Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“สันติวิธีจำเป็นสำหรับเรา...พวกเราเบื่อเหลือทนกับความรุนแรงระลอกแล้วระลอกเล่าตลอดช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมา [ในอดีตยูโกสลาเวีย] แล้วรัฐบาลมิโลเซวิทชยังเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรง ดังนั้นพวกเราจึงต้องออกจากประวัติศาสตร์แบบนี้ด้วยการต่อสู้กับรัฐบาลแบบไม่ใช้ความรุนแรง” – มาร์โก ซิมิทช

เมื่อครั้งยังเก็บข้อมูลเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในประเทศเซอร์เบีย (ยุโรปตะวันออกเฉียงใต้) ผู้เขียนได้ยินวลีเช่นข้างต้นบ่อยครั้งจากกลุ่มเยาวชนรณรงค์ประชาธิปไตยในเซอร์เบียที่ชื่อว่า “ออทปอร์” สมาชิกของกลุ่มอายุราว 15 ถึง 35 ปี ส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่มเลือดร้อน (ตามประสาชาวเซริ์บทั่วไป) ทว่าเพราะปัจจัยหลักสองประการที่ทำให้แกนนำกลุ่มและสมาชิกยึดมั่นในยุทธศาสตร์สันติวิธี ประการแรกคือลักษณะอำนาจนิยมของรัฐบาลสโลโบดาน มิโลเชวิทช ซึ่งเป็นเป้าการประท้วงของกลุ่มในขณะนั้น ไม่เพียงแต่รัฐบาลจะจำกัดเสรีภาพทางการเมืองของผู้คน แต่ยังคุมหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ และเชี่ยวชาญในการใช้หน่วยงานเหล่านี้เพื่อปราบปรามกลุ่มต่อต้านติดอาวุธดังที่ดำเนินการในโคโซโว “ออทปอร์” เลือกใช้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงประท้วงรัฐบาลมิโลเชวิท เพราะรู้ดีว่านี่ไม่ใช่ “สนามรบ” ที่รัฐบาลสันทัด

บริบทที่สองที่เอื้อให้ “ออทปอร์” ใช้สันติวิธีคือสงครามระลอกต่างๆ ที่ชาวเซอร์เบียประสบนับแต่ศตวรรษที่ 14 จวบจนถึงสงครามคาบสมุทรบอลข่านสองครั้งช่วงต้นศตวรรษที่ 20 สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามโลกครั้งที่สอง ตลอดจนสงครามกับโครเอเชีย บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา และโคโซโว (ซึ่งในท้ายที่สุดเซอร์เบียถูกสหรัฐและพันธมิตรทิ้งระเบิดโจมตี) ในช่วงทศวรรษที่ 1990  ประมาณการว่าในสงครามโลกครั้งที่สองเพียงสงครามเดียว ประชากรในเซอร์เบียรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในคาบสมุทรบอลข่านเสียชีวิตไปถึงร้อยละ 11 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในบทบันทึกการเดินทาง ณ คาบสมุทรแห่งนี้ นักเขียนชาวอังกฤษ Rebecca West บรรยายภาวะสงครามที่ผู้คนต้องเผชิญอย่างต่อเนื่อง โดยสมมติให้ตนมีพลังพิเศษ เมื่อจับไหล่ของชาวนาคนหนึ่งในบอลข่าน และถามว่าเขาเคยเห็นสันติภาพหรือไม่ ชาวนาผู้นั้นตอบว่าไม่ จากนั้นหน้าของชาวนาก็เปลี่ยนเป็นพ่อ ปู่ ปู่ทวด และทวดของทวด ทั้งหมดตอบเหมือนกันว่าไม่เคยเห็นสันติภาพหยั่งรากเลย ประวัติศาสตร์สงครามเหล่านี้ถูกบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่น นักปฏิบัติการของกลุ่มออทปอร์จำนวนมากกลายเป็นส่วนหนึ่งของปฏิวัติศาสตร์นองเลือดนี้ด้วย เด็กหนุ่มถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ผ่านพบความตายอันโหดร้ายในสงครามที่ตนไม่ได้ก่อ พวกเขาจึงหันหน้าเข้าหาสันติวิธีในฐานะเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองเพื่อการเปลี่ยนผ่านการเมืองในเซอร์เบียเพราะไม่อาจทนเห็นผู้คนเข้าห้ำหั่นกัน โดยเฉพาะเพื่อนร่วมชาติของพวกเขา

ผู้เขียนรู้สึกว่านักปฏิบัติการของ “ออทปอร์” เป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งสะท้อนว่ามนุษย์มีอิสระในการเลือกกระทำการทางการเมือง (agency) ที่น่าสนใจคือการตัดสินใจเลือกใช้สันติวิธีของกลุ่มเยาวชนในเซอร์เบียเป็นผลจากประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่ผู้คนประสบ กล่าวให้ฟังยอกย้อนคือความทรงจำเกี่ยวกับความรุนแรงของผู้คนในสังคมผลักให้ต้องเสาะหาทางเลือกในการคลี่คลายความขัดแย้งแบบไม่นองเลือด เรื่องเล่าและข้อสังเกตจากแดนไกลนี้เกี่ยวอะไรกับความขัดแย้งที่ครุกรุ่นในสังคมไทย ณ ห้วงปัจจุบัน?

ผู้เขียนคิดว่าเกี่ยวอย่างยิ่ง ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่แหลมคมเช่นนี้ ผู้คนแบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย ทั้งยังต่างสนับสนุนค่ายหรือพรรคทางการเมืองที่ตนเห็นชอบด้วย ลักษณะสังคม “สองเสี่ยง” (polarised society) เช่นนี้สังเกตเห็นได้จากข้อความในโลกสังคมออนไลน์ที่มุ่งโจมตี มาดร้ายกับผู้ซึ่งตนตัดสินว่าฝักใฝ่ค่ายการเมืองตรงข้ามกับตน การตัดสินอย่างรวดเร็วนี้ละเลยข้อเท็จจริงไปว่าค่ายทางการเมืองที่คิดว่ามีเพียงสอง และตายตัว (fixed) นั้น แท้จริงแล้วเต็มไปด้วยจุดยืนอันหลากหลาย อีกทั้งจุดยืนเหล่านี้ยังเปลี่ยนไปมาได้ เช่น ผู้ที่เคยอ้างว่าตนเป็นคนเสื้อแดง มาวันหนึ่งอาจไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคเพื่อไทย หรือผู้ที่เคยเข้าร่วมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในตอนแรก มาบัดนี้อาจเริ่มลังเลใจเพราะไม่เห็นด้วยกับเป้าหมายของแกนนำผู้ประท้วง ที่สำคัญไปกว่านั้นการสลับกันประท้วงระหว่างค่ายเหลือง-แดงในช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมาได้พรากชีวิตบุคคลอันเป็นที่รักของหลายครอบครัวไป สังคมไทยสูญเสียสมาชิกจากความขัดแย้งครั้งไปเผลอๆ อาจร่วมหลักร้อยแล้ว จริงอยู่ตัวเลขอาจฟังดู “น้อย” ทว่าสำหรับครอบครัวและเพื่อนพ้องของเหยื่อจากการปราบปราม-ปะทะ เพียงหนึ่งศพก็นับว่าเป็นความสูญเสียมหาศาล

เราฆ่ากันพอหรือยัง? ผู้เขียนสนใจศึกษาขบวนการประท้วงทางการเมือง และมักเข้าสังเกตการณ์พื้นที่ประท้วงต่างๆ ไม่ว่าจะจัดโดยค่ายการเมืองไหนก็ตาม บรรยากาศที่คล้ายกันในที่ชุมนุมเหล่านี้คือพลังของปัจเจกชน ซึ่งรู้สึกว่ากำลังทำอะไรบางอย่างเพื่อการเปลี่ยนแปลง จริงอยู่ที่ผู้นำปราศรัยมีบทบาทในการปลุกอารมณ์ร่วมของผู้ประท้วง – และในบริบทของสังคมไทยขณะนี้ อาจรวมถึงการใช้ถ้อยคำเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือรวมถึง “ความเป็นคน” ของอีกฝ่าย – อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่าผู้เข้าร่วมชุมนุม “ตัดสินใจ” บนฐานคิดบางประการ โดยเฉพาะการตัดสินเชิงศีลธรรมว่าอะไรดีชอบในสายตาตน การตัดสินใจนี้สะท้อนลักษณะ “ความเป็นผู้กระทำการ” ซึ่งในที่นี้มิได้มีนัยถึงอิสระในการตัดสินใจของปัจเจกแบบเต็มที่ ผู้กระทำการตัดสินใจโดยได้รับอิทธิพลจากสภาวะทางสังคม-เศรษฐกิจที่แวดล้อมตน เหนือสิ่งอื่นใด ผู้กระทำการตัดสินใจบนฐานทางประวัติศาสตร์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ความทรงจำและประสบการณ์ในอดีต (ทั้งที่ผ่านพบโดยบุคคลหรือชุมชน) เป็นแรงขับเคลื่อนให้เราเลือกทำหรือไม่ทำอะไรบางอย่าง หากสังคมไทยคือองคาพยพหนึ่ง ประสบการณ์ความสูญเสียจากการปราบปราม-ปะทะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอาจเตือนใจให้ผู้คนในสังคมนี้เห็นผลจากของ “การฆ่า” สมาชิกคนอื่นเพียงเพราะเห็นต่างทางการเมือง และหากความขัดแย้งครั้งนี้จะอยู่กับเราอีกไปพักใหญ่เพราะรัฐและสังคมไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองเศรษฐกิจทั้งภายในและระดับโลก ประสบการณ์ความรุนแรงนี้อาจจำเป็นต่อการตัดสินใจของ “ผู้กระทำการ” ให้เข้าพันตูในความขัดแย้งระลอกต่างๆ แบบที่ไม่สร้างเงื่อนไขให้เราฆ่ากัน

คนไทยไม่ฆ่ากัน? (Non-killing Thai society) ปัจเจกบุคคลอย่างเราๆ ท่านๆ กระทำการอะไรได้บ้างเพื่อสร้างบรรยากาศ “คนไทยไม่ฆ่ากัน” (แต่ก็ไม่จำเป็นต้องรักกันเป็นหนึ่งเดียว เรายอมรับว่าเราทะเลาะกันได้ เห็นต่างกัน อดทนกับความเห็นขัดหูขัดตาบนเฟซบุ๊กได้ เป็นต้น) ผู้เขียนมีข้อเสนอสี่ประการดังนี้

หนึ่ง ร่วมถกเถียงกับเพื่อนที่เห็นต่างกับเราด้วยเหตุผล พยายามเข้าใจฐานคิดของเขาว่าคืออะไร และแลกเปลี่ยนฐานคิดของเรา รวมทั้งอาจต้องยอมรับว่าเราเห็นแย้งกันได้

สอง ถ้อยคำที่กดฝ่ายตรงข้ามให้ไม่เป็นคนอันตรายอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพราะถ้อยคำเหล่านี้ยั่วยุให้ฝ่ายตรงข้ามทำร้ายเรา แต่มันบ่มเพาะเงื่อนไขให้ “ฝ่ายเรา” เองใช้ความรุนแรงก่อน ความขัดแย้งในสังคมไทยขณะนี้คือการช่วงชิงความชอบธรรมของฝ่ายต่างๆ ฉะนั้นฝ่ายที่ถูกมองว่ารุนแรงกว่าอีกฝ่ายอาจเพลี่ยงพล้ำในสมรภูมิความชอบธรรมนี้

สาม ตั้งคำถามกับจุดยืนทางการเมืองของตัวเองเป็นครั้งคราวก็ไม่เสียหาย เพราะจุดยืนเปลี่ยนไปมาได้ เราไม่จำเป็นต้องสมาทานจุดยืนแบบสุดโต่งของค่ายการเมืองค่ายใดค่ายหนึ่งแบบเต็มที่ หากทำเช่นนี้ได้ เราจะเห็นความหลากหลายของความเห็นทางการเมืองที่ไปไกลกว่าขาว-ดำ ดี-ชั่ว นี่อาจช่วยเบียดบังให้แนวคิดสุดโต่งตกขอบ และลดทอนเงื่อนไขในการห้ำหั่นผู้เห็นต่าง

สี่ สนับสนุนแคมเปญของภาคส่วนต่างๆ ที่รณรงค์การไม่ใช้ความรุนแรง ล่าสุดผู้เขียนเห็นเพจเฟซบุ๊ก อย่าง “คนไทยไม่ฆ่ากัน” หรือ “ไทยอดทน” ซึ่งรณรงค์การอยู่ร่วมกันภายใต้กฎกติกาของสังคม, การติดแท็ก (#) “หยุดความรุนแรง ไม่เอาสงครามกลางเมือง”, รวมถึงการชักชวนให้ลงนามในแคมเปญ “หยุดความรุนแรง เปิดการเจรจา” ในเว็บไซต์ change.org เป็นต้น แนวคิดเหล่านี้อาจช่วยเจือจางบรรยากาศที่สร้างความเป็นปรปักษ์ และเปิดทางเลือกให้แก่เสียงที่เห็นด้วยกับการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความต่างทางความเห็นทางการเมือง

แน่นอนว่าย่อมมีข้อเสนอที่ห้า หก และต่อๆ ไป เพื่อให้เราอยู่กับความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของพวกเราทุกซึ่งเป็นผู้กระทำการในสังคมไทยไม่ฆ่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net