การซื้อเสียงเป็นเพียงข้ออ้างไร้สาระที่อันตราย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การอ้างว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่มีความชอบธรรมเพราะชัยชนะจากการเลือกตั้งของพวกเขามาจากการซื้อเสียงนั้นถูกกู่ร้องก้องตะโกนมาจากเวทีประท้วงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ข้ออ้างเช่นนี้ถูกกล่าวซ้ำในบทความหลายชิ้นในบางกอกโพสต์ก่อนหน้านี้ และปรากฏเป็นความเห็นทั่ว ๆ ไปของผู้เขียนจดหมายถึงหนังสือพิมพ์ฉบับนี้

และมันเป็นเรื่องไร้สาระ ไร้สาระและอันตราย

ในช่วงแรกของประวัติศาสตร์การเลือกตั้งไทย ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะยัดเงินให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อสร้างข้อผูกมัด ครั้นเมื่อผู้เลือกตั้งรับน้ำใจจากผู้สมัครแล้ว คงดูเป็นการเสียมารยาทหากไม่ทดแทนน้ำใจงาม ๆ ด้วยการลงคะแนนให้ แต่การแลกเปลี่ยนที่ไร้เดียงสาเช่นนี้ไม่ได้มีอายุยืนยาวนัก หลังจากนั้นไม่นาน ประชาชนย่อมเรียนรู้ว่าพวกเขาสามารถรับเงินจากผู้สมัครทุกคน และยังคงกาบัตรเลือกตั้งของตัวเองได้ตามแต่ใจนึก

อย่างไรก็ดี จนกระทั่งถึง ต้นทศวรรษ 2540 ประชาชนทั่วไปยังไม่ได้สนใจการเลือกตั้งมากนัก ในช่วงเวลานั้น พวกเขาเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกสามถึงสี่ปี โดยเลือกจากรายชื่อบรรดานักธุรกิจร่ำรวยที่ไม่ได้ทำอะไรให้พวกเขามากเท่าไหร่ พวกเขาเห็นค่าคะแนนเสียงของตัวเองเพียงน้อยนิด จึงขายมันเพื่อแลกกับเงิน หรือสาธารณูปการบางอย่าง อาทิ น้ำประปาหรือการตัดถนน การเมืองของการเลือกตั้งไม่ได้เป็นเรื่องตื่นระทึกจนหายใจรดต้นคอหรือทำให้หัวใจตกไปอยู่ใต้ตาตุ่ม ทุก ๆ ครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป กระทรวงมหาดไทยต้องออกมารณรงค์โน้มน้าวให้คนไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงของตัวเอง

สถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างน่าประทับใจเมื่อช่วงเปลี่ยนสหัสวรรษ ด้วยหลักปฏิบัติใหม่ ๆในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของกลไกการกระจายอำนาจให้กับรัฐบาลท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้คนเริ่มไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากขึ้นและไม่ได้เลือกตั้งเพียง ส.ส. อย่างเดียวทุก ๆ สองสามปี พวกเขาไปใช้สิทธิ์กันถึงปีละสองสามครั้งเพื่อเลือก ส.ว. ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาตำบล และกำนัน ในการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ ประชาชนมักจะเลือกผู้สมัครที่ตัวเองรู้จัก และสามารถเห็นผลของการเลือกของพวกเขาได้อย่างชัดเจน การให้การศึกษาถึงเรื่องคุณค่าและอำนาจของคะแนนเสียงด้วยวิธีเช่นนี้มีความรวดเร็วและหยั่งลึก และทักษิณก็แสดงให้ประชาชนเห็นว่าการเลือกตั้งนั้นส่งผลในระดับชาติได้เช่นกัน

กระทรวงมหาดไทยไม่ต้องรณรงค์ให้คนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งอีกต่อไป เนื่องจากคนที่ออกมาใช้สิทธิ์เมื่อสองสามครั้งที่ผ่านมามีจำนวนมากกว่าร้อยละเจ็ดสิบ ถือว่าสูงกว่าประเทศที่ประชาธิปไตยพัฒนาแล้วเสียอีก ระหว่างการประท้วงของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ผู้หญิงคนหนึ่งกล่าวกับผู้วิจัยถึงสาเหตุในการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ว่า “คนกรุงเทพมีชีวิตความเป็นอยู่ดีแล้ว พวกเขาจึงไม่ต้องการการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่เราต้องการ”

การซื้อเสียงอาจยังไม่ได้หายไปไหน เมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง ผู้สมัครบางท่านอาจยังต้องให้เงิน เนื่องจากกลัวจะถูกมองว่าเป็นคน “ขี้งก” หรือ “ไม่มีน้ำใจ” แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นคือเงินนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ชี้ขาดผลการเลือกตั้งอีกต่อไปแล้ว  

ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2554 แบบแผนของการเลือกตั้งมีความแตกต่างอย่างชัดเจน ในพื้นที่ขนาดใหญ่แต่ละส่วนของประเทศ  เขตการเลือกตั้งที่ติดกัน ส.ส. ที่มาจากพรรคเดียวกันมักชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคอีสาน ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยชนะขาดด้วยเสียงสนับสนุนมากกว่าร้อยละหกสิบ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนน้อยกว่าร้อยละสิบ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน พรรคเพื่อไทยชนะด้วยคะแนนมากกว่าร้อยละห้าสิบ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ประมาณร้อยละยี่สิบเท่านั้น

ในภาคใต้ (ยกเว้นบริเวณใต้สุดที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่) พรรคประชาธิปัตย์ชนะด้วยคะแนนมากกว่าร้อยละหกสิบ ในขณะที่พรรคเพื่อไทยชนะด้วยคะแนนต่ำกว่าร้อยละสิบ

แบบแผนเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าคุณคิดว่าการซื้อเสียงเป็นตัวชี้ขาดผลการเลือกตั้ง ประเด็นคือ พรรคการเมืองจะซื้อเสียงเกินจำนวนคะแนนที่จำเป็นต้องใช้เพื่อชนะการเลือกตั้งขนาดนั้นไปทำไม สมัยที่การซื้อเสียงส่งผลจริง ๆ เมื่อ 30 ปีก่อน แบบแผนของผลการเลือกตั้งนั้นผิดแผกแตกต่างออกไปอย่างมาก สิ่งที่เราเห็นจากแบบแผนของปี 2554 คือผลการเลือกตั้งที่มีฐานมาจากสำนึกร่วมกันของคนจำนวนมาก

ข้ออ้างผิด ๆ เกี่ยวกับการซื้อเสียงในปัจจุบันเป็นส่วนสำคัญของการรณรงค์เพื่อทำให้ประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอลง ปัญหาที่แท้จริงคือประชาชนที่เข้าใจคุณค่าของคะแนนเสียงกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ และกำลังใช้มันเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาเอง  

 

 

หมายเหตุ: แปลมาจาก “Vote-buying claims nothing but dangerous nonsense”

หมายเหตุ:

ศาสตราจารย์ ดร. ผาสุก พงไพจิตร เป็น ศาสตราจารย์กิตติคุณของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Christ Baker เป็นนักประวัติศาสตร์ เป็นนักวิชาการที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ และเป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเมืองและเศรษฐกิจไทยร่วมกับศาสตราจารย์ ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ภาคิน นิมมานนรวงศ์ กำลังศึกษาปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ธรรมชาติ กรีอักษร กำลังศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท