั่งผู้แทนของพวกเขาเองในสภาประชาชนให้ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ดังนั้นกฏข้อสำคัญของสภาประชาชน คือ ผู้แทนของประชาชนในสภาประชาชนสามารถถูกถอดถอนได้ตลอดเวลา

นี่คือการยึดโยงกันของประชาธิปไตยทางตรง(Direct democracy) ระหว่างประชาชนกับผู้แทนของเขา ซึ่งแตกต่างจากการยึดโยงกันของประชาธิปไตยรัฐสภาที่ทุนเป็นใหญ่ซึ่งประชาชนอยู่ในภาวะพลเมืองพร่องสำนึก (Passive citizen) ในสถานการณ์ปกติที่ขาดการจัดตั้งที่เข้มแข็ง ขาดการสื่อสารที่สาธารณะอย่างแท้จริง และสุดท้ายตกอยู่ภายใต้ความจำนนต่อการเมืองระบบผู้แทนของพรรคการเมืองนายทุนซึ่งอาศัยทุนเป็นใหญ่โดยครอบงำประชาชนด้วยการสื่อสารที่เหนือกว่าและระบบอุปถัมภ์ให้ได้เข้ามาสู่อำนาจครั้งแล้วครั้งเล่า

3. สภาประชาชนทั่วประเทศ และสภาประชาชนแห่งชาติจะทำหน้าที่เป็นสติปัญญาของสังคมในการจัดทำข้อเสนอที่เป็นทางออกให้เป็นรูปธรรม และผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นจริง ข้อเสนอ 6 ประการที่สุเทพแถลงไปก่อนหน้านี้ ควรได้รับการแลกเปลี่ยนกันในสภาประชาชนทั่วประเทศในท่ามกลางการต่อสู้กันอยู่ในขณะนี้ เพื่อให้เกิดเป็นสัญญาประชาคมของการต่อสู้ ที่สภาประชาชนทั่วประเทศ และสภาประชาชนแห่งชาติใช้ยึดถือเป็นแนวทางว่าสังคมที่ดีกว่าเดิมที่เราร่วมสู้กันมาคือสังคมที่

1) มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมและปลอดพ้นจากอำนาจทุนเป็นใหญ่

2) ต่อต้านกลุ่มทุนคอรัปชั่นทุกกลุ่มที่แสวงหาผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม

3) มีการขยายประชาธิปไตยให้ประชาชนอย่างกว้างขวางโดยมีระบบถอดถอนผู้นำทางการเมืองที่เอื้อให้ประชาชนสามารถเคลื่อนไหว และใช้สื่อสาธารณะเพื่อการถอดถอนได้อย่างเสรี มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด การกระจายอำนาจไปสู่จังหวัดจัดการตนเอง การเลือกตั้งตำรวจ และข้าราชการทุกหมู่เหล่า เพื่อให้เป็นข้าราชการที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างแท้จริง เป็นต้น

4) การปฏิรูปการศึกษา สังคม สาธารณสุข และคมนาคม ต้องเป็นวาระแห่งชาติโดยสภาประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมกันจัดทำข้อเสนอ นโยบาย และแนวทางที่มีความยั่งยืนและพัฒนาปรับปรุงให้บรรลุเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ถูกพรรคการเมืองกลุ่มทุน หรือข้าราชการระดับสูงชักพาไปทำเพื่อประโยชน์ของกลุ่มตนและพวกพ้อง

นี่คือสิ่งที่สุเทพ และกปปส.สมควรกระทำมาตั้งแต่แรกเริ่มการชุมนุมแล้ว บัดนี้ก็ยังไม่สายที่จะทำ ผู้เขียนเชื่อว่าเหตุที่ยังไม่ได้ทำจนบัดนี้ ก็เป็นเพราะ แกนนำอย่างพวกเขายังคงมีวิธีคิดในระบบอุปถัมภ์จากประสบการณ์การเมืองแบบเลือกตั้ง และการใช้อำนาจกันอยู่แต่ในระดับชนชั้นนำและข้าราชการระดับสูง บรรดาแกนนำเหล่านี้แม้ประสบความสำเร็จในการปลุกระดมมวลชนมาร่วมต่อสู้เรือนแสนเรือนล้าน แต่พวกเขายังคิดเพียงอาศัยฐานมวลชนไปต่อรองกันอยู่ในหมู่ชนชั้นนำขั้วอำนาจต่างๆเท่านั้น ดังกรณีการหลบไปเจรจาลับกับนายกฯยิ่งลักษณ์พร้อมกับผู้นำเหล่าทัพ

ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป พวกเขาก็คงจะเพียงรอแต่ให้ทหารเข้าร่วมทำการยึดอำนาจแทนประชาชนเท่านั้น แล้วแต่งตั้งสภาประชาชนหลังการรัฐประหารมาบังหน้าเพื่อให้ชอบธรรม ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นภาวะเสี่ยงต่อการต่อต้านทั้งจากประชาชนที่ไม่ได้ร่วมสู้เพียงเพื่อให้ใครมากระทำแทน และจากการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่จะปลุกระดมต่อต้านการรัฐประหาร ด้วยภาวะเสี่ยงเช่นนั้น อาจจะตามมาด้วยการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงเพื่อสะกดฝ่ายตรงข้ามให้สยบยอม ภาวะไร้ประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพเช่นนี้ และความเป็นไปได้ที่อาจลุกลามเป็นสงครามกลางเมือง จะทำให้ประชาชนถูกใช้เป็นเบี้ยทางการเมืองไม่มีที่สิ้นสุด และดอกผลแห่งการต่อสู้ของประชาชนสูญเสียไปด้วย

ตัวสุเทพเองมีประสบการณ์ดังกล่าวมาแล้วเมื่อคราวเป็นผู้นำการปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในปีพ.ศ.2553 จึงควรสำนึกและหาทางออกให้หลุดพ้นจากการเมืองสองขั้วอำนาจเสียที

ผู้เขียนยังคงเห็นแนวโน้มที่ดีที่การชุมนุมและการต่อสู้ในขณะนี้ไม่มีข้อเรียกร้องขอให้ทหารทำการยึดอำนาจแทนประชาชน ไม่มีการเรียกร้องของพระราชทานรัฐบาลใหม่ และแกนนำมุ่งขยายการมีส่วนร่วมต่อสู้ของประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างกว้างขวาง และเป็นการต่อสู้ที่สงบสันติอหิงสา แสดงว่าอย่างน้อยแกนนำและประชาชนตระหนักดีว่า เราจะเอาความไร้ชอบธรรมของการรัฐประหารหรืออำนาจนอกระบบ มาแทนที่ความไร้ความชอบธรรมของรัฐบาลและรัฐสภาไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะสุดท้ายสิ่งนี้จะดึงประเทศชาติของเราจมดิ่งอยู่กับการเมืองสองขั้วอำนาจอย่างไม่ได้ผุดได้เกิด

ผู้เขียนจึงยืนยันว่า สภาประชาชนคือทางสายเอกที่จะพาประเทศชาติหลุดพ้นจากการเมืองสองขั้วอำนาจ โดยเริ่มต้นจากการไม่พึ่งพาแต่แกนนำกลุ่มเล็กๆนำการต่อสู้เท่านั้น และเพียงรอคอยให้แกนนำสั่งการไปทีละขั้นทีละตอน และประชาชนเพียงรู้แต่ว่าจะไปต่อสู้ แต่ไม่รู้ว่าจะเก็บเกี่ยวดอกผลการต่อสู้ให้ตกกับประชาชนได้อย่างไร? เพราะอาการเช่นนี้คือการยอมลดตัวลงเป็นเพียงเบื้ยทางการเมืองของการเมืองสองขั้วอำนาจเท่านั้น

ดังนั้นประชาชนทุกหมู่เหล่าทุกสาขาอาชีพที่เข้าร่วมต่อสู้และเห็นด้วยกับการต่อสู้กับรัฐบาลที่ไร้ความชอบธรรมจำเป็นต้องพึ่งตนเองจัดตั้งตนเองเป็นสภาประชาชนที่มีภาวะการนำ(Leadership) ที่เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง และใช้สติปัญญาของพลเมืองที่มีสำนึกคิดหาทางออกให้กับประเทศชาติ

หากข้อเสนอหรือทางออกดังกล่าวได้รับการปฏิบัติเป็นจริง การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมจะทำให้เราได้ผู้แทนที่จะทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ การกระจายอำนาจของประชาชนจะทำให้เราได้ข้าราชการที่ทำประโยชน์เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง และดำเนินการปฏิรูปประเทศในทุกๆด้านเพื่อประชาชน โดยประชาชนมีการจัดตั้งที่เข้มแข็งขึ้น มีส่วนร่วมปฏิรูปอย่างแข็งขัน และสามารถติดตามตรวจสอบ ปรับปรุงแก้ไขการทำงานของผู้แทนและข้าราชการได้อย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้จะช่วยดับความขัดแย้งและทุกข์ของสังคมไปได้อย่างแท้จริง

ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของปัญญาชน และนักต่อสู้ที่จะร่วมคิดร่วมปฏิบัติเพื่อให้วิกฤตการณ์การปฏิวัติของประชาชนในครั้งนี้ ประชาชนต่อสู้ได้ดีขึ้น และสร้างดอกผลให้ตกอยู่กับประชาชนยิ่งๆขึ้น

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท