Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อใดก็ตามที่พรรคการเมืองไทยสักพรรคหนึ่งครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดในรัฐสภา จะมีเสียงบ่นพึมพำขึ้นมาถึงเผด็จการรัฐสภา

ครั้งนี้ เมื่อพรรคการเมืองของทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้ง 5 สมัยติดต่อกัน (รวมหนึ่งครั้งที่เป็นโมฆะด้วย) เสียงบ่นที่ว่านี้ก็ดังขึ้นเรื่อย ๆ บางคนกล่าวว่า ประชาธิปไตยนั้นไม่เข้าท่า เพราะมันนำไปสู่เผด็จการเสียงข้างมาก ขณะที่เสียงข้างน้อยไม่อาจพูดอะไรได้ ทั้งยังไม่ได้รับการคุ้มครอง

ในประเทศที่ประชาธิปไตยใช้การได้ดี เมื่อพรรคใดพรรคหนึ่งครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดในรัฐสภา พรรคคู่แข่งจะปรับเปลี่ยนนโยบายตามอย่างพรรคนั้น ๆ เพื่อแย่งชิงคะแนนเสียงของคนที่อยู่ตรงกลาง

ตัวอย่างคลาสสิกคือในสหราชอาณาจักร พรรค New Labour สู้กับพวกแทตเชอร์นิยม ด้วยการปรับเอานโยบายหลัก ๆ ของแทตเชอร์มาใช้ และเห็นว่า โทนี แบลร์ เป็นผู้นำที่เหมาะกับการเมืองยุคโทรทัศน์ ไม่ต่างกับแทตเชอร์

เมื่อทักษิณประกาศนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2544 เขาเสนอสิ่งใหม่ ๆ สองประการให้กับการเมืองไทย เขาประกาศชุดนโยบายที่เรียบง่ายและดึงดูดใจ ทั้งยังนำเสนอตัวเองในฐานะนักการเมืองที่กระตือรือร้น ขณะที่โจมตีพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นพวกข้าราชการเก่าคร่ำคร่าล้าสมัย

ในเวลานั้น ประชาธิปัตย์ดูแคลนการแถลงนโยบายว่าเป็นเพียงกลอุบายหลอกลวงอย่างหนึ่ง พวกเขาหาเสียงด้วยการคุยโวถึงคณะรัฐมนตรีของตัวเอง นับจากตอนนั้นจนถึงตอนนี้ ประชาธิปัตย์ก้าวหน้าไปมาก ในการเลือกตั้งในปี 2554 ประชาธิปัตย์มีนโยบายหาเสียงที่ละเอียดทีเดียว ทว่าการเมืองเรื่องพรรคการเมืองไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงนโยบาย แต่ภาพลักษณ์ที่น่าดึดดูงใจก็สำคัญ เมื่อประชาธิปัตย์นำเสนอนโยบายของพวกเขาแก่ประชาชน พวกเขาทำราวกับมันเป็น ‘ของขวัญ’ คล้ายๆ การบริจาคสิ่งของจากคนรวยสู่คนจน บนโปสเตอร์หาเสียงแผ่นหลัก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแต่งกายด้วยสูทเบลเซอร์สีน้ำเงิน อันเป็นเครื่องแบบของข้าราชการ

ในทศวรรษที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์ก้าวหน้าขึ้นในบางแง่มุม แต่นั่นไม่ได้มากเท่ากับที่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมสำคัญ ๆ จากยุคก่อนได้ทำให้ ‘มวลมหาประชาชน’ เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนไม่ได้เห็นว่าข้าราชการเป็นเทวดาอารักษ์เหมือนในอดีตอีกต่อแล้ว พรรคประชาธิปัตย์แสดงให้เห็นคุณค่าที่จริงๆ แล้วไม่ได้ดึงดูดใจผู้คนจำนวนมากพอ พวกเขาทำตัวเป็นพวกระแวงสงสัยในประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ในเวลาเดียวกันกับที่ ‘มวลมหาประชาชน’ ค้นพบว่า ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งเป็นสิ่งสำคัญ

ประชาธิปัตย์ตกหลุมพรางนี้เนื่องจากปัญหาเดียวกับที่กระทบพรรคการเมืองไทยทุกพรรค นั่นคือ พวกเขาไม่เป็นประชาธิปไตย พวกเขาไม่มีมวลชนที่เป็นสมาชิก ไม่เปิดรับความคิดเห็นสาธารณะ นโยบายและผู้แทนของพวกเขาถูกเลือกสรรโดยผู้นำเพียงหยิบมือ

ในแง่นี้ พรรคประชาธิปัตย์อาจก้าวหน้ากว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่ตรงที่พวกเขามีโครงการองค์กรที่ชัดเจนและมีการประชุมกันอยู่เสมอ ขณะที่พรรคอื่น ๆ มักเป็นสมบัติของนักลงทุนแนวหน้าของพวกเขาไม่มากก็น้อย ช่วงกลางทศวรรษที่ 2540 พรรคไทยรักไทยรับฐานมวลชนเข้ามาเป็นสมาชิก ทว่าไม่ได้ให้บทบาทใด ๆ ในพรรคแก่คนเหล่านั้น ในปี 2548 ไทยรักไทยใคร่ครวญถึงความคิดที่จะให้สมาชิกพรรคในท้องถิ่นมีสิทธิเสียงในการเลือกตัวแทนของพรรคได้ ทว่าความคิดนี้ก็หายไปท่ามกลางความสับสนอลหม่าน

ในช่วงเวลาที่สังคมไทยต้องเกี่ยวพันกับการถกเถียงทางการเมืองอย่างยิ่งยวด พรรคการเมืองต่าง ๆ ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นช่องทางสำหรับการแสดงออกทางการเมืองแต่อย่างใด จึงไม่น่าแปลกใจที่ประชาชนต่างหลั่งไหลออกไปบนท้องถนน

ในการปฏิรูปทางการเมืองใด ๆ ที่จะมาถึงนี้ การแก้ไขระบบการเลือกตั้งและกลไกตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจอย่างขอไปทีนั้นไม่เพียงพอ พรรคการเมืองต่าง ๆ ยังต้องเป็นส่วนสำคัญของระบบการเมืองมากกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยการทำหน้าที่เพื่อให้ความคิดเห็นสาธาณะมีที่ทางแสดงออก พรรคประชาธิปัตย์อาจปรับโครงสร้างตัวเองใหม่ด้วยการปฏิรูปพรรคตามแนวทางข้างต้นโดยไม่ต้องถูกใครผลักดัน ทว่าตอนนี้ บรรดาผู้นำพรรคกลับกำลังต่อต้านข้อเสนอการปฏิรูปจากสมาชิกพรรคบางคนอยู่

 

 

หมายเหตุ: แปลจาก Pasuk Phongpaichit and Chris Baker, Dangerous nonsense about parliamentary dictatorship ใน Bangkok Post

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net