Skip to main content
sharethis

สภาทนายความจวกนายกฯ ส.ส. - ส.ว. ปฏิเสธคำวินิจฉัยศาล รธน. จึงมิบังควรเข้าเฝ้าถวายพระพร 5 ธันวา เพราะ "ปฏิเสธพระราชอำนาจทางตุลาการ" แถมนายกรัฐมนตรียังไม่ขอทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไข รธน. กลับคืนหลังศาลวินิจฉัย ถือว่าผิดต่อ รธน. ชัดแจ้ง

 

4 ธ.ค. 2556 - เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา สภาทนายความได้ออกแถลงการณ์ "การปฏิบัติตนและการปฏิบัติหน้าที่ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" เรียกร้องให้ ส.ส. ส.ว. รัฐมนตรี ที่ปฏิเสธคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขที่มา ส.ว. และนายกรัฐมนตรีที่ทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มิบังควรที่จะเข้าเฝ้าถวายพระพรในการออกมหาสมาคมในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม โดยให้เหตุผลว่า "เพราะเป็นการปฏิเสธพระราชอำนาจในทางตุลาการ" และกระทำโดยที่ "ที่ผู้กระทำยังมิได้รู้สำนึก" โดยมีรายละเอียดของแถลงการณ์ดังนี้

000

แถลงการณ์ของสภาทนายความ
เรื่อง การปฏิบัติตนและการปฏิบัติหน้าที่ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ตามที่ปรากฏความชัดเจนแล้วว่ามีคณะบุคคล ข้าราชการทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ หัวหน้าพรรคการเมือง แสดงออกโดยชัดแจ้งถึงการไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นั้น สภาทนายความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะเผยแพร่ให้สาธารณชนทั่วไปทราบถึงข้อกฎหมายและการบังคับใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้

1.ผู้ที่มีหน้าที่และต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น มาตรา 216 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ” ความชัดเจนของบทบัญญัตินี้จึงไม่อาจแปลความเป็นอย่างอื่นได้ว่าจะมีองค์กรใด บุคคลหรือคณะบุคคลใดที่จะสามารถปฏิเสธหลักการถ่วงดุลย์ในระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากล

2.หลักการถ่วงดุลย์นี้มีปรากฏตามพระบรมราชปณิธาณ ที่ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญไว้ มีความตอนหนึ่งอยู่ในวรรคสามว่า “...การยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นวิถีทางในการปกครองประเทศการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม การกำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา รวมทั้งให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม” จึงเป็นการวางหลักการถ่วงดุลย์อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ทาง ซึ่งพระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ

3.หลักการของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและทรงใช้พระราชอำนาจทั้งทางบริหารผ่านรัฐบาล ทางนิติบัญญัติผ่านรัฐสภา และทางตุลาการผ่านศาล นี้เป็นความสมดุลย์ที่สอดคล้องกัน การที่มีกลุ่มบุคคล สมาชิกพรรคการเมือง รัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภาทั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาปฏิเสธคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นการไม่ชอบของการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา หรือรัฐมนตรีที่ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม การแสดงออกต่อสาธารณะถึงการไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเท่ากับเป็นการปฏิเสธพระราชอำนาจในทางตุลาการ ทั้งหากมีการกระทำดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่โดยที่ผู้กระทำยังมิได้รู้สำนึก รวมตลอดถึงนายกรัฐมนตรีที่ยังไม่กราบบังคมทูลเกล้าขอพระราชทานร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วกลับคืน จึงเป็นการกระทำผิดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยชัดแจ้ง ไม่ชอบที่ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือบุคคลใดควรที่จะถือปฏิบัติ โดยเฉพาะเมื่อใกล้วันที่เข้าเฝ้าถวายพระพรแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นวันที่พระองค์ทรงเสด็จออกมหาสมาคมเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมนี้ ผู้ที่ปฏิเสธคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมิบังควรที่จะเข้าเฝ้าถวายพระพรในขณะที่ตนเองยังดื้อรั้นปฏิเสธอำนาจตุลาการที่พระองค์ทรงใช้ผ่านทางศาล

จึงขอแถลงการณ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

สภาทนายความ
3 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net