Skip to main content
sharethis

อ่านโดยละเอียด ประจักษ์ ก้องกีรติ วิพากษ์ 5 มายาคติของประชาธิปไตยไทย ไม่เชื่อเรื่องการเลือกตั้ง เชื่อว่าเป็นเรื่องของคนมีการมีศึกษาและฐานะดี พร้อมเสนอปฏิรูปชนชั้นกลา-สูงให้สำนึกเรื่องความเสมอภาคทางการเมือง

18 ธันวาคม 2556 ศูนย์ข้อมูลข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง TCIJ  จัดเสวนาหัวข้อ ประชาธิปไตย มายาคติว่าด้วยประชาธิปไตย (ของใครของมัน) ณ ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบ ประจักษ์ ก้องกีรติ ปิยบุตร แสงกนกกุล เวียงรัตน์ เนติโพธิ์ ดำเนินรายการโดยชูวัส ฤกษ์ศิริสุข

ประจักษ์ ก้องกีรติชี้ มายาคติ 5 ข้อเกี่ยวกับประชาธิปไตย และการปฏิรูปชนชั้นกลาง โดยมีรายละเอียดดังนี้
000

ในหัวข้อเรื่อง ‘มายาคติประชาธิปไตย’ ผมเตรียมเนื้อหามา เน้นไปในเชิงที่เป็นหลักการ ทฤษฎี มากหน่อย เพราะคิดว่ามีความสับสนและมีการบิดเบือนในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในสังคมไทย

จริงๆ แล้วทุกสังคมมีมายาคติเกี่ยวกับประชาธิปไตยของตนเองที่ไม่เหมือนกัน ‘ประชาธิปไตย’ เป็นคำที่ถูกพูดถึงมากและถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก เพราะหลังสิ้นสุดของสงครามเย็นเป็นต้นมา การต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์สองค่ายจบลง ก็นำเรามาสู่ระบอบการปกครองแบบที่เรียกกว้างๆ ว่า ประชาธิปไตย หรือเสรีประชาธิปไตย มันกลายเป็นอุดมการณ์หรือระบอบการเมืองที่ครอบงำเป็นหลัก และหลังจากนั้นเป็นต้นมาทุกคนก็อ้างว่าตนเองกำลังปกครองอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย หรือต่อสู้เพื่อไปสู่ระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น มันเหมือนกับแทบจะไม่มีทางเลือกแล้วในระบอบหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่จะไปพ้นจากประชาธิปไตย

พอในสภาวะที่อุดมการณ์ประชาธิปไตยครอบงำ ก็ทำให้คำนี้ถูกแอบอ้างจากคนทุกกลุ่ม แม้กระทั่งรัฐบาลที่เป็นเผด็จการที่สุดในโลก หลายรัฐบาลก็อ้างว่าตัวเองปกครองในระบอบประชาธิปไตยเช่นกัน

ในแง่หนึ่ง ทุกฝ่ายยอมรับในแง่ความเหนือกว่าหรือความสูงสุดของอุดมการณ์ชนิดนี้ เพียงแต่สู้กันในการแย่งชิงให้คำนิยามว่า ประชาธิปไตยอันไหนที่ดีที่สุด และแต่ละสังคมก็ต้องมีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เหมาะกับสังคมตัวเอง

ในส่วนของสังคมไทยก็มีมายาคติเกี่ยวกับประชาธิปไตยชุดหนึ่ง ของตนเองเช่นกัน มายาคติที่ครอบงำตอนนี้และความใฝ่ฝันของคนจำนวนหนึ่งที่ออกไปชุมนุม หน้าตาเป็นคล้ายๆ รูปที่มาจากนครเอเธนส์ซึ่งเป็นแหล่งอ้างอิงของนักรัฐศาสตร์ไทยจำนวนมาก เวลาพูดถึงประชาธิปไตยในอุดมคติก็จะอ้างประชาธิปไตยแบบกรีกว่าเป็นประชาธิปไตยที่ดีที่สุด เพราะเป็นประชาธิปไตยทางตรงที่คนทั้งสังคมจะมีสิทธิ มีอำนาจในการประชุมปรึกษาหารือและออกกฎหมายออกนโยบายต่างๆ ด้วยตัวเอง ก็มาชุมนุมกันในสเตเดียมในนครเอเธนส์

อันนี้ก็คงเป็นโฉมหน้าของ ‘สภาประชาชน’ สมัยโบราณแบบกรีก อันนี้แหละก็คือสภาประชาชน แต่เวอร์ชันของไทยก็ไม่รู้ว่าจะใช้ที่ประชุมที่ไหน ก็มีหลายที่ที่มีที่นั่งคล้ายๆ แบบนี้ ก็อาจจะเลือกใช้ได้

สิ่งที่จะพูดวันนี้ ผมแบ่งเป็น 5 หัวข้อ ผมคิดว่ามี 5 มายาคติที่สำคัญเกี่ยวกับประชาธิปไตยในสังคมไทย ซึ่งสังคมอื่นๆ หลายสังคมเขาเลิกเถียงเรื่องนี้ไปแล้ว หรือว่าไม่มีมายาคติเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้แล้ว เขาเถียงเกี่ยวกับประชาธิปไตยนั่นแหละ แต่เถียงเรื่องอื่น แต่สังคมไทยยังมี 5 ประเด็นนี้ที่ยังเวียนว่ายเถียงกันอยู่

อันแรกเป็นมายาคติชุดใหญ่ที่โจมตีประชาธิปไตยว่า ประชาธิปไตยมันเลวร้าย เพราะท้ายที่สุดมันคือการปกครองของทรราชของเสียงข้างมาก พอประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเป็นทรราชของเสียงข้างมาก ก็เลยมีความพยายามที่จะบอกว่า ฉะนั้นเราต้องสร้างประชาธิปไตยทางตรงมาแทนที่ประชาธิปไตยแบบตัวแทน

ซึ่งนำไปสู่มายาคติชุดที่ 2 ก็คือประชาธิปไตยมันไม่ดี มันเลวร้าย ต้องมีประชาธิปไตยทางตรงมาแทนที่ประชาธิปไตยแบบตัวแทน

มายาคติประการที่ 3 คือ การพูดว่าประชาธิปไตยแบบที่สังคมไทยใช้ เป็นประชาธิปไตยที่ไปเน้นที่การเลือกตั้ง ซึ่งเป็นแค่รูปแบบหรือกระบวนการ ซึ่งไม่เพียงพอ ฝ่ายที่โจมตีประชาธิปไตยแบบนี้ก็บอกว่า เราต้องมุ่งสู่ประชาธิปไตยที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยแบบเนื้อหา’  ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษว่า Substantive democracy เพื่อมาแทนที่ประชาธิปไตยแบบรูปแบบหรือกระบวนการ ซึ่งเน้นแต่กระบวนการเลือกตั้ง มายาคติอันนี้เป็นมายาคติอีกชุดหนึ่งที่จะบอกว่า เลือกตั้งไม่สำคัญ เป็นแค่กะพี้หรือเปลือกของประชาธิปไตย เน้นแต่เรื่องเทคนิค กระบวนการ รูปแบบ ไม่เน้นเนื้อหา

ฟังเผินๆ ก็จะดูดี แต่ผมพยายามจะชี้ให้เห็นว่า ความคิดแบบนี้ก็เป็นมายาคติอีกชุดหนึ่งเช่นเดียวกัน มายาคติที่บอกว่า การเลือกตั้งไม่สำคัญ เป็นแค่รูปแบบ

มายาคติประการที่ 4 อันนี้จะได้ยินเยอะในช่วงที่ผ่านมา และจะดังขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงนี้ เมื่อมีการเสนอเรื่องการปฏิรูปสังคมปฏิรูปประเทศไทย ทำไมต้องปฏิรูป เพราะความเชื่อลึกๆ ก็คือว่า มีความเชื่อว่าประชาธิปไตยจะงอกงามได้เฉพาะในสังคมที่คนมีการศึกษาสูงและฐานะดีเท่านั้น โดยเฉพาะยิ่งมีชนชั้นกลางที่ฉลาดหลักแหลม รู้เท่าทันข่าวสาร เท่าทันนักการเมือง แม้จะไม่เท่าทันคุณสุเทพก็ตามแต่เอาเป็นว่าเท่าทันคนอื่นทั้งหมด แล้วก็ฉลาดหลักแหลม ไม่ตกภายใต้อิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ ไม่เคยซื้อเสียงเลยในชีวิตนี้ ไม่เคยเกลือกกลั้วกับสิ่งสกปรกที่เกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งเลย ประชาธิปไตยจะงอกงามจะมีเสถียรภาพก็ต่อเมื่อชนชั้นกลางมีจำนวนมาก ขยายตัว หรือคนในสังคมส่วนใหญ่มีการศึกษาและมีฐานะดีแล้วเท่านั้น

ผมคิดว่า นี่เป็นมายาคติที่ใหญ่มากอีกชุดหนึ่งที่เอาประชาธิปไตยไปผูกอยู่กับระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจกับระดับการศึกษาของคนในสังคม

ประการสุดท้ายซึ่งผมคิดว่าอาจจะเป็นมายาคติที่ครอบงำกว้างขวางที่สุดเลย มากกว่า 4 ประการแรกด้วยซ้ำก็คือ การท่องบ่นของคนในสังคมไทยจำนวนมากว่า การเลือกตั้งไม่เท่ากับประชาธิปไตย

ทั้ง 5 ประการนี้ เป็นมายาคติในความหมายที่ว่า พูดแล้วก็เหมือนว่าดูดี พูดแล้วก็เหมือนถูกต้อง ดูน่าเชื่อถือ ดูน่ารับฟัง แต่จริงๆ มันได้ซ่อนความหมายและนัยยะของการต่อต้านประชาธิปไตยเอาไว้อย่างลึกซึ้ง

ผมพยายามจะไล่ไปทีละมายาคติว่า มายาคติแต่ละประการมีข้อถกเถียงยังไง และมีปัญหายังไงบ้าง ในบางตอนจะขออนุญาตอ่านสิ่งที่ผมเขียนมา เพราะจะทำให้กระชับเวลาได้มากกว่า

ประการแรก เรื่องทรราชของเสียงข้างมาก น่าสนใจว่านักคิดตั้งแต่สมัยโบราณก็คือ สมัยกรีกคิดถึงประชาธิปไตยในลักษณะไม่สู้ดีนัก คือหวาดกลัวประชาธิปไตย มองว่าเป็นระบบทรราชของเสียงข้างมากที่เอาจำนวนของคนส่วนใหญ่มากดคนเสียงข้างน้อย และเสียงข้างมากอาจจะไม่ถูกเสมอไป

ระบบการปกครองที่นักคิดโบราณใฝ่ฝันก็คือ การปกครองของราชาปราชญ์ คือกษัตริย์พระองค์เดียวที่มีความปราดเปรื่อง การออกแบบรัฐธรรมนูญของหลายประเทศก็เริ่มจากการสร้างกลไกป้องกันไม่ให้เสียงข้างมากมีอำนาจมากจนเกินไป ที่น่าสนใจคือในบรรดางานวิจัยที่ศึกษาประชาธิปไตยทั่วโลก พบว่าการพูดถึงอันตรายของทรราชเสียงข้างมากเป็นการกล่าวอ้างที่เกินจริงมาก

งานวิจัยบอกว่าส่วนใหญ่ประเทศในโลกนี้ในรอบ 200 ปีตั้งแต่มีประชาธิปไตยมา ปัญหาที่น่ากลัวและเป็นจริงมากกว่าคือ ทรราชของเสียงข้างน้อย คือการที่อำนาจตกไปอยู่ในมือของคนจำนวนน้อยแล้วก็ผูกขาดครอบงำอำนาจนั้น ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทหาร เผด็จการของพรรคการเมือง หรือเผด็จการของนายทุนจำนวนน้อย มันมีได้หลายแบบของคนที่มาผูกขาดครอบงำอำนาจ

แต่งานวิจัยส่วนใหญ่บอกว่า ไปศึกษาดูเถอะ ไม่ว่าประเทศไหนก็ตาม ภัยของทรราชเสียงข้างมากที่ประชาชนตาดำๆ หลายสิบล้านคนใช้อำนาจไปในทางที่ผิด แล้วทำให้ประเทศล่มจม ไม่มีปรากฏ มันไม่มีปรากฏที่ผู้เลือกตั้งที่เป็นเสียงข้างมากและมีอำนาจควบคุมครอบงำที่แท้จริง แล้วทำให้สังคมเดินไปผิดทิศผิดทางแบบที่นักคิดนักปราชญ์โบราณหวาดกลัว

ท้ายที่สุดแล้ว ปัญหาส่วนใหญ่ที่เราพบคือตรงกันข้ามเลย ทรราชของเสียงข้างน้อยก็คือ ภาวะที่เสียงส่วนใหญ่ของคนในสังคมไม่ถูกนับ หรือถูกทำให้ไม่มีความหมาย ในขณะที่เสียงของคนจำนวนน้อยไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ มันดังกว่าคนอื่นเสมอ

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ สังคมอเมริกา ซึ่งผู้ร่างรัฐธรรมนูญอเมริกาหวาดกลัวมากเรื่องทรราชของเสียงข้างมาก ก็เลยออกแบบกติกาซับซ้อนมากมายเพื่อถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายต่างๆ สถาบันต่างๆ ไมให้ใครมีอำนาจมากเกินไป แต่ทำไปทำมาผ่านมาถึง 2 ศตวรรษแล้ว คนที่ศึกษาการเมืองอเมริกาพบว่า ปัญหาที่สังคมอเมริกาเผชิญอยู่ปัจจุบันก็คือ อำนาจมันกระจุกตัวอยู่ในมือของคนเพียงหยิบมือเดียว ได้แก่ พวกบรรษัทยักษ์ใหญ่ นายทุนอุตสาหกรรม นายทุนค้าอาวุธสงคราม ซึ่งไปครอบงำพรรคการเมืองอีกที ไม่ใช่คนหลายล้านคนที่เลือกเดโมแครตหรือรีพับลิกันที่เป็นทรราช

ยิ่งกลับมาพูดเรื่องทรราชเสียงข้างมากในสังคมไทย ยิ่งผิดฝาผิดตัวไปกันใหญ่ เพราะนับมาถึงปัจจุบัน การเลือกตั้งเพิ่งมามีความหมายเมื่อประมาณ 10 ปีมานี้เองที่เป็นกลไกที่คัดเลือกคนเข้ามาสู่อำนาจจริงๆ แล้วเสียงของคนที่เลือกตั้ง ประชาชนตาดำๆ มันเริ่มมีความหมาย

เพราะที่ผ่านมา เสียงส่วนใหญ่ไม่เคยมีความหมายเลยในสังคมไทย แล้วจนถึงปัจจุบันที่บอกว่าเริ่มมีความหมาย มันก็ถูกทำลาย ถูกดึงกลับไปอยู่ภายใต้อำนาจของเสียงส่วนน้อยที่ไม่ถูกตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา

ฉะนั้น ผมคิดว่าการพูดถึงทรราชของเสียงข้างมาก เป็นการพูดแบบนามธรรมมาก และไม่มีรูปธรรมที่รองรับเลยในสังคมไทยที่จะชี้ว่าเป็นทรราชยังไง เสียงข้างมากในสังคมไทยเคยทำงานในฐานะที่เป็นทรราชที่ทำให้นโยบายหรือกฎหมายต่างๆ มันไปในทางที่ผิดทิศผิดทาง

ปัญหาที่เราเจอก็คือ ผู้เลือกตั้งนั่นแหละที่เป็นเสียงส่วนมาก ไม่สามารถควบคุมนักการเมืองที่ตัวเองเลือกไปได้ แล้วนักการเมืองก็หลุดลอยไปจากการกำกับควบคุมของเสียงข้างมาก แล้วก็ไปใช้อำนาจในนามของเสียงข้างน้อย อันนั้นต่างหากที่มีปัญหา

พอพูดถึงเรื่องเสียงข้างมากทีไร ผมต้องนึกถึงสปีชของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ที่พูดไว้ตั้งแต่ประมาณปี 2553 ที่มักจะถูกอ้างถึงเสมอ ก็จะถูกเอามากล่าวย้ำในสื่อหรือในบรรดาที่ชุมนุมหลายๆ ที่

คุณสนธิจะหยิบยกอุปมาอุปไมยขึ้นมา เรื่องโจร 499 คนกับพระรูปหนึ่ง เพื่อจะบอกว่าทำไมเสียงข้างมากมีปัญหา แกบอกว่า “ผมจะลุกขึ้นมาสู้กับประชาธิปไตยแนวทางตะวันตก ผมจะลุกขึ้นมาสู้กับวันแมนวันโหวต เพราะผมไม่ใช่นักประชาธิปไตย” อันนี้เป็นประโยคเดียวในข้อความทั้งหมดนี้ที่ซื่อสัตย์ที่สุดแกพูดออกมา “เราเคยชินใช่ไหมกับการที่เรานั่งในห้องประชุม แล้วบอกใครเห็นด้วยยกมือ ใครไม่เห็นด้วยยกมือ เห็นด้วย 42 คน ไม่เห็นด้วย 2 คน เห็นด้วยชนะไป ฟังดูมันยุติธรรม ฟังดูมันสวย แต่ลองหมุนกลับอีกด้านหนึ่ง ในห้องๆ หนึ่ง ถ้ามีคนอยู่ 500 คน มีโจรนั่งอยู่ 499 คน มีพระนั่งอยู่องค์หนึ่ง ยกทีไร 499 คนก็ชนะทุกที แล้วมติอันนั้นก็คือมติโจร แล้วผมถามว่านี่เป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า แล้วส่วนใหญ่ได้ไหม ไม่ได้ ได้เฉพาะโจร 499 คนเท่านั้นที่ยกมือ มีพระองค์เดียวเท่านั้นเอง มี 1 เสียง อ๋อ พระคุณท่านเสียงเดียวเหรอ 499 เขาเอาแบบนี้ เอาไปปล้นกัน เห็นหรือยังพี่น้อง” ฟังทีไรผู้ชุมนุมก็เคลิบเคลิ้ม เพื่อนผมที่เป็นชนชั้นกลางก็เคลิบเคลิ้มว่า มันน่าหวาดกลัวนะเสียงข้างมาก

ทีนี้ปัญหามันคืออะไรครับ เพราะมันเป็นโลกของการสมมติที่คุณสนธิสมมติขึ้นมาเอง แล้วเวลาเราสมมติอะไรขึ้นมามันก็ถูกต้องทุกอย่างในโลกแห่งการสมมตินั้น  จะอุปมาอุปไมยกี่ทีมันก็ยังถูกต้อง พูดกี่ครั้งก็จะถูกต้องตลอดไป

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงในสังคมไทยที่เราอยู่ เราไม่ได้อยู่ในสังคมที่มีโจร 499 คน กับพระรูปเดียว เพราะถ้ามีโจรเยอะขนาดนั้น ประเทศไทยก็คงล่มสลายไปแล้ว ไม่มีโอกาสมานั่งประชุมกันตั้งแต่ต้นเหมือนในนิทาน ไม่ต้องพูดถึงว่าจะปกครองกันด้วยระบอบอะไร

ในทางตรงกันข้าม ถ้าคนในสังคมร้อยละ 99 เป็นนักบุญหรือเป็นพระหมด ประชาธิปไตยก็จะกลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยไปในทันที ก็ไม่จำเป็นแล้วถ้า 99 เปอร์เซ็นต์ในสังคมเป็นพระอรหันต์ เพราะจะไม่มีการขัดกันของผลประโยชน์หรืออุดมการณ์อะไรเลย แต่เราก็ต้องสมมติอีกว่าจะไม่มีพระอย่างเณรคำ ซึ่งอาจจะมีการขัดกันของผลประโยชน์ แต่เอาเป็นว่าทั้งสังคมเป็นอรหันต์หมดแล้ว ประชาธิปไตยก็ไม่จำเป็น

แต่ถ้าทั้งสังคมเป็นโจรหมด ประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นไม่ได้อยู่แล้วตั้งแต่ต้น  ปัญหาคือในโลกของความเป็นจริงที่เราอยู่ มันไม่ใช่โลกของนิทาน มันเป็นโลกของคนดีๆ ชั่วๆ 500 คนเป็นปุถุชนธรรมดา ซึ่งเราไม่ได้ถูกสาปให้ดีหรือชั่วตั้งแต่กำเนิด ทุกคนก็เป็นมนุษย์ที่มีกิเลสตัณหา ทะเยอทะยาน ฉลาดบ้าง โง่บ้างตามเวลา แล้วความคิดของคนก็เปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีใครที่จะเห็นตรงกับคนอื่นตลอดเวลาไปทุกเรื่อง หรือเห็นไม่ตรงกับคนอื่นไปตลอดเวลาในทุกเรื่อง

ในแง่นี้ บางครั้งเราอาจจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ แต่บางเรื่องเราก็อาจจะกลายเป็นเสียงส่วนน้อยก็ได้ ไม่มีเสียงส่วนใหญ่ที่ดำรงอยู่ถาวรชั่วนิจนิรันดร์

เมื่อการเลือกตั้ง แข่งขันกันเชิงนโยบาย ถึงจุดหนึ่งพรรคที่เคยครองเสียงข้างมากถ้าเสื่อมในแง่ของการทำงานมันก็กลายเป็นเสียงส่วนน้อย หรือในบางเรื่องผมอาจจะเห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่ แต่บางเรื่องผมก็อาจจะหันไปเห็นด้วยกับเสียงส่วนน้อยก็ได้

ในประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้เราสลับเป็นเสียงส่วนใหญ่และเสียงส่วนน้อยแบบนี้ ในประวัติศาสตร์โลกก็ไม่มีที่จะมีเสียงส่วนใหญ่หรือพรรคการเมืองพรรคหนึ่งผูกขาดครอบงำสังคมไปตลอดกาลชั่วนิจนิรันดร์ ในแง่นี้สังคมเลยต้องการประชาธิปไตย ไม่ใช่เพราะประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ แต่เพราะมันเป็นระบอบการปกครองที่เหมาะที่สุดกับคนธรรมดาสามัญที่คิดเห็นไม่ตรงกันในเรื่องผลประโยชน์ การจัดระเบียบสังคม หรือกระทั่งความดีงาม

ขึ้นชื่อว่าหลักศีลธรรมมันก็ไม่ได้มีแบบเดียวในโลกใบนี้ ประชาธิปไตยตั้งต้นมาจากความเชื่อที่ว่า ไม่มีใครผูกขาดความดีงาม และไม่ควรมีใครควรมีสิทธิยัดเยียดหลักศีลธรรมของตนเองให้คนอื่น แต่ควรเปิดโอกาสให้มีพื้นที่ของความเห็นต่างในเรื่องความดี ความงาม และความจริง โดยไม่มาชี้หน้าถามว่า ‘คุณรักชาติหรือเปล่า’ ‘คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า’ ถ้าไม่เป็นเตรียมไปอยู่ดูไบ เตรียมไปอยู่เขมร อันนี้ผมรับไม่ได้เลย ถึงขั้นที่ว่าให้ครูเตรียมมาสอนภาษาอาหรับให้ลูกให้หลานคุณ อันนี้ผมคิดว่าไม่มีใครมีสิทธิที่จะมาตั้งคำถามแบบนี้กับคนอื่น คุณก็ทะเลาะกันไป

ฉะนั้น ถึงที่สุดไม่ใช่ว่าประชาธิปไตยไม่ต้องการหรือต่อต้านศีลธรรม แต่ศีลธรรมหรือความดีงามที่ชอบอ้างกันต้องถูกทำให้เป็นเรื่องที่เถียงได้ มันไม่ได้มีความหมายเดียว ในแง่นี้การพูดเรื่องศีลธรรมต้องถูกทำให้มีประชาธิปไตยด้วย คุณเปิดให้มีการถกเถียงกันหรือเปล่าในเรื่องการนิยามความดี ใครคือคนดี ถ้าสมมติคนดีควรได้มาปกครองบ้านเมือง จะนิยามคนดียังไง ถ้าเอาความหมายแบบง่ายที่สุด หรือเราจะเอาพระมาปกครอง ถ้าอย่างนั้นเราไปห้ามพระไม่ให้ตั้งพรรคการเมืองทำไม พระโดนละเมิดสิทธิทางการเมืองในสังคมไทยใช่ไหมครับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเห็นด้วยเลยก็คือ พระไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียง ทำไมเราไปห้ามพระ ถ้าเราคิดว่าการเมืองควรปกครองด้วยคนดี ถ้าอย่างนั้นพระควรลงคะแนนเสียงได้ กระทั่งตั้งพรรคการเมืองเป็นของตัวเองได้ พรรคคนดีแห่งชาติ พรรคธรรมมะแห่งชาติ ก็ว่าไป แล้วลองดูว่าประชาธิปไตยแบบคนดีแบบนี้มันจะทำงานได้ไหม อันนั้นเป็นมายาคติประการแรก คือเรื่องของทรราชเสียงข้างมาก

คำพูดของนักคิดคนหนึ่ง นอม ชอมสกี้ เขาบอกว่า “วิธีที่มีคุณภาพที่สุดในการจำกัดประชาธิปไตยก็คือ การถ่ายโอนอำนาจการตัดสินใจจากสาธารณชน ไปให้กับสถาบันที่ไม่ต้องพร้อมมีความรับผิดใดๆ” ซึ่งสถาบันที่ไม่พร้อมมีความรับผิดใดๆ ไม่ได้มีแต่พรรคการเมือง สถาบันไหนก็ได้ กองทัพ ข้าราชการ บริษัทเอกชน บรรษัทนายทุนข้ามชาติที่ไม่ถูกตรวจสอบควบคุม ที่ไม่มีความพร้อมรับผิด สถาบันเหล่านี้ก็จะกลายเป็นทรราชของเสียงข้างน้อยได้เสมอ และอันนั้นน่ากลัวกว่าทรราชของเสียงข้างมาก

ประเด็นที่ 2 เรื่องประชาธิปไตยทางตรงกับประชาธิปไตยตัวแทน ผมคิดว่ามีความสับสน และมีความเข้าใจผิดอยู่มากในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการใช้กรอบพระเอก-ผู้ร้ายมาตัดสินว่า อะไรก็ตามที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ตัวแทน’ นั้นไม่ดีและเป็นของปลอม จึงมีการเสนอว่าต้องก้าวข้ามพ้น หรือกระทั่งกำจัดทำลายล้างประชาธิปไตยแบบตัวแทนออกไป แล้วนำประชาธิปไตยทางตรงมาแทนที่

ถึงที่สุดความคิดแบบนี้อันตรายมาก เพราะว่าพอคิดไปถึงหนึ่งกลุ่มที่ต้องการสร้างประชาธิปไตยทางตรงจึงไม่สนใจกระทั่งวิธีการหรือกระบวนการอีกต่อไป ขอให้ทำยังไงก็ได้ที่ทำให้เสียงที่เขาคิดว่าเป็นเสียงของประชาชนจริงๆ ได้ขึ้นมามีอำนาจก็เพียงพอ

ในยุคหนึ่ง ในยุโรปฐานความคิดแบบนี้เป็นฐานความคิดแบบพวกที่แอบอ้างอุดมการณ์ฟาสซิสต์ เขาเชื่อจริงๆ ว่านั่นคือการสร้างประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนตัวจริงมามีอำนาจแทนนักการเมือง

ปัญหาคือในโลกปัจจุบัน เป็นโลกที่ประชาธิปไตยทางตรงแบบกรีกในความหมายที่ว่า ทุกคนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเป็น สส.หรือคณะรัฐมนตรีในการออกกฎหมายและทำนโยบาย ในความหมายแบบนั้นมันเป็นไปไม่ได้แล้ว ถ้าเราอยู่ในสังคมหมู่บ้านก็ยังทำได้ หรือในสังคมที่พลเมืองจำนวนน้อยอย่างกรีก ถ้าสังคมไทยมีเท่าในห้องนี้เราก็ทำสภาประชาชนได้ ทุกคนก็เป็นเจ้าของอำนาจของตัวเอง

แต่ว่าในสังคมรัฐชาติสมัยใหม่ที่คนเป็นหลายสิบล้าน ท้ายที่สุดมันต้องระบบตัวแทนอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ สิ่งที่ทั่วทำก็คือพยายามออกแบบให้ได้มาซึ่งระบบตัวแทนที่ดีที่สุดและตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชนให้ได้มากที่สุด ขยายตัวแทนให้หลากหลาย ครอบคลุมกลุ่มอาชีพ ครอบคลุมชนชั้นที่แตกต่างกันไป แล้วสร้างช่องทางต่างๆ ให้ประชาชนเข้ามามีอำนาจได้ กลไกที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตยทางตรงมีได้เยอะแยะ ไม่ว่าจะเป็นการออกเสียงประชามติ หรือกระทั่งตอนนี้โลกโซเชียลมีเดียออนไลน์ที่พัฒนาขึ้นมาก โดยเทคโนโลยีก็เปิดโอกาสให้บางรัฐลงประชามติผ่านอิเลคทรอนิกส์โหวต คนก็ออกเสียงโดยไม่ต้องออกมาที่คูหาด้วยซ้ำ

แต่ในแง่กรอบโครงสร้าง ปฏิเสธไม่ได้ด้วยซ้ำว่ายังไงก็ตามต้องมีระบบที่เรียกว่าตัวแทนอยู่ โจทย์คือ ไม่ใช่ทำลายระบบตัวแทนลงไป แล้วไปตั้งสภาประชาชน 500 คนมาจากการแต่งตั้ง แล้วเลือกตั้งกันเอง ถามว่าสภาประชาชนที่มาจากการแต่งตั้งและเลือกตั้งกันเอง 500 คน เป็นประชาธิปไตยทางตรงมากกว่าสภาผู้แทนที่เรามีอยู่ตรงไหน

สภาผู้แทนที่เรามีอยู่ อย่างน้อยมาจากการใช้สิทธิ์เลือกตั้งของคน 30-40 ล้านคน แน่นอนว่ามีข้อบกพร่องให้วิจารณ์ได้เยอะแยะมากมาย แต่คำถามคือ สภาประชาชนที่ใฝ่ฝัน ที่ 500 คนจะมาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งกันเอง เป็นประชาธิปไตยทางตรงมากกว่าตรงไหน ถึงที่สุดก็เป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนอีกนั่นแหละ แถมเป็นตัวแทนที่สะท้อนอุดมการณ์และผลประโยชน์ของคนหยิบมือเดียว ใครก็ไม่รู้ที่จะได้ขึ้นมามีอำนาจแบบนั้น

ผมคิดว่า ถึงที่สุดเราต้องระมัดระวังเสมอเวลาที่ใครมาอ้างประชาธิปไตยทางตรงในสังคมไทย ถามว่ารูปแบบที่คุณจะสร้างขึ้นคืออะไร แล้วเมื่อคุณตรวจสอบไป สิ่งที่เขาแอบอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยทางตรงมันก็คือระบบผู้แทนอีกชนิดหนึ่งนั่นเอง แถมอาจจะเป็นระบบผู้แทนที่ไม่ได้สะท้อนผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

ผมกลัวว่า สภาประชาชนที่จะได้มา 500 คนก็คือ 40 สว.คูณ 100 คนที่ต้องมีคุณสมบัติแบบคุณรสนา โตสิตระกูล หรือนักวิชาการก็อาจจะต้องแบบอาจารย์สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์  ถามว่าจะคัดเลือกกันยังไง แล้วประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมยังไงถ้าบอกว่าเป็นประชาธิปไตยทางตรง

ฉะนั้น อย่ามาแอบอ้างเรื่องประชาธิปไตยทางตรง เพราะท้ายสุด ทุกคนที่ออกไปเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำในนามของการอ้างเป็นตัวแทนผลประโยชน์และอุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่งเสมอ มันไม่มีใครเป็นตัวแทนเจตจำนงค์ของคนทั้งชาติได้แล้ว

ในแง่นี้ ไม่ว่าคุณจะสร้างระบบตัวแทนแบบไหนขึ้นมา โดยเฉพาะระบบตัวแทนที่คนส่วนใหญ่ไม่มีส่วนร่วม คุณต้องทำใจเสมอว่าจะมีเพื่อนร่วมสังคมที่เห็นต่างจากคุณ และเขาก็จะอ้างความเป็นตัวแทนแบบอื่นขึ้นมาสู้กับคุณได้เสมอ เพราะตอนนี้ไม่มีใครเป็นตัวจริงมากกว่าใครแล้ว ไม่มีใครกลัวใครในความหมายที่ว่า ถ้าคุณไปสร้างสภาประชาชนซึ่งเป็นตัวแทนของคนกลุ่มเดียวเท่านั้นขึ้นมา แล้วมันจะใช้อำนาจได้ยังไง จะปกครองได้ยังไงในสภาวะที่คนหลายสิบล้านคนในประเทศนี้ตื่นตัวทางการเมืองแล้ว เขาก็จะลุกขึ้นมาโค่นล้มสภาประชาชนที่คุณแอบอ้างประชาธิปไตยทางตรงล้มลงไป เพราะเขาก็มีระบบตัวแทนที่เขาต้องการอีกชุดหนึ่งขึ้นมาแทนที่เสมอ

ในแง่นี้ การแอบอ้างเรื่องประชาธิปไตยทางตรงมันจึงไม่มีวันจบสิ้นได้ เพราะไม่มีใครเป็นตัวแทนเจตจำนงค์เสียงของประชาชน ความคิดและอุดมการณ์ของคุณสุเทพและผู้ชุมนุมก็เป็นความคิดชุดหนึ่งที่สังคมรับฟัง แต่อย่าบอกว่านี่คือประชาธิปไตยทางตรง ที่สะท้อนเจตจำนงค์ของประชาชนได้เที่ยงตรงมากกว่าระบบการเลือกตั้งและระบบผู้แทนที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน

ประเด็นที่ 3 ประชาธิปไตยเชิงกระบวนการกับประชาธิปไตยแบบเนื้อหา ผมคิดว่าควรจะเลิกถกเถียงแบบคู่ตรงข้ามแบบนี้ได้แล้วว่าอะไรสำคัญกว่ากัน แค่ในหมู่นักรัฐศาสตร์เองก็เถียงกันมา 50-60 ปีแล้วจนเหลือแต่สังคมไทยที่ยังเถียงเรื่องนี้อยู่ วงวิชาการหรือคนที่ทำงานเรื่องประชาธิปไตยทั่วโลกไม่มีใครมาเถียงแล้วว่าต้องสร้างประชาธิปไตยแบบเน้นเลือกตั้งหรือประชาธิปไตยแบบเนื้อหาที่เน้นการปฏิรูป

ในทุกสังคมเราต้องการประชาธิปไตยทั้งเชิงรูปแบบและเนื้อหา ยิ่งไปกว่านั้นสำหรับประชาธิปไตยแล้ว รูปแบบก็คือเนื้อหา สองสิ่งนี้แยกออกจากกันไม่ได้ เพราะสิ่งดีๆ ทั้งหลายที่คุณต้องการ ไม่ว่าเรื่องการกระจายอำนาจ การปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูประบบภาษี การต่อสู้กับคอร์รัปชั่น ที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตยเชิงเนื้อหา ท้ายที่สุดมันต้องมาผ่านกระบวนการที่คนในสังคมมีส่วนร่วมคิด ร่วมนำเสนอ ร่วมถกเถียง ในแง่นี้กระบวนการมันถึงสำคัญ

เพราะกระบวนการที่มาสู่เนื้อหาการปฏิรูปต่างๆ ถ้าถูกละเลย ตัวเนื้อหาที่ได้มามันไม่ชอบธรรม คนที่เหลือที่ไม่ได้ร่วมกระบวนการคิดเนื้อหา สังคมไทยจะต้องปฏิรูปอะไร จะต้องมีหน้าตาแบบไหนบ้างในอนาคต เขาก็จะไม่มีวันยอมรับเนื้อหาที่คุณยัดเยียดมาให้

ดูตัวอย่างง่ายๆ หลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ พอสลายการชุมนุมปราบคนเสื้อแดงเสร็จ ก็ตั้งสมัชชาปฏิรูปตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมาหลายชุด นำเสนอเนื้อหาการปฏิรูปที่ดีมากถ้าไปอ่าน หลายเรื่องดีมาก แล้วคุณสุเทพก็หยิบยกมาจากข้อเสนอเหล่านั้น กระทั่งว่าหลายเรื่องที่คุณสุเทพเสนอมา 5 ข้อ ผมอ่านแล้วก็รู้ว่ามาจากการเสนอของนักวิชาการรัฐศาสตร์บางคนที่ไปเป็นที่ปรึกษาให้กับ กปปส. เรื่องการกระจายอำนาจ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ถามว่าเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุนไหม ก็น่าสนับสนุนแน่ แต่มันทำไม่ได้ที่อยู่ดีๆ คุณจะบอกว่าสังคมไทยมีเนื้อหาการปฏิรูปที่สำคัญ 5 ประการดังต่อไปนี้ คุณต้องรับเอาไป พวกเราบรรลุแล้ว พวกคุณยังไม่บรรลุอีกเหรอว่า 5 ข้อนี้มันสำคัญ รับไปซะ ไม่ต้องผ่านตัวแทน ไม่ต้องผ่านกระบวนการคิดร่วมกันเลย

คำถามคือ มีแค่ 5 ข้อนี้เหรอครับ มีอย่างอื่นอีกไหมที่ต้องปฏิรูป ไม่มีเรื่องการปฏิรูปกองทัพอยู่เลยใน 5 ข้อนี้ ผมว่าสำคัญที่สุดแล้วที่จะต้องปฏิรูปก่อน ผมจะเสนออีกอันด้วย ปฏิรูปชนชั้นกลาง อันนี้ต้องปฏิรูปเร่งด่วนก่อนคนอื่นเลย

อันนี้คือปัญหาของการอ้างว่า คุณรู้แล้วว่าอะไรคือเนื้อหาที่ดี อะไรคือสิ่งที่ดี แล้วสังคมมีหน้าที่รับไป ไม่สนใจกระบวนการ ไม่สนใจที่มา

ประชาธิปไตยเชิงกระบวนการสำคัญ เพราะว่าทำให้ อย่างน้อยคนพร้อมที่จะอยู่ร่วมกันต่อไป ในสังคมนี้  เพราะเรามีส่วนร่วมในกระบวนการที่จะสร้างนโยบายหรือเนื้อหาที่สำคัญขึ้นมา เพราะท้ายที่สุดเราต้องอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ถ้าคุณไม่มีเสียงในกระบวนการนั้นตั้งแต่ต้น ต่อให้เนื้อหาวิเศษขนาดไหน ก็จะมีคนจำนวนมากไม่เอาด้วย

ประการที่ 4 ประชาธิปไตยไม่เจริญในประเทศยากจน วาทกรรมความไม่พร้อมเป็นวาทกรรมคลาสสิค ในสังคมไทยก็พบมาแล้วในสมัยรัชกาลที่ 7 จริงๆ ชนชั้นนำทั่วโลกก็ใช้วาทกรรมความไม่พร้อมของประชาชนเพื่อรักษาอำนาจของตัวเองเอาไว้ โดยพยายามอธิบายว่า สังคมต้องมีปัจจัยต่างๆ ให้พร้อมเพรียงก่อนจึงจะมีประชาธิปไตยได้ เช่น ระดับการศึกษาสูงของพลเมือง ประชาสังคมที่เข้มแข็ง การพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมที่ก้าวหน้าทันสมัย โครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่ดี ความเป็นเอกภาพของคนในชาติ ค่านิยมประชาธิปไตย และอีกร้อยแปดพันประการ

แต่ในทางประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตยไม่เคยพัฒนามาอย่างราบเรียบ มันมาจากการต่อสู้ เรียนรู้ ทดลอง ผิดพลาด ความพร้อมแบบสำเร็จรูปไม่มี มีแต่เดินหน้าปรับเปลี่ยน เติบโต และมีวุฒิไปด้วยกันทั้งตัวระบอบประชาธิปไตยและคนในสังคมนั้นเอง

อินเดียเป็นตัวอย่างที่ดี และเป็นตัวอย่างมหัศจรรย์สำหรับประชาธิปไตย เพราะถ้าเอาตำราทางวิชาการมากาง แล้วยึดตามทฤษฎีนี้ ประชาธิปไตยไม่มีทางจะงอกงามได้เลยในประเทศอินเดีย เพราะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็มหาศาล ความหลากหลายของประชากรทางภาษา ศาสนา เชื้อชาติก็สูงอย่างมาก พูดง่ายๆ ว่าขาดความเป็นเอกราชของคนในชาติ คนไร้การศึกษาก็เยอะแยะมากมาย แต่อย่างที่เราทราบ ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในอินเดียเป็นประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพเกือบจะมากที่สุดในโลกตั้งแต่หลังได้รับเอกราชมา

แน่นอน มันมีปัญหาขลุกขลักบ้าง แต่กลุ่มการเมืองต่างๆ ในอินเดียก็ประคองประชาธิปไตยให้พัฒนาได้ต่อมาโดยไม่ถูกรัฐประหารหรือล้มลุกคลุกคลานลงไป มีประเทศอื่นๆ อีก อินโดนีเซีย บราซิล ประเทศเหล่านี้อาจจะดูไม่พร้อมเลยในเรื่องสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา แต่เขาก็มีประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ

ย้อนกลับมาที่สังคมไทย ชนชั้นนำจำนวนมากยังเชื่อฝังหัวอยู่กับวาทกรรมเรื่องราษฎรไม่พร้อม ปัญญาชนและนักปฏิรูปส่วนใหญ่ก็ยึดถือทฤษฎีเหล่านี้ว่าจะต้องมีการพัฒนาสังคมไทยให้พร้อมก่อน เพื่อที่จะปลูกสร้างประชาธิปไตยขึ้นมา มีการทุ่มเทงบประมาณและเวลาไปจำนวนมากให้กับการลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจน สอนคนให้รู้จักประชาธิปไตย ซึ่งคุณจิตภัสร์กำลังจะไปทำภารกิจนี้  และเชื่อว่าเมื่อปรับสภาพดินได้เหมาะสมตามนี้แล้ว สังคมไทยจึงพร้อมที่จะมีประชาธิปไตย

แทนที่จะคิดกลับกันว่า การกระจายรายได้ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ สังคม การขจัดความยากจน การยกระดับการศึกษา เป็นสิ่งที่ทุกสังคมต้องทำอยู่แล้วตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าต้องหยุดประชาธิปไตยหรือต้องแช่แข็งประเทศชั่วคราว แล้วต้องมาสิ่งเหล่านี้ หนึ่ง สอง สาม สี่ แล้วเราจึงกลับมามีประชาธิปไตยได้

สิ่งที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกทำก็คือ เขาก็ใช้ประบวนการประชาธิปไตยนั่นแหละมาแก้ไขปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่น การลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม การยกระดับการกิดีอยู่ดีของคนในสังคม ก็กระบวนการประชาธิปไตยที่แหละที่ทุกคนมีส่วนร่วม แล้วกดดันให้ชนชั้นนำหรือนักการเมืองต้องตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของประชาชน

กระบวนการประชาธิปไตยแบบนี้แหละที่ให้อำนาจกับประชาชน ถึงนำมาสู่การปฏิรูปสังคมได้ ไม่มีหรอกครับที่สังคมไหนมาหยุดประชาธิปไตย คุณสุเทพขอเวลา 14 เดือนบอกแกทำเสร็จเลย จริงๆ เราควรส่งคุณสุเทพไปช่วยประเทศอื่นๆ ด้วย ถ้าแกเก่งขนาดนั้น

ไม่มีนะครับที่อยู่ดีๆ จะมีความคิดสำเร็จรูปชุดหนึ่ง คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง แล้วบอกว่า ขอหยุดชั่วคราวสังคมนี้ เดี๋ยวข้าพเจ้าจะปฏิรูปทุกอย่างให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 14 เดือน ทุกท่านรอไปก่อน แล้วเดี๋ยวเราค่อยมามีประชาธิปไตยกัน

การอ้างแบบนี้อันตรายที่สุด แล้วประชาธิปไตยที่ถูกทำลายไปในกระบวนการนี้จะไม่นำไปสู่การปฏิรูปที่สลักสำคัญอะไรเลย

บทเรียนของอินเดีย จึงชี้ให้เห็นว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม ไม่ใช่เงื่อนไขที่จะกำหนดและชี้ขาดว่า สังคมหนึ่งๆ จะมีประชาธิปไตยได้หรือไม่ แต่การมีประชาธิปไตยต่างหากที่จะช่วยบรรเทาเบาบาง และแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมเหล่านี้ให้ดีขึ้น

ประเด็นสุดท้ายเรื่อง การเลือกตั้งถ้ามีเวลาผมจะกลับมาพูดเรื่องการเลือกตั้ง ไม่เท่ากับประชาธิปไตย

ก่อนที่จะจบ ผมขอยกคำพูดของอีก 2-3 คน เป็นคนที่ผมชื่นชอบทั้งสิ้น คุณซูโม่ตู้แกพูดเรื่องประชาธิปไตยในทอล์คโชว์ของแกเยอะ แบบเดี่ยวไมโครโฟนแบบคุณโน้ต อุดม แต้พานิช แต่เป็นเรื่องการเมือง เป็นที่นิยมมากในหมู่ชนชั้นกลาง บัตรขายหมดอย่างรวดเร็วทุกครั้ง

อันนี้เป็นส่วนหนึ่งจากทอล์คโชว์ปี 2551 คำพูดที่จับใจชนชั้นกลางมากคือ ที่ผมโค้ดมา “ถ้ากุลีมีสิทธิเท่าบัณฑิต บัณฑิตจะลงทุนเรียนไปทำไมไม่ทราบครับ ประชาธิปไตยมันว่ากันด้วยเสียงข้างมาก ฉะนั้นประเทศที่เสียงข้างมากไม่มีการศึกษา ประเทศก็ล่ม เพราะกุ๊ยซื้อกุ๊ย กุ๊ยเลือกกุ๊ยแน่นอนครับ พวกคอมมิวนิสต์นิยมก็สัพยอกว่า พี่ตู้เป็นอมาตยาธิปไตย แต่พี่ตู้เต็มใจเป็นอมาตยาธิปไตยมารกกว่ากุ๊ยยาธิปไตยนะจะบอกให้ แต่เดี๋ยวนะครับ อมาตยาธิปไตยมันไม่ดีตรงไหนหรือครับเมื่อเทียบกับรัฐบาลรากหญ้าธิปไตยทุกวันนี้”

อีกประโยคหนึ่ง อันนี้รุนแรงกว่าอันที่แล้ว “เพราะเราดันยอมให้พวกที่คิดไม่เหมือนพวกเรา มีสิทธิเลือกคนมาปกครองเราไงล่ะครับ เราต่างหากครับที่เป็นฝ่ายทำผิดมาตลอด” ซูโม่ตู้ย้ำต่อว่า “สิทธิการเลือกตั้งไม่ควรเป็นสิทธิของคนไทยทุกคน เพราะคนฉลาดและคนที่มีการศึกษาสูงเท่านั้นควรจะได้รับสิทธินี้ ประชาชนในภูมิภาคส่วนใหญ่โง่กว่าบาบูนอีกนะ พูดก็ไม่รู้เรื่อง สะกดประชาธิปไตยก็ไม่เป็น ทำมาหากินก็ไม่ได้ ผ้าห่มก็หาเองไม่ได้ ต้องแจกทุกปี แต่ดันมีสิทธิเลือกตั้ง อย่างนี้บาบูนค้อนครับ ต้องแก้กติกาครับ ไม่งั้นตาย หลายศพแล้วด้วย และจะมีอีกครับถ้าไม่รีบแก้กติกา อย่าอายครับ เพื่อนร่วมชาติเราโง่ครับ ยอมรับซะจะได้แก้กติกากัน”

อันนี้ ถ้าคุณอยู่ในสังคมประชาธิปไตยที่มีอารยะ เป็นไปได้ยากมากที่คนมีชื่อเสียงระดับนี้จะจัดทอล์คโชว์แล้วออกไปพูดเนื้อหาเหล่านี้ แต่ที่น่ากลัวกว่าคือ มีคนเป็นพันเป็นหมื่นซื้อตั๋วเพื่อเข้าไปฟังวาทะทางการเมืองแบบนี้

พอผมฟังซูโม่ตู้เสร็จเลยถึงบางอ้อว่า อ๋อ ความคิดของคุณจิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี มาจากไหน คือแกอาจจะเข้าไปนั่งฟังอยู่ด้วย ที่ล่าสุดออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ประชาธิปไตยไทยมีปัญหา เพราะคนชนบทส่วนใหญ่ยังไร้การศึกษา ไม่มีความรู้เรื่องประชาธิปไตย แกเลยอยากไปสอนประชาธิปไตย ซึ่งผมห่วงใยสวัสดิภาพของคุณจิตภัสร์มากเลย

ผมคิดว่าคนที่มีสติมากที่สุดคนหนึ่งในหมู่ชนชั้นนำไทยคือคุณอานันท์ ปันยารชุน คุณอานันท์ได้พูดไว้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2553 หลังปราบเสื้อแดงไป 3 เดือน ยอมรับว่า ถึงที่สุดเพื่อที่สังคมไทยจะออกจากวิกฤตไปได้ ชนชั้นกลางต้องทำใจยอมรับความเห็นของคนอื่นที่เห็นไม่ตรงกับตัว ถ้ายังรับการตัดสินใจใช้สิทธิเลือกตั้งของคนชนบทไม่ได้ สังคมไทยก็จะมีปัญหา วันหนึ่งเราต้องรับให้ได้ ไม่ว่าเขาจะออกความเห็นเลือกตัวบุคคลใด นั่นคือสิทธิพื้นฐานของเขา

นี่แกพูดกับชนชั้นกลาง ชนชั้นสูงด้วยกันเอง ผมคิดว่าแกเข้าใจประเด็นว่า เป็นไปไม่ได้แล้วที่คุณจะปฏิเสธหลักการเรื่อง 1 สิทธิ 1 เสียง

ผมคิดว่าโจทย์ของการปฏิรูปการเมืองไทยอีกประการหนึ่งที่ไม่ได้พูดถึงเลยในที่ชุมนุม และโดยนักวิชาการ คือการปฏิรูปชนชั้นกลางและชนชั้นสูง ทำอย่างไรให้ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในสังคมไทย
1. มีมายาคติเกี่ยวกับประชาธิปไตยน้อยลง
2. มีอคติทางการเมืองเกี่ยวกับคนที่คิดต่างจากตนน้อยลง
3. เคารพเสียงและสิทธิการตัดสินใจของเพื่อนร่วมชาติมากขึ้น ก็คือยอมรับหลักการความเสมอภาคทางการเมือง
4. หวาดกลัวความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองน้อยลง ผมเชื่อว่าชนชั้นกลางหวาดกลัวกับอะไรหลายๆ อย่างที่กำลังจะมาถึง ซึ่งความหวาดกลัวนั้นยิ่งนำไปสู่ความไร้สติในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และจะพาสังคมไทยไปสู่ทางตัน
5. สุดท้าย ทำยังไงให้ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงเคารพกติกาการอยู่ร่วมกันภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

ถ้าไม่สามารถปฏิรูปชนชั้นกลางและชนชั้นสูงได้ วิกฤตที่เราเห็นจะกลับมาอีกไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล โดยเฉพาะหลักการเรื่องความเสมอภาคทางการเมือง ผมคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของสังคมไทย ไม่ว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญอีกกี่ฉบับ หรือออกแบบการเมืองให้ดีเลิศวิเศษยังไง แต่ถ้าคนยังไม่เชื่อว่าเพื่อร่วมชาติมีความเสมอภาคทางการเมืองเท่ากับเรา เขาควรเป็นคนที่มีสิทธิมีเสียงเท่ากับเรา ไม่มีทางที่ประชาธิปไตยจะเจริญงอกงามในประเทศนี้ได้

หมายเหตุ
โปรดติดตามรายละเอียดการเสวนาส่วนของ เวียงรัตน์ เนติโพธิ์ และปิยบุตร แสงกนกกุล ซึ่งประชาไทจะนำเสนอต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net