แบบจำลองการลำดับความสำคัญ: ความพยายามอธิบายความขัดแย้งรอบใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากการสังเกตความเป็นไปทางการเมืองของสังคมไทย ถ้านับตั้งแต่การชุมนุมของพวกเสื้อเหลืองในปี 48 เป็นต้นมา ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านวิกฤติและเหตุการณ์สำคัญ ๆ หลายครั้งหลายครา และจากวาทะกรรมทางการเมืองและข้ออ้างข้อเสนอข้อโจมตีจากฝ่ายต่าง ๆ

ในฐานะคนไทยคนหนึ่งจึงอยากจะเสนอแบบจำลองการลำดับความสำคัญของคนไทยในความคิดเห็นทางการเมือง โดยเสนอว่านับตั้งแต่ปี 48 เป็นต้นมา คนไทยสับสนในการลำดับความสำคัญในสามประเด็นเป็นหลัก คือ

1. พระมหากษัตริย์
2. กติกาประชาธิปไตย
3. การทุจริตคอรัปชั่น

พระมหากษัตริย์ อันนี้ไม่อยากขยายความแต่เกี่ยวโยงแน่นอนกับการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา เพราะมีการโหนเพื่ออ้างความชอบธรรมทางการเมือง

กติกาประชาธิปไตย อันนี้หมายถึงการยอมรับความเสมอภาคของคนในชาติ อย่างน้อยก็ในการเลือกตั้ง โดยถือว่าทุกคนมี 1 เสียงเท่ากัน ผลออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายควรยอมรับเพราะนั่นเป็นเสียงของประชาชน

การทุจริตคอรัปชั่น อันนี้หมายถึงในการเลือกตั้งเป็นหลักที่เอามาโจมตีลดความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม แต่บางคนอาจเลยเถิดไปถึงการทุจริตคอรัปชั่นในวงราชการ ธุรกิจ และทุกอณูของสังคมไทย

สิ่งที่คนไทยทะเลาะกันอยู่ทุกวันนี้คือแต่ละคนพยายามบอกว่าการลำดับความสำคัญของตนถูกต้องที่สุด

หากให้สิ่งที่ขึ้นก่อนหรืออยู่ซ้ายมือสำคัญกว่าสิ่งที่อยู่ถัดมาหรืออยู่ขวามือ เราอาจจัดลำดับความสำคัญได้เป็น 6 แบบ คือ

1. พระมหากษัตริย์ กติกาประชาธิปไตย การทุจริตคอรัปชั่น
2. พระมหากษัตริย์ การทุจริตคอรัปชั่น กติกาประชาธิปไตย
3. การทุจริตคอรัปชั่น พระมหากษัตริย์ กติกาประชาธิปไตย
4. การทุจริตคอรัปชั่น กติกาประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์
5. กติกาประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ การทุจริตคอรัปชั่น
6. กติกาประชาธิปไตย การทุจริตคอรัปชั่น พระมหากษัตริย์

หากนำเอาแบบจำลองนี้มาอธิบายเหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ ก็พอจะสรุปได้ว่า

พวกเสื้อเหลืองที่ออกมาประท้วงในปี 48 และในยุครัฐบาลสมัครและสมชายเป็นพวกที่ลำดับความสำคัญตามข้อ 2 และ 3 เป็นส่วนใหญ่ คือไม่ พระมหากษัตริย์ การทุจริตคอรัปชั่น กติกาประชาธิปไตย ก็จะเป็น การทุจริตคอรัปชั่น พระมหากษัตริย์ กติกาประชาธิปไตย

ส่วนทหารนั้นโดยวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว จึงมีกรอบแนวคิดการลำดับความสำคัญไม่แบบข้อ 2 ก็แบบข้อ 1 เท่านั้น โดยเฉพาะทหารรักษาพระองค์แล้ว ได้ปฏิญาณว่าจักยอมตาย เพื่อรักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า... ดังนั้นจะเป็นอื่นไปไม่ได้ ส่วนทหารที่ออกมาปฏิวัติในปี 49 และที่สนับสนุนการตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ และที่เป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่ออกสื่อ คือทหารที่อ้างการลำดับความสำคัญตามข้อ 3 เพื่อไม่ให้น่าเกลียดและดูจะมีความชอบธรรมหน่อย

ส่วนในสถานการณ์ความขัดแย้งรอบใหม่ล่าสุดนี้ ทหารเพียงแต่มองว่าสถานการณ์ยังไม่สุกงอมพอที่จะเปลืองตัว
จะออกมาก็ต่อเมื่อเลือดตกยางออกพอสมควร และการออกมารอบใหม่นี้ แม้ในใจจะคิดอย่างไร แต่สิ่งที่จะอ้างหรือแสดงออกต่อสาธารณะ จะเป็นการลำดับความสำคัญตามข้อ 5 โดยจะอ้างว่าทหารยังเห็นด้วยกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ แต่เนื่องจากสถานการณ์เกิดความรุนแรงจนไม่อาจนิ่งเฉยได้ เสร็จแล้วก็จะกระทำตามข้อ 2 หรือ 1 ต่อ ซึ่งจะต่างจากการรัฐประหารปี 49 ที่ใช้ ข้อ 3 นำ

ส่วนพวกเสื้อแดง นปช. และกลุ่มแนวคิดประชาธิปไตยทั้งหลาย คงหนีไม่พ้นจัดลำดับความสำคัญตามข้อ 5 หรือ 6 เป็นหลัก

ถ้าจะนำแบบจำลองนี้มาอธิบายความขัดแย้งล่าสุดก็พอจะกล่าวได้ว่า การออกมาแสดงพลังของคนจำนวนมากจนถึงวันที่ 24 พ.ย. นั้น คือ มีคนที่ลำดับความสำคัญทั้ง 6 แบบ ปะปนกันไป โดยอาจจะเป็นกลุ่มประชาชนที่ลำดับความสำคัญตามข้อ 3 และ 4 มากที่สุด แต่หลังวันที่ 24 พ.ย. ไปแล้ว ไม่เหลือกลุ่มข้อ 5 และ 6 อยู่เลย ส่วนกลุ่มข้อ 4 ลดลงไปเรื่อย ๆ จนเหลือน้อยมาก ถ้าวิเคราะห์จากเนื้อหาที่แกนนำขึ้นปราศรัย จะพบว่าคนกลุ่มข้อ 1 คงจะเหลือน้อยเต็มทน ที่เหลืออยู่คือคนกลุ่มข้อ 2 และข้อ 3 แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มเสียเปรียบ รัฐบาลยอมถอยไม่ใช้ความรุนแรง ชาติมหาอำนาจเริ่มออกมารับรองรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สิ่งที่ม็อบ “มวลมหาประชาชน” เหลือให้ทำก็คงเป็นสูตรเดิม คือลำดับความสำคัญตามข้อ 2  ปลุกคนกลุ่มข้อ 2 ให้ออกมามากขึ้น และหวังว่าจะมีตัวช่วยหรืออำนาจ “มืด” ขี้มาสีดำมาช่วยในที่สุด

สุดท้าย อยากจะบอกว่าความจริงไม่น่านำพระมหากษัตริย์มาอยู่ในการจัดลำดับความสำคัญนี้ เพราะถ้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกตัวอักษร พระองค์เป็นเพียงประชาชนคนที่หนึ่งที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญเท่านั้น

หากไม่นำพระมหากษัตริย์มาอยู่ในการจัดลำดับความสำคัญก็จะเหลือแต่ กติกาประชาธิปไตย และการทุจริตคอรัปชั่น ว่าอะไรจะสำคัญกว่ากัน

ผมอยากจะบอกว่าทุกรัฐบาลไทยมีการทุจริตคอรัปชั่น รวมถึงในทุกประเทศและทุกยุคทุกสมัยด้วยเช่นกัน
มันเป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ จะหยิบขึ้นมาใช้เมื่อไหร่ โดยใคร แล้วป้ายไปที่ใครก็ได้ แต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมที่สงบสุขและสันติ คือการเคารพความเสมอภาคในสังคม การไม่หยามเกียรติผู้อื่น หรือไม่ลดค่าความเป็นคนของผู้อื่น ซึ่งสิ่งที่เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมจับต้องได้ และเป็นความเสมอภาคขั้นต่ำสุดในสังคม คือ 1 สิทธิ์ 1 เสียง นั่นเอง

ไม่อยากจะบอกเลยว่าคอมมอนเซ้นซ์ของการลำดับความสำคัญคือ

กติกาประชาธิปไตย การทุจริตคอรัปชั่น

รักษา 1 สิทธิ์ 1 เสียง ไว้ก่อน ส่วนจะทุจริตเลือกตั้งหรือทุจริตอื่น ๆ ก็ใช้กฎหมาย กฎกติกาอื่น ๆ หรือกระแสสังคมกดดัน หรือยกระดับพัฒนาการศึกษาของคนในชาติก็ว่าไป เพราะมันเป็นของที่ต้องใช้เวลา จะคิดว่าพรุ่งนี้ตื่นมาแล้วมันจะหมดไปจากสังคมไทย ถ้าไม่บ้าก็เป็นจิตวิทยาหมู่ที่คนไทยบางส่วนถนัดทำดีนัก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท