Skip to main content
sharethis

ป.ป.ช.เตรียมสอบ กรณีมีผู้ร้องเรียนดำเนินคดีอาญา-ถอดถอน 383 ส.ส.-ส.ว. กรณีเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรียกเลขาธิการศาล รธน.ให้การปากแรก 13 ธ.ค. เล็งหาช่องลดขั้นตอนไต่สวน เพื่อความรวดเร็ว ย้ำพร้อมให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงทุกคน แบไต๋ตัดสินตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

12 ธ.ค.2556 เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า  ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จ.นนทบุรี นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช.แถลงผลการประชุม ป.ป.ช.ถึงการไต่สวนดำเนินคดีอาญา และถอดถอนสมาชิกรัฐสภาที่เข้าชื่อกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบว่า ที่ผ่านมามีสำนวนการร้องขอให้ดำเนินคดีอาญาและถอดถอนสมาชิกรัฐสภาอยู่ในมือ ป.ป.ช.5 สำนวน แต่ล่าสุดมีผู้มายื่นเรื่องให้ดำเนินคดีอาญาและถอดถอนสมาชิกรัฐสภาเพิ่มอีก 3 สำนวน รวมเป็น 8 สำนวน ที่ประชุม ป.ป.ช.จึงมีมติให้รวมทั้ง 8 สำนวน เป็นเรื่องเดียวกัน เนื่องจากมีเนื้อหาลักษณะเดียวกัน ทำให้ขณะนี้มี ส.ส.และ ส.ว.ที่ถูก ป.ป.ช.ไต่สวนถอดถอนมากขึ้นจากเดิม 312 คน เป็น 383 คน

นายประสาท กล่าวว่า การประชุม ป.ป.ช.ครั้งนี้ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.ได้ลงนามคำสั่ง แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 383 คน ทราบถึงการถูกตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ จะเริ่มกระบวนการไต่สวนทันที เริ่มจากเชิญผู้กล่าวหา และพยานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลต่อ ป.ป.ช. โดยในวันที่ 13 ธ.ค.จะเชิญนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ มาให้การเป็นปากแรก เพื่อให้ข้อมูลเรื่องข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงนายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในผู้ร้องถอดถอน มาให้ข้อมูลต่อ ป.ป.ช.ด้วย

หลังจากนั้น ป.ป.ช.จะเชิญผู้กล่าวหารายอื่นๆ มาให้ถ้อยคำต่อ ป.ป.ช.ต่อไป อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายถาวร เสนเนียม นายวันชัย สอนสิริ ตลอดจนข้าราชการ ที่เกี่ยวข้อง เช่น นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ก็ต้องเชิญมาด้วย เพื่อทราบถึงขั้นตอนการเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ

นายประสาท กล่าวต่อว่า หลังจากเชิญผู้กล่าวหามาให้ข้อมูลแล้ว ป.ป.ช.ก็จะเชิญผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 383 คน มาชี้แจงทุกคน ไม่สามารถหยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาตัดสินได้ทันที แต่ ป.ป.ช.จะรวบรัดขั้นตอนไต่สวนไม่ให้ยืดเยื้อจนเกินไป อาทิ การตัดพยานในส่วนที่ไม่จำเป็นทิ้ง การนัดไต่สวนทุกวัน อะไรที่มีข้อเท็จจริงอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องสอบเพิ่มเติม เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างรวดเร็ว

แต่ยืนยันว่า จะต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาทั้ง 383 คน มาชี้แจงทุกคน ทั้งทางลายลักษณ์อักษร หรือชี้แจงด้วยตัวเอง ไม่สามารถตัดคนใดคนหนึ่งทิ้งได้ ทั้ง 383 คน ต้องมาชี้แจงภายใน 15 วัน หลังจากที่ ป.ป.ช.มีหนังสือสั่งให้มาชี้แจง ยืนยันว่า ป.ป.ช.จะให้ความเป็นธรรมเต็มที่ และพิจารณาโดยเร็วที่สุด แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า จะเสร็จทันก่อนการเลือกตั้งใน วันที่ 2 ก.พ. 57 หรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า คำตัดสินของ ป.ป.ช.คดี นี้จะขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ได้ หรือไม่ นายประสาท กล่าวว่า ไม่น่าจะได้ตามหลัก แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน อีกทีหนึ่ง เพราะในรัฐธรรมนูญระบุให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร

เมื่อถามว่า มติ ป.ป.ช. ต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ ใช่หรือไม่ นายประสาท ตอบว่า จะพูดแบบนั้นทีเดียวก็ไม่ได้ ต้องดูเอกสารหลักฐานประกอบด้วย เพราะ ตามหลักนิติธรรม ระบบไต่สวนต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหา ชี้แจง ต้องรับฟังก่อนวินิจฉัย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net