Skip to main content
sharethis

ครม. อนุมัติ ค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย

นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือครม.ว่า ที่ประชุมครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ และมอบให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปเนื่องจากกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่า รักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2551 ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบันที่มีอัตราค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ สูงขึ้น สมควรปรับปรุงอัตราค่ารักษาพยาบาลให้มีความเหมาะสมเพื่อเป็นการช่วยเหลือ ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จึงได้มิการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงดังกล่าว

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง ร่างข้อ 1 ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2551 ร่างข้อ 2 เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 50,000 บาท ร่างข้อ 3 ในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 2. ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มอีกไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างในลักษณะ ดังต่อไปนี้ กรณี 1 ประสบอันตรายจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ความร้อน ความเย็น สารเคมี รังสี ไฟฟ้า หรือ ระเบิด จนถึงขั้นสูญเสียผิวหนังลึกถึงหน้าแท้ ตั้งแต่ร้อยละยี่สิบห้าของพื้นที่ผิวของร่างกาย 4. ร่างข้อ 4 ในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 3. ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีกโดย เมื่อรวมค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 2. และข้อ 3. แล้วต้องไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างในลักษณะ ดังต่อไปนี้ ฯลฯ ร่างข้อ 5 ในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 4 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่ม ขึ้นอีกโดยเมื่อรวมค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ทั้งนี้ ตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ ร่างข้อ 6 ในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 5 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่ม ขึ้นอีก โดยเมื่อรวมค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 แล้ว ต้องไม่เกิน 1,000,000 บาท ทั้งนี้ ตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ร่างข้อ 7 ลักษณะการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่คณะกรรมการการแพทย์จะพิจารณาให้นาย จ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นตามความในข้อ 5 หรือข้อ 6 ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และ ร่างข้อ 9 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับรวมถึง ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ ซึ่งเป็นผู้ป่วยในที่เข้ารักษาพยาบาลครั้งแรกและยังคงรักษาพยาบาลอยู่จนถึง วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ

(บ้านเมือง, 3-12-2556)

ก.อุตสาหกรรมไฟเขียวตั้ง 12 โรงงาน มูลค่าลงทุนกว่า 5.8 พัน ลบ.

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบ ต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยหลังการประชุมเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.56 โดยมีเรื่องเสนอเข้ามา จำนวน 13 ราย ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้พิจารณาอนุญาตทั้งสิ้น 12 ราย

ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)ขอถอนเรื่องให้หน่วยงานเดิมที่มีอำนาจในการอนุญาตไปดำเนินการต่อ กรณีโรงงานขาดต่ออายุการต่ออนุญาต โดยไม่ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ จำนวน 1 ราย จึงทำให้ปัจจุบันไม่มีเรื่องค้างที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ แต่อย่างใด

"โรงงานที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาอนุญาตในครั้งนี้ 12 แห่ง มีการส่งเอกสารหลักฐานการขออนุญาตจัดตั้งอย่างถูกต้องครบถ้วนตามที่ได้กำหนด ไว้ รวมทั้งมีการทำประชาพิจารณ์สอบถามความคิดเห็นจากประชาชนโดยรอบโรงงาน จึงไม่มีปัญหาการต่อต้านจากชุมชนในพื้นที่ที่มีการขออนุญาต" นายวิฑูรย์กล่าว

สำหรับโรงงานที่ได้รับการอนุญาตในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ มี 12 ราย ดังนี้

1.บริษัท กระเบื้องกระดาษไทย จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 93 หมู่ที่ 11 ตำบลบางโขมด อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี  ประกอบกิจการผลิตกระเบื้องซีเมนต์เสริมใย กำลังการผลิตสมาร์ทบอร์ด สมาร์ทวูด 55,000/ตัน/ปี เงินลงทุน 404 ล้านบาท จ้างแรงงาน 48 คน

2.บริษัท อุทัยธานี ไบโอ เอเนอยี่ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 99/1 หมู่ที่ 10 ถนนสว่างอารมณ์-ลานสัก ตำบลไผ่เขียว อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี  ประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากชีวมวล กำลังการผลิต 116 เมกะวัตต์  เงินลงทุน 870 ล้านบาท จ้างแรงงาน 63 คน

3.บริษัท เมโทร ไฟเบอร์ จำกัด  ตั้งอยู่ที่ตำบลบางเดชะ อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ประกอบกิจการผลิตแผ่นใยไม้อัดแข็ง กำลังการผลิตแผ่น hard board 60,000 ตัน/ปี เงินลงทุน 280 ล้านบาท จ้างแรงงาน 120 คน

4.บริษัท โออิชิ เทรดดิ้ง จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 60/68 หมู่ที่ 19 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ประกอบกิจการผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ กำลังการผลิตน้ำชาผสมบรรจุเสร็จพร้อมดื่ม 34,200 ตัน/ปี  เงินลงทุน 816 ล้านบาท จ้างแรงงาน 236 คน

5.บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เบทาโกร โฟรเซ่นฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 218 หมู่ที่ 1 ตำบล ช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ประกอบกิจการผลิตอาหารสำเร็จรูปจากเนื้อสัตว์แช่เย็น หรือแช่แข็ง กำลังการผลิตไก่ชุบแป้งทอด 18,023 ตัน/ปี, ไก่ย่าง 5,918 ตัน/ปี, ไก่นึ่ง 2,959 ตัน/ปี เงินลงทุน 105 ล้านบาท จ้างแรงงาน 1,952 คน

6.บมจ.ไทยออพติคอล กรุ๊ป (TOG) ตั้งอยู่เลขที่ 15/5 ตำบลละหาร ถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ประกอบกิจการผลิตเลนส์แว่นตาพลาสติก และบรรจุเลนส์แว่นตา เงินลงทุน 269 ล้านบาท จ้างแรงงาน 744 คน

7.บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 90 หมู่ที่ 15 ถนนมิตรภาพ กม.225 ตำบลสูงเนิน อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ประกอบกิจการผลิตและประกอบชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เงินลงทุน 986 ล้านบาท จ้างแรงงาน 11,988 คน

8.บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 88/8 หมู่ที่ 3 ถ. วงแหวนตะวันตกหมายเลข 9 ตำบลบางกระบือ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ประกอบกิจการแบ่งบรรจุก๊าซธรรมชาติ กำลังการผลิต 91,250 ตัน/ปี เงินลงทุน 265 ล้านบาท จ้างแรงงาน 19 คน

9.บริษัท เกาะเต่า วินด์ จำกัด  ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม กำลังการผลิต 4.8 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 320 ล้านบาท จ้างแรงงาน 7 คน

10.บริษัท สยามโซลาร์ เอ็นเนอร์ยี่ 1 จำกัด ตั้งอยู่หมู่ที่ 12 ตำบลรางสาลี่ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 10.50 เมกะวัตต์  เงินลงทุน 520 ล้านบาท จ้างแรงงาน 6 คน

11.บริษัท สยามโซลาร์ เอ็นเนอร์ยี่ 1 จำกัด ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลหนองไผ่ อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 10.50 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 527 ล้านบาท จ้างแรงงาน 6 คน

12.บริษัท สยามโซลาร์ เอ็นเนอร์ยี่ 1 จำกัด ตั้งอยู่หมู่ที่ 13 ตำบลหนองโอ่ง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 10.50 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 524 ล้านบาท จ้างแรงงาน 6 คน

ทั้งนี้ มี 1 โรงงานที่ กรอ.ขอถอนเรื่องให้หน่วยงานเดิมที่มีอำนาจในการอนุญาตไปดำเนินการต่อ คือ บริษัท เบลตัน อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

(ประชาชาติธุรกิจ, 4-12-2556)

สศอ.ดันเอสเอ็มอีอุตฯแฟชั่นลงทุนเพื่อนบ้าน หวังใช้สิทธิจีเอสพีหลังไทยโดนตัด

นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการย้ายฐานการผลิตให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประเภทอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ ไปยังประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากการปรับ ขึ้นค่าแรงงานเป็นวันละ 300 บาท ทำให้กำไรลดลงมาก

โดยโครงสร้างต้นทุนและกำไรต่อยอดขายของสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะลดลงเหลือเพียง 1.9% จากเดิมอยู่ที่ 6.8% และยัง

สามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ของประเทศเพื่อนบ้านหลังจากไทยถูกตัดสิทธิ์ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้

ทั้งนี้หากผลการศึกษาแล้วเสร็จ สศอ.จะนำมาเผยแพร่ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใช้ในการตัดสินใจอย่างมี ประสิทธิภาพ ก่อนเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น รูปแบบทางเลือกที่เหมาะสมรูปแบบการลงทุน รวมถึงการร่วมทุนหาพันธมิตรพร้อมคู่มือแนวปฏิบัติซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมแฟชั่นขนาดใหญ่หลายราย ได้ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้ว

นอกจากนี้ในปี 2557 สศอ.จะผลักดันโครงการต่างๆ ภายใต้งบประมาณ 21 ล้านบาทเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรม แฟชั่นเช่น โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มเครือข่ายอุตสาหกรรมแฟชั่นและรูปแบบการเชื่อมโยง เชิงสร้างสรรค์อย่างครบวงจร ซึ่งจะทำให้เกิดรูปแบบการเชื่อมโยงเครือข่ายรูปแบบใหม่ในอุตสาหกรรมแฟชั่น ครบวงจรให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ที่จะครอบคลุมทั้งเสื้อผ้า เครื่องหนังรองเท้า และเครื่องประดับ รวมทั้งจะดำเนินโครงการศูนย์สารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยจะทำให้ผู้ประกอบการมีแหล่งข้อมูลเชิงลึกที่สมบูรณ์ นำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์ วางแผน และกำหนดกลยุทธ์ให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อุตสาหกรรมแฟชั่น ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ทั้งสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, รองเท้าและเครื่องหนัง,อัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งทั้ง 3 สาขาอุตสาหกรรมนี้ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างยิ่ง ทำให้เกิดการจ้างงานถึง 2.2 ล้านคน โดยแต่ละอุตสาหกรรมแฟชั่น สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศคิดเป็นมูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่า 600,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของมูลค่าการส่งออกของสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด แบ่งเป็นมูลค่าจากการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มประมาณ 216,000 ล้านบาทผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนังประมาณ 48,000 ล้านบาทอัญมณีและเครื่องประดับประมาณ 390,000 ล้านบาทนายสมชาย กล่าว

อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วยเส้นใยต้น แบบ และการออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอทางเทคนิค ซึ่งจะเป็นการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้งทาง การเกษตร และสร้างความหลากหลายให้วัสดุเส้นใย เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดความเชื่อมโยงและบูรณาการการทำงานระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาค การเกษตรอย่างใกล้ชิดทั้งนี้จะนำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกร จากการนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้อย่างครบวงจร

(แนวหน้า, 7-12-2556)

มาเลย์ขอแรงงานนวดไทย 1 พันคน กพร.รับสมัครอบรม-เริ่มส่ง มี.ค.

นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายWalter Goh กรรมการผู้จัดการบริษัทรีบอร์น ไทย เอสดีเอ็น บีเอชดี (Reborn Thai San bhd) ประเทศมาเลเซีย ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการนวดเพื่อสุขภาพ ได้มาหารือโดยแจ้งว่า ขณะนี้มีความต้องการพนักงานในตำแหน่งพนักงานนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ

จำนวน 1,000 อัตรา เนื่องจากต้องการขยายกิจการโดยจะออกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมฝีมือแรงงานคนละ 15,040 บาท รวมทั้งหมดกว่า 15 ล้านบาท
      
อธิบดี กพร.กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค (สพภ.) 10 ลำปาง เป็นผู้รับสมัครและจัดอบรมทักษะวิชาชีพนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพให้แก่แรงงานที่ สนใจโดยผู้สมัครต้องจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ขึ้นไป มีอายุระหว่าง 15-35 ปี สุขภาพแข็งแรง มีบุคลิกภาพเหมาะสม โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2557 โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดและสมัครได้ที่ www.lampangskill.com หรือwww.chiangmaiskillspaacademy.com หรือโทร 0-5333-0092-3, 0-5435-6681 ต่อ 503 เบื้องต้นในช่วง 6 เดือนแรกของปีหน้าในเดือนมกราคม -

กรกฎาคม 2557 จะจัดอบรมทั้งหมด 22 รุ่น รุ่นละ 25 คน รวม 550 คน และจะจัดส่งแรงงานชุดแรกจำนวน 50 คน ในปลายเดือนมีนาคม 2557 โดยทางบริษัทจะออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางมีที่พักและอาหารให้ฟรี
      
“จากการหารือบริษัทจะให้เงินเดือนแก่แรงงานไทยไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท และแรงงานไทยที่ไปจะทำงานด้านนวดเพื่อสุขภาพเท่านั้นไม่มีการขายบริการโดย เด็ดขาด เนื่องจากบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่มีมาตรฐานในการให้บริการด้านการฟื้นฟู สุขภาพผมได้ประสานงานให้อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำประเทศมาเลเซียช่วยดูแลแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงาน การที่แรงงานไทยจะไปทำงานในครั้งนี้นอกจากจะทำให้แรงงานไทยมีงานทำแล้วยัง เป็นการช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมและสินค้าเพื่อสุขภาพของไทยด้วย” นายนครกล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 9-10-2556)

ส.อ.ท.ห่วงแรงงานปี 57 ขาดแคลนถึง 5 แสนคน

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปีหน้าจะเป็นอีกช่วงที่ภาคอุตสาหกรรมจะยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่าง รุนแรง โดยคาดว่าภาคอุตสาหกรรมทุกประเภท จะขาดแคลนแรงงานรวมกัน 500,000 คน ซึ่งตัวเลขนี้ ส.อ.ท.ได้ประเมินความต้องการแรงงานดังกล่าว อยู่ภายใต้การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องและการส่งออก ของประเทศไทยปีหน้าจะขยายตัว 5%

ทั้งนี้ นอกจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานแล้ว ประเทศไทยยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือหากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นโยบายค่าแรงราคาแพงก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาหาเสียง ซึ่งอาจสูงขึ้นไปถึงวันละ 400-500 บาท แม้รัฐบาลปัจจุบันจะวางกรอบไว้ว่าจะใช้ 300 บาทไปจนถึง ปี 58 แต่การนำเรื่องนี้ไปหาเสียงก็สามารถกระทำได้เช่นกันโดยต้นทุนค่าแรงที่สูง ขึ้นทำให้ที่ผ่านมาผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อไม่ให้ต้องปิดกิจการ ทำให้นโยบายด้านแรงงานของ ส.อ.ท.ปีหน้าจะเน้นไปที่การให้ความรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลดใช้แรง งาน ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเฉพาะในกลุ่มต่างจังหวัด.

(ไทยรัฐ, 9-10-2556)

สปส.ปรับปรุงการจ่ายเงินกรณีคลอดบุตร ให้เลือกโรงพยาบาลได้อิสระ

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการปรับปรุงการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร ซึ่งจ่ายให้ผู้ประกันตนรายละ 13,000 บาทต่อการคลอดบุตร 1 คนว่า จากการหารือกับนางอำมร เชาวลิต เลขาธิการ สปส. ได้ข้อสรุปว่า สปส.ยังคงให้ผู้ประกันตนมีความสะดวกในการเลือกโรงพยาบาลที่จะคลอดบุตรได้เอง ดังนั้น สปส.จะให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกโรงพยาบาลที่จะไปคลอดบุตรได้อย่างอิสระ ทั้งนี้ เมื่อไปคลอดบุตร ก็ขอให้แจ้งต่อสำนักงาน สปส.ในพื้นที่โดยขอให้แจ้งเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ประกันตนด้วย เพื่อที่เมื่อคลอดบุตรแล้ว สปส.จะได้ตามไปจ่ายเงินค่าคลอดบุตรให้แก่ผู้ประกันตนโดยตรง หรือเรียกว่าเป็นการจ่ายเงินข้างเตียง หลังจากนั้นผู้ประกันตนก็นำเงินไปจ่ายค่าคลอดบุตรให้แก่โรงพยาบาลเอง ซึ่งแนวทางนี้ สปส.จะเริ่มนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและหลายจังหวัด เช่น ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ในเดือนธันวาคมนี้ หลังจากนั้นเดือนมกราคม 2557 จะขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ

นพ.สุรเดช กล่าวว่า ตนได้จัดทำรายงานสรุปแนวทางการปรับปรุงการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีคลอด บุตรเสนอต่อเลขาธิการ สปส.และนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ไปแล้ว ซึ่งทาง สปส.จะเร่งจัดทำแนวปฏิบัติการดำเนินการและทำหนังสือแจ้งไปยังสำนักงาน สปส.ทุกแห่ง โรงพยาบาลในระบบประกันสังคม รวมไปถึงโรงพยาบาลในสังกัดอื่นๆ เพื่อที่จะได้มีการปฏิบัติที่ตรงกันเป็นการป้องกันปัญหากรณีผู้ประกันตนไป คลอดบุตรแล้ว โรงพยาบาลโดยเฉพาะเอกชนไม่รับทำคลอด เนื่องจากเกรงว่าผู้ประกันตนจะไม่มีเงินจ่าย ส่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพราะอาการแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์นั้น ไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแลอยู่แล้ว โรงพยาบาลที่ให้การรักษาสามารถยื่นเรื่องเบิกเงินจาก สปสช.ได้โดยตรง 

(มติชน, 9-10-2556)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net