Skip to main content
sharethis

12 ธ.ค. 2556  สถาบันออกแบบประเทศไทย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย  ร่วมจัดงานเสวนา "พลังภาคประชาชน-ทางออกประเทศไทย-ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม" ณ หอประชุมพุทธคยา ชั้น 22 อาคารอัมรินทร์ พลาซ่า

มานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านมา การบังคับใช้มาตรการกฎหมายในการสู้กับคอร์รัปชั่นนั้นมีปัญหา เวลามีคนโกงกว่าจะเอาคนผิดมาลงโทษได้นั้นยากเย็นแสนเข็ญ มาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติเรื่องการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อแก้ปัญหาการโกงในระดับรากหญ้า ก็ถูกมองข้าม

ผอ.องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ เสนอว่า ไม่ว่าจะจัดการปัญหาคอร์รัปชั่นด้วยวิธีไหนก็ขอให้ตกลงปฏิรูปกันก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้น หลังเลือกตั้ง นักการเมืองก็จะมองข้ามเรื่องนี้ไป และหลายครั้งมักมีการอ้างการมีส่วนร่วมจากองค์กรเอกชน ยกตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม 2 ล้านล้านบาท  อ้างว่าองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ ได้มีส่วนร่วมตรวจสอบแล้ว ทั้งที่จริงๆ ไม่เคยได้เข้าร่วมเลย

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ย้ำว่า ยังต้องมีประชาธิปไตยแบบตัวแทน แต่ต้องไม่มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ โดยเสนอว่า ต้องกระจายอำนาจกลับไปที่ชุมชนท้องถิ่นให้จัดการกันเอง รวมถึงเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่การร่างนโยบายพัฒนาประเทศ ตรวจสอบกลไกอำนาจรัฐ ไปจนถึงลงมือด้วยถ้าทำได้ พร้อมย้ำว่า พลังพลเมืองที่จะเฝ้าระวังตรวจสอบเป็นธุระในงานเพื่อสาธารณะ เป็นเรื่องสำคัญ

นพ.อำพล เสนอด้วยว่า ในการปฏิรูปการเมืองนั้น ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องต่างได้ประโยชน์ โดยต่างต้องยอมเสียกันบางส่วน เพราะหากไม่มีฝ่ายไหนยอมเลย ก็จะไปต่อไม่ได้

ด้านจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สภาการฯ ถูกเรียกร้องเสมอว่าทำไมไม่แสดงจุดยืน ซึ่งเขาเห็นว่าสื่อแสดงจุดยืนไม่ได้ในสถานการณ์แบบนี้ อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่า มีเรื่องที่ต้องอธิบายคือ เรื่องภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป โดยขณะที่มีสื่อหลากหลายขึ้นกว่าแต่ก่อน ไม่ได้มีเฉพาะฟรีทีวี 6 ช่องแล้ว โดยยกตัวอย่างในต่างจังหวัดที่คนไม่ดูฟรีทีวี ดูแต่บลูสกาย กับเอเชียอัพเดท ซึ่งมีอิทธิพลมาก และสร้างความรู้สึกสั่งสมในใจ มีการใช้ถ้อยคำซ้ำๆ ทำให้คนรู้สึกว่าต้องแสดงออกทางกายภาพ ซึ่งไม่รู้จะเกิดวันไหน

จักร์กฤษ เสนอว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ อยากให้ประชาชนแยกแยะ ในการเลือกรับสื่อ และเข้าใจธรรมชาติของสื่อด้วย ขณะที่สื่อเองต้องระวังการใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง (hate speech) ที่แม้อาจไม่ส่งผลทันที แต่สามารถสะสมจนเกิดการฆ่ากันเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 6 ต.ค.2519 ด้วย

ประธานสภาการ นสพ. ฝากถึงสื่ออีกว่า สื่อต้องตระหนักว่าสื่อเป็นกลไกสื่อสารสู่ประชาชน จะต้องสร้างสมดุลระหว่างทุกฝ่ายให้เท่าเทียมกัน ให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลครบและรอบด้าน และให้การตัดสินใจเป็นของประชาชนเอง นอกจากนี้ สื่อยังมีบทบาทให้สติกับสังคมด้วยว่าไม่ต้องรีบร้อน เพราะถึงอย่างไรก็คนไทยด้วยกัน เรามีบทเรียนในอดีตที่ไม่มีใครชนะ ยกตัวอย่างอดีตอันใกล้เช่น ปี 2553 ซึ่งเชื่อว่าผู้นำการชุมนุมและผู้ชุมนุมไม่อยากไปถึงจุดนั้น สติจะทำให้บ้านเมืองผ่านเรื่องนี้ไปได้ 

ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า วิกฤตวันนี้ ไม่มีใครหรือองค์กรใดองค์กรเดียวสามารถกำหนดข้อบังคับได้เลย เพราะวิกฤตนี้ซับซ้อนมากเกินไป และเต็มไปด้วยตัวแปรหรือสิ่งที่คาดเดาด้วยคนหรือกลุ่มเดียวไม่ได้ แม้ว่าจะมีชุดความคิดมากแค่ไหนก็ตาม สิ่งที่จะทำได้มีแต่ต้องหาทางสร้างความร่วมมือกับตัวแปรต่างๆ ในการไปสู่การปฏิรูปประเทศ

ทั้งนี้ นายกสมาคมนักข่าวฯ ย้ำว่า เชื่อมั่นในการเลือกตั้งและพยายามให้มีการเจรจาของแต่ละฝ่ายเพื่อกำหนดเงื่อนไขก่อนยุบสภา เช่น แก้รัฐธรรมนูญให้มีสภาปฏิรูปประเทศก่อน แล้วค่อยยุบสภา แต่กระบวนการดังกล่าวนั้นทำไม่ได้เพราะขณะนั้นต่างฝ่ายต่างก็คิดว่าจะชนะ พอนายกฯยุบสภาแล้ว จึงไม่มีเงื่อนไขเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม ยังเรียกร้องว่าควรปฏิรูปประเทศก่อน

สำหรับการมีส่วนร่วมของสื่อนั้นมองว่า พื้นที่สื่อที่ทำหน้าที่เพื่อสาธารณะลดลง โดยหลังปี 40 ธุรกิจสื่อเข้าครอบงำกองบรรณาธิการมากขึ้น จนเรื่องสาธารณะหายไปจากสื่อ อยากส่งเสียงไปยัง กสทช.และผู้ประกอบการธุรกิจสื่อให้วางบทบาทของตัวเองให้ดี ขณะที่ฝากถึงพลเมืองว่าต้องลุกมาเป่านกหวีดต่อไป และเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการปฏิรูปอย่างจริงจังรวมถึงอย่ายอมรับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

กรณีการบุกรุกสื่อโทรทัศน์นั้น องค์กรวิชาชีพไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะที่ไปบุกสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่เป็นสื่อสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ได้ออกแถลงการณ์ท้วงติงเพื่อนร่วมวิชาชีพเช่นกันที่ในสถานการณ์ประเทศวิกฤตแต่ยังกลับใช้ผังรายการปกติ และขอให้เพิ่มพื้นที่รับข้อมูลข่าวสารให้ประชาชน นอกจากนี้ วันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อ 4 องค์กรจะประชุมกัน โดยจะขอความร่วมมือจากสื่อในการเพิ่มพื้นที่ให้กับการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net