Skip to main content
sharethis

4 ธ.ค.56 อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จำนวน 11 คนร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เรื่อง ท่าทีคณาจารย์ต่อการงดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย โดยยืนยันจะเปิดการเรียนการสอนต่อไป 

รายละเอียดมีดังนี้ 

๐๐๐๐๐

แถลงการณ์ เรื่อง ท่าทีคณาจารย์ต่อการงดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

จากประกาศมหาวิทยาลัยเรื่อง ให้งดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา ทุกวิทยาเขต ตั้งแต่วันที่ 4 -10 ธันวาคม 2556 โดยให้เหตุผลว่ามีความกังวลถึงแนวโน้มสถานการณ์ความรุนแรงที่จะอาจจะถึงขั้นวิกฤติในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เราขอแสดงความคิดเห็นต่อท่าทีดังกล่าว

1. เราเชื่อมั่นว่า การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญต่อสันติภาพอันยั่งยืน จากประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ความขัดแย้งที่รุนแรงซึ่งมีการสูญเสียชีวิตจำนวนมาก เราตระหนักดีว่าการศึกษาบนฐานของเสรีภาพทางความคิดจะเป็นพื้นฐานของการใช้เหตุผลเพื่อแก้ปัญหาโดยสันติในสังคมที่มีความขัดแย้งและหลากหลาย

2. เราเชื่อมั่นว่า มหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่กลาง ด้วยปณิธานของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วยประโยคที่ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” การตื่นตัวทางการเมืองของมหาวิทยาลัยถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับสังคมการเมืองที่อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม ทว่าสิ่งที่สถาบันการศึกษาพึงรักษาคือความเป็นพื้นที่สาธารณะอย่างแท้จริงเพื่อให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นและให้เสรีภาพทางความคิดแก่คนทุกหมู่เหล่า ทุกเชื้อชาติ ศาสนา รวมถึงกลุ่มคนที่มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง

3. เราเชื่อมั่นว่า การตัดสินใจใดๆ ที่เป็นการแสดงออกทางการเมืองในนามประชาคมของมหาวิทยาลัย ควรผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมและยินยอมพร้อมใจจากทุกภาคส่วนของประชาคมมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกันและแสวงหาทางออกในสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคม

4. เราเชื่อมั่นว่า ประชาคมในมหาวิทยาลัยควรตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพในการสื่อสาร เสรีภาพในการแสดงออกและเคารพความแตกต่างทางความคิดเห็นของกลุ่มคนที่หลากหลาย เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ปลอดภัยแก่ทุกฝ่าย

เราขอเสนอทางเลือกโดยจะดำเนินการเรียนการสอนตามปกติและให้นักศึกษาทุกคนได้ตัดสินใจโดยอิสระในการเข้าเรียนในห้วงเวลาตามประกาศของมหาวิทยาลัย

 

ด้วยความเชื่อมั่นในประชาธิปไตยและสันติภาพ

 

รายชื่ออาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

กุสุมา กูใหญ่  คณะวิทยาการสื่อสาร

ณภัค เสรีรักษ์  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

พุทธพล มงคลวรรณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

วลักษณ์กมล จ่างกมล  คณะวิทยาการสื่อสาร

หนึ่งกมล พิพิธพันธุ์  คณะรัฐศาสตร์

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี  คณะรัฐศาสตร์

สุรวุฒน์ ช่อไม้ทอง  คณะรัฐศาสตร์

สมัชชา นิลปัทม์   คณะวิทยาการสื่อสาร

อันธิฌา แสงชัย   คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

เอกรินทร์ ต่วนศิริ  คณะรัฐศาสตร์

ฮารา ชินทาโร่   คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

 

Permas” เรียกร้องสังคมไทยใช้บทเรียนความขัดแย้งปาตานี

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556 สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี หรือ Permas (Persekutuan Mahasiswa Anak Muda dan Siswa Se-Patani) ได้แถลงการณ์เช่นกัน โดยแสดงความกังวลต่อความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงในรัฐไทย

แถลงการณ์ระบุว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพและปริมณฑลในขณะนี้ อาจจะนำไปสู่สงครามกลางเมือง และอาจจะเกิดความสูญเสียทางร่างกาย และทรัพย์สิน เหมือนกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปาตานี ดังนั้น Permas เสนอทางออกว่า อย่าใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ขอให้มีการเจรจากันโดยเอาประสบการณ์จากการพูดคุยสันติภาพกับขบวนการ BRN มาใช้ แม้รัฐบาลจะประสบกับวิกฤตทางการเมืองหรือจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต แต่ขอให้การพูดคุยสันติภาพปาตานีเดินทางต่อไป

สำหรับเนื้อหาของแถลงการณ์ ความกังวลต่อความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงในรัฐไทย มีดังนี้

จากความวุ่นวายและความขัดแย้งที่รุนแรงเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดของประเทศไทยในขณะนี้ ทำให้เกิดการเผชิญหน้าและการปะทะระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ และระหว่างประชาชนด้วยกันเอง

อันเนื่องมาจากความคิดเห็นที่แตกต่างกันทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ทำให้ทาง Permas มีความกังวลว่าความขัดแย้งที่ดังกล่าว จะมีแนวโน้มไปสู่สงครามกลางเมือง ซึ่งอาจทำให้เกิดการสูญเสียในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชนและของรัฐ เช่นเดียวกับสงครามที่เกิดขึ้นปาตานี (จังหวัดชายแดนภาคใต้) และจะทำให้สังคมไทยเกิดความวุ่นวาย เนื่องจากกลไกต่างๆ ตามระบอบประชาธิปไตยที่ถูกทำลาย

ซึ่งบทเรียนจากความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ปาตานีนั้น น่าจะเป็นบทเรียนที่เพียงพอให้แก่รัฐไทยและประชาชนคนไทย ที่จะเรียนรู้ถึงความเจ็บปวดของประเทศ ที่ประชาชนต้องใช้ชีวิตอยู่ในวงจรของสังคมที่มีความขัดแย้งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ดังนั้น Permas ซึ่งเป็นองค์กรเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพปาตานี ตามหลักการประชาธิปไตย และตามหลักสิทธิมนุษยชน จึงขอแสดงท่าทีและนำเสนอทางออกต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เพื่อให้เกิดสันติภาพอย่างที่ทุกคนปรารถนา ดังนี้

1.ขอให้ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ เคลื่อนไหวทางการเมืองหรือดำเนินการใดๆโดยใช้สติคำนึงถึงความเป็นเพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุดและไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา

2.การดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย จะเป็นทางออกให้แก่รัฐไทย อันจะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

3.ขอให้ทางผู้ชุมนุมและรัฐบาลใช้ทางออกโดยการเจรจา เพื่อยุติปัญหาโดยใช้ประสบการณ์กระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างขบวนการปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) กับ รัฐไทย ที่ผ่านมา

4.แม้รัฐบาลจะประสบกับวิกฤตทางการเมืองหรือจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเช่นใดในอนาคต แต่ขอให้รัฐบาลยังคงดำเนินกระบวนการสร้างสันติภาพที่ปาตานีเดินหน้าต่อไป โดยให้ประชาชนปาตานีมีส่วนร่วม

5.ด้วยความห่วงใยถึงนักศึกษา นักเรียน เยาวชนและประชาชนปาตานี  ที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง (กุรงเทพมหานครและปริมณฑล) ทุกคนใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ

 

                                      ด้วยจิตรักในสันติภาพและประชาธิปไตย

                               สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี

                                       วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.255

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net