Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในบริบทที่สูญเสียอำนาจต่อรองกับ “ระบอบทักษิณ” ที่ครอบงำการเมืองและเศรษฐกิจไทยอย่างสูงทำให้ชนชั้นกลางรู้สึกอับจนหนทางจนออกมาสู่ท้องถนนและหันไปพึ่ง มาตรา 7  

ในสถานการณ์การเมืองที่การต่อสู้เกิดขึ้นบนท้องถนนโดยมีมวลชนมากไพศาลเข้าร่วม  ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่อาจเรียกกว้างๆ ว่า “คนเสื้อเหลือง” หรือ “คนเสื้อแดง” ล้วนทำให้คนไทยวิตกกังวลว่าจะเกิดความรุนแรงตามมา หรืออย่างน้อยก็ทำให้บ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวายยาวนานและส่งผลกระทบทั้งต่อชีวิต จิตใจ  ความสัมพันธ์ทางสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัว เครือญาติ เพื่อนฝูง หน่วยงาน ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนในชาติ  และยังมีผลต่อระบบเศรษฐกิจซึ่งหมายถึงความยากจนลงของคนไทยส่วนใหญ่อีกด้วย

แม้ว่าหลายฝ่ายจะพยายามเสนอทางออก แต่ดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ประชาชนแต่ละคนไม่อาจเลือกกระทำด้วยตนเอง เพราะล้วนแต่เป็นข้อเสนอต่อผู้นำหรือแกนนำของคู่ขัดแย้ง และบ้างก็เสนอทางออกโดยเชียร์ฝ่ายรัฐบาลและประณามฝ่ายคุณสุเทพ หรือบ้างก็เสนอทางออกที่เชียร์ฝ่ายคุณสุเทพและประณามฝ่ายรัฐบาล ซึ่งล้วนได้รับการปฏิเสธจากแกนนำและมวลชนของอีกฝ่ายหนึ่งจนไม่มีผลใดๆ ในทางปฏิบัติ  กลับมีปฏิกิริยาออกมาในเชิงตอบโต้หรือต่อต้านรุนแรงมากขึ้น

ที่ผ่านมา คนในหัวเมืองและชนบทเคยถูกมองว่า “โง่-จน-เจ็บ” และในเวลาต่อมานักวิชาการสำคัญๆ ก็มีแนวโน้มที่จะดูหมิ่นชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ว่าโง่เพราะถูกครอบงำทางความคิด อีกทั้งยังพากันเห็นว่าชนชั้นกลางไทยเห็นแก่ตัวเพราะนึกถึงแต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเองเป็นหลัก

การมองทั้งสองแบบล้วนผิดพลาดและไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหา เช่นเดียวกับการมองระบอบประชาธิปไตยที่ฝ่ายเสื้อแดงให้ความสำคัญแก่การเลือกตั้ง ในขณะที่ฝ่ายเสื้อเหลืองให้ความสำคัญแก่การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพื่อหาผลประโยชน์หรือการคอร์รัปชั่น และต่างก็ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยในความหมายที่ตนเองให้ความสำคัญ (แทนที่จะให้ความสำคัญทั้งสองส่วนไปพร้อมกัน) ยิ่งไปกว่านั้นยังปรากฏด้วยว่าต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมเข้าใจและไม่ยอมรับจุดยืนของอีกฝ่ายหนึ่ง ได้แต่มองอีกฝ่ายหนึ่งว่าโง่และเห็นแก่ตัว ซึ่งทำให้ความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายทวีขึ้น

อาจเป็นด้วยสถานการณ์ทางการเมืองและอิทธิพลจากข่าวสารข้อมูลในสื่อต่างๆ ที่กดดันและผลักดันให้คนไทยแต่ละคนพากันเลือกข้างอย่างชัดเจนและตายตัว ขาดการปรับเปลี่ยนมุมมองหรือจุดยืนเพื่อเข้าใจคนอื่นๆ ที่คิดต่างจากตน

ที่จริงแล้วทั้ง “คนเสื้อเหลือง” และ “คนเสื้อแดง” ต่างก็ถูกหล่อหลอมจากภูมิหลังทางสังคมและวัฒนธรรมและบริบททางเศรษฐกิจและการเมืองของแต่ละฝ่ายในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมทางความคิดของแต่ละฝ่ายที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อการตัดสินใจทางการเมือง เช่น การเรียกร้อง ม.7 ก็เกิดจากอุดมการณ์กระแสหลักที่ได้รับการผลิตซ้ำอย่างเข้มข้นตั้งแต่ทศวรรษ 2490 สืบมาจนถึงปัจจุบัน และทัศนะที่ผิดพลาดที่ “คนเสื้อเหลือง” และ “คนเสื้อแดง” มีต่อกัน ตลอดจนทัศนะต่อระบอบประชาธิปไตยที่มีจุดเน้นคนละอย่าง ก็มาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีความได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งทำให้ฝ่ายที่เสียเปรียบจำเป็นต้องต่อสู้ด้วยการอ้างเสียงข้างมาก และฝ่ายที่เคยได้เปรียบ (ซึ่งกลายเป็น “ผู้ได้เปรียบน้อยลง” ในขณะเดียวกับที่มีความวิตกมากขึ้นต่อความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ) ก็จำเป็นต้องอ้าง “สิทธิของเสียงข้างน้อย” และหันไปยึดสถาบันตามประเพณีเป็นที่พึ่งเพราะสอดคล้องกับอุดมการณ์ที่ตนยึดถือ

ผู้เขียนเองเชื่อว่าชนชั้นกลางไทยไม่ได้ปฏิเสธความสำคัญของการเลือกตั้ง เพราะหลายปีที่ผ่านมาชนชั้นกลางในเขตเมืองออกไปเลือกตั้งมากขึ้น ขณะเดียวกันชนชั้นกลางก็ไม่ได้ต้องการดึงเอาผลประโยชน์ทั้งหลายมาไว้ในมือของตนแต่ถ่ายเดียว เพราะแท้ที่จริงแล้วในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมางบประมาณของประเทศได้ไหลไปสู่ชนบทมากเสียยิ่งกว่าที่ถูกดูดออกมาจากชนบท (และมิใช่เพิ่งไหลลงไปเมื่อมีนโยบายประชานิยม) ชนชั้นกลางตระหนักดีว่าตลาดภายในมีความสำคัญต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนสูง จึงต้องการให้ชาวบ้านรวยขึ้น นอกจากนี้ชนชั้นกลางจำนวนมากยังมีญาติพี่น้องเป็นชนชั้นกลางระดับล่างในหัวเมืองและชนบทอีกด้วย 

ในบริบทที่สูญเสียอำนาจต่อรองกับ “ระบอบทักษิณ” ที่ครอบงำการเมืองและเศรษฐกิจไทยอย่างสูงยิ่ง และสูงกว่ายุคใดๆ ที่ผ่านมาอย่างเทียบกันไม่ได้ต่างหาก ที่ทำให้ชนชั้นกลางรู้สึกอับจนหนทางจนออกมาสู่ท้องถนนและหันไปพึ่ง มาตรา 7   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งคนเข้าไปกุมอำนาจหลายระดับในรัฐวิสาหกิจต่างๆ การยื่นมือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการโยกย้ายข้าราชการทุกระดับ การสร้างโครงการที่ใช้เงินมหาศาลนอกกระบวนการตรวจสอบและการหลีกเลี่ยงระเบียบด้านงบประมาณ รวมทั้งความไม่แน่ใจเรื่องความคุ้มทุนและผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการ 2.2 ล้านล้าน โครงการจัดการน้ำ  โครงการจำนำข้าว ฯลฯ ตลอดจนปัญหาคอร์รัปชั่นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพิ่มสูงขึ้นมาก และปัญหาความล้าหลังด้านการศึกษาที่มีมานานแล้วก็จริงแต่เพิ่งเป็นที่รับรู้ในวงกว้างในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา (และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็เปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการถึง 3 คน ในช่วงเวลาเพียง 2 ปี)

หากเข้าใจความวิตกของชนชั้นกลาง ทางออกสำหรับความขัดแย้งในปัจจุบันก็ไม่ควรวางอยู่บนอคติต่อชนชั้นกลาง ในทำนองเดียวกับที่ชนชั้นกลางไม่ควรมองหาทางออกด้วยการทำลายระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะจะเกิดผลเสียร้ายแรงตามมาอีกมากและอีกนาน

ในปัจจุบัน คนไทยทุกฝ่ายล้วนถูกปลุกเร้าทางการเมืองอย่างเข้มข้นโดยแกนนำของแต่ละฝ่าย นอกจากในที่ชุมนุมโดยตรงแล้ว ยังมีการใช้สื่อหลายประเภท รวมทั้งวิทยุชุมชนและสื่อออนไลน์ ทำให้ใช้การสติปัญญาและทัศนะวิพากษ์ลดน้อยลงไป แต่คนไทยทุกฝ่ายคงประจักษ์แก่ใจว่าถ้าหากความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงดำรงอยู่ต่อไปในอนาคต ผลเสียหายร้ายแรงจะตามมา การหาทางออกที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติจึงเป็นที่ต้องการอย่างมากของสังคมโดยรวม แต่ทางออกที่มีอยู่และที่ได้รับการเสนอขึ้นมา มักไม่ให้ทางเลือกที่ภาคสังคมหรือภาคประชาชนจะมีส่วนร่วมได้อย่างสงบสันติ และมีโอกาสใช้ปัญญาอย่างมีสติกำกับเท่าที่ควร

สิ่งที่ต้องการเสนอในที่นี้ ก็คือ การสร้างทางเลือกที่ประชาชนแต่ละคนจะเข้าไปร่วมอย่างอิสระ แทนการออกมาชุมนุมหรือเดินขบวน ซึ่งภาคสังคมสามารถช่วยกันคิดว่าจะสร้างองค์กรใหม่หรือใช้องค์กรที่เรามีอยู่แล้วองค์กรใดบ้างสำหรับการสร้างโอกาสให้แก่ประชาชนทุกฝ่ายได้เข้าร่วม เช่น การทำให้มีองค์กรที่จะรวบรวมปัญหาที่คนไทยแต่ละคนมองเห็นตลอดจนทางออกที่แต่ละคนเสนอ ซึ่งเมื่อรวบรวมออกมาได้และจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ชัดเจนดีแล้ว ก็เปิดกว้างสำหรับการโต้แย้ง การวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงจากทุกๆ ฝ่าย เพื่อให้ทุกคนทุกฝ่ายมองเห็นจุดอ่อนในความคิดความเห็นของตนเอง และมีโอกาสมองเห็นข้อดีหรือส่วนดีในความคิดของคนอื่นๆ ไปพร้อมกัน

เราอาจเรียกวิธีนี้ว่าเป็นการวิจัย โดยดึงเอาทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามาตอบโจทย์วิจัยเดียวกัน จนเกิดเป็น “การทำวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม” แม้แต่คนที่ชอบเขียนด่าคนอื่นตามสื่อออนไลน์ก็มีส่วนร่วมในการวิจัยด้วย เพราะคำด่าก็เป็นข้อมูลที่จะนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์ทัศนคติของผู้คน กลายเป็นส่วนหนึ่งของรายงานผลการวิจัยที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป

ผู้เขียนยังนึกภาพที่ชัดเจนไม่ได้ว่าข้อเสนอนี้จะเป็นไปได้อย่างไร และองค์กรใดที่จะทำหน้าที่ “ตัวกลาง” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจเริ่มต้นจากองค์กรที่เรามีอยู่แล้ว เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ที่จะเป็นผู้จัดการให้การทำวิจัยร่วมกันในแต่ละจังหวัดเกิดขึ้นได้  ในมหาวิทยาลัยต่างๆ  ก็อาจเรียกร้องให้อาจารย์ นักวิจัย เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา เข้ามามีส่วนในการทำวิจัยนี้ ส่วนครูในโรงเรียนและนักพัฒนาเอกชนในแต่ละหมู่บ้าน ก็ทำวิจัยด้วยโจทย์วิจัยเดียวกันนี้ อาจมีการสังเคราะห์ผลการวิจัยในระดับอำเภอหรือระดับจังหวัด และคนทุกกลุ่มในสังคมก็จะเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะต่างๆ เช่น อาจเข้าร่วมในฐานะผู้ให้ข้อมูล ผู้วิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจารณ์ ผู้เสนอทางเลือกใหม่ๆ ฯลฯ

ข้อเสนอข้างต้นอาจยากที่จะเป็นไปได้ ซึ่งผู้เขียนก็ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น แต่ก็อยากยกตัวอย่างรูปธรรมให้เห็นว่าสังคมไทยควรมีทางเลือกใหม่ๆ ที่เป็นของภาคสังคมหรือภาคประชาชนจริงๆ เพราะเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องทำให้คนไทยได้ใช้สติปัญญามากขึ้น มีทัศนะวิพากษ์มากขึ้น และมีช่องทางใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกเหนือจากช่องทางที่แกนนำของแต่ละฝ่ายกำหนดขึ้นมา ผู้เขียนจึงขอเรียกร้องให้ช่วยกันคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังก่อนที่หายนะจะเกิดแก่คนไทยทุกกลุ่มในอนาคตอันใกล้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net