ถนนประชาธิปไตย การเมืองแบบไร้หลักการ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หลังจากที่เผชิญกับการต่อต้านจากการชุมนุมของม็อบสุเทพ เทือกสุบรรณมาเป็นเวลากว่าเดือน นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ใช้วิธีแก้ไขปัญหาในแบบสันติวิธีที่จะเป็นไปได้ นั่นคือ การประกาศยุบสภาในเวลาเช้าวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมานี้ เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน โดยกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์

ทั้งนี้ ในวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ได้ใช้ฤกษ์เวลา 9.39 น. เป็นเวลานัดชุมนุมมวลมหาประชาชนใน 9 เส้นทางเดินอารยะไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยจุดมุ่งหมายคือ การขจัดระบอบทักษิณออกจากแผ่นดิน ปรากฏว่า นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาเสียก่อนในเวลา 8.40 น. โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างสุดความสามารถเพื่อจะแก้ปัญหาให้ลุล่วงด้วยดี แต่ประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองก็ยังคงดำรงอยู่ต่อเนื่อง รัฐบาลก็ได้บริหารการชุมนุมอย่างละมุนละม่อม และประนีประนอมเสมอมา จนเมื่อถึงจุดที่ความคิดขัดแย้งอาจนำไปสู่ความแตกแยกของคนในชาติ และรุนแรงจนอาจเกิดความสูญเสียขึ้น การคืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการยุบสภาฯและจัดให้เลือกตั้งใหม่ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาตามหลักการแห่งระบอบประชาธิปไตย

ทันทีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์แถลงข่าวการยุบสภาฯ ผู้ชุมนุมรับทราบข่าวต่างแสดงความดีใจด้วยการเป่านกหวีดอย่างคึกคัก เพราะถือเป็นชัยชนะอย่างสำคัญของฝ่ายม็อบที่กดดันจนนายกรัฐมนตรียุบสภาได้ แต่การยุบสภาก็ไม่ได้ทำให้การชุมนุมยุติลงแต่ประการใด เพราะนายสุเทพก็ประกาศว่า การยุบสภาก็ไม่ได้ทำให้ระบอบทักษิณสิ้นสุดลง จึงไม่ขอยอมรับ และขอให้ประชาชนชุมนุมต่อไป ต่อมา นายสุเทพตั้งข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลาออกทั้งชุด เพราะไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นรัฐบาลรักษาการ ข้อเรียกร้องเช่นนี้ได้รับการสนับสนุนจากอคติและความเกลียดชังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทั้งที่ไม่มีเหตุผลอันชอบธรรมใดรองรับเลย และมีความเป็นไปได้ด้วยซ้ำว่า ฝ่ายนายสุเทพพยายามยื้อเกมส์ต่อ เพื่อดึงให้อำนาจนอกระบบเช่น กองทัพ องค์กรอิสระ หรือราชสำนัก ลงมาแทรกแซงให้เกิดชัยชนะเด็ดขาด

กระบวนการทั้งหมดนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงการเมืองที่ไร้หลักการอย่างยิ่งในสังคมไทย เพราะการเคลื่อนไหวของฝ่ายนายสุเทพไม่เคยยึดเหตุผลตามหลักประชาธิปไตย แต่มุ่งจะล้มรัฐบาลด้วยอำนาจพิเศษ ปรากฏว่าม็อบสุเทพกลายเป็นม็อบที่จุดติด มีมวลชนชนชั้นกลางและกลุ่มคนเกลียด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวนมากเข้าร่วม โดยเฉพาะการชุมนุมใหญ่วันที่ 24 พฤศจิกายนที่มีประชาชนเข้าร่วมนับแสนคน ซึ่งเปิดทางให้นายสุเทพยกระดับโดยการบุกเข้ายึดสถานที่ราชการหลายแห่ง และเข้าโจมตีทำเนียบรัฐบาลและกองบัญชาการตำรวจ แม้ว่าม็อบนายสุเทพจะก่อความรุนแรงและละเมิดกฎหมายเช่นนี้ ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลาง กลุ่มสลิ่มและคนเกลียดทักษิณอยู่นั่นเอง ดังจะเห็นได้จากในการเรียกชุมนุมประชาชนในวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ก็มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมากเช่นกัน

บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ก็มีส่วนอย่างสำคัญในการสนับสนุนม็อบนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และล้มล้างหลักการประชาธิปไตย ดังจะเห็นได้จากการที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้ประกาศลาออกจากรัฐสภาทั้งพรรคในวันที่ 8 ธันวาคม โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถทำหน้าที่ในสภาได้ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบด้วยการคืนอำนาจให้ประชาชน การยุบสภาของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ จึงเท่ากับการดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของพรรคประชาธิปัตย์นั่นเอง

ดังนั้น การยุบสภาของนายกรัฐมนตรี น่าจะถือได้ว่าเป็นจังหวะก้าวหนึ่งที่ผิดพลาด และเป็นการยินยอมต่อการเคลื่อนไหวอันปราศจากหลักการและเหตุผลมากเกินควร ซึ่งคงจะต้องอธิบายเพิ่มเติมให้เห็นว่า ท่าทีตลอดมาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต่อการชุมนุมของฝ่ายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็คือ หลีกเลี่ยงที่จะใช้ความรุนแรงในการปราบปราม เพื่อไม่ให้ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่มือเปื้อนเลือด ซึ่งท่าทีนี้ถือได้ว่าถูกต้อง แต่กระนั้น ก็มีการดำเนินการของฝ่ายรัฐบาลที่ดูจะวิตกและยอมถอยให้ม็อบสุเทพมากเกินไปโดยไม่รักษาหลักการเช่นกัน

ที่ชัดเจนก็คือ ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน รัฐบาลไปยอมสัญญาว่าจะไม่นำกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภาอีกต่อไป และจะไม่ออกพระราชกำหนด ต่อมาก็ถอนร่างกฎหมายปรองดอง 6 ฉบับออกจากระเบียบวาระของรัฐสภาทั้งหมด ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดโอกาสที่จะให้มีการนิรโทษกรรมประชาชน โดยเฉพาะนักโทษการเมืองคนเสื้อแดงที่ยังติดอยู่ในคุก ทำให้ประเด็นเกี่ยวกับการปล่อยนักโทษการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรม ต้องตกจากระเบียบวาระไปด้วย

ต่อมา เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยด้วยเสียงข้างมากว่า การที่รัฐสภาได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้นเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ถือเป็นเรื่องตลกร้ายในทางเหตุผล เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทั้งที่ไม่มีอำนาจ และผลจากการวินิจฉัยทำให้การเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตยกลายเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง จะต้องเป็นวุฒิสมาชิกแต่งตั้งโดยองค์กรอิสระแบบเดิมเท่านั้นจึงถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ยิ่งกว่านั้น ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ นายกรัฐมนตรีก็ได้ทูลเกล้าถวายให้ลงพระปรมาภิไธยอย่างถูกต้องตามขั้นตอนมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม

ดังนั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยกำหนดท่าทีได้ถูกต้องตามหลักการที่ไม่ยอมคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ แม้ว่าฝ่ายม็อบสุเทพได้นำเรื่องนี้ไปโจมตีว่า รัฐบาลหมดสิ้นความชอบธรรมเพราะไม่ยอมรับศาลรัฐธรรมนูญก็ตาม

แต่ต่อมา ในวันที่ 8 ธันวาคม กลับกลายเป็นว่า นายกรัฐมนตรีเอง กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตถอนร่างรัฐธรรมนูญที่ถวายให้ลงพระปรมาภิไธย และยังได้ขอพระราชทานอภัย ซึ่งเท่ากับว่า รัฐบาลเองก็ไปยอมรับว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องวุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

การยุบสภาของนายกรัฐมนตรียังมีผลโดยตรงให้โครงงานสำคัญที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลชะงักงัน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง และโครงการแก้ปัญหาเรื่องน้ำอย่างบูรณาการ โครงงานเหล่านี้ต้องคอยการพิจารณาของรัฐสภาชุดใหม่

แต่เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว ฝ่ายประชาชนก็คงต้องสนับสนุนกระบวนการเลือกตั้งต่อไป ต้องยืนยันว่า รัฐบาลชุดนี้มีความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาลรักษาการ และจะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปตามกำหนด ข้อยืนยันนี้ไม่ได้เป็นการสนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่เป็นการยืนยันหลักการที่ควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท