Skip to main content
sharethis

เศรษฐกิจไม่ดีทำ ป.ตรีเตะฝุ่นอื้อ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยแพร่รายงานภาวะสังคมไตรมาส 3 ปี 2556 โดยระบุว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ชะลอตัว สถานประกอบการลดตำแหน่งงานในธุรกิจ ประกอบกับการมีแรงงานใหม่เข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แรงงานหางานได้ยากขึ้น โดยเฉพาะผู้จบการศึกษาใหม่และเข้าสู่ตลาดแรงงาน

สศช. ระบุว่า จำนวนผู้สมัครงานไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 102.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ตำแหน่งงานว่างเพิ่มขึ้นเพียง 12.9% ขณะที่ไตรมาส 2พบว่ามีผู้สมัครงานมากกว่าตำแหน่งงาน 1.3 เท่า ผู้สมัครงาน 10 คน นายจ้างจะรับเข้าทำงาน 5 คน จากเดิมรับเข้าทำงาน 8 คน เพราะนายจ้างคัดเลือกคนมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบค่าแรง 300 บาท

"การชะลอตัวของเศรษฐกิจ กิจการมีการปรับลักษณะการจ้างงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงการชะลอการขยายตำแหน่งงาน ส่งผลให้การว่างงานของผู้ที่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้น 32.6% หรือ 1.49 แสนคน ส่วนผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้น 32.2% หรือ 1.56 แสนคน ส่วนหนึ่งเป็นผู้จบการศึกษาใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน" รายงานระบุ

นอกจากนี้ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้มีผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานมีจำนวน 1.34 แสนคน เพิ่มขึ้น 10.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นกรณีลาออก 1.17 แสนคน เพิ่มขึ้น 11.4% และกรณีถูกเลิกจ้างจากการปิดกิจการและลดการจ้างพนักงาน 1.72 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 3.6%

ขณะที่นโยบายการปรับค่าจ้างแรงงาน 300 บาท และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้แรงงานเอกชนที่เคยทำงาน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป มีจำนวนลดลง 19.6% เนื่องจากสถานประกอบการปรับเปลี่ยนลักษณะการผลิต

สศช. รายงานว่า อัตราว่างงานไตรมาส 3 เพิ่มเป็น 0.77% จาก 0.58% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีผู้ว่างงาน 3.05 แสนคน แต่กลับพบว่าจำนวนกำลังแรงงานลดลง 0.9% หรือมีกำลังแรงงาน 39.5 ล้านคน เพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้างประชากร แรงงานอายุ 15 ปีขึ้นไปเข้าสู่ตลาดแรงงานช้า โดยกำลังแรงงานอายุ 15-24 ปี ลดลงต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยผลการสำรวจภาวะการทำงานของคนไทยในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่าจากผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.39 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 38 ล้านคน ผู้ว่างงาน 2.37 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 1.3 หมื่นคน

ผู้ที่มีงานทำจะอยู่นอกภาคเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 25 ล้านคน ทั้งด้านการผลิต ขนส่ง ค้าส่ง ค้าปลีก ส่วนผู้ที่ทำงานในภาคเกษตรมีประมาณ 12.8 ล้านคน

สำหรับจำนวนผู้ว่างงานในเดือน ต.ค. 2.3 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.6% โดยเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.4 หมื่นคน แต่ลดลงจากเดือน ก.ย. เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 9 หมื่นคน ส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากที่สุด 8.3 หมื่นคน และภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงสุด 0.8%

(โพสต์ทูเดย์, 10-10-2556)

กกจ.เผยอัตราว่างงานลดลง 8 หมื่นคน ระบุสาเหตุว่างงานมาจากนายจ้างปิดกิจการ

นายธนิช นุ่มน้อย รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงแนวโน้มการมีงานทำของแรงงานไทยในปี 2557 ว่า เบื้องต้นกระทรวงแรงงานได้ตั้งคณะกรรมการขึ้น 2 ชุด โดยกรรมการชุดแรกให้ดำเนินการวางมาตรการเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และชุดที่สอง เพื่อศึกษาอัตราแรงงานที่มีอยู่ภายในประเทศ โดยฝึกอบรมให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งนี้ จะมีการพิจารณาไปถึงการเปิดรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ ในกลุ่มแรงงานระดับล่าง ซึ่งต้องเป็นอาชีพที่แรงงานไทยไม่ทำ
       
รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวอีกว่า จากข้อมูลกองวิจัยตลาดแรงงาน พบว่าอัตราการว่างงานจะสูงที่สุด และปรับตัวลดลงต่ำสุดในช่วงปลายปี เนื่องจากโครงสร้าง การมีงานทำของแรงงานยังอยู่ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งช่วงต้นปีเป็นช่วงนอกฤดูการเกษตร ทำให้มีผู้ว่างงานจากภาคเกษตรเพิ่มขึ้น ส่วนช่วงปลายปีอัตราการว่างงานลดลง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตในภาคเกษตรกรรม และสถานประกอบการจะเร่งผลิตสินค้าและบริการเพื่อจำหน่ายให้ทันในช่วงเทศกาล คริสต์มาส และเทศกาลปีใหม่ ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นจำนวนผู้ว่างงานจึงลดต่ำลงกว่าช่วงต้นปีและ กลางปี
       
นายธนิช กล่าวด้วยว่า กรมการจัดหางานได้นำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาทำการวิเคราะห์ในเชิงสถิติแล้ว เห็นว่าในเดือน ธ.ค.2556 จะมีผู้ว่างงานประมาณ 200,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.5 ของกำลังแรงงาน ซึ่งจำนวนผู้ว่างงานจะลดลงจากเดือนก่อนหน้า 8 หมื่นคน และอัตราการว่างงานลดลงจากเดือนก่อนหน้า ร้อยละ 0.2 (จากร้อยละ 0.7 เป็นร้อยละ 0.5)ในจำนวนผู้ว่างงานนี้เป็นผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 6.5 หมื่นคน และผู้ที่เคยทำงานมาก่อน 1.35 แสนคน โดยทำงานอยู่ในภาคบริการและการค้ามากที่สุดจำนวน 5.7 หมื่นคน รองลงมาอยู่ในภาคการผลิตจำนวน 5.1 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 2.7 หมื่นคน ตามลำดับ
       
“สาเหตุการเลิกจ้างงานมาจากนายจ้างปิดกิจการมากที่สุด รองลงมาได้แก่ นายจ้างลดจำนวนพนักงาน ส่วนสาเหตุอื่นๆ เช่น สุขภาพไม่ดี หยุดกิจการชั่วคราว คิดเป็นร้อยละ 19.84 ไม่ผ่านการประเมิน/ทดลองงาน คิดเป็นร้อยละ 3.71 มีความผิด คิดเป็นร้อยละ 1.18 นายจ้างใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย คิดเป็นร้อยละ 0.28 และสาเหตุการลาออกจากงานส่วนใหญ่มาจากความต้องการเปลี่ยนงานมากที่สุด” นายธนิช กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 10-12-2556)

สปส.เพิ่มค่าฟื้นฟู-รักษา-อวัยวะเทียม แรงงานบาดเจ็บทำงานเริ่มใช้ต้นปี 57

(11 ธ.ค.)นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและอัตราค่าฟื้นฟู สมรรถภาพในการทำงานของแรงงานที่บาดเจ็บจากการทำงานซึ่งอยู่ในความดูแลของกอง ทุนเงินทดแทนโดยร่างประกาศดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ จากเดิมลูกจ้างที่บาดเจ็บเนื่องจากการทำงานได้รับเงินค่าฟื้นฟูสมรรถภาพด้าน อาชีพและด้านการแพทย์ที่เป็นการฟื้นฟูร่างกาย รวมค่าฟื้นฟูทั้งสองด้านไม่เกินคนละ 2.4 หมื่นบาท ก็ให้แยกเงินค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งสองด้านออกจากกันเป็นจ่ายด้านละ 2.4 หมื่นบาท ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนของค่าฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ หากลูกจ้างที่บาดเจ็บเช่น แผลไฟไหม้ มีแผลเรื้อรังจากการบาดเจ็บ จะต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติมก็สามารถจ่ายค่ารักษาฟื้นฟูเพิ่มให้ได้อีกไม่ เกินคนละ 4 หมื่นบาท และถ้าจำเป็นต้องได้รับการรักษาฟื้นฟูในระดับสูงขึ้นไปอีกก็จ่ายค่ารักษา ฟื้นฟูเพิ่มให้ได้อีกสูงสุดไม่เกินคนละ 1.5 แสนบาท
      
นายอารักษ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันที่ประชุม ครม.ในคราวเดียวกันนี้ยังได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยค่าอวัยวะเทียมและ อุปกรณ์เสริมของร่างกาย เช่น แขน ขาเทียม โดยจากเดิมให้เป็นไปตามอัตราที่กองทุนเงินทดแทนกำหนดไว้เป็นให้ยึดตามอัตรา ที่กระทรวงการคลังกำหนดโดยรวมแล้วไม่เกินคนละ 1.6 แสนบาท เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงการคลัง
      
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงแรงงานว่าด้วยการกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่กองทุน เงินทดแทนจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่เจ็บป่วย ประสบอันตรายหรืออุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการทำงาน โดยจากเดิมกำหนดวงเงินจ่ายไม่เกิน 4.5 หมื่นบาทต่อคน หากบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยเรื้อรังจ่ายสูงสุดไม่เกิน 3 แสนบาทต่อคน ก็ได้ปรับเพิ่มวงเงินเป็นจ่ายไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อคนและบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยเรื้อรังจ่ายสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อคน
      
“ขณะนี้ร่างกฎกระทรวงฉบับแก้ไขของกองทุนเงินทดแทนทั้ง 3 ฉบับนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเนื้อหาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หากผ่านความเห็นชอบแล้ว กระทรวงแรงงานจะประกาศใช้ต่อไปโดยร่างกฎกระทรวงว่าด้วยอัตราค่าฟื้นฟู สมรรถภาพในการทำงาน และร่างกฎกระทรวงว่าด้วยค่าอวัยวะเทียมคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในเดือน ก.พ.ปีหน้า หลังจากนั้นร่างกฎกระทรวงแรงงานว่าด้วยการกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลแรงงาน ที่เจ็บป่วยบาดเจ็บจากการทำงานคาดว่าจะประกาศใช้ในเดือน มี.ค.โดยการพิจารณาจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ค่าอวัยวะเทียมและค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วย หรือบาดเจ็บจากการทำงาน หากจำเป็นต้องจ่ายในอัตราที่สูงขึ้นไปเกินกว่าวงเงินขั้นต่ำที่กำหนด จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการการ แพทย์ของกองทุนเงินทดแทนก่อน” รองเลขาธิการ สปส.กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 11-12-2556)

ปลัดแรงงานหารือ ผอ.ไอเอ็มเจแปน ขอเพิ่มจำนวน-ขยายเวลาฝึกงานที่ญี่ปุ่น

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา นายเคียวอิ ยานากิซาว่า (Kyoei Yanagisawa) ผู้อำนวยการสมาคมแรงงานระดับนานาชาติ สำหรับสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ประเทศญี่ปุ่น (Association for Manpower Development of Medium and Small Enterprise) ได้เข้าพบเพื่อหารือถึงความร่วมมือของทั้งสองประเทศ เกี่ยวกับโครงการจัดส่งผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคชาวไทยไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิค ในประเทศญี่ปุ่น หรือไอเอ็มเจแปน ซึ่งตนได้ขอความร่วมมือจากองค์กรไอเอ็มเจแปน ให้เพิ่มจำนวนผู้ฝึกปฏิบัติงานคนไทยที่ไปฝึกปฏิบัติงานในประเทศญี่ปุ่นขึ้น จากปัจจุบันมีจำนวน 700 คน และขอให้ขยายการฝึกปฏิบัติงานจากเดิม 3 ปี เป็น 5 ปี เพื่อคนไทยจะได้ไปฝึกปฏิบัติงานและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในประเทศญี่ปุ่นมาก ขึ้น

นายจีรศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากการหารือนายเคียวอิ บอกว่า ทางรัฐบาลญี่ปุ่นมีโครงการที่จะปรับปรุงการรับผู้ฝึกปฏิบัติงานจากต่าง ประเทศ กรณีที่ปลัดกระทรวงแรงงานขอให้ขยายระยะเวลาการฝึกปฏิบัติงานเพิ่มเป็น 5 ปีนั้นไม่ขัดข้อง และจะขยายประเภทอาชีพที่รับผู้ปฏิบัติงานเทคนิคเพิ่มเติม โดยอยากให้กระทรวงแรงงานประชาสัมพันธ์โครงการไอเอ็มเจแปนให้กว้างขวางมาก ขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความตั้งใจจริงและกระตือรือร้นในการทำงาน ได้เข้ามาฝึกปฏิบัติงานกับญี่ปุ่น ซึ่งตนได้ให้กรมการจัดหางาน (กกจ.) ไปสำรวจข้อมูลสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนในระดับ ปวช. ปวส. ปริญญาตรีและโครงการความร่วมมือกับต่างประเทศในประเทศไทย ที่มีการเปิดสอนหลักสูตรภาษาญี่ปุ่น เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักเรียน นักศึกษาเหล่านี้ได้มีโอกาสไปฝึกปฏิบัติงานในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น

(มติชน, 12-11-2556)

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนกรณีเหตุการณ์แรงงานจลาจลในสิงคโปร์

นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนกรณีเหตุการณ์แรงงานจลาจลในสิงคโปร์

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ได้รับแจ้งจากสำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์รายงานว่า เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๖ ได้มีกลุ่มชาวเอเชียใต้ก่อจลาจลบริเวณย่านลิตเติ้ลอินเดีย หลังจากชาวอินเดียรายหนึ่งประสบอุบัติเหตุถูกรถประจำทางพุ่งเข้าชนในบริเวณ ดังกล่าวจนเสียชีวิต ส่งผลให้กลุ่มคนชาวเอเชียใต้ในพื้นที่ไม่พอใจและก่อจลาจล ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ ๒๗ ราย ทั้งนี้ ยังไม่พบว่ามีแรงงานไทยเข้าไปเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้ง นี้แต่อย่างใด โดยรัฐบาลสิงคโปร์ได้ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ดังกล่าวและจะจัดการกับผู้ที่ เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง

(กระทรวงการต่างประเทศ, 12-11-2556)

กระทรวงแรงงานขยายโอกาสด้านอาชีพให้ 'ผู้สูงอายุ'

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 56 นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการขยายโอกาสด้านอาชีพ และการทำงานสำหรับผู้สูงอายุ ครั้งที่ 1/2556 ในที่ประชุมได้มีการพิจารณา (ร่าง) มาตรการ/แนวทางการส่งเสริมการขยายโอกาสด้านอาชีพ และการทำงานสำหรับผู้สูงอายุ ใน 3 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการการจ้างงานผู้สูงอายุในระบบ อาทิ การจูงใจในการจ้างงาน การฝึกอบรม และการเรียนรู้ ประสานงานเพื่อสร้างความเข้าใจ และความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในภาครัฐและภาคเอกชน ผู้สูงอายุต้องมีการเตรียมพร้อมในการทำงาน การส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ มาตรการการจ้างงานผู้สูงอายุนอกระบบ อาทิ การส่งเสริมศักยภาพการใช้ภูมิปัญญาผู้สูงอายุ การส่งเสริมการรวมกลุ่มประกอบอาชีพ และการสนับสนุนช่วยเหลือโดยภาครัฐ และมาตรการทั่วไปที่สามารถดำเนินการได้ ทั้งการจ้างงานผู้สูงอายุในระบบและนอกระบบ ได้แก่ การฝึกอบรมและการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การส่งเสริมการออมและการรณรงค์ ส่งเสริม ให้เห็นความสำคัญในการออมและการลงทุนในรูปแบบต่างๆ.

(ไทยรัฐ, 12-12-2556)

แรงงานไทยจ๋อย! อ่อนภาษา สอบตกความปลอดภัยเมืองลอดช่องเพียบ

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ได้รับการร้องขอจากแรงงานไทย ภาคก่อสร้าง ให้หาทางช่วยเหลือคนงานที่สอบไม่ผ่านหลักสูตรความปลอดภัยในการทำงานเป็น จำนวนมาก เพราะคนงานทุกชาติที่ทำงานในภาคก่อสร้างในประเทศสิงคโปร์ต้องสอบผ่านหลัก สูตรความปลอดภัยในการทำงาน ก่อนที่จะเข้าทำงานได้ โดยนายจ้างต้องส่งคนงานที่ไม่เคยมาทำงานในประเทศสิงคโปร์เข้าทดสอบภายใน 14 วัน นับจากคนงานเดินทางมาถึงประเทศสิงคโปร์ ที่จะทำใบอนุญาตการทำงาน และสำหรับคนงานที่จะต่อใบอนุญาตการทำงาน ใบสอบผ่าน CSOC จะต้องมีอายุอย่างน้อย 1 เดือน ซึ่งก่อนการต่อใบอนุญาตการทำงาน กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ได้ปรับมาตรฐานเพิ่มเนื้อหาและระยะเวลาการอบรมความ ปลอดภัยในการทำงานภาคก่อสร้างจากเดิม 1 วันเป็น 2 วัน โดยการฝึกอบรมและการทดสอบจะใช้ภาษาประจำชาติของคนงาน การเพิ่มเนื้อหาทำให้คนงานไทยที่อ่านหนังสือไม่คล่องสอบไม่ผ่าน บางรายนายจ้างส่งเข้าทดสอบมากกว่า 3 ครั้งแต่ยังสอบไม่ผ่าน จนในที่สุดต้องส่งกลับประเทศไทย
      
ปลัดกระทรวงเเรงงาน กล่าวอีกว่า จากข้อมูลของสำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ ระบุว่า สำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ได้ประสานแรงงานกระทรวงเเรงงานสิงคโปร์ เพื่อขออนุโลมสำหรับคนงานไทยที่มีการศึกษาน้อยแต่ทำงานในประเทศสิงคโปร์เป็น ระยะเวลานาน โดยให้มีการอ่านข้อสอบและให้คนงานใส่คำตอบในกระดาษคำตอบ แต่กระทรวงแรงงานสิงคโปร์แจ้งว่าอัตราการสอบไม่ผ่านของแรงงานไทยอยู่ที่ร้อย ละ 10-13 ซึ่งไม่แตกต่างกับแรงงานชาติอื่นๆ ทั้งนี้ คนงานไทยที่เข้าสอบตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2556 มีจำนวน 1,621 คน ซึ่งสอบไม่ผ่านจำนวน 191 คน ดังนั้น กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ไม่สนับสนุนการอ่านข้อสอบให้คนงาน แต่จะอนุโลมให้ใช้ และจะติดตามอัตราการสอบผ่านของแรงงานชาติต่างๆ อย่างใกล้ชิด และจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหากมีความจำเป็นเพื่อรักษาคุณภาพการฝึกอบรมและการ ทดสอบหลักสูตรความปลอดภัยในการทำงาน
      
“การช่วยเหลือแรงงานไทยที่ทางการสิงคโปร์ส่งกลับประเทศเนื่องจากสอบไม่ ผ่านและต้องการเข้าทำงานในประเทศสิงคโปร์อีกนั้น จะให้เข้าทดสอบที่ประเทศไทยเพื่อจะได้ไม่ประสบปัญหาถูกส่งกลับก่อนได้ใบ อนุญาตการทำงาน ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดการทดสอบและค่าใช้จ่ายได้ที่ศูนย์สอบ เชียงใหม่ เลขที่ 143 ม.2 ถ.เชียงใหม่-สันกำแพง ต.สันกลาง อ.สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์เดียวในปัจจุบันที่เปิดอบรมและทดสอบ CSOC โดยเสียค่าใช้จ่ายการสอบอยู่ระหว่าง 110-150 เหรียญสิงคโปร์ อายุบัตรสอบระหว่าง 2-4 ปี ขึ้นอยู่กับการทำงานในประเทศสิงคโปร์ หากคนงานทำงานในประเทศสิงคโปร์มากกว่า 6 ปีขึ้นไป บัตร CSOC ก็จะมีอายุ 4 ปี” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 12-12-2556)

วิกฤตแรงงานไทยในอนาคต สำรวจพบตัวเลข 6% ว่างงานถึงปี′ 60

กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ประเทศไทย ทำการสำรวจภาพรวมตลาดแรงงานไทยในปี 2556 และแนวโน้มของตลาดแรงงานในปี 2557

 "ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์" ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค-ไทย และเวียดนาม กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ประเทศไทย บอกว่า เราทำการศึกษาพบจำนวนผู้ว่างงานในเดือนกันยายน 2556 มีทั้งสิ้น 264,000 คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.7%

"ทั้งนั้น อาจมีผลจากการชะลอการจ้างงานใหม่ ซึ่งเป็นผลจากการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรี 15,000 บาท จึงทำให้ภาคเอกชนต้องปรับเงินเดือนตามไปด้วย ตรงนี้ส่งผลให้แรงงานใหม่ที่หางานไม่ได้ หรือต้องการอิสระหันไปประกอบธุรกิจส่วนตัว รวมถึงอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเป็นหลักเริ่มมีการพิจารณาการย้ายฐานการ ผลิตไปยังประเทศพม่าที่มีอัตราค่าจ้างยังคงอยู่ในระดับต่ำ"

"ส่วนแรงงานฝีมือสำหรับอุตสาหกรรมไทย เริ่มมีการไหลมาจากมาเลเซีย และอินโดนีเซียมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ภาวะว่างงานและสภาพตลาดการขาดแคลนแรงงานจึงทวีความรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย"

"ธิดารัตน์" กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลปี 2556 ของบริษัทอเด็คโก้พบว่าสายงานที่มีการจ้างงาน และหาคนมากที่สุดในตลาดแรงงาน อันดับ 1 ถึง 5 คือสายงานวิศวกรรม, งานขาย, บัญชี, ธุรการ และไอที

"ส่วนกลุ่มธุรกิจที่มองหาคนมาทำงานมากที่สุด คือกลุ่มยานยนต์, กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์, กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค, กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ และกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง ขณะที่ตำแหน่งที่คนทำงานมองหามากที่สุด คือการตลาด, วิศวกรรม, ไอที, งานขาย และธุรการ"

ด้าน "เอียน กรันดี้" ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ อเด็คโก้เอเชีย กล่าวถึงภาพรวมตลาดแรงงานในเอเชียปี 2556 ว่า อัตราการว่างงานในปี 2556 สูงเป็นประวัติการณ์ และคาดว่าอัตราคนว่างงานจะมากถึง 6% ไปจนถึงปี 2560

"ส่วนอาชีพที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานของเอเชียสูงสุดติดอันดับ 1 ใน 5 ในปี 2556 ได้แก่งานขาย, วิศวกรรมทุกสาขา, บัญชีและการเงิน, นักวิจัย (R&D), พนักงานออฟฟิศ (ฝ่ายสนับสนุน)"

"ปัญหาสำคัญของตลาดแรงงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาบสมุทรแปซิฟิก คือการขาดแคลน

ผู้สมัครงาน (ข้อมูลของ Deloitte และ PWC) โดยพบว่า 3 ใน 10 ของนายจ้างในเอเชียหาบุคลากรไม่ได้ เพราะผู้สมัครงานมีความสามารถไม่ตรงตามต้องการ โดยเฉพาะญี่ปุ่นพบอุปสรรคในการหาบุคลากรมากที่สุด รองลงมาคือเวียดนาม, ไทย, ฮ่องกง, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไต้หวัน และจีนตามลำดับ"

ฉะนั้น จะเห็นว่าแนวโน้มต่อไปในอนาคตเรื่องของการขาดแคลนแรงงานในปี 2557 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2560 คงยังเป็นวิกฤตปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ พึงตระหนัก ขณะที่แรงงานทักษะฝีมือ เริ่มมีประเทศในกลุ่มอาเซียนเริ่มเข้ามาแข่งขัน

ประกอบกับความร่วมมือระหว่างภาครัฐของไทย กับประเทศในอาเซียนยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร จึงมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ คงต้องดิ้นหนีตายด้วยการจับมือกับภาคอาชีวศึกษา หรือแรงงานจังหวัด เพื่อควานหาแรงงานในส่วนที่ขาดมาช่วยเติมเต็ม

(ประชาชาติธุรกิจ, 13-12-2556)

ระนองเพิ่มมาตรการเข้มสกัดแรงงานต่างด้าวทะลักปีใหม่

14 ธ.ค.- พ.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์  ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 25 กองกำลังเทพสตรี เปิดเผยว่า ช่วงวันที่ 15 ธ.ค. 2556-15 ม.ค.2557 ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ที่มีประชาชนเดินทางเป็นจำนวนมาก อาจจะเป็นช่องว่างให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายลักลอบเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย เพื่อไปทำงานยังจังหวัดชั้นใน จึงกำชับ จนท.ประจำด่านตรวจตามแนวชายแดนไทย-พม่า ด้าน จ.ระนอง-เกาะสอง ที่ถือเป็นช่องทางสำคัญในการเดินทางเข้า-ออกประเทศของแรงงานต่างด้าวชาวพม่า ให้เพิ่มมาตรการเข้มงวดตรวจสอบบุคคลที่เดินทางผ่านจุดตรวจทั้ง 8 จุดตรวจ รวมทั้งจุดตรวจในทะเล

นอกจากนี้ จะเสริม จนท.ในเส้นทางสายรองที่แรงงานต่างด้าวอาจใช้เป็นเส้นทางในการหลบหนีเข้ามา ยังประเทศไทย เพื่อสกัดกั้นการทะลักเข้ามาของแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ายังมีอย่างต่อเนื่อง

(สำนักข่าวไทย, 14-12-2556)

นอภ.โร่จับสาวลูกจ้างชี้สวมบัตรให้ต่างด้าวนับ 100 คน

นอภ.เมืองกาญจน์ สั่ง ปลัดแจ้งความจับสาวลูกจ้างฝ่ายทะเบียนราษฎร ลักลอบปลอมแปลงเอกสาร แก้ไขวัน เดือน ปีเกิด ให้ต่างด้าวสวมบัตรประชาชนจำนวน 9 ราย พร้อมสั่งให้ขยายผลสอบย้อนหลังเชื่อทำเป็นขบวนการใหญ่ คาดร่วมมือกับพวกสวมบัตรให้ต่างด้าวไปแล้วกว่า 100 คน ส่วนลูกจ้างสาวถูกเลิกจ้างทันที

สาวลูกจ้างชั่วคราวร่วมกับพวกสวมบัตรให้คนต่างด้าวรายนี้ เปิดเผยเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 14 ธ.ค. นายศรัทธา คชพลายุกต์ นอภ.เมืองกาญจนบุรี มอบหมายให้นายวรกร พัฒนวิบูลย์ ปลัดอำเภอเมืองกาญจนบุรี ฝ่ายความมั่นคง นำหลักฐานเข้าแจ้ง พ.ต.ต.สุคนธ์ รัสเอี่ยม พงส.สภ.เมืองกาญจนบุรีให้ดำเนินคดีกับ น.ส.ศศิมา อาจสูงเนิน ลูกจ้างชั่วคราวของอำเภอเมืองกาญจนบุรี ฐานปลอมแปลงเอกสารโดยแอบแก้ไขรายการ วัน เดือน ปีเกิด ของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนในระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับ อนุญาตจากนายทะเบียนจำนวน 9 ราย

ต่อมานายศรัทธา คชพลายุกต์ นอภ.เมืองกาญจนบุรี ได้ให้รายละเอียดว่า เมื่อปี พ.ศ.2548-2549 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้บุคคลไร้สถานะที่อยู่ในประเทศไทยก่อนเดือนตุลาคม 2542 สามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้มีสถานะทางทะเบียนได้ และทางอำเภอได้ตั้งศูนย์บริการประชาชนในห้างเทสโก้ โลตัส สาขากาญจนบุรี ต.ปากแพรก โดยมีเจ้าหน้าที่หมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไปเพื่อป้องกันการทุจริต ล่าสุดได้สั่งให้สับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และได้รับแจ้งจากปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนราษฎรที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ชุดใหม่ ว่า พบเอกสารสำคัญถูกแก้ไขวัน เดือน ปีเกิดของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนในระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์อย่างผิด ปกติ และมีบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน นำเอกสาร วัน เดือน ปีเกิด รวมทั้งเลขประจำตัวประชาชนตรงกัน มายื่นที่อำเภอเพื่อขอเป็นบุคคลที่มีสถานะทางทะเบียนซ้ำกัน จำนวน 9 ราย ส่อไปในทางทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์บริการภายในห้าง เทสโก้ โลตัส สาขากาญจนบุรี

นายศรัทธากล่าวต่อว่า หลังทราบเรื่องได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ผลการสอบสวนพบว่า น.ส.ศศิมา อาจสูงเนิน ลูกจ้างชั่วคราวของอำเภอเมืองกาญจนบุรีเป็นผู้ดำเนินการแก้ไข พร้อมนำตัวมาสอบสวน น.ส.ศศิมายอมรับสารภาพว่าได้แก้ไขรายการ วัน เดือน ปีเกิดให้กับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนในระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ 9 รายจริง ส่วนผู้ที่มาแจ้งข้อมูลสวมบัตรคนอื่นทั้ง 9 คน มีความผิดฐานใช้หรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จหรือกระทำการเพื่อให้ตนเองมีชื่อ หรือมีรายการอย่างหนึ่งอย่างใดในทะเบียนบ้านหรือเอกสารการทะเบียนราษฎรอื่น โดยมิชอบ แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นเสียหาย ปลอมแปลงเอกสารสิทธิ์หรือเอกสารทางราชการ และแจ้งให้พนักงานกระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชน หรือเอกสารราชการ ซึ่งมี วัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ ผู้อื่น

“การให้สัญชาติแก่ผู้ไม่มีสถานะถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่น คงของชาติจึงถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในส่วนของการดำเนินการทางวินัยตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อขยายผลย้อนหลังไป อีก เบื้องต้นจากการตรวจสอบเชื่อว่ามีผู้ที่สวมบัตรประชาชนของคนอื่นลักษณะนี้ อีกกว่า 100 คน และสั่งให้สืบสวนขยายผลหาผู้ร่วมขบวนการและผู้อยู่เบื้องหลังในการกระทำ ครั้งนี้ หากสอบขยายผลถึงใครต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ส่วน น.ส.ศศิมาได้สั่งให้เลิกจ้างทันที” นายศรัทธากล่าว

(ไทยรัฐ, 14-12-2556)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net