Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข้าพเจ้าขอเป็นขบถไม่ยอมรับการอยู่ใต้อำนาจการกบฏของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือการจะจัดตั้งรัฐบาลอื่นมารักษาการแทนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ (รัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ที่กำลังรักษาการตามรัฐธรรมนูญในขณะนี้ มิใช่ว่าเพราะไม่ได้รักชาติบ้านเมือง ไม่ใช่เพราะไม่เห็นความบริสุทธิ์ใจของประชาชนบางส่วนที่ร่วมประท้วง ไม่ใช่เพราะไม่เห็นอกเห็นใจในความเหนื่อยยากลำบากของผู้ชุมนุม ไม่ใช่เพราะไม่ให้เกียรติพลังบริสุทธิ์ที่ปะปนในการเคลื่อนไหว ไม่ใช่เพราะไม่เชื่อว่ารัฐบาลนี้ไม่มีโกงกินเหมือนรัฐบาลอื่นๆ ไม่ใช่เพราะรัฐบาลปัจจุบันทำอะไรๆ ก็ดีไปหมด ไม่ใช่เพราะยอมจำนนให้กับข้อด้อยของระบอบทักษิณ (ที่ว่ามีอยู่) ไม่ใช่เพราะไม่สนใจข้อเสนอที่ดีๆ บางข้อของ กปปส. ไม่ใช่เพราะข้าพเจ้าด้อยสติปัญญาทางการเมืองหรือการสร้างสรรค์การเมือง แต่ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

1. คณะปฏิวัติประชาชนที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหัวหน้ามากว่าหนึ่งเดือน กำลังดูถูกดูแคลนจิตสำนึกประชาธิปไตยของข้าพเจ้าและประชาชนอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วม และกำลังทำในสิ่งที่ไม่ต่างอะไรกับ “ความวิกลจริต” “ปฏิบัติการลวงโลกประชาธิปไตย”  “การเล่นจำอวด” หรือ “การทำลายตนเองของผู้ประท้วง” การเป็นวีรชนประชาธิปไตยอาจพอมีให้เห็นจากความกล้าหาญของแกนนำ แต่ไม่ได้ทุ่มเทไปในทางที่จะประกันความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตย หากวันหนึ่งข้างหน้ามีมวลอภิมหาประชาชนจำนวนมากกว่าที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหัวหน้า มาทำในตรรกะแบบที่ กปปส. กำลังทำ ก็แสดงว่าใช้ได้ใช่ไหม หรือ ยอมไม่ได้เพราะนอกจากคนที่ประท้วงรัฐบาลในขณะนี้แล้ว คนที่เหลือไม่รักชาติหรือเลวหมดไม่ใช่ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่ต้องฟังเสียงแต่อย่างใด

2. วิกฤตการเมืองในขณะนี้ไม่ได้เป็นไปโดยธรรมชาติ แต่เป็นการจงใจสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดช่องว่างทางการเมือง แล้วยืมพระหัตถ์ของพระมหากษัตริย์เพื่อแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 นั้น เป็นการสร้างประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ขาดความสง่างาม และพระมหากษัตริย์เคยมีพระราชดำรัสเมื่อปี 2549 แล้วว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดช่องให้พระมหากษัตริย์ทำเช่นนั้นได้ พระมหากษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ หากยังมีผู้พยายามทำเช่นนั้นก็แสดงว่าใหญ่กว่าพระมหากษัตริย์ แต่มวลมหาประชาชนที่เป็นสมาชิกและผู้นิยมพรรคและเครือข่ายของพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ การเข้าร่วมของอดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประชาชนส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่คนทั้งประเทศผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง ตามนัยการตัดสินใจทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญรับรอง คือ ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 

3. ข้าพเจ้าเชื่อว่า หากพลพรรคเพื่อไทยหรือคนเสื้อแดงเข้าชื่อกันหรือนัดรวมตัวกันในทุกจังหวัดทั่วประเทศพร้อมกันเพื่อแสดงพลังการรวมตัวเป็นมวลอภิมหาประชาชนเพื่อร่วมตัดสินใจทางการเมืองอย่างสันติกว่า และอย่างตรงกันข้ามกับการกระทำของมวลมหาประชาชนที่กำลังไล่รัฐบาล โดยให้ได้คนมากกว่าสักสาม-สี่ล้านคน หรือ เฉลี่ยจังหวัดละประมาณสี่ถึงห้าหมื่นคน (แม้ในบางจังหวัดในภาคใต้อาจไม่ถึง) ก็คงทำได้  แล้วเมื่อถึงตอนนั้น คณะปฏิวัติที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหัวหน้าก็พึงยอมรับโดยดุษฎีต่อจำนวนเสียงของผู้แสดงออกเหล่านั้น

4. การยึดอำนาจรัฐบาลของ กปปส. ในขณะนี้ มวลชนกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือมากกว่าการเป็นอิสระจากการครอบงำความคิด เป็นการได้อำนาจมาโดยไม่ชอบด้วยวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ และเป็นรัฐธรรมนูญที่หัวหน้าคณะปฏิวัติเรียกร้องให้ ส.ส. พรรคเพื่อไทยเคารพ ฉะนั้นการคัดค้านการยึดอำนาจรัฐของประชาชนใดๆ ย่อมเป็นการใช้สิทธิ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญโดยปริยาย

5. การไม่ยึดอำนาจ แต่ใช้อารยะขัดขืนเป็นหนทางที่มีพลังมากกว่าและทำให้รัฐบาลขาดความชอบธรรมในการบริหาร แต่การกระทำแบบปฏิวัติโดยประชาชนบางส่วนที่อ้างว่าเป็นอำนาจอธิปไตยตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญแทนประชาชนทั้งประเทศนั้น ใครมอบให้ท่านตั้งแต่เมื่อใด แต่ในปัจจุบันวิถีทางเช่นนี้กำลังทำลายความชอบธรรมของผู้ประท้วงในที่สุด และการจะรักษาอำนาจรัฐเอาไว้ต่อไปก็ต้องบังคับประชาชน ซึ่งเมื่อทำเช่นนั้นยิ่งขึ้นๆ ก็ยิ่งแสดงว่าไม่ใช่นักประชาธิปไตยมากขึ้นทุกทีๆ แล้ว และแกนนำกำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ลักษณะของฟาสซิสต์คืออำนาจนิยมและปลุกเร้าความรุนแรงของคณะบุคคลที่ต้องการบังคับสังคม หากคนฆ่ากันตายจริงๆ ใครรับผิดชอบ แกนนำทั้ง 13 คน แถลงออกมาให้ชัดเจนเถอะว่าถ้าคนของฝ่ายใดเสียชีวิตจะมากจะน้อยเท่าใดพวกท่านจะรับผิดชอบอย่างไร

6. รัฐบาลต่างหากที่ดูเหมือนดำเนินอารยขัดขืนต่อความต้องการของ กปปส. ได้ดีกว่าการยั่วยุของแกนนำ เช่น การไม่ยอมใช้ความรุนแรงโต้ตอบ กปปส. การยอมแพ้ด้วยการประกาศยุบสภาของนายกรัฐมนตรี แต่รัฐบาลที่ไม่ต้องการให้บ้านเมืองแตกแยกและต้องการรักษาประชาธิปไตยกลับถูกขับไล่

7. หากมีรัฐบาลอื่นที่มิใช่ชุดปัจจุบันมารักษาการ การกระทำของรัฐบาลนั้นก็เป็นโมฆะเพราะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่นายกยุบสภายังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าทำหน้าที่ และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ก็ต้องมาจากการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรีที่ ส.ส. ในสภาชุดใหม่ลงคะแนนเสียงให้เป็นนายกรัฐมนตรี นั่นคือต้องรอหลังเลือกตั้งนั่นเอง

8. หากเคารพพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง กปปส. ก็ต้องหยุดการเคลื่อนไหวในทันที เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงประกาศใช้ประราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่แล้ว เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 อันเป็นการคืนอำนาจให้กับอภิมหาประชาชนทั้งประเทศ และมากกว่ามวลมหาประชาชนของ กปปส. และครอบคลุมการตัดสินใจอย่างมีสติมากกว่าที่ กปปส. เรียกร้อง หากท่านยังคงชุมนุมต่อไปก็เท่ากับละเมิดพระราชอำนาจใช่หรือไม่ (การหาทางลงของม็อบจะยากขึ้นๆ ทั้งๆ ที่ยุบสภาก็ลงได้แล้ว)

9. การโค่นล้มระบอบทักษิณที่ท่านว่ามีอยู่ และกลายเป็นปีศาจประชาธิปไตยที่ถูกสร้างขึ้นมาหลอกหลอนเท่านั้น สามารถกระทำได้โดยวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญไทย การกระทำนอกระบอบประชาธิปไตยหรือระบบรัฐสภาที่มีในปัจจุบัน ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญและให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบต่อรัฐธรรมนูญที่แก้ไขก่อน การขับไล่ที่กำลังทำอยู่จะสำเร็จได้ยาก เพราะทำได้เพียงการมุ่งขจัดตัวบุคคล เช่น คนในตระกูลชินวัตร แบบเลือกปฏิบัติอันเป็นการขัดต่อเสรีภาพของปวงชนชาวไทยที่รัฐธรรมนูญรับรอง

10. การจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงการเมืองของประเทศโดย กปปส. ขาดความชัดเจนในเนื้อหาสาระ ขาดความชัดเจนในช่วงเวลา ขาดความชัดเจนในอำนาจรองรับ ขาดความชัดเจนในองค์ประกอบและภารกิจของ “สภาประชาชน” ที่จะใช้แทน “สภาผู้แทนราษฎร” ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ขาดความชัดเจนในการให้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยทั้งประเทศเห็นพ้องด้วย ขาดความเที่ยงธรรมในการส่งเสริมการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขวิกฤต ขาดความชัดเจนว่าแกนนำผู้กำลังกระทำอนันตริยกรรมต่อประชาธิปไตยของประเทศจะกระทำประการใดบ้างเพื่อชดเชยความเสียหายของชาติบ้านเมือง ภายใต้ความไม่ชัดเจนเหล่านี้ มีแนวโน้มตีความเข้าข้างตนเอง โทษผู้อื่นแลเห็นเป็นภูเขา โทษของเราแลเห็นเท่าเส้นขน และภายใต้การบงการของ กปปส. ย่อมเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการสอดแทรกจากผู้ไม่หวังดีต่อประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ การเล่นแร่แปรธาตุประชาธิปไตยอย่างที่ไม่คาดคิดเช่นที่เคยเกิดหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 อันทำให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ถูกแก้ไขไปในทางที่หลายคน (รวมทั้งข้าพเจ้าเอง) เคยเข้าใจว่าจะสร้างประชาธิปไตยของประเทศอย่างก้าวหน้า แต่ในทางที่เป็นจริงกลับมิใช่

 

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม: ความไม่สมเหตุสมผลของการยึดอำนาจรัฐของ กปปส. และการใช้ตรรกะด้อยอารยในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันเพื่อรัฐบาลตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net