Skip to main content
sharethis

ทูต 30 ประเทศตอบรับ หลัง ศอ.รส. ยืนยันไม่ใช้ความรุนแรง เชิญทูต องค์กรสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมใหญ่วันพรุ่งนี้ พร้อมเตือนระวังมือที่ 3 ก่อเหตุรุนแรง ญาติชายไทยร้อง ตร.หลังถูกสุเทพอ้างเป็นเขมรมาเผาม็อบ

9 ธ.ค.2556  เวลา 09.00 น.  เว็บไซต์ข่าวสด  รายงานว่า  กระทรวงการต่างประเทศแจ้งยกเลิกการเชิญคณะทูตจากประเทศต่างๆ เข้าสังเกตการณ์ การชุมนุมของม็อบนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่มกปปส. ที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว

 

ทูต 30 ประเทศตอบรับหลัง ศอ.รส.เชิญสังเกตม็อบนกหวีด พร้อมนักสิทธิฯ-สื่อ

8 ธ.ค. 2556 เมื่อเวลา เวลา 12.00 น. ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. แถลงถึง กรณีที่ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) จะร่วมเดินขบวนจากที่ต่างๆ มุ่งสู่ทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้ (9 ธ.ค.) ว่า ทาง ศอ.รส.ยืนยันยังเน้นที่จะประคับประคองสถานการณ์ให้ค่อยคลี่คลาย โดยเน้นการพูดคุยและหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่ง ระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน กับผู้ชุมนุมให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์เริ่มตึงเครียด มีกลุ่มมือที่ 3 สอดแทรกเข้ามาสร้างความวุ่นวายและมีการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวันที่ 9 ธ.ค. ซึ่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศ ว่าจะเป็นวันชี้เป็นชี้ตาย จึงฝากเตือนผู้ชุมนุมทุกกลุ่มให้มีความระมัดระวัง และ ศอ.รส. ก็จำเป็นต้องเข้าควบคุมสถานการณ์ โดยจะใช้วิธีการสันติไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง เนื่องจากตระหนักดีว่าเป็นสิทธิของประชาชนตามกฎหมายที่จะร่วมชุมนุมอย่างสงบและสันติ โดยจะมีการเชิญ ทูต องค์กรอิสระ กลุ่มสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมสังเกตการณ์ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ศอ.รส. ด้วย

สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 9 ธ.ค. เจ้าหน้าที่จะแต่งเครื่องแบบให้เห็นอย่างชัดเจน หากผู้ร่วมชุมนุมจะเข้าสถานที่ก็จะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่ให้เกิดความสูญเสีย การใช้อาวุธจะทำเท่าที่จำเป็นและมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และความเหมาะสม และขอเชิญสื่อมวลชนร่วมบันทึกภาพทำข่าว การปฏิบัติหน้าที่ ควบคุมการชุมนุม ตามจุดสูง หรือจะปะปนกับเจ้าหน้าที่ก็ได้ เพื่อเป็นสักขีพยานว่า ศอ.รส. ไม่ได้ใช้ความรุนแรงในการควบคุมม็อบ

โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเน้นการรักษาความปลอดภัยทำเนียบรัฐบาล และจะเปิดพื้นที่การชุมนุมให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมมากขึ้น จากเดิมที่เน้นการรักษาความปลอดภัยทั้งอาคารัฐสภา กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และทำเนียบรัฐบาล ซึ่ง ศอ.รส.จะลดระดับพื้นที่ที่รักษาความปลอดภัยเหลือเพียงเฉพาะพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลเท่านั้น ส่วนบริเวณ ถนนราชดำเนินนอก ด้านหน้ากระทรวงศึกษาธิการ บริเวณสะพานมัฆวาน สามารถชุมนุมได้ทั้งหมด ซึ่งตำรวจขอสงวนไว้เฉพาะถนนลูกหลวง บริเวณประตู 6 และถนนนครปฐม ซึ่งจะมีสิ่งกีดขวางเพื่อแสดงอาณาเขตพื้นที่หวงห้ามไว้ที่หัวถนนนครปฐม บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐษ์ สะพานอรทัยและบริเวณสะพานมัฆวานเท่านั้น จึงขอความร่วมมือกลุ่มผู้ชุมนุมให้อยู่บริเวณด้านนอกอย่าพยายามบุกรุกเข้าไปภายในพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล

นอกจากนี้ ได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมในการเฝ้าระวังบุคคลไม่ทราบฝ่ายเหล่านี้ได้ก่อเหตุตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยกำหนดจุดสูงข่ม หรืออาคารสูง โดยรอบพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล จำนวน 11 จุด โดยจะจัดกำลังตำรวจขึ้นไปประจำ ขณะเดียวกันประสานขอกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจของกรุงเทพมหานคร และขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนส่งตัวแทนเข้าร่วมสังเกตการณ์ และหากเป็นไปได้จะขอความร่วมมือกลุ่มผู้ชุมนุมส่งการ์ดมาร่วมสังเกตการณ์ตามจุดสูงข่มเหล่านี้ด้วย

มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศได้ทำหนังสือเชิญคณะทูตประจำประเทศไทยไปประมาณ 60 ประเทศ ได้ตอบรับคำเชิญแล้ว 30 ประเทศ โดยทั้งหมดจะเดินทางออกจากกระทรวงการต่างประเทศให้ถึงทำเนียบรัฐบาลในเวลา 08.00 น. หรือก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินทางมาถึง

เว็บไซต์ครอบครัวข่าว 3 รายงานด้วยว่า ญาติของ นายสมภพ ขันทอง มาร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าทราบข่าวว่านายสมภพถูกกลุ่มผู้ชุมนุมจับกุม และถูกกล่าวหาเป็นสายลับเขมร วันนี้ จึงนำหลักฐานมายืนยันว่านายสมภพเป็นคนไทย ไม่ได้เป็นสายลับตามที่ถูกกล่าวหา

ปชป.ซัดใช้เล่ห์เชิญทูตเข้าทำเนียบฯ หวังให้เป็นตัวประกันบีบม็อบ

วันเดียวกัน ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า  รัฐบาลดำเนินการไม่ถูกต้องในการที่ให้ ศอ.รส.เชิญทูตประจำประเทศไทยทุกประเทศมาที่ทำเนียบรัฐบาลในเช้าวันจันทร์ที่ 9 ธ.ค. โดยอ้างว่าให้มาสังเกตการณ์การเตรียมการรับมือผู้ชุมนุม ทั้งๆ ที่ทราบอยู่แล้วว่าจะมีประชาชนจำนวนมากเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลแต่รัฐบาลกลับยืนยันที่จะเชิญทูตมาทำเนียบรัฐบาลเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้องเป็นการพยายามที่จะใช้เอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ มาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลและเอาชีวิตและทรัพย์สินของทูตเจ้าหน้าที่มาสุ่มเสี่ยงกับสถานการณ์ภายในประเทศของไทย ทั้งๆ ที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของคนเหล่านี้ จึงขอถามว่าหากเอกอัครราชทูตเหล่านี้ไม่สามารถเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาลที่ประชาชนล้อมไว้ได้ รัฐบาลจะรับผิดชอบ

อย่างไรก็ตาม ตนจึงเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรยืมมือเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ มาใช้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาล เพราะมีข่าวปรากฏจำนวนมากว่าสถานทูตบางประเทศมีท่าทีสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลในครั้งนี้ ซึ่งอาจจะป็นเป้าหมายที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อคนที่ถูกเชิญมา จึงอยากให้นายกทบทวนและหาทางระงับยับยั้งการเชิญเอกอัครราชทูตในเช้าวันจันทร์เพราะไม่เกิดผลดีต่อการแก้ปัญหาวิกฤตบ้านเมืองแต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net