รอบโลกแรงงานพฤศจิกายน 2013

กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย ประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 11 ต่ำกว่าที่แรงงานผละงาน 2 วัน เรียกร้องให้ปรับขึ้นอีกร้อยละ 50

1 พ.ย. 2013 - นายโจโก วิโดโด หรือ โจโกวี ผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา ประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากเดือนละ 1.9 ล้านรูเปียห์ (ราว 5,180 บาท) เป็น 2.4 ล้านรูเปียห์ (ราว 6,540 บาท) มีผลตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้า เศรษฐกรของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมองว่า นายโจโกวีซึ่งมีผลสำรวจว่ามีสิทธิได้เป็นประธานาธิบดีหากลงเลือกตั้งในปีหน้า ไม่ได้มีนโยบายประชานิยมมากอย่างที่นักธุรกิจบางคนวิตก

ตำรวจประเมินว่า การผละงานในกรุงจาการ์ตาและย่านอุตสาหกรรมใกล้เคียงในวันนี้ มีผู้เข้าร่วมหลักพันเท่านั้น ไม่ถึงหลักล้านตามที่สหภาพแรงงานตั้งเป้าไว้  เนื่องจากสหภาพใหญ่ 2 ใน 3 แห่งไม่เข้าร่วม เพราะเกรงว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกหลังจากที่ขึ้นไปแล้วร้อยละ 44 เมื่อปีก่อนจะกระทบต่อการจ้างงานในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังชะลอการขยายตัว

เศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตเพียงร้อยละ 6 ในช่วงหลายปีมานี้และลดลงอีกในปีนี้ เพราะความต้องการของตลาดโลกและตลาดในประเทศชะลอตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าร้อยละ 8 หลังจากราคาเชื้อเพลิงปรับเพิ่มขึ้นในเดือนมิถุนายนเพราะทางการลดการอุดหนุน

เวียดนามส่งแรงงานไปต่างประเทศ 70,200 คนภายใน 10 เดือน

1 พ.ย. 2013 - สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานอ้างกระทรวงแรงงาน ทหารผ่านศึกและสวัสดิการสังคมเวียดนาม (โมลิซา) ว่า เวียดนามได้ส่งแรงงานกว่า 70,200 คนไปต่างประเทศในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2556 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในการบรรลุเป้าหมายที่เวียดนามตั้งไว้ว่าจะส่งแรงงาน 80,000 คนไปต่างประเทศในปีนี้

รายงานของกรมแรงงานระหว่างประเทศของกระทรวงแรงงานเวียดนามระบุว่า เฉพาะในเดือนตุลาคมมีการส่งแรงงานชาวเวียดนามไปต่างประเทศเกือบ 7,500 คน ซึ่งรวมถึงแรงงานหญิง 2,900 คน โดยสถิติของกรมแรงงานฯระบุว่า ไต้วันยังคงเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของแรงงานชาวเวียดนามในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีแรงงานชาวเวียดนามเดินทางไปทำงานในไต้หวันกว่า 4,300 คน ตามด้วยญี่ปุ่น มาเลเซีย ลาวและกัมพูชาตามลำดับ

ในปี 2555 เวียดนามส่งแรงงานไปต่างประเทศ 80,000 คน ซึ่งน้อยกว่าที่กำหนดไว้ร้อยละ 10 โดยในจำนวนดังกล่าวร้อยละ 70 เดินทางไปญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวันและมาเลเซีย เกาหลีใต้ซึ่งเป็นตลาดใหญ่เป็นอันดับ 3 มีการจ้างงานแรงงานชาวเวียดนามกว่า 10,000 คน แต่นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555 เกาหลีใต้ได้เข้มงวดการสรรหาแรงงานชาวเวียดนาม เนื่องจากมีแรงงานจำนวนมากที่ลักลอบพำนักอยู่ในประเทศเกินกำหนด

คณะกรรมการแห่งชาติเพื่อชาวเวียดนามในต่างประเทศภายใต้การดูแลของกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามระบุว่า ปัจจุบันมีชาวเวียดนามราว 4.5 ล้านคนที่อาศัย เรียนหนังสือหรือทำงานอยู่ใน 100 ประเทศและภูมิภาค โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นแรงงานที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศราว 500,000 คน

ธนาคารโลกระบุว่า ชาวเวียดนามในต่างประเทศส่งเงินกลับประเทศในปี 2555 สูงถึงกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 310,000 ล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยร้อยละ 10-15 ในปีก่อนหน้านั้น  ทั้งนี้คาดว่าจำนวนเงินที่ส่งกลับประเทศจะสูงถึง 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 341,000 ล้านบาท) ในปี 2556  ซึ่งจะทำให้เวียดนามครองอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากฟิลิปปินส์ และเป็นประเทศที่ได้รับเงินโอนมากที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก

คนงานต่างชาติเร่งอพยพหลังหมดเวลานิรโทษกรรมในซาอุดีอาระเบีย

2 พ.ย. 2013 - คนงานชาวต่างชาติจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจากเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เร่งอพยพออกจากซาอุดีอาระเบียก่อนที่ช่วงนิรโทษกรรมล่าสุดจะสิ้นสุดในวันที่ 3 พ.ย. นี้

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2013 ที่ผ่านมาคนงานชาวต่างชาติจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจากเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เร่งอพยพออกจากซาอุดีอาระเบียก่อนที่ช่วงนิรโทษกรรมล่าสุดจะสิ้นสุดในวันที่ 3 พ.ย. นี้ โดยพวกเขาเหล่านี้ต่างมีเสี่ยงที่จะถูกปรับหรือถูกจำคุก หากยังคงลักลอบทำงานในซาอุดีอาระเบียต่อไป

คนงานชาวต่างชาติเกือบล้านคน ส่วนใหญ่มาจากบังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินเดีย เนปาล ปากีสถาน และเยเมน เป็นส่วนหนึ่งของคนงานต่างชาติในซาอุดีอาระเบีย ได้ทยอยเดินทางออกจากซาอุดีอาระเบียไปแล้ว หลังจากช่วงนิรโทษกรรมเป็นเวลา 3 เดือนที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา และขยายเวลาต่อมาอีก 4 เดือนใกล้จะหมดลง โดยกระทรวงมหาดไทยซาอุดีอาระเบียได้ออกประกาศว่าจะไม่มีการขยายเวลาในการนิรโทษกรรมออกไปอีก ทั้งๆ ที่รัฐบาลเอเชียบางประเทศ รวมถึงปากีสถานได้ทำการร้องขอไป

ทั้งนี้ยังมีคนงานอีกราว 4 ล้านคนได้รับสถานะการทำงานอย่างถูกกฎหมาย โดยพวกเขาต้องหานายจ้างรับรองในการทำงานในซาอุดีอาระเบียต่อไป

อนึ่งซาอุดีอาระเบียมีนโยบาย SAUDIZATION ซึ่งเป็นนโยบายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอัตราการจ้างงานหรือการบรรจุแรงงานต่างชาติในประเทศ โดยกำหนดให้ภาครัฐและเอกชนต้องจ้างคนซาอุดี เข้าทำงานร้อยละ 20 ของคนงานทั้งหมด และให้เพิ่มขึ้นทุกปีในอัตราเดียวกันเพื่อแก้ปัญหาที่ประชาชกรของซาอุดีประสบปัญหาการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามนโยบายนี้ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร  เนื่องจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือคนซาอุดียังไม่พร้อมในการทำงานที่ต้องใช้แรงงานมาก และมีความต้องการค่าจ้างแรงงานสูงกว่าแรงงานต่างชาติ

สหภาพรถไฟซานฟรานฯ ให้สัตยาบันสัญญาจ้างงานใหม่

2 พ.ย. 2013 - เจ้าหน้าที่สหรัฐเปิดเผยว่า สหภาพระบบขนส่งมวลชนบริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก หรือสหภาพรถไฟบาร์ท ให้สัตยาบันอย่างท่วมท้นต่อสัญญาจ้างงานใหม่ เมื่อวานนี้ หลังจากเกิดความขัดแย้งในประเด็นดังกล่าวที่ทำให้พนักงานระบบขนส่งมวลชน 2 แห่งในซานฟรานซิสโกหยุดงานประท้วง

สหภาพพนักงานบริการท้องถิ่นระหว่างประเทศ 1021 (เอสอีไอยู) ประกาศเมื่อคืนที่ผ่านมาว่า สมาชิกสหภาพฯ ได้อนุมัติสัญญาจ้างงานใหม่ 4 ปี กับทางระบบขนส่งมวลชนบริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก (บาร์ท) ซึ่งครอบคลุมความรับผิดชอบในการทำงานทางด้านการซ่อมแซม บำรุงรักษา และการรักษาความสะอาดระบบบาร์ท เอสอีไอยูระบุว่า ร้อยละ 88 ของมติต่างเห็นชอบสัญญาฉบับดังกล่าว ซึ่งให้ขึ้นค่าแรงในอัตราสมเหตุผลที่ร้อยละ 15 รวมทั้งมีการประนีประนอมเกี่ยวกับบำนาญและค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข ในสัญญายังระบุถึงการปรับปรุงระบบความปลอดภัยของบาร์ทอย่างมีนัยสำคัญ

ด้านสมาชิกสหภาพขนส่งร่วมท้องถิ่น 1555 ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานแห่งที่ 2 ของบาร์ท ก็ได้ออกเสียงลงมติเมื่อวานนี้เช่นเดียวกัน แต่ยังไม่มีการรายงานผลการลงมติ

การออกเสียงลงมติของสหภาพฯ ดังกล่าวมีขึ้นเกือบ 2 สัปดาห์ หลังจากสหภาพฯ บรรลุข้อตกลงกับฝ่ายบริหารของบาร์ท ซึ่งส่งผลให้มีการยุติการเจรจาที่มีความขัดแย้งกันก่อนหน้านี้เกี่ยวกับเงินเดือน ผลประโยชน์ และสภาพความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งทำให้สหภาพฯ หยุดงานประท้วง 2 ครั้ง ในเดือน ก.ค. และ ต.ค.ที่ผ่านมา

ฝรั่งเศส “เรือนหมื่น” ประท้วงเลิกจ้างงาน - ภาษีสิ่งแวดล้อม บานปลายรุนแรง

2 พ.ย. 2013 - มีผู้ชุมนุมถูกรวบตัว 3 คน ขณะที่มีผู้ประท้วง 4 คนและตำรวจอีกหนึ่งคนได้รับบาดเจ็บ ภายหลังเกิดเหตุชุลมุนวุ่นวายในการประท้วงช่วงบ่ายวันเสาร์ โดยผู้จัดการประท้วงกล่าวว่า มีประชาชน 30,000 คนจากอาชีพต่างๆ เป็นต้นว่า คนขับรถขนส่งสินค้า ชาวประมง และคนงานของโรงงานผลิตอาหาร มาชุมนุมกันที่เขตแก็งเปร์ ของแคว้นบริตานี (เบรอตาญ) เพื่อประท้วงการจัดเก็บภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อมกับคนขับรถบรรทุก และต่อต้านการลอยแพเลิกจ้างคนงานทีละมากๆ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นระลอกในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะพวกกิจการสัตว์ปีก, โรงฆ่าหมู และโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ของแคว้นนี้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลฝรั่งเศสได้ออกมาประกาศเลื่อนการเก็บภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อมในสัปดาห์นี้แล้วก็ตาม
       
ทางด้านเจ้าหน้าที่ประมาณการว่ามีผู้มาเข้าร่วมการประท้วงครั้งนี้ 15,000 คน
       
ผู้ประท้วงบางคนขว้างปาก้อนหิน ท่อนเหล็ก และกระทั่งกระถางดอกเบญจมาศ (ดอกไม้งานศพ) ใส่ตำรวจ ขณะที่คนอื่นๆ จุดไฟเผาแท่นรองรับสินค้าทำด้วยไม้ (พาเลต) ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจระดมฉีดน้ำความแรงสูงและแก๊สน้ำตาเป็นการตอบโต้

ฝ่าย ฌ็อง-ลุก วิดแลน ผู้ว่าราชการจังหวัดฟีนีส์แตร์ กล่าวว่าเหตุรุนแรงครั้งนี้เป็นฝีมือของ “เสียงข้างน้อย” ที่เป็นกลุ่มหัวรุนแรงขวาจัด ซึ่งเชื่อว่าอยู่ท่ามกลางกลุ่มผู้ประท้วงเหล่านี้
       
ก่อนช่วงสุดสัปดาห์นี้ นายกรัฐมนตรีฌ็อง-มาร์ก เอย์โรต์ ของฝรั่งเศสออกมาเตือนว่าจะเกิด “เหตุรุนแรงบานปลาย” ในแคว้นบริตานี หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็มีการปะทะกันในการชุมนุมคล้ายๆ กันนี้
       
ทั้งนี้ ภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมุ่งส่งเสริมการขนส่งเชิงพาณิชย์อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น จะเรียกเก็บจากยานพาหนะทั้งของฝรั่งเศสเอง และของต่างประเทศ ที่ขนส่งสินค้าพาณิชย์หนัก 3.5 ตันขึ้นไป ด้วยเหตุนี้ บรรดาเกษตรกรและแรงงานของอุตสาหกรรมการผลิตอาหารจึงพากันโกรธเคืองไปทั่วประเทศ แต่พื้นที่ซึ่งเกิดปฏิกิริยาตอบโต้รุนแรงที่สุดก็คือ แคว้นบริตานี ซึ่งเศรษฐกิจในพื้นที่ต้องพึ่งพาการเกษตรอย่างจริงจัง
       
แม้ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสออกมาแถลงว่า จะยังไม่เริ่มเก็บภาษีในวันที่ 1 มกราคม ตามที่วางแผนไว้ก่อนหน้านี้ แต่เหล่าผู้จัดการประท้วงก็กล่าวว่าเท่านี้ยังไม่พอ โดยเรียกร้องให้ระงับการจัดเก็บภาษีเป็นการถาวรแทน
       
รัฐบาลแนวกลาง-ขวา พรรคยูเอ็มพีของ นิโกลา ซาร์โกซี เป็นผู้ออกนโยบายเก็บภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2009 แต่ต้องเลื่อนการประกาศใช้ออกไปเรื่อยๆ
       
ทางการฝรั่งเศสระบุว่า จะเลื่อนการจัดเก็บภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินเข้ารัฐถึง 1 พันล้านยูโรต่อปี ออกไปอย่างน้อยอีกหลายเดือน
       
ทางด้านบรรดานักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมออกมาประณามรัฐบาล ที่เลื่อนเวลาจัดเก็บภาษีออกไป โดยโจเซ โบเว เรียกการกระทำเช่นนี้ของรัฐบาลว่า “น่าสมเพช” และ “ถอยหลังเสียจนเสื่อมความน่าเชื่อถือ”

ไฟไหม้โรงงานในอินเดีย มีผู้เสียชีวิต 6 ราย

3 พ.ย. 2013 - เกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที๋โรงงานแห่งหนึ่งในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ส่งผลให้มีคนงานเสียชีวิตทั้งหมด 6 คน บางคนติดอยู่ภายในอาคารและสภาพศพไหม้เกรียมจนไม่สามารถระบุได้

เจ้าหน้าที่ดับเพลิงกรุงนิวเดลีเปิดเผยว่าเพลิงไหม้ครั้งนี้เกิดขึ้นที่โรงงานผลิตกระเป๋าหนังสูง 3 ชั้นเมื่อคืนวันเสาร์ โดยเจ้าหน้าที่ได้นำตัวคนงานราว 20 คนส่งโรงพยาบาลหลังจากที่สามารถพาออกจากอาคารโรงงาน และปล่อยตัวคนงาน 7 คนให้กลับบ้านแล้วหลังได้รับการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น ขณะที่คนงานอีก 7 คนยังคงต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล และยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุไฟไหมครั้งนี้มีทั้งสิ้น 6 ราย  

สื่อท้องถิ่นรายงานอ้างคำกล่าวผู้เห็นเหตุการณ์ที่ระบุว่าพวกเขาเห็นเปลวไฟลามออกมาจากหน้าต่างโรงงาน ขณะที่คนงานซึ่งติดอยู่ภายในตะโกนร้องขอความช่วยเหลือ ด้านหนังสือพิมพ์ไทม์สออฟอินเดียรายงานว่าหน้าต่างบางบานติดลูกกรง ส่งผลให้พนักงานดับเพลิงจำต้องทำทางเข้าสู่อาคารเพื่อให้ความช่วยเหลือคนงาน ตำรวจควบคุมตัวเจ้าของโรงงานเพื่อสอบปากคำแล้ว รวมถึงดำเนินการสืบสวนหาสาเหตุของการเกิดเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ โดยเบื้องต้นคาดการณ์ว่า สาเหตุไฟไหม้น่าจะมาจากความละเลยไม่ใส่ใจของเจ้าของโรงงาน

กลุ่มนายจ้างหนุนอังกฤษเป็นสมาชิกอียูต่อ

4 พ.ย. 2013 - สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า สมาพันธ์อุตสาหกรรมอังกฤษ (ซีบีไอ) กลุ่มนายจ้างที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษ ได้ออกมาประกาศสนับสนุนให้ประเทศอังกฤษยังคงสถานะสมาชิกอยู่ในสหภาพยุโรป (อียู) ต่อไป โดยนายจอห์น คริดแลนด์ ผู้อำนวยการทั่วไปของซีบีไอ กล่าวต่อที่ประชุมที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษว่า ซีบีไอไม่ได้นำเรื่องการเมืองมาเปรียบเทียบกับข้อดีข้อเสียของการเป็นสมาชิกอียู และเห็นว่าการเป็นตลาดหนึ่งเดียวจะเป็นรากฐานของอนาคต อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างมหาศาล โดยซีบีไอระบุว่า 78 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทที่ทำการสำรวจ สนับสนุนให้อังกฤษเป็นสมาชิกอียูต่อไป ขณะที่มีเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ที่เห็นว่าควรออกจากอียู

ทั้งนี้ นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศจะต้องได้อำนาจบางส่วนคืนมาจากอียู ก่อนที่จะให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าจะอยู่เป็นสมาชิกอียูต่อหรือไม่ ด้วยการลงประชามติในปลายปี 2560

“คนงานฟิลิปปินส์” ครวญถูก “ตำรวจซาอุฯ” กักขังเยี่ยงสัตว์ก่อนส่งตัวกลับประเทศ

4 พ.ย. 2013 - คนงานฟิลิปปินส์จำนวน 30 คนจากจำนวนคนงานฟิลิปปินส์ทั้งหมดที่คาดว่ายังติดอยู่ในทางตอนเหนือของซาอุดีอาระเบียอยู่ราว 6,700 คน ซึ่งการผ่อนผันสำหรับคนงานผิดกฎหมายในซาอุดีอาระเบียได้สิ้นสุดลงในช่วงสุดสัปดาห์ล่าสุด
       
“ทางการซาอุฯทำกับพวกเราเยี่ยงสัตว์” อามอร์ โรซาส วัย 46 ปี คนทำงานบ้าน กล่าวด้วยน้ำตาระหว่างเล่าเรื่อง โดย โรซาส อ้างว่าทางตำรวจซาอุฯ ต้อนคนงานผิดกฎหมายและขังไว้ในห้องขังที่แออัดในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นเวลา 4 วันก่อนส่งตัวขึ้นเครื่องบินกลับฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ อีวอน มอนเตเฟโอ วัย 32 ปี กล่าวระหว่างสะอื้นว่า “เท้าของพวกเราโดนล่ามไว้ด้วย”
       
ในขณะที่สถานทูตซาอุดีอาระเบียประจำกรุงมะนิลา ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่ม Migrate International ที่ให้ความช่วยเหลือคนงานฟิลิปปินส์ในต่างแดนกล่าวว่า มีคนงานฟิลิปปินส์อีก 1,700 คนติดอยู่ที่เจดดาห์รอให้เอกสารการเดินทางของพวกเขาสมบูรณ์ก่อนถูกส่งตัวกลับฟิลิปปินส์ ในขณะที่คนงานฟิลิปปินส์อีกกว่า 5,000 คน อยู่อย่างกระจัดกระจายในกรุงริยาดห์ รวมไปถึงอัล โคบาห์ และดามมานน์ นั้นต้องการความช่วยเหลือทางการทูต
       
โดยทางกลุ่มได้เตือนว่า คนงานชาวฟิลิปปินส์นั้น “ตกอยู่ในอันตรายจากการถูกตำรวจบุกทลายเข้าจับกุม และกักขังโดยทางการซาอุดีอาระเบีย” ซึ่งคนงานฟิลิปปินส์ถูกส่งตัวกลับนั้นถือเป็นหนึ่งในแรงงานไร้ฝีมือที่ทำงานอย่างผิดกฎหมายในซาอุดีอาระเบียที่มีจำนวนหลายหมื่นคน โดยมากแรงงานไร้ฝีมือพวกนี้จะมาจากเอเชีย
       
รองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เจโจมาร์ ไบเนย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษากิจการแรงงานได้กล่าวว่า ในส้ปดาห์ที่ผ่านมาได้ร้องขอรัฐบาลซาอุฯเพื่อจะผ่อนผันเส้นตาย “มีแรงงานฟิลิปินส์หลายพันคนกำลังรอขึ้นทะเบียนเพื่อให้สถานะการทำงานในซาอุดิอาระเบียถูกต้องตามกฎหมาย”

อกจากนี้ไบเนย์ยังกล่าวต่อว่า “เป็นเพราะมีแรงงานฟิลิปปินส์ที่ยังไม่มีเอกสารการจ้างงานอย่างถุกต้องในซาอุดีอาระเบียเป็นจำนวนมาก ดังนั้นมีหลายคนที่ไม่สามารถทำให้เสร็จก่อนวันที่ 3 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นเส้นตาย” ไบเนย์ กล่าวในจดหมายที่ส่งถึงกษัตริย์อับดุลลอห์ บิน อับดิลอะซิซ อาล สะอูด ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
       
การกวาดล้างคนงานผิดกฎหมายในซาอุดีอาระเบียเกิดขึ้นเมื่อต้นปีนี้ แต่ทางการซาอุฯได้อนุญาตให้แรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้มีเวลาเพื่อจะทำให้สถานะการจ้างงานถูกต้อง
       
นอกจากนี้ ไบเนย์ยังเผยต่อว่า มีคนงานฟิลิปปินส์มากกว่า 4,000 คนที่ได้ถูกส่งตัวกลับหลังการกวาดล้างครั้งใหญ่ ในขณะที่มีแรงงานฟิลิปปินส์อีกจำนวน 1,716 คนกำลังรอเอกสารของพวกเขาถึงแม้กำหนดเส้นตายนั้นได้ผ่านไปแล้วในวันอาทิตย์ (3 พ.ย.)

บังกลาเทศ-เสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้พนักงานโรงงานเสื้อผ้า

5 พ.ย. 2013 - คณะกรรมการค่าจ้างแรงงานบังกลาเทศเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับพนักงานโรงงานเสื้อผ้าร้อยละ 77 ซึ่งบังคลาเทศประเทศผู้ส่งออกเสื้อผ้ารายใหญ่อันดับสองของโลก

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่สภาพการทำงานที่โรงงานในบังกลาเทศถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากเหตุอาคารโรงงานเสื้อผ้าพังถล่มเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 1,100 คน อุบัติเหตุดังกล่าวเป็นที่จับตามองจากหลายฝ่ายและทั่วโลกต่างก็แสดงความวิตกกังวลและออกมาเรียกร้องให้บรรดาเจ้าของโรงงานเสื้อผ้าปรับปรุงสภาพการทำงานและเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้กับพนักงาน

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่คณะกรรมการค่าจ้างแรงงานเสนอคือ 77 เปอร์เซ็นต์ก็ยังน้อยกว่าที่สหภาพแรงงานเรียกร้อง โดยสหภาพแรงงานเรียกร้องให้เงินเดือนขั้นต่ำของบรรดาแรงงานผลิตเสื้อผ้าตกเดือนละกว่า 8,000 ทากา ขณะที่ตัวเลขที่คณะกรรมการค่าจ้างแรงงานเสนออยู่ที่เดือนละ 5,300 ทากา หรือ 2,108 บาท

ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวจะต้องผ่านการอนุมัติจากกระทรวงแรงงานและการจ้างงานก่อน บังกลาเทศเป็นประเทศผู้ส่งออกเสื้อผ้ารายใหญ่อันดับ 2 ของโลก จากข้อมูลล่าสุดพบว่า ภาคอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในบังคลาเทศมีมูลค่า 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกบังกลาเทศ

ตำรวจซาอุดิอาระเบียปะทะแรงงานต่างชาติหลังสิ้นสุดผ่อนผันวีซ่า

10 พ.ย. 2013 -ตำรวจซาอุดิอาระเบียปะทะกับแรงงานต่างชาติในเขตยากจนของกรุงริยาดห์เมื่อวันเสาร์ จากการปราบปรามแรงงานเถื่อนที่ไม่มีวีซ่า เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปหลายพันคน และมีผู้เสียชีวิต 2 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงยิงปืนขึ้นฟ้าและเข้าสลายฝูงชนที่วิ่งกระจายกันไปตามท้องถนน บางคนขว้างก้อนหินและสิ่งของเข้าใส่รถยนต์และตำรวจ ตำรวจรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 2 คน คนหนึ่งเป็นชาวซาอุดิอาระเบีย และอีกคนยังไม่ได้ระบุ พร้อมกันนี้ยังควบคุมตัวประชาชนได้ 561 คนที่ก่อความวุ่นวายในย่านมันฟูฮาร์ทางใต้ของกรุงริยาดห์ ตำรวจรายงานว่ามีผู้บาดเจ็บ 68 คน และคาดว่าแรงงานต่างชาติส่วนใหญ่ที่ปะทะกับเจ้าหน้าที่เป็นชาวแอฟริกัน

ทางการซาอุดิอาระเบียประกาศว่า ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปจะไม่ผ่อนผันให้กับแรงงานต่างชาติที่อยู่เกินวีซ่าหรือไม่มีเอกสารรับรองตามกฎหมายอีกต่อไปแล้ว โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสกัดธุรกิจตลาดมืดที่นำเข้าแรงงานราคาถูก ลดจำนวนแรงงานต่างชาติ และเงินโอนกลับไปประเทศบ้านเกิด รวมทั้งเปิดตลาดแรงงานให้ชาวซาอุดิอาระเบียมากขึ้น

แรงงานกัมพูชาประท้วงขึ้นค่าแรง เสียชีวิต 1 รายจากการปะทะกับตำรวจ

12 พ.ย. 2013 - เจ้าหน้าที่ตำรวจกัมพูชาได้นำกำลังเข้าสลายการชุมนุมของคนงานหลายร้อยคนของโรงงานเอสแอลการ์เม้นท์โปรเซสซิ่ง (SL Garment Processing (Cambodia) Ltd.) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเสื้อผ้าสัญชาติสิงคโปร์ โดยการประท้วงเป็นการเรียกร้องขอเพิ่มค่าแรง และกลุ่มเอ็นจีโอระบุว่ามีผู้หญิงเสียชีวิตหนึ่งราย

Licadho ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่ามีผู้ถูกกระสุนปืนจากเจ้าหน้าที่ไม่ต่ำกว่า 5 คน และมีผู้เสียชีวิต 1 คนเป็นแม่ค้าขายข้าว ทั้งนี้ตำรวจยังใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงและก๊าซน้ำตา กระสุนยางและกระสุนจริงในการสลายฝูงชนที่พยายามเดินขบวนประท้วงไปยังบ้านพักของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน โดยกลุ่มคนงานได้ขว้างปาก้อนหินใส่ตำรวจ และมีการจุดไฟเผารถตำรวจ 1 คัน

อนึ่งโรงงานเอสแอลการ์เม้นท์โปรเซสซิ่ง เป็นผู้ผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ดังอย่าง Gap, H&M และแบรนด์อื่นๆ ในระดับโลก

ซาอุฯกวาดล้างแรงงานต่างชาติ ธุรกิจหลายแห่งปิดตัว

14 พ.ย. 2013 - หลังจากซาอุดีอาระเบีย เอาจริงเอาจังกับการกวาดล้างแรงงานผิดกฎหมาย ทำให้บรรยากาศในกรุงริยาร์ด ผิดแผกไปจากเดิม ถังขยะกองสุมอยู่บนถนนหลายสายรอบที่มุ่งสู่มัสยิด ที่เป็นสุสานของพระศาสดามูฮัมหมัด ร้านขายของชำพากันปิดประตู และบริษัทก่อสร้างขนาดย่อมเกือบครึ่งในซาอุดีอาระเบีย ต้องหยุดการทำงานในโครงการที่รับผิดชอบ

ความโกลาหลครั้งนี้ เกิดขึ้นเพราะแรงงานต่างชาติที่บรรดาธุรกิจจำนวนมากต้องพึ่งพา ได้พากันหลบหนีไปซ่อนตัว หรือถูกจับหลังการกวาดล้างแรงงานผิดกฎหมายภายในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ซึ่งปัจจุบัน มีแรงงานต่างชาติในซาอุดีอาระเบียประมาณ 9 ล้านคนซึ่งในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การหย่อนยานเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับแรงงานอพยพ ได้ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวค่าแรงถูก ทะลักเข้าไปในซาอุดีอาระเบีย เพื่อทำงานที่พลเมืองซาอุดีอาระเบียหลีกเลี่ยง และแสวงหางานที่ค่าแรงดีกว่า และสบายกว่า

ทางการระบุว่า การกวาดล้างแรงงานผิดกฎหมายเป็นการเปิดโอกาสให้มีการจ้างงานพลเมืองซาอุฯเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราการว่างงานในซาอุดีอาระเบียขึ้นไปอยู่ที่ 12.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปีที่แล้ว แต่การกวาดล้างแรงงานต่างด้าวก็เสี่ยงที่จะทำให้พวกเขาเปราะบางต่อการถูกทำร้ายเพราะดูเหมือนชาวซาอุฯ ก็เบื่อหน่ายที่จะเห็นแรงงานต่างชาติอยู่ในประเทศ

“เท็ปโก” จ่อปลดพนักงานอีกกว่า 1,000 ตำแหน่ง

16 พ.ย. 2013 - หนังสือพิมพ์ธุรกิจนิกเกอิ รายงานว่า นโยบายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในแผนปรับโครงสร้างและตัดลดรายจ่ายของเท็ปโก ในขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณานำเงินทุนสาธารณะมาใช้ในการกำจัดกัมมันตภาพรังสีรอบๆโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ และบรรดาเจ้าหนี้เองก็เรียกร้องให้เท็ปโกต้องทบทวนแผนฟื้นฟูธุรกิจเสียใหม่
       
ตามแผนปรับโครงสร้างบริษัทซึ่งผ่านการอนุมัติเมื่อกลางปีที่แล้ว เท็ปโกจะลดจำนวนพนักงานลงระหว่าง 3,600-36,000 ตำแหน่งภายในสิ้นเดือนมีนาคมปีหน้า โดยส่วนหนึ่งมาจากการขอความร่วมมือให้พนักงานเกษียณอายุก่อนกำหนด และลดการรับพนักงานใหม่ลง
       
นิกเกอิ รายงานเพิ่มเติมว่า เท็ปโก จะเสนอแผนลดพนักงานอีกกว่า 1,000 ตำแหน่งต่อสหภาพแรงงานของบริษัท ภายในเดือนเมษายน-กันยายน ปี 2014
       
เหตุแผ่นดินไหวใต้ทะเลขนาด 9.0 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 2011 ทำให้โรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ถูกคลื่นสึนามิซัดถล่มจนระบบหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ขัดข้อง และนำมาสู่วิกฤตนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดของโลก ถัดจากเหตุโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลระเบิดในยูเครนเมื่อปี 1986
       
เท็ปโกได้โอนกิจการเป็นของรัฐอย่างเต็มตัว ภายหลังรับเงินอัดฉีดก้อนโตจากรัฐบาลโตเกียวเพื่อพยุงสถานะของบริษัท ซึ่งต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมหาศาลในการกำจัดรังสีที่รั่วไหลจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ

จีนผ่อนปรนนโยบายลูกคนเดียว หลังเกิดปัญหาแรงงานไม่เพียงพอ

17 พ.ย. 2013 - จีนประกาศผ่อนปรนนโยบายลูกคนเดียวในวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ในปี 2523, ประเทศจีนได้ออกนโยบายมีลูกเดียวขึ้น ซึ่งกำหนดให้คู่สามีภรรยาสามารถมีลูกได้เพียงหนึ่งคน ยกเว้นคู่ที่อยู่ชนบทและชนกลุ่มน้อยซึ่งสามารถมีลูกได้มากกว่าหนึ่งคน

นโยบายลูกคนเดียวนี้ถูกสร้างมาเพื่อแก้ไขปัญหาการขยายตัวของประชากรเกินควบคุม และยกมาตรฐานคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวจีนให้สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม นโยบายลูกคนเดียวนี้ได้สร้างปัญหาทางสังคมในหลายๆ ด้าน เช่น การบังคับทำแท้งของราชการเพื่อควบคุมประชากรแต่ละตำบลไม่ให้เกินที่รัฐบาลกลางกำหนด หรือการสร้างภาระให้กับลูก จากการที่ลูกคนเดียวต้องดูแลพ่อแม่ถึงสองคนมากกว่า นอกจากนี้ นโยบายลูกคนเดียวนี้ยังสร้างผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจในอีกหลายๆ มิติ เนื่องจากการที่อัตราการเกิดของประชากรลดลง ทำให้จำนวนแรงงานลดน้อยถอยลงตามไปด้วย ซึ่งส่งผลให้อัตราค่าจ้างงานสูงขึ้นเนื่องจากจำนวนแรงงานไม่เพียงพอ ส่งต่อให้อัตราเงินเฟ้อถีบตัวขึ้นตามไปอีก นอกจากนี้การที่จำนวนแรงงานลดลง ส่งผลกระทบโดยตรงกับระบบโครงสร้างเงินบำนาญของชาติที่อาจจะไม่เพียงพอ

โรงงานในประเทศจีนเริ่มเห็นกำไรร่อยหรอจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งแรงงานราคาถูกเป็นหัวใจหลักของจีนที่ทำให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้าประเทศ เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่น ช่วง พ.ศ. 2533 ที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลงหลังจากอัตราการเกิดของประชากรลดลง แต่ญี่ปุ่นในเวลานั้นมั่งคั่งกว่าจีนในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นในอดีตและปัจจุบันสามารถรับมือกับภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวได้ แต่ในกรณีของจีนอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น

ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ รายงานว่า จำนวนผู้สูงอายุในประเทศจีนจะเพิ่มขึ้นจาก 110 ล้านคนใน พ.ศ. 2554 เป็น 210 ล้านคนในปี พ.ศ. 2574 และ 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในปี พ.ศ. 2594

อย่างไรก็ดี รัฐบาลจีนเองก็ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงทำให้ในวันศุกร์ที่ผ่านมารัฐบาลกลางของจีนประกาศผ่อนปรนนโยบายลูกคนเดียว โดยอนุญาตให้คู่สามีภรรยาสามารถมีลูกได้ 2 คน ถ้าหนึ่งในคู่สามีภรรยาเป็นลูกคนเดียว แต่รัฐบาลจีนก็ยังไม่กำหนดวันเวลาที่กฎหมายใหม่จะเริ่มใช้ เพียงแค่ประกาศว่าการใช้กฎหมายใหม่จะค่อยๆ ปรับ และปรับปรุงการวางแผนครอบครัวให้ดีขึ้น สนับสนุนการพัฒนาจำนวนประชากรให้เหมาะสมและมั่นคง

ด้านนักวิเคราะห์จากหลายสถาบันให้ความเห็นว่า ถึงแม้กฎหมายจะเปลี่ยนแต่อาจจะไม่ช่วยในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากกฎหมายใหม่จะเพิ่มอัตราการเกิดแค่ประมาณ 1-3 ล้านคนใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเริ่มทำงานในอีก 20 ปี มากกว่านั้น จากผลสำรวจในปี พ.ศ.2555 รัฐบาลมณฑลเซี่ยงไฮ้ของจีนพบว่า คู่สามีภรรยาที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2523 เฉลี่ยอยากจะมีลูกจำนวน 1.2 คน แต่ปัจจุบันค่าเฉลี่ยการเกิดในเมืองมีแค่ 0.7 คน ต่อคู่สามีภรรยา ซึ่งไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างแน่นอน จึงกลายเป็นคำถามที่รัฐบาลจีนต้องไปคบคิดต่อว่า ถ้าอยากจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอย่างเต็มตัวแบบไม่สะดุด ต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป

แฉ “กาตาร์” เจ้าภาพ “ฟุตบอลโลกปี 2022” ใช้แรงงาน “เอเชีย” เยี่ยงทาส ในการก่อสร้าง

18 พ.ย. 2013 - องค์การนิรโทษกรรมสากลเผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งเมื่อวันจันทร์ (18 พ.ย.) วิพากษ์วิจารณ์การเอารัดเอาเปรียบแรงงานก่อสร้างอย่างน่า “หวั่นวิตก” ในกาตาร์ โดยเรียกร้องให้ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลกรายนี้ใช้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลเวิลด์คัพ 2022 แสดงออกถึงความเคารพในสิทธิมนุษยชน
       
ในรายงานฉบับนี้ องค์การนี้ยังได้เรียกร้องสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ออกมากดดันกาตาร์ให้ปรับปรุงสภาพการใช้แรงงานต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชีย
       
กาตาร์เป็นประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อประชากรแต่ละคนสูงที่สุดในโลก
       
“ข้อมูลของเราชี้ว่า กาตาร์ได้ใช้แรงงานในภาคก่อสร้างอย่างเอารัดเอาเปรียบ ในระดับที่น่าหวั่นวิตก” ซาลีล เช็ตตี เลขาธิการขององค์การนิรโทษกรรมสากลเผย อีกทั้งระบุว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการทารุณกรรม “ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง” และ “ไม่ได้เป็นเฉพาะกรณี”
       
“ฟีฟ่ามีหน้าที่ที่จะต้องออกมาประกาศด้วยความหนักแน่นว่า จะไม่ยอมปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในโครงการก่อสร้างที่เกี่ยวกับการแข่งขันฟุตบอลโลก”
       
ทั้งนี้ ภายหลังเข้าพบพระประมุข และนายกรัฐมนตรีของกาตาร์เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ณ กรุงโดฮา เซปป์ แบลตเตอร์ ประธานฟีฟ่า แถลงว่า ปัญหาในเรื่องสภาพการทำงานที่ไม่เหมาะสมนั้นได้รับการแก้ไขแล้ว

 เช็ตตี กล่าวกับพวกนักข่าววานนี้ (17) ว่าองค์การนิรโทษกรรมสากลได้หารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ของทางการกาตาร์ ผู้ “ยอมรับอย่างเปิดเผยว่าเกิดปัญหานี้ขึ้นจริง และจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อหาวิธีแก้ปัญหานี้”
       
ภายหลังที่กาตาร์เริ่มแผนการ เป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 โดยทุ่มงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ ประเทศนี้ก็ถูกจับตามอง ในช่วงเวลาเดียวกับที่มีแรงงานอพยพจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาในรัฐอาหรับเล็กๆ ที่ร่ำรวยด้วยก๊าซธรรมชาติแห่งนี้
       
เช็ตตีกล่าวว่า ความสนใจนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสพิเศษให้กาตาร์ได้แสดงให้โลกเห็นว่า ตนเป็นชาติที่เคารพในสิทธิมนุษยชน และเป็นโอกาสที่จะได้ทำตัวเป็นแบบอย่างให้ชาติอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน
       
ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องสภาพการทำงานอันเลวร้าย ที่แรงงานอพยพต้องเผชิญนั้นยังคงเป็นปัญหาหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคอ่าวอาหรับซึ่งร่ำรวยน้ำมันและก๊าซ
       
รายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากลที่มีชื่อว่า “ด้านมืดของการอพยพ: ภาคก่อสร้างของกาตาร์ ก่อนจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก” ฉบับนี้ได้นำเสนอข้อมูลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมาย
       
ตัวอย่างของปัญหาเหล่านี้ มีดังเช่น “การไม่จ่ายค่าแรง สภาพการทำงานที่อันตราย และถูกบีบบังคับด้วยท่าทีก้าวร้าว ตลอดจนมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ต่ำจนน่าหวั่นวิตก”

นอกจากนี้ องค์การเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงลอนดอนแห่งนี้ เผยอีกว่ามี แรงงานข้ามชาติหลายสิบคนถูกกักตัวอยู่ในกาตาร์ สืบเนื่องมาจากกาตาร์ได้ตั้งเงื่อนไขว่า ชาวต่างชาติจะต้องได้รับใบอนุญาตให้ออกจากประเทศก่อนจึงจะสามารถไปได้”
       
องค์การนิรโทษกรรมสากลระบุว่า แรงงานที่ถูกนายหน้า หรือผู้รับรองยึดหนังสือเดินทางเอาไว้ จะถูกนายจ้างบังคับให้เซ็นรับรองเอกสารต่างๆ ซึ่งระบุข้อความที่เป็นเท็จว่าพวกเขาได้รับค่าแรงแล้ว ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกาตาร์
       
ระบบซึ่งกำหนดว่า บรรดาลูกจ้างต้องได้รับการรับรองจากบุคคล หรือจากบริษัทในกาตาร์ที่รับพวกเขาเข้าทำงาน นั้นทำให้แรงงานอพยพเหล่านี้ต้องตกเป็นลูกไก่ในกำมือของบรรดานายหน้าผู้ให้การรับรอง
       
เช็ตตีกล่าวกับพวกผู้สื่อข่าววานนี้ (18) ว่าเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (15) คณะทำงานของเขาในกรุงโดฮา ได้พบ “กลุ่มแรงงาน 70 คน” ซึ่งประกอบด้วยชาวเนปาล ศรีลังกา และชาติอื่นๆ ซึ่งเล่าให้ฟังว่า “พวกเขาไม่ได้รับค่าแรงมา 9 ถึง 10 เดือนแล้ว”
       
เขาประณามว่า “การที่หนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดของโลกใช้แรงงานอย่างเอารัดเอาเปรียบ โกงค่าแรง และปล่อยให้แรงงานอพยพจำนวนมากต้องอยู่อย่างอดๆ อยากๆ โดยไร้ความปรานีเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ให้อภัยไม่ได้จริงๆ”
       
นอกจากนี้ องค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวว่า พวกเขาได้รับรายงานว่า แรงงานจำนวนมากมีสุขภาพอ่อนแอ และต้องทำงานในสภาพความปลอดภัยที่ต่ำกว่าระดับมาตรฐาน

องค์การนี้ระบุว่า ตัวแทนของโรงพยาบาลโดฮา ที่ไม่ขอเปิดเผยนามคนหนึ่งเผยว่า “ในปี 2012 มีผู้คน (ที่เป็นแรงงาน) มากกว่า 1,000 คนถูกส่งไปห้องฉุกเฉิน (หลังจาก) พลัดตกลงมาขณะทำงานบนที่สูง” โดยราว 10 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานเหล่านี้ต้องกลายเป็นผู้พิการ อีกทั้ง “อัตราการตาย (ของแรงงาน) ทะยานสูงขึ้น ‘อย่างเห็นได้ชัด’”
       
ทางด้าน หนังสือพิมพ์การ์เดียน ได้เผยแพร่รายงานประจำเดือนกันยายนฉบับหนึ่งซึ่งระบุว่า มีแรงงานชาวเนปาลซึ่งทำงานที่กาตาร์เสียชีวิตไป 44 รายในปีนี้ แต่องค์การนิรโทษกรรมสากลไม่ได้ยืนยันยอดผู้เสียชีวิต
       
องค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวหาว่า แรงงานบางส่วนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบนั้น ทำงานให้กับบริษัทลูกช่วงที่รับจ้างบริษัทใหญ่ระดับโลกอีกทอดหนึ่ง
       
รายงานฉบับดังกล่าวระบุกรณีหนึ่ง ซึ่งคนงานก่อสร้างของบริษัท “ขนส่งอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับโครงการก่อสร้าง ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ของฟีฟ่า ขึ้นที่กาตาร์ในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 นั้นได้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง” โดยพวกเขาต้องทำงานอย่างต่ำวันละ 12 ชั่วโมง และไม่มีวันหยุด
       
“หากไม่มีการใช้มาตรการที่เด็ดขาดจริงจัง และกว้างขวางเพื่อจัดการกับปัญหานี้โดยทันที แรงงานอพยพเป็นแสนๆ คนที่ถูกรับเข้ามาทำงานเพื่อสร้างความเจริญให้กับกาตาร์ในปีต่อมาๆ ก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการถูกลิดรอนสิทธิ” เช็ตตีกล่าวเตือน
       
ทั้งนี้ กาตาร์เป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้อพยพต่อพลเมืองในประเทศสูงที่สุดในโลก คือประมาณ 88 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศเป็นแรงงานต่างชาติ ฟรองซัวส์ เกรโป ผู้เขียนรายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติ ด้านการเฝ้าระวังปัญหาสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติกล่าว

เกิดเหตุหลังคาศูนย์การค้าในแอฟริกาใต้พังถล่ม มีผู้เสียชีวิต 2 คนและคาดว่าอาจมีคนติดอยู่ใต้ซากถึง 40 คน

19 พ.ย. 2013 - ตำรวจแอฟริกาใต้เปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 คน และบาดเจ็บอีก 26 คน หลังศูนย์การค้าที่กำลังก่อสร้างในเมืองท็อนกาท ใกล้เมืองท่าเดอร์บัน บนชายฝั่งตะวันออกของประเทศ ขณะนี้ทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ใช้สุนัขดมกลิ่น และไฟฉายค้นหาผู้รอดชีวิต โดยคาดว่าอาจมีคนงานติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังประมาณ 30-40 คน

นีล พาวเวลล์ ผู้อำนวยการปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นจากที่เกิดเหตุว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุของการถล่ม แต่จุดที่มีการก่อสร้างอยู่ภายในศูนย์การค้า และมีนั่งร้านและแผ่นปูนซีเมนต์ถล่มทับคนงานจำนวนมาก ปฏิบัติการกู้ภัยเป็นไปด้วยความยากลำบากมากเนื่องจากความมืด

ทางการยังได้เรียกร้องให้ประชาชนในพื้นที่อยู่ห่างจากที่เกิดเหตุ เพื่อให้ทีมกู้ภัยทำงานได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

ฟีฟ่าจี้กาตาร์ ปรับปรุงคุณภาพชีวิตแรงงานด่วน

22 พ.ย. 2013 - เซปป์ แบล็ตเตอร์ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศหรือฟีฟ่ากล่าวยอมรับว่า สภาพการทำงานบางอย่างในกาตาร์อยู่ในขั้นยอมรับไม่ได้ แต่ยืนยันเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 กำลังจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง

รายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากลที่ตีพิมพ์เมื่อสัปดาห์ก่อนระบุว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นหลายกรณีในพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งตรงกับคำกล่าวอ้างของลูกจ้างบางคนที่บอกว่าพวกเขาโดนปฏิบัติเยี่ยงโคกระบือ

“ผู้นำทางเศรษฐกิจและการเมืองจะต้องให้ความช่วยเหลือเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานที่ยอมรับไม่ได้ในกาตาร์”ประธานฟีฟ่ากล่าว

“นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผมจึงได้รับเชิญจาก เดเอฟเบ และ ไอทีซียู เพราะเราเชื่อว่าเราสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงมันไปด้วยกันได้ และผมจะโน้มน้าวให้กาตาร์จัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง"

มิชาเอล ซอมเมอร์ ประธานสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล(ITCU) กล่าวว่าเขารู้สึกยินดีที่แบล็ตเตอร์เข้ามาให้การสนับสนุน แต่ได้โต้ว่าหากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขจนเป็นที่พอใจ ฟีฟ่าต้องย้ายฟุตบอลโลกไปจัดที่อื่นที่ไม่ใช่กาตาร์

“ผมรู้สึกยินดีที่ฟีฟ่าและเดเอฟเบเข้ามาร่วมมือกับเราในการสร้างมนุษยธรรมในสภาพการทำงานที่กาตาร์

“กาตาร์ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงานของ ILO (องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ) และต้องขจัดการเลือกปฏิบัติและการใช้ความรุนแรงต่อแรงงาน ตลอดจนต้องให้เสรีภาพตามข้อบังคับของสมาคมแก่แรงงานข้ามชาติทั้ง 1.3 ล้านคน

“หากกาตาร์ทำไม่ได้ ฟุตบอลโลกก็ควรไปจัดที่อื่น”

ต่างชาติสูบทองจนหมดแล้ว คนงานเหมืองใหญ่ที่สุดของลาวเตรียมตกงาน

22 พ.ย. 2013 - ทองในเหมืองเซโปน แขวงสะหวันนะเขต ซึ่งเป็นเหมืองใหญ่ที่สุดในลาวได้หมดลงแล้ว หลังจากถูกขุดขึ้นมาสกัด และส่งออกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และถึงแม้ว่าการผลิตแร่ทองแดงจะยังดำเนินต่อไป แต่บริษัทผู้ดำเนินการประกาศในวันศุกร์ 22 พ.ย.ว่า กำลังพิจารณาลดกำลังงานลง ซึ่งทำให้คนงานชาวลาวที่ยังไม่ทราบจำนวนเผชิญกับการถูกปลดออกจากงาน หนังสือพิมพ์ของทางการรายงาน
       
การประกาศเรื่องนี้มีขึ้นหลังจากบริษัท มินมีทัลส์คอร์ปอเรชั่น (Minmetals Corp) เจ้าของเหมืองเซโปน ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ประกาศเรื่องนี้วันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า สินแร่ทองออกไซด์ในเหมืองแห่งนี้ได้หมดลง ราคาทองในตลาดโลกตกต่ำ และต้นทุนการผลิตทองต่อออนซ์สูงขึ้นทำให้ประสบกับภาวะขนาดทุนในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง
       
การประกาศลดจำนวนลูกจ้างยังมีขึ้นเพียงข้ามสัปดาห์หลังจากบริษัทเหมืองเอ็มเอ็มจีล้านช้างจำกัด หรือ MMG LXML (MMG Lane Xang Minerals Ltd) ซึ่งเป็นบริษัทดำเนินกิจการเหมืองที่เมืองวีละบูลี ในแขวงภาคกลางของลาว ได้ฉลองครบรอบ 10 ปี โดยเชิญผู้แทนสื่อ กับภาคส่วนต่างๆ ไปชมกิจการเป็นจำนวนมาก
       
บริษัทเหมืองทองใหญ่ของลาวกล่าวว่า แผนการลดจำนวนคนงานก็เพื่อรักษาสภาพความคล่องตัวของบริษัทหลังจากได้ตัดสินใจยุติการขุดค้น และผลิตทองคำตั้งแต่เดือน ธ.ค.นี้เป็นต้นไป หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทมส์รายงาน
       
นายริค วัตส์ฟอร์ด (Rick Watsford) ผู้จัดการใหญ่ LXML กล่าวว่า การปลดคนงานเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่พ้น แต่จะดำเนินการในระดับต่ำที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานชาวลาว และทุกคนที่ถูกปลดออกจากงานจะได้รับการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย
       
ผู้บริหารคนเดียวกันนี้กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวก็เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทจะสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต เพื่อคืนผลประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นได้อย่างเต็มกำลังซึ่งรวมทั้งรัฐบาลลาวด้วย
       
บริษัท MMG Corp โดยนายแอนดรู ไมเคิลมอร์ (Andrew Michelmore) ซีอีโอประกาศในฮ่องกงก่อนหน้านี้ว่า สินแร่โกลด์ออกไซด์ หรือทองคำได้หมดลงแล้ว ซึ่งประมาณการก่อนหน้านี้คาดว่าจะหมดลงตั้งแต่ปี 2554 นอกจากนั้น การผลิตทองมีต้นทุนที่สูงขึ้นถึงเท่าตัวในขณะนี้ ขณะที่ราคาทองในตลาดโลกตกลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทตัดสินใจหยุดผลิตทองในเหมืองเซโปนลงเดือน ธ.ค.2556 นี้ และหันไปโฟกัสที่การผลิตทองแดง

ต้นทุนการผลิตทองคำได้เพิ่มขึ้นเท่าตัวตั้งแต่ปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นเป็น 1,880 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในครึ่งแรกของปี 2556 นี้ ในขณะที่ราคาทองคำเมื่อสิ้นสุดครึ่งแรกของปีตกอยู่ที่ประมาณ 1,198 ดอลลาร์ต่อออนซ์เท่านั้น ทำให้การปรับโครงสร้างทั้งหมดไม่อาจเลี่ยงได้ในช่วงเดือนที่จะถึงนี้ นายไมเคิลมอร์ ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง
       
“เอ็มเอ็มจีตระหนักดีว่า นี่เป็นข่าวที่ทำให้ผิดหวังสำหรับกำลังงานของเรา เรามุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับคนของพวกเรา กับชุมชน ซัปพลายเออร์ และรัฐบาลลาว เพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านนี้ดำเนินไปอย่างเรียบร้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” ซีอีโอของ MMG Minmetals กล่าว
       
ปัจจุบัน เหมืองเซโปน จ้างคนงานราว 4,000 คน ส่วนใหญ่ทำงานในส่วนการผลิตทองแดง ผู้จัดการใหญ่ของ MMG LXML กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า ยังไม่ทราบจำนวนคนงานที่จะต้องปลดออกจากงานในขณะนี้ โดยจะขึ้นอยู่กับการศึกษาทบทวนความต้องการใหม่ทั้งหมด
       
ในปี 2556 LXML ตั้งเป้าผลิตทองคำระหว่าง 40,000-50,000 ออนซ์ ราคาทองคำแท่งเมื่อวันศุกร์ยืนที่ 1,289 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และเมื่อปีที่แล้ว ผลิตทองคำได้ทั้งหมด 70,000 ออนซ์
       
ในช่วงเวลา 12 เดือนระหว่างเดือน ต.ค.2555-สิ้นเดือน ก.ย.2556 เหมืองแห่งนี้ผลิตทองแดงได้ตามเป้าหมาย 90,000 ตัน ปัจจุบัน ทองแดงสร้างรายได้ราว 92% ของบริษัท และการผลิตทองแดงจะดำเนินต่อไป นายวัตส์ฟอร์ดกล่าว.

“บีบีซี” ส่งสายแฝงตัวเข้า “อเมซอน”ในอังกฤษ พบใช้พนักงานหนัก “เดิน 11ไมล์ต่อกะ-เข้าห้องน้ำยังจับเวลา”

25 พ.ย. 2013 - บีบีซีสื่อในอังกฤษได้ส่ง อดัม ลิตเติลเลอร์ 23ปี เป็นสายเข้าไปทำงานในโกดังกระจายสินค้าย่านสวอนซีของอเมซอนอังกฤษ พบว่าพนักงานของอเมซอนต้องทำงานหนักมาก และอาจประสบปัญหาป่วยทางสุขภาพทางกายและจิต ด้านสหภาพคนงานอเมซอนในเยอรมันได้รวมตัวประท้วงผละงานเกือบพันคนในวันจันทร์(25)ที่ผ่านมา เรียกร้องเงินค่าตอบแทนและสวัสดิการเพิ่ม
       
เป็นเพราะใกล้ถึงเทศกาลคริสมาสต์ทำให้ทางบริษัทอเมซอน อังกฤษได้ว่าจ้างพนักงานเพิ่มอีกกว่า 15,000 ตำแหน่งเพื่อรับมือกับการสั่งซื้อในช่วงเทศกาล และทางอเมซอนได้กล่าวว่า “ความปลอดภัยของพนักงานเป็นความสำคัญอันดับหนึ่ง” แต่ทว่า อดัม ลิตเติลเลอร์ ซึ่งวัย 23ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ที่เป็นสายของบีบีซีได้ซ่อนกล้องขนาดจิ๋วเพื่อรายการ BBC Panorama และได้บันทึกช่วงเวลางานของเขาและพบสิ่งไม่คาดฝันเกิดขึ้น
       
โดยลิตเติลเลอร์ที่ถูกจ้างในตำแหน่ง “พนักงานหยิบสินค้า” ที่โกดังกระจายสินค้าของย่านสวอนซี เป็นเวลา 7 สัปดาห์โดยใน 4 สัปดาห์แรกเขาทำงานในกะกลางวัน และได้รับค่าตอบแทนราว 6.50 ปอนด์ต่อชั่วโมง ก่อนที่จะย้ายไปยังกะกลางคืนที่ได้ค่าตอบแทนเพิ่มเป็น 8.50 ปอนด์ต่อชั่วโมง รวมถึงได้ค่าตอบแทนในพักครึ่งชั่วโมง และช่วงพัก 15 นาที 2 ครั้งที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน
       
ซึ่งในกะกลางคืน ลิตเติลเลอร์ต้องต้องเดินถึง 11 ไมล์ ราว 10 ชมครึ่ง เพื่อรวบรวมสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่อาจเป็นสินค้าที่หนักและชิ้นใหญ่ที่อยู่ในโกดังกระจายสินค้าพื้นที่ราว 800,000 ตารางฟุต โดยหูฟังที่ลิตเติลเลอร์สวมอยู่จะสั่งให้เขารู้ว่าต้องหยิบสินค้าอะไรและวางบนรถเข็น และยังจำกัดเวลาเป็นวินาทีเพื่อให้พนักงานหาสินค้าและเริ่มนับ หากลิตเติลเลอร์ทำความไวเกินกว่า 33 วินาทีจะมีเสียงดังเตือนขึ้นจากเครื่องสแกนเนอร์ ซึ่งเครื่องสแกนเนอร์นี้จะส่งรารยงานอัตราความเร็วในการหาสินค้าให้กับผู้จัดการ และถ้าหากเขาทำงานช้าไปมากๆ ลิตเติลเลอร์อาจต้องได้รับโทษทางวินัย
       
“พนักงานอเมซอนในโกดังเป็นเหมือนกับหุ่นยนต์ เราดึงเอาเครื่องสแกนเนอร์และเสียบให้ทำงาน และเราก็ถือมัน แต่บางทีเราควรจะเสียบสแกนเนอร์เข้ากับตัวเองให้รู้แล้วรู้รอดไป เราไม่ได้คิดด้วยตัวเอง บางทีอเมซอนไม่ไว้ใจพวกพนักงานมากพอที่จะให้พวกเราคิดเหมือนกับมนุษย์ทั่วไป ผมเองไม่รู้เหมือนกัน” ลิตเติลเลอร์กล่าว
       
และนอกจากนี้ สื่อเมลอนไลน์ของอังกฤษยังพบว่า อดีตพนักงานของอเมซอนยังได้เปิดเผยถึง การที่พนักงานของอเมซอนในโกดังกระจายสินค้า 8 แห่งทั่วอังกฤษได้ถูกตรวจจับหาตำแหน่งด้วยระบบGPS ภายในโรงงาน และในการเบรคเข้าห้องน้ำของพนักงานยังต้องถูกจับเวลาอีกด้วย แต่ข้ออ้างเหล่านี้ได้ถูกปฎิเสธจากทางอเมซอน อังกฤษ
       
ทางด้านศาสตราจารย์ มิเชล มาร์มอต หนึ่งในผู้เชียวชาญทางด้านความเครียดในที่ทำงานของอังกฤษ ได้ให้ความเห็นว่า “สภาพการทำงานในโกดังกระจายสินค้าของอเมซอนนั้นเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต”
       
และที่ผ่านมาอเมซอน อังกฤษ ได้ประสบปัญหา “สัญญาจ้างงาน 0 ชั่วโมง” (การจ้างงานที่ไม่ระบุระยะเวลา หรือชั่วโมงการทำงานให้แน่นอน โดยลูกจ้างจะได้ทำงานและได้รับค่าจ้างก็ต่อเมื่อได้รับการติดต่อจากนายจ้างให้ไปทำงานเท่านั้น ซึ่งเป็นปัญหามากในอังกฤษ) รวมไปถึงการขายสินค้าโดยเลี่ยงภาษี แต่ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฏหมายอังกฤษ อย่างไรก็ตามคู่แข่งทางการค้าอเมซอนในอังกฤษได้ประท้วงว่า ไม่เป็นการชอบธรรมที่อเมซอนจะสามารถเสนอราคาสินค้าได้ถูกกว่า
       
ทางด้านบริษัทอเมซอน อังกฤษ ได้กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า ผู้ตรวจสอบด้านความปลอดภัยอย่างเป็นทางการของบริษัทไม่ได้ส่งสัญญาณเตือนถึงเรื่องนี้ และผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ทางอเมซอนได้จ้างเพื่อตรวจสอบได้ให้ความเห็นว่า “ตำแหน่งพนักงานหยิบสินค้า” ที่คล้ายกับงานลักษณะใกล้เคียงกันในภาคธุรกิจอื่นๆนั้นไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตแต่อย่างใด”
       
นอกจากนี้แถลงการณ์ยังกล่าวว่า ทางอเมซอนได้เตือนล่วงหน้าในการสมัครงานแล้วว่า บางตำแหน่งที่จะเข้าบรรจุอาจต้องใช้พละกำลังมาก และพนักงานหลายคนสนุกกับลักษณะการทำงานประเภทนี้
       
ในขณะที่ในวันจันทร์(25)ที่ผ่านมา พนักงานอเมซอนเกือบพันคนในเยอรมันได้รวมตัวประท้วงเพื่อต่อรองค่าจ้างและสวัสดิการ และเผยว่าจะมีผู้ร่วมประท้วงมากกว่านี้ในช่วงก่อนเทศกาลคริสมาสต์หากทางบริษัทอเมซอน เยอรมัน ไม่ตกลงเพิ่มค่าแรงให้
       
โดยการประท้วงผละงานเกิดขึ้นที่โกดังจ่ายสินค้าในBad Hersfeld และ Leipzig ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการผลักดันของสหภาพแรงงาน ver.di ที่ได้ทำเพื่อหาข้อตกลงครั้งนี้ ซึ่งถึงแม้บริษัทอเมซอน เยอรมันได้สัญญาที่จะมีโบนัสให้กับพนักงาน แต่ทางสหภาพver.di ถือว่าไม่เพียงพอ และขึ้นอยู่กับอเมซอนที่จะต้องการเห็นการผละงานมากขึ้นหรือไม่
       
อย่างไรก็ตามอเมซอน เยอรมันได้กล่าวว่า พนักงานของอเมซอนได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่าพนักงานที่อื่นเมื่อเทียบกับงานในลักษณะเดียวกัน

มาเลย์กวาดจับแรงงานเถื่อน

26 พ.ย. 2013 - ตำรวจมาเลเซียกวาดจับผู้เดินทางเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายหรือแรงงานเถื่อนในรัฐปีนังได้ 30 คน โดยผู้ที่ถูกจับกุมเป็นอินโดนีเซีย 14 คน ชาวกัมพูชา 7 คนพม่า 6 คน และชาวบังกลาเทศ 3 คน การจับกุมเกิดขึ้นในสถานที่ก่อสร้างแห่งหนึ่ง ส่วนที่รัฐสลังงอร์ ผู้เดินทางเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายอีก 100 คนก็ถูกควบคุมตัวเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทั้งหมดมาจากเวียดนามและบังกลาเทศ กลุ่มหลังนี้ถูกดำเนินคดีเพราะอยู่เกินเวลาที่ได้รับอนุญาตและใช้ใบอนุญาตทำงานผิดประเภท

แรงงานผิดกฎหมายชาวเอธิโอเปีย 50,000 คนถูกส่งกลับจากซาอุฯ

27 พ.ย. 2013 - กระทรวงต่างประเทศเอธิโอเปีย แถลงว่า แรงงานชาวเอธิโอเปียกว่า 50,000 คนเดินทางกลับมาถึงซาอุดิอาระเบียแล้ว หลังนโยบายปราบปรามแรงงานผิดกฎหมายในซาอุดีอาระเบีย  

โฆษกต่างประเทศเอธิโอเปีย แถลงว่า ก่อนนี้คาดว่า ตัวเลขแรงงานมีเพียง 10,00 คนแต่กลับเพิ่มขึ้น และคาดว่า ยอดรวมแรงงานที่ถูกส่งตัวกลับจะมีจำนวนราว 80,000 คน ทางการเอธิโอเปียต้องรับพลเมืองที่ถูกส่งกลับมาจากซาอุดิอาระเบียหลังสิ้นสุดกำหนดผ่อนผัน 7 เดือนสำหรับชาวต่างชาติที่พำนักโดยผิดกฎหมายเมื่อ 4 พฤศจิกายน ทั้งยังมีเหตุประท้วงรุนแรงระหว่างตำรวจซาอุดีอาระเบียกับผู้อพยพชาวเอธิโอเปียที่จะต้องเดินทางออกนอกประเทศ โดยมีชาวเอธิโอเปียเสียชีวิต 3 คนจากการปะทะกัน อย่างไรก็ตาม ทางการเอธิโอเปีย แถลงว่า ความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียยังคงความเป็นพี่น้องกันและสิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องนำพลเมืองเดินทางกลับประเทศ

เครนสร้างสนามบอลโลกบราซิลพังถล่ม-คนงานเสียชีวิต 2 ราย

27 พ.ย. 2013 - สำนักข่าวบีบีซี ของอังกฤษรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ว่าเกิดอุบัติเหตุขึ้นที่สนามเซาเปาโล ซึ่งใช้เป็นสังเวียนเปิดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิลเป็นเจ้าภาพ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เจ้าหน้าที่ดับเพลิงของบราซิลเปิดเผยว่า อุบัติเหตุดังกล่าวเกิดจากเครนที่ใช้สำหรับการก่อสร้างสนามอารีน่า โครินเธียนส์ ในบราซิลพังลงมา ทำให้อัฒจันทร์บางส่วนหนึ่งพังลงมาด้วย สำหรับสนามแห่งนี้มีกำหนดจะต้องสร้างเสร็จในช่วงปลายเดือนธ.ค. ตามเส้นตายของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า

ที่มาเรียบเรียงจาก: ประชาไท, สำนักข่าวไทย, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, ไทยรัฐออนไลน์, มติชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท