Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ถ้าเราพิจารณาประเทศที่ประสบความสำเร็จในแง่ของการพัฒนาระบบสวัสดิการแล้ว   สวีเดนคือหนึ่งในประเทศที่เรากำลังพูดถึง  สวีเดนเป็นประเทศที่เปิดกว้างในด้านเสรีภาพของมนุษย์   มีอัตราความยากจนที่ต่ำที่สุดในโลก    เป็นประเทศที่มีความเท่าเทียมมากที่สุดในแง่ของการกระจายรายได้และสวัสดิการสังคม (เอื้อมพร พิชัยสนิธ 2553) นี้คือภาพความสำเร็จของรัฐสวัสดิการสมัยใหม่ที่เรามักจะรู้จักกันในชื่อของ "The Swedish Model" อย่างไรก็ตามรัฐสวัสดิการไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่เกิดจากกระบวนการสร้างและพัฒนาการที่ยาวนาน   คำถาม คือ ระบบคิดเรื่องสวัสดิการมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และอะไรคือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนารัฐสวัสดิการในสวีเดน   และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ บทเรียนจากสวีเดนช่วยให้เราเข้าใจความเป็นไปได้และปัญหาในการไปสู่รัฐสวัสดิการของไทยได้อย่างไร

ย้อนกลับไปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18  หรือประมาน 300 กว่าปีที่แล้ว สวีเดน เคยเป็นประเทศที่ยากจนอันดับต้นๆในยุโรป  ช่วงเวลานั้นพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเป็นพื้นการเกษตรกรรม  ประชากรมากกว่า 80% เป็นชาวนายังคงทำการเกษตรแบบยังชีพและอยู่ภายใต้อำนาจของขุนนางเจ้าที่ดินจนกระทั่งสวีเดนเริ่มเข้าสู่การปฏิวัติเกษตรกรรม   และการปฏิรูปที่ดินอย่างจริงจังในศตวรรษที่ 19 และเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในเวลาต่อมา  การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เปลี่ยนโฉมหน้าพัฒนาการทางสังคม  เศรษฐกิจและการเมืองในสวีเดนอย่างรอบด้าน  ชาวนาสามารถเปลี่ยนฐานะตัวเองจากผู้เช่าที่ดินกลายเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ (freeholder) ก่อให้เกิดชนชั้นและขบวนการชาวนาที่เข้มแข็ง ทำให้ชาวนามีอิทธิพลทางการเมืองมากขึ้น จนนำไปสู่การก่อตั้งพรรคการเมืองชาวนา(Agrarian party)  ที่มีอำนาจต่อรองในรัฐสภาของสวีเดน

เพื่อที่จะมองเห็นภาพของพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตลอดจนผลสำเร็จที่เกิดจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของสวีเดน และฐานคิดสำคัญในการส่งเสริมประเด็นความเท่าเทียมด้านกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล  อันนำมาซึ่งการส่งเสริมรัฐสวัสดิการในสวีเดน เราจะมาดูกันว่าสวีเดนถูกหล่อหลอมให้กลายมาเป็นรัฐสวัสดิการแบบทุกวันนี้ได้อย่างไร  โดยพิจารณาจากสามปัจจัยสำคัญที่เป็นเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลง คือ การปฏิรูปที่ดิน  การปฏิวัติอุตสาหกรรม และที่น่าสนใจที่สุดเนื่องจากสอดคล้องกับสถานการณ์ในเมืองไทยคือ การประนีประนอมระหว่างชนชั้น

การปฏิรูปที่ดินและการเติบโตของชนชั้นชาวนา  (ศตวรรษที่ 18)

การปฏิรูปที่ดินเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการรัฐสมัยใหม่ จุดเริ่มต้นของการปฏิรูปที่ดินอยู่ที่รัฐ Scania ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของสวีเดน โดยกลุ่มชาวนาในพื้นที่  ซึ่งผลของการปฏิรูปที่ดินคือเปลี่ยน Scania จากพื้นที่เกษตรเล็กๆ กลายเป็นฐานการผลิตทางการเกษตรขนาดใหญ่และเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของสวีเดน  การปฏิรูปที่ดินสามารถสร้างแรงจูงใจให้กับชาวนาให้หันมาทำการผลิตเพื่อส่งออก จนชาวนาสามารถเปลี่ยนฐานะจากผู้เช่าที่ดินกลายมาเป็นผู้ถือครองที่ดิน การเติบโตของชนชั้นชาวนาจึงส่งเสริมให้เกิดกระบวนการชาวนาที่เข้มแข็งขึ้นในระยะหลัง และในสวีเดนเองนั้นการเกษตรมีความสำคัญ  ตรงที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพและการกระจายรายได้ ตลอดจนความมั่นคงและอิทธิพลทางการเมืองให้กับชาวนา  ในขณะที่แรงจูงใจของชาวนาบวกกับความต้องการของตลาด เร่งให้พื้นที่อื่นๆของสวีเดนหันมาปฏิรูปที่ดินมากขึ้น   ถ้าย้อนกลับไปดูเงื่อนไขของการปฏิรูปที่ดินจะพบว่าเกิดจากปัจจัยสองด้าน ได้แก่ ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก คือ

1.เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจดั้งเดิมมาสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ (ปัจจัยภายใน)  

ก่อนที่สวีเดนจะเข้าสู่การปฏิรูปที่ดิน ภาคเกษตรกรรมยังคงใช้รูปแบบของระบบดั้งเดิม คือเป็นการทำเกษตรแบบยังชีพ ซึ่งเป็นระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ    ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารและมีคนเสียชีวิตจำนวนมาก  ด้วยเหตุนี้การผลิตในรูปแบบเดิมจึงดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้   สวีเดนจึงจำเป็นต้องขยายภาคเกษตรเพื่อทำการผลิตส่วนเกินภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต  โดยการผลิตต่อหัว สร้างเงื่อนไขให้เกิดการแบ่งงานกันทำในระยะยาว และภายหลังทำให้เกิดภาคการผลิตในตลาด (market production) จำนวนมากตามมา ดังนั้นกระบวนการปฏิรูปที่ดินจึงเป็นกลไกที่เกิดขึ้นเพื่อรักษาความอยู่รอดของรัฐสวีเดน  ผลคือเปลี่ยนสวีเดนจากประเทศที่เคยนำเข้าธัญพืชกลายเป็นประเทศที่ส่งออกธัญพืชรายใหญ่ของยุโรปในปี 1850 (ruralhistory   2556)

2. การหลั่งไหลเข้ามาของแนวคิดเสรีนิยม (Liberalism) (ปัจจัยภายนอก)

การหลั่งไหลของแนวคิดเสรีนิยมนำวิธีการผลิตสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ในภาคเกษตรกรรม  ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นชาวนาค่อยๆเติบโตขึ้นจากรูปแบบการทำเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์    จำนวนการถือครองที่ดินในภาคปฏิบัติของขุนนางลดลงอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากชาวนามีกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของที่ดินมากขึ้นผ่านกระบวนการนี้เรียกว่า "การทำให้ภาคเกษตรกรรมเป็นของปัจเจก" (Individualization of agriculture) แนวคิดเสรีนิยมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นวงกว้าง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของชนชั้นชาวนาเกี่ยวกับการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน    การเติบโตของชนชั้นชาวนาอิสระจึงเป็นการก่อรูปโครงสร้างทางชนชั้นที่สำคัญของสวีเดน  ด้วยเหตุนี้เสรีนิยมจึงเข้ามาเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสวีเดนให้ทันสมัย ลดกฎเกณฑ์ต่างๆลง  สร้างเงื่อนไขตามกลไกตลาดแบบเสรี ซึ่งผลของการเปลี่ยนแปลงนี้สามารถสร้างกลไกทางอำนาจให้ชนชั้นล่างต่อรองกับชนชั้นสูงได้มากขึ้น  และไม่ตกอยู่ในฐานะผู้ที่ถูกกดขี่

ปัจจัยทั้งสองข้อข้างต้นปลุกกระแสให้เกิดการปฏิรูปที่ดินเป็นวงกว้าง   อย่างไรก็ตามการปฏิรูปที่ดินเป็นกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ ใช้เวลาเป็นร้อยๆปี  และเป็นจุดเริ่มต้นของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของสวีเดนในช่วงปี 1870-1970 (the rise of Swedish economy) หรือยุคทองทางเศรษฐกิจ (Stein Kuhnle Sven E. O. Hort. 2547) การปฏิรูปที่ดินก่อให้เกิดผลสองด้าน  อย่างแรกคือปลดปล่อยชาวนาให้เป็นอิสระ   ชาวนาสามารถใช้ดินเป็นเครื่องมือในการผลิต   อย่างที่สองคือทำให้สวีเดนประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ  สามารถผลักดันตัวเองขึ้นมาจากประเทศที่เคยยากจนที่สุดในยุโรป เป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งจากการส่งออกสินค้าเกษตร   การปฏิรูปที่ดินจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันที่สำคัญ   เพราะเปลี่ยนโฉมหน้าพัฒนาการทางสังคมการเมืองทั้งหมดของสวีเดน    โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล  ที่ทำให้ชาวนาอยู่ในฐานะที่สามารถต่อรองอำนาจกับขุนนางได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

การพัฒนาอุตสาหกรรมในสวีเดนไม่เข้มข้นพอที่จะสร้างฐานความมั่งคั่งให้ชนชั้นนำ (ศตวรรษที่ 19)

การที่สวีเดนสามารถเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกึ่งศักดินา (semi-feudal agrarian society) มาสู่สังคมสวัสดิการที่มั่งคั่งนั้น ไม่ได้เกิดจากการปฏิวัติโดยชนชั้นกลางอย่างในอังกฤษและฝรั่งเศส   และไม่ได้เกิดจากการปฏิวัติแบบถอนรากถอนโคน (radical revolution) โดยชาวไร่ชาวนาเหมือนในรัสเซีย  แต่เงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงในสวีเดนคือ ความเข้มแข็งของชาวนาที่เกิดขึ้นก่อนจะเข้าสู่ยุคพัฒนาอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันเราได้เห็นการปรากฏภาพขึ้นของความอ่อนแอของเจ้าที่ดินและการถืออำนาจของชนชั้นสูงที่เกิดจากความขัดแย้งของรัฐในสแกนดิเนเวียด้วยกันเอง นำมาสู่การล่มสลายของจักรวรรดิสวีเดนช่วงต้นศตวรรษที่ 19 และการมีที่ตั้งอยู่บริเวณชายขอบ (periphery) ของระบบเศรษฐกิจการเมืองยุโรป (Stein Kuhnle Sven E. O. Hort. 2547)

สวีเดนจึงไม่ได้อยู่ในที่ที่มีการสะสมทุน  ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมไม่เข้มข้นเหมือนประเทศในยุโรปตอนกลาง  สามปัจจัยนี้ส่งผลให้สวีเดนไม่มีภาพการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้นเหมือนประเทศอื่น  มีเพียงการต่อสู้และการปฏิวัติแบบสงบสันติของชนชั้นชาวนา   ซึ่งสาเหตุสำคัญอาจจะเป็นเพราะทรัพยากรที่ดินได้ตกไปอยู่ในมือของชาวนาก่อนหน้านี้แล้ว  ทำให้ไม่มีภาพของการขูดรีดชาวนาตามชนบท หรือการผูกขาดอำนาจโดยกษัตริย์และขุนนางเหมือนที่อื่นๆ

ในช่วงศตวรรษที่ 19 สวีเดนยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของการทำเกษตร แม้แต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เกษตรกรรมยังคงเป็นแหล่งกำเนิดของการจ้างงาน รูปแบบที่เกิดขึ้นทำให้ภูมิภาคนี้ถูกแยกออกจากยุโรป  หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมหลั่งไหลเข้ามา  ผลกระทบทางสังคมของสวีเดนแตกต่างจากผลกระทบในยุโรปอย่างเห็นได้ชัด  ในยุโรปพบว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้ปัญหาสังคมค่อยๆเพิ่มขึ้นตามชนบท  อุตสาหกรรมในยุโรปเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว   มีการล่าอาณานิคมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ     นายทุนในแต่ละประเทศพยายามสั่งสมความมั่งคั่งและแข่งขันกันเอง  ในอังกฤษชาวนาจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาในเมืองเพื่อเป็นกรรมกรตามโรงงานอุตสาหกรรม  ส่งผลให้เมืองเต็มไปด้วยผู้คนและกลายเป็นศูนย์กลางของทรัพยากรจำนวนมาก    เกิดชุมชนแออัด เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ และไม่น่าอยู่    ในขณะที่สวีเดนฐานเศรษฐกิจส่วนใหญ่สามารถกระจายไปอยู่ในมือของชาวนา  เมืองในสวีเดนจึงไม่เคยแออัดด้วยสลัม สวีเดนไม่เคยเกิดภาพการขูดรีดชนชั้นแรงงานและไม่เคยเป็นเมืองทุนนิยมเข้มข้นที่เน้นวิถีการผลิตเพียงอย่างเดียว ทำให้ชาวนาในชนบทของสวีเดนเติบโตและมีความเข้มแข็งมากกว่าชาวนาในยุโรป

เพราะฉะนั้นการปฏิวัติอุตสาหกรรม  กลายเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่ทำให้พัฒนาการของแต่ละรัฐมีความแตกต่างกัน  ด้วยเหตุนี้ประเทศอย่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้นจึงกลายเป็นรัฐทุนนิยมเต็มรูปแบบ  ทำให้ชนชั้นนำในรัฐเหล่านั้นสามารถใช้ทุนเป็นเครื่องมือในการควบคุมชนชั้นชาวนาและกรรมกรตามโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ   ในขณะที่สวีเดนเป็นรัฐทุนนิยมเพียงครึ่งเดียวอีกครึ่งหนึ่งยังคงให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรม  เพราะฉะนั้นการสร้างกลไกทางอำนาจของชนชั้นนำจึงไม่เข้มข้นเพราะขาดฐานเศรษฐกิจที่สำคัญคือทุน   สิ่งนี้จึงสร้างเงื่อนไขที่ทำให้ชนชั้นนำอ่อนแอ  เมื่อการขูดรีดไม่เข้มข้นเหมือนรัฐในยุโรป จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ชนชั้นนำจะเข้มแข็งและอยู่ในฐานะที่จะเอาเปรียบชนชั้นอื่นๆได้  ชนชั้นชาวนาของสวีเดนจึงมีพลังในการต่อรองและไม่อยู่ภายใต้อำนาจของชนชั้นนำนายทุน

การประนีประนอมระหว่างชนชั้น 

เวลาเราพูดถึงรัฐสวัสดิการเรามักจะนึกถึงคำถามว่าอะไรคือฐานคิดสำคัญของการสร้างรัฐสวัสดิการในสวีเดน  ทำไมชนชั้นนำและผู้มีรายได้สูงจึงยอมจ่ายภาษีในอัตราก้าวหน้าที่สูง   เพราะปกติชนชั้นนำมักจะใช้กระบวนการขูดรีดชนชั้นล่างแบบปิดบังซ่อนเร้นที่เรามักจะมองไม่เห็น  และคนเหล่านี้จะไม่ยอมสูญเสียผลประโยชน์ของตัวเองเพื่อผู้อื่นโดยง่าย แต่ในกรณีของสวีเดนคือชนชั้นนำกลับยอมกระจายความเท่าเทียมออกไปให้คนส่วนใหญ่   คำถามสำคัญคือทำไมคนเหล่านี้จึงยอม

ถ้าเราย้อนดูพัฒนาการทั้งหมดที่เกิดขึ้นและดูการเติบโตของสวัสดิการสังคมของสวีเดนในปัจจุบัน   เราสามารถอธิบายได้ว่ารัฐสวัสดิการเกิดจากผลของการประนีประนอมระหว่างชนชั้น  มีเป้าหมายเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างชนชั้นที่อาจนำไปสู่การล่มสลายของสถาบันทางการเมืองในสวีเดนในอนาคต  นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา การผลักดันแนวคิดเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการเป็นไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการต่อสู้ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ  และการกระจายรายได้  กระทั่งช่วงที่สวีเดนหันมาใช้รูปแบบการปกครองแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democratic Regime) ที่ทำให้เศรษฐกิจในสวีเดนอยู่ระหว่างความเป็นสังคมนิยมและทุนนิยม หรือเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy)  ซึ่งเศรษฐกิจแบบนี้ไม่เพียงวางรากฐานโครงสร้างด้านสวัสดิการสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพ  แต่ยังก่อให้เกิดการเติบโตของภาคธุรกิจตลอดจนการจ้างงานในระยะยาวเพิ่มขึ้นด้วย  (เอื้อมพร พิชัยสนิธ 2553)

สำหรับการเติบโตเรื่องรัฐสวัสดิการนั้นก่อตัวขึ้นจากการประนีประนอมระหว่างชนชั้น    จากการเรียนรู้ผ่านชุดประสบการณ์ความขัดแย้งในอดีต  และการมองผ่านสถาบันสำคัญๆในยุโรปที่เริ่มเสื่อมสลายลง ว่าการไม่ยอมประนีประนอมกับพลังทางสังคมใหม่ของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างจะนำความหายนะมาสู่ชนชั้นนำในหลายประเทศอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 ที่เกิดจากพลังของขุนนางร่วมมือกับชนชั้นล่างต่อต้านอำนาจของกษัตริย์ที่ต้องการจะเก็บภาษี  ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือเปลี่ยนฝรั่งเศสจากประเทศที่เคยปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธ์มาเป็นระบอบสาธารณรัฐ   เมื่อกลับมามองสวีเดน  ชนชั้นนำในสวีเดนเห็นว่าเงื่อนไขเดียวที่จะสามารถรักษาความอยู่รอดของชนชั้นนำได้ คือการประนีประนอม  เพราะถ้าหากชนชั้นสูงปฏิเสธเงื่อนไขนี้อาจจะต้องเผชิญกันความไม่พอใจจากชนชั้นล่าง   ซึ่งก็จะเป็นการสร้างโอกาสให้นำไปสู่ความขัดแย้งทางชนชั้นในอนาคต

การประนีประนอมจึงเป็นฐานคิดที่นำมาสู่การส่งเสริมสวัสดิการสังคมในช่วงต้น   และได้รับการพัฒนาจนเติบโตเป็นรัฐสวัสดิการสมัยใหม่  โดยลักษณะของรัฐสวัสดิการคือมีการออกกฎหมายเพื่อเก็บภาษีคนรวยมาช่วยคนจน  หรือที่เรารู้จักกันดีคือ "ระบบภาษีในอัตราก้าวหน้า"  สิ่งที่คนรวยได้รับจากการจ่ายภาษีคือ การเมืองและเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ  เพราะรัฐสามารถจ่ายเงินอุดหนุนให้คนที่ตกงานได้สองปี  และยังสามารถกระจายสวัสดิการให้ประชาชนได้อย่างเท่าเทียม   ดังนั้นถ้าคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี  ก็จะเกิดเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้คนรวยมีฐานเศรษฐกิจที่มั่นคง  และไม่ต้องเผชิญกับความวุ่นวายปั่นป่วนทางการเมือง ผลลัพธ์ของการกระจายความเท่าเทียมคือคนรวยสามารถขยายฐานเศรษฐกิจของตัวเองได้มากขึ้น   และสวัสดิการต่างๆยังเป็นหลักประกันความสงบสันติในระยะยาวให้กับประเทศอีกด้วย

เพราะฉะนั้นสิ่งนี้จึงสะท้อนว่าต้นทุนของการเป็นรัฐสวัสดิการของสวีเดนถูกกว่าต้นทุนของการไม่เป็นรัฐสวัสดิการ   การไม่ส่งเสริมนโยบายด้านสวัสดิการอาจทำให้ประเทศเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ มีคนตกงานออกมาประท้วงอย่างรุนแรงจนกลายเป็นความขัดแย้ง   เหมือนกับประเทศอื่นๆที่กำลังเผชิญปัญหาเหล่านี้ไม่เว้นแต่ละวัน  สวีเดนมองว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาสำคัญของความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทั่วโลก  เพราะฉะนั้นการขจัดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมความเท่าเทียมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความสงบสันติในสวีเดนอย่างยั่งยืน

หลังจากที่ชนชั้นนำยอมประนีประนอมกับชนชั้นล่าง จึงทำให้เกิดสมดุลระหว่างชนชั้น  การกระจายความเท่าเทียมด้านสวัสดิการทำให้จำนวนชนชั้นล่างค่อยๆลดลง  เพราะทุกคนไม่ว่าจะมาจากชนชั้นสูงหรือชนชั้นล่างสามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้อย่างเสรี  ทำให้ความ radical ในคนกลุ่มนี้มีระดับที่น้อยลงไปเรื่อยๆ  แม้ว่าในสวีเดนจะมีพวกสังคมนิยมสุดขั้วอยู่แต่ก็มีจำนวนน้อยและมีการเคลื่อนไหวที่ไม่เข้มแข็งเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่สนับสนุนระบอบสังคมประชาธิปไตยและเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ดังนั้นพวกสังคมนิยมสุดขั้วจึงไม่มีพลังมากพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ  การประนีประนอมจึงมีกลไกที่ลดความ  radical ของทั้งสองฝ่ายลง และการเติบโตของระบบสวัสดิการของสวีเดนในปัจจุบันเป็นผลมาจากชนชั้นสูงและชนชั้นล่างยินดีที่จะพึ่งพากันและกันมากกว่าจะสร้างความขัดแย้ง  ซึ่งต่างจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆที่ยังคงเผชิญกับโครงสร้างทางสังคมและโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งเพราะไม่สามารถสร้างสมดุลทางชนชั้นให้เกิดขึ้นได้อีกทั้งยังสร้างระบบการเมืองและเศรษฐกิจที่เอาเปรียบชนชั้นล่าง  จึงเกิดปัญหามากมายตามมา

ถึงตอนนี้เราได้เห็นภาพพัฒนาการทางประวัติศาสตร์  และการเติบโตของรัฐสวัสดิการในสวีเดนที่ชัดเจนขึ้น จริงๆเเล้วการมองรัฐสวัสดิการผ่านกรอบคิดทางประวัติศาสตร์ทำให้เราเข้าใจการเปลี่ยนเเปลงที่ผ่านมาว่าฐานคิดของรัฐสวัสดิการเกิดจากเงื่อนไขอะไรตลอดจนมีกระบวนการเปลี่ยนเเปลงอย่างไรบ้าง   เพื่อที่จะเข้าใจสังคมไทยมากขึ้น  ในวันนี้เเม้ว่าสังคมไทยอาจยังไปไม่ถึงรูปเเบบรัฐสวัสดิการ  แต่อย่างน้อยเราก็ได้เข้าใจว่า  การจะสร้างฐานคิดเรื่องรัฐสวัสดิการในสังคมไทยต้องอาศัยเวลา    และต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ของเราเองและจากที่อื่นๆ ควบคู่กันไป  ในวันนี้ต้นทุนของการมีรัฐสวัสดิการในสังคมไทยอาจเเพงกว่าสวีเดน   เพราะเรายังต้องใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ  และยังต้องส่งเสริมความเท่าเทียมในเเง่ของการกระจายรายได้   เเก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนปัญหาอื่นๆอีกมากมาย     อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในอนาคตคนไทยจะเริ่มตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้น  เพราะทุกคนจำเป็นต้องเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่าวิกฤตการเมืองในบ้านเรารอบที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่บั่นทอนศักยภาพในการพัฒนาประเทศลงไปมาก   และที่สำคัญคือมันกระทบกับชีวิตของเราโดยตรง  ดังนั้นในอนาคตฐานคิดของการกระจายความเท่าเทียมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำจะเป็นหลักประกันเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเมืองในบ้านเรา   แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่นั้นขึ้นอยู่ที่ตัวเราเองว่าจะสามารถเรียนรู้และมองเห็นอนาคตของประเทศร่วมกันได้มากแค่ไหน

 

 

บรรณานุกรม
Stein Kuhnle Sven E. O. Hort.(2004), "The Developmental Welfare State in Scandinavia Lessons for the Developing World",United Nation research institute for social development. 2013-08-24.
Konrad Person. "Social Welfare in Sweden." 
http://www.ssa.gov/policy/docs/ssb/v12n4/v12n4p16.pdf p.16-18.
Robert Erikson.(1987).The Scandinavian model welfare state and welfare research, p.5-14
Andreas Bergh.(2001). The rise,fall and revival of a capitalist welfare state: What are the policy lessons from Sweden?, Research Institute of Industrial Economics. Stockholm,Sweden
University of Gothenburg.(2011). The Agrarian Revolution in Scandinavia, Social Change Seminar: Modern Scandinavian Economic history.p.2-3.
เอื้อมพร พิชัยสนิธ.(2553). เศรษฐกิจทางเลือกว่าด้วยรัฐสวัสดิการ
 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: นุชประภา โมกข์ศาสตร์  นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net