Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การทำอะไรในนามของคนดี ความดี หรือศีลธรรมบนฐานความจงรักภักดี จะทำอะไรก็ไม่ผิด แม้ว่าด้วยวิถีทางนอกรัฐธรรมหรือล้มระบบประชาธิปไตยก็ตาม

 
น่าสังเกตว่าในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมาเกือบทศวรรษ วาทกรรม “คนดี ความดี ศีลธรรม”ได้ถูกใช้เพื่อประณามฝ่ายตรงข้ามว่าเลวร้ายอย่างไร้ความเป็นคน และใช้เป็นฐานให้ความชอบธรรมอย่างเกินพอเพียงแก่ฝ่ายตนเองเพื่อที่จะทำผิดหลักการและกติกาประชาธิปไตยอย่างไรก็ได้
 
ดังเช่นการประท้วงของ “ม็อบคนดี” ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ โดยการสนับสนุนของพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้ชื่อ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" (กปปส.) ได้ประณามว่า “ระบอบทักษิณ” เลวร้าย ไร้ศีลธรรม พวกคนดีมีศีลธรรมอย่างพวกตนจึงมีความชอบธรรมที่จะขจัดระบอบทักษิณด้วยวิธียึดอำนาจรัฐ เพื่อตั้ง “สภาประชาชน” ปฏิรูปประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงว่าเป็นไปตามหลักการและกติกาประชาธิปไตยตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่
 
วิธีคิดเช่นนี้ย่อมแปลกประหลาดในสายตาโลกประชาธิปไตยสมัยใหม่ ดังผู้สื่อข่าวบีบีซี.ยิงคำถามกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่า “ในฐานะที่คุณเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองเก่าแก่ไม่ละอายใจบ้างหรือที่สนับสนุนแนวทางการต่อสู้(ของ กปปส.)ซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย” จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า พรรคการเมืองเก่าแก่พรรคนี้น่าจะ “ตั้งชื่อผิด” เพราะชื่อพรรคที่มีความหมายในเชิงยืนยันอำนาจสูงสุดของประชาชน กับแนวทางการต่อสู้ทางการเมืองที่ยังอยู่ในโหมดแบบ “ยุคกลาง (Medieval)” โดยอิงสถาบันกษัตริย์ต่อสู้ทำลายคู่แข่งทางการเมืองย่อมขัดแย้งกันอย่างตลกร้าย
 
แต่คำอธิบายของนายอภิสิทธิ์ที่พยายามเน้นว่า “ระบอบทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทุจริตคอร์รัปชันจึงหมดความชอบธรรม” ย่อมฟังไม่ขึ้น หรือไม่ make sense ในสายตาฝรั่ง เพราะตามมาตรฐานของประเทศอารยประชาธิปไตยนั้น ต่อให้รัฐบาลทุจริต หรือขาดความชอบธรรมอย่างไร (ยกเว้นว่าได้ทำสิ่งเลวร้ายสุดๆ เช่นใช้กองทัพไล่สังหารประชาชน หรือทำรัฐประหารตัวเองเป็นรัฐบาลเผด็จการที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบตามวิถีทางประชาธิปไตยไม่ได้) ก็ต้องแก้ตามวิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น เช่น โดยการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบของสื่อมวลชน นักวิชาการ ภาคประชาชน อภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา ยื่นถอดถอน เอาผิดทางกฎหมาย ประชาชนไม่เลือกเข้ามาอีก ฯลฯ ไม่ใช่ใช้วิธีรัฐประหารโดยกองทัพ หรือใช้ม็อบยึดอำนาจรัฐดังที่นิยมทำกันในบ้านเรา
 
จึงน่าตั้งคำถามว่า การต่อสู้ทางการเมืองในนามคนดีที่อ้างความดี หรือศีลธรรมในบ้านเรา ทำไมจึงกลายเป็นวัฒนธรรมของการยกคนดี ความดี หรือศีลธรรมให้อยู่เหนือหลักการตลอดมา อ้างว่าฝ่ายตรงข้ามเป็นคนเลว ไร้ศีลธรรม ทุจริตคอร์รัปชัน แต่บรรดาคนดีมีศีลธรรมกลับใช้วิธีทุจริตยิ่งกว่าคือ “ทุจริตระบบ”
 
การทุจริตโดยการซื้อเสียง หรือคอร์รัปชันภาษีประชาชนย่อมเป็นความเลวร้ายที่ต้องจัดการตามกฎหมาย แต่ความเลวร้ายนั้นไม่ได้ล้มระบบประชาธิปไตย เพราะหลักการ กติกาประชาธิปไตย หรือรัฐธรรมนูญยังอยู่ ยังสามารถใช้เป็นกลไกในการแก้ปัญหาความเลวร้ายนั้นๆ ให้ลดลงหรือหมดไปได้ แต่อาจต้องค่อยๆ แก้จุดอ่อนของระบบ โดยสร้างความเข้มแข็งของการเมืองในสภาและภาคประชาชนควบคู่กันไป ซึ่งจำเป็นต้องให้เวลาแก่กระบวนการประชาธิปไตยได้พัฒนาตัวมันเองให้ก้าวหน้าไปอย่างเป็นธรรมชาติเหมือนประเทศอารยประชาธิปไตยอื่นๆ
 
แต่การ “ทุจริตระบบ” คือการอ้างการทุจริตและความไม่ชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้ความชอบธรรมแก่ฝ่ายตนเองได้มีอภิสิทธิ์ใช้อำนาจนอกระบบ หรือใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญยึดอำนาจรัฐโดยกองทัพ หรือโดย “มวลมหาประชาชน” ซึ่งหมายถึงประชาชนฝ่ายตนเท่านั้น ฝ่ายอื่นซึ่งเป็นเสียงข้างมากที่สนับสนุนรัฐบาลไม่ถูกนับว่าเป็น “ประชาชน” ฉะนั้น การทุจริตระบบจึงอยู่บนฐานของการบิดเบือนตั้งแต่ความหมายของประชาชน ความหมายของคนดี ความดี ศีลธรรม จนนำไปสู่การบิดเบือนระบบและการล้มระบบด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญในที่สุด
 
อันที่จริง สังคมประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าไม่ใช่ว่าไม่ต้องการศีลธรรม แต่เป็นสังคมที่ตั้งมั่นอยู่บนศีลธรรมบางอย่าง ในปรัชญาการเมืองฝรั่งเวลาพูดถึงการมี “ศีลธรรม  (Morality)” ในทางการเมือง ความหมายของศีลธรรมดังกล่าวนี้กว้างกว่าศีลธรรมทางศาสนาแบบบ้านเรา ที่เน้นเรื่อง “คนดี” หรือผู้ปกครองที่เป็นคนดีเท่านั้น แต่ศีลธรรมของเขาหมายถึง “หลักการสากล” ที่ทุกคนพึงยึดถือปฏิบัติร่วมกันเช่นหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม
 
หมายความว่าการกระทำที่จะถือว่ามีศีลธรรม เป็นความดี หรือความถูกต้องนั้น ต้องปฏิบัติต่อทุกคนในมาตรฐานเดียวกัน คือเคารพสิทธิเสรีภาพของทุกคนในฐานะเป็นคนเหมือนกัน แม้ว่าแต่ละคนจะโง่ ฉลาด มีบทบาทหน้าที่หรือฐานะทางสังคม (เป็นต้น) ต่างกัน แต่ต้องถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อหน้ากฎหมาย ศีลธรรมจึงมีอยู่ทั้งในกฎหมาย ในวิถีชีวิตของปัจเจกบุคคลที่เคารพสิทธิกันและกัน และในวัฒนธรรมทางการเมือง ใครที่ทำผิดกฎหมายก็ต้องจัดการตามกฎหมายในมาตรฐานเดียวกัน การปฏิบัติอย่างสองมาตรฐานย่อมผิดศีลธรรม เพราะขัดต่อหลักความยุติธรรมที่ถือว่าทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพเท่าเทียมกัน
 
ศีลธรรมเช่นนี้จึงเป็นอุดมคติของประชาธิปไตย หรือเป็น “ศีลธรรมประชาธิปไตย” สังคมที่ประชาธิปไตยก้าวหน้า ระบบการศึกษาต้องปลูกฝังค่านิยมให้ประชาชนรักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม ไม่ใช่ปลูกฝังให้รักตัวบุคคล จนเลยเถิดไปยกตัวบุคคลให้อยู่เหนือหลักการ เช่น ถ้าเชื่อกันว่าคนนี้เป็นคนดีมีศีลธรรมก็ไม่ต้องวิจารณ์ตรวจสอบ เป็นต้น
 
แต่ศีลธรรมของสังคมไทยที่ปลูกฝังผ่านสถาบันการศึกษา ศาสนา สื่อมวลชน ฯลฯ เป็นศีลธรรมที่เน้นการเชิดชูยึดติดตัวบุคคล ในทางศาสนาเราถูกปลูกฝังให้เชื่อฟังพระสงฆ์มากกว่าเชื่อสติปัญญาของตนเอง ในทางโลกศีลธรรมยึดโยงอยู่กับความกตัญญูและจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ โดยปราศจากการตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ ฉะนั้น ค่านิยมทางศีลธรรมของสังคมไทยจึงตั้งอยู่อยู่บนพื้นฐานของ “ความเป็นคนไม่เท่ากัน” ยอมรับลำดับสูงต่ำในความเป็นคนตามลำดับชนชั้น หรือสถานะที่แตกต่างกัน การอ้าง “ศีลธรรมแบบลำดับชนชั้น” จึงขัดแย้งกับ “ศีลธรรมแบบเท่าเทียม” ในสังคมประชาธิปไตยในระดับรากฐาน
 
ฉะนั้น ทั้งพระสงฆ์และแกนนำมวลชนที่อ้างศีลธรรมต่อสู้ทางการเมือง จึงเป็นการอ้างเพื่อให้ความชอบธรรมแก่การ “ทุจริตระบบ” ทำให้พวกเขาเชื่ออย่างหัวชนฝาว่า การทำอะไรในนามของคนดี ความดี หรือศีลธรรมบนฐานความจงรักภักดี จะทำอะไรก็ไม่ผิด แม้ว่าด้วยวิถีทางนอกรัฐธรรมหรือล้มระบบประชาธิปไตยก็ตาม
 
 
 
หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข (14 – 20 ธันวาคม 2556)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net