เกษม เพ็ญภินันท์: มายาคนดีในการเมืองไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กลับไปอ่าน เมื่อ ‘ความดี’ และ ‘คนดี’ ทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง (ตอน 1)

คุณจิรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็ปไซท์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ ประชาไท นำบทสัมภาษณ์ของผมเมื่อ 7 ปีที่แล้ว “คุยกับนักปรัชญา: เมื่อ ‘ความดี’ และ ‘คนดี’ ทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง” สัมภาษณ์โดยคุณพิณผกา งามสม ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2549 หนึ่งเดือนหลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาโพสต์บนหน้า Facebook และเขียนข้อความว่า “อ่านซ้ำอีก ประชาไทคุยกับเกษม เพ็ญภินันท์เมื่อ 7 ปีที่แล้ว” . . .  

แม้ว่าบทสัมภาษณ์ดังกล่าวจะเป็นการเรียบเรียงเนื้อหาของการสัมภาษณ์ โดยที่ผมไม่มีโอกาสได้ตรวจทานก็ตาม แต่สาระสำคัญที่กล่าวถึงก็ครบถ้วน แม้ว่าเนื้อหาบางส่วนจะกระท่อนกระแท่นไม่ปะติดปะต่อ แต่คุณพิณผกาพยายามเก็บความให้ครบถ้วนที่สุด แม้ว่าบทสัมภาษณ์นี้จะเก่าจนผมเองก็ไม่ได้นึกถึง แต่คุณจีรนุชยังเขียนข้อความต่อไปอีกด้วยว่า “บทสัมภาษณ์ก็ยังทันสมัย หรือสังคมเราเป็นสังคมที่หยุดนิ่งไม่ไปไหน”

ขอบคุณคุณจีรนุชทีนำบทสัมภาษณ์นี้กลับมา จนทำให้ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์นี้ใหม่ และอยากวิวาทะต่อในสภาพการณ์ที่สังคมไทยยังอยู่ในวังวนของวาทกรรมคนดีและความดีจนไม่ยอมเคลื่อนไปไหน

-------------------------------------------

ความเข้าใจในเรื่องคนดีถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นทางการเมืองในสังคมไทย ก็เพราะว่า ความปรารถนาที่อยากได้คนดีมาเป็นนักการเมือง ผู้บริหารหรือผู้ปกครองประเทศ ในสภาวการณ์ที่การเมืองไทยเต็มไปด้วยปัญหาคอร์รัปชั่น การประพฤติมิชอบในอำนาจหน้าที่ ผลพวงของระบอบทักษิณและการผลิตซ้ำของ “ชุดวาทกรรมนักการเมืองมันชั่ว มันเลว มันโกงกินบ้านเมือง”

คนดีคือใคร? คำถามทางปรัชญานี้เป็นโจทย์ทางจริยศาสตร์เกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินชีวิต (a conduct of life) ที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับบุคคลหรือคนแต่ละคนเป็นหลัก ที่เรียนรู้ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรบนพื้นฐานและความเข้าใจต่อความดี รวมทั้งการวางตนและการปฏิบัติตนที่มีเป้าหมายไปสู่การมีชีวิตที่ดีและมีความสุขตามครรลองของคุณธรรมความดีที่ตนเองยึดถือ

คนดีคือใคร? จึงเป็นใครก็ได้ที่วางตนและการปฏิบัติตนที่มีเป้าหมายไปสู่การมีชีวิตที่ดี เป็นคุณธรรมส่วนบุคคล ซึ่งไม่มีมาตรฐานหรือบรรทัดฐานใดมาเป็นตัวชี้วัดในการเป็นคนดีที่แน่นอนและตายตัว นอกจากการประพฤติตนของบุคคลนั้นๆ เองที่จะได้นับการยอมรับว่าเป็นคนดี แต่ในการดำเนินชีวิตในสังคมหรือการอยู่ร่วมกัน คุณธรรมของการเป็นคนดีก็ไม่สามารถขยายขอบเขตไปเป็นคุณธรรมของสังคมได้ นั่นคือ การเป็นคนดีไม่ได้หมายความว่าคุณธรรมของการเป็นคนดีจะทำให้สังคมดีหรือสงบสุขได้ เพราะ ในการอยู่ร่วมกันในสังคม คุณค่าที่เป็นพื้นฐานและสำคัญที่สุดคือ ความยุติธรรม

ทำไมต้องเป็นความยุติธรรม? ทำไมคุณค่าของความยุติธรรมจึงสำคัญกว่าคุณค่าของความดี เมื่อกล่าวถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม? ก็เพราะว่า ความยุติธรรมเป็นคุณค่าที่ก่อให้เกิดความถูกต้องเที่ยงธรรมที่แต่ละคนพึงปฏิบัติต่อกัน และยังเป็นหลักประกันความเสมอภาค (equality) และความเท่าเทียม (equity) ของทุกคนในสังคม ด้วยกฎเกณฑ์ ระเบียบ หรือกฎหมายเพื่อให้ทุกคน (1) ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ กติการ่วมกัน (2) คุ้มครองเสรีภาพ สิทธิต่างๆ ของทุกคนอย่างเสมอภาคกันโดยปราศจากข้อยกเว้นใดๆ 

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าความดีคือคุณค่าพื้นฐานของการเป็นคนดี ความยุติธรรมต้องเป็นคุณค่าพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม

ถ้าคุณธรรมในการดำเนินชีวิตคือการปฏิบัติตนเป็นคนดีตามความคิดความเข้าใจต่อ ‘ความดี’ ในแนวทางของแต่ละคน นั่นย่อมหมายความต่อไปว่า ความดีไม่สามารถนิยามได้อย่างชัดเจน ก็เพราะว่า ถ้าเราสามารถจับความดีให้มั่นคั้นให้ตายหรือแช่แข็งความหมายให้เป็นรูปธรรม และมีเกณฑ์กำกับที่ชัดเจน สิ่งที่ตามมาคือ การปฏิบัติตนเป็นคนดีต้องเป็นไปตามเกณฑ์ดังกล่าวเท่านั้น อะไรที่นอกเหนือจากความหมายและเกณฑ์จึงไม่ใช่ความดี

สิ่งนี้จะนำไปสู่ปัญหาการกีดกันความเข้าใจต่อความดีในความหมายอื่นๆ รวมทั้งการกดทับรูปแบบในการดำเนินชีวิตตามเกณฑ์ว่าด้วยความดีให้มีเพียงแนวทางปฏิบัติเพียงบางแนวทางเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ นักปรัชญาจึงทำให้ความดีเป็นสิ่งที่ไม่มีคำนิยามที่สมบูรณ์ เพราะว่า การสร้างนิยามที่สมบูรณ์ย่อมนำไปสู่ความลีบเรียวทางความคิดและหลักปฏิบัติที่ย้อนกลับมาจำกัดแนวทางหรือรูปแบบในการดำเนินชีวิต ยิ่งกว่านั้น ถ้าจำกัดแนวทางปฏิบัติหรือรูปแบบในการดำเนินชีวิตให้ลดน้อยลง สิ่งนี้จะนำมาซึ่งอันตรายและการทำลายคุณค่าของความดีโดยไม่รู้ตัว

ปัญหายุ่งยากกว่านั้นก็คือ ทำไมคนเราไม่ได้ปฏิบัติตามเกณฑ์ความดีเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ ถ้ายึดถือในความดีและเกณฑ์ปฏิบัติที่ชัดเจน คำตอบสั้นๆ ก็คือ ความดีไม่ใช่สิ่งที่นำมาครอบให้ยึดถือและปฏิบัติ ความดีไม่ใช่สิ่งที่สั่งให้จดจำตามเกณฑ์ปฏิบัติ หรือการสอนสั่งที่พร่ำสอนด้วยหลักคำสอน แต่เกิดจากการเรียนรู้ ที่ทุกคนต่างเรียนรู้คุณค่าของความดีตามเท่าที่ดำเนินชีวิตอยู่และเรียนรู้การมีชีวิต ต่อไปเช่นเดียวกับความดีจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมาจากกระบวนการเรียนรู้

เราเรียนรู้ความดีจากอะไร เราเรียนรู้จากการดำเนินชีวิตของเราเอง จากผู้อื่น จากตำรา จากคำสอนที่แต่ละคนต้องทำความเข้าใจและนำปฏิบัติด้วยตนเอง เวลาที่ทำความดีหรือวางตนตามคุณธรรมความดีในแต่ละสถานการณ์ที่ประสบพบเจอในชีวิตของแต่ละคน ซึ่งแตกต่างหลากหลายต่อกัน แต่ทุกคนย่อมมีความเข้าใจบางอย่างร่วมกันเกี่ยวกับความดีและคุณธรรมในการครองตนและปฏิบัติตนตามคุณค่าของความดี

แน่นอนว่า ทุกสังคมต้องการคนดี แต่คนดีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้สังคมดำรงอยู่ได้อย่างสงบสุข เพราะว่า คุณธรรมของการเป็นคนดี กับ คุณธรรมของการอยู่ร่วมกันในสังคม คือคนละชุดคุณธรรม ยิ่งในสังคมประชาธิปไตยด้วยแล้ว นอกเหนือจากความยุติธรรม คุณค่าอื่นๆ ของการอยู่ร่วมกันในสังคมที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ก็คือ

(1) การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กล่าวคือ การยอมรับในความเป็นคนเหมือนกันและเท่ากันตั้งแต่กำเนิด และไม่สามารถกีดกันด้วยฐานันดร ชาติพันธุ์ เพศ วัย คุณวุฒิ อาชีพ ความเป็นอยู่ หรือแม้แต่ความแตกต่างหลากหลายทางเพศสภาพ 

(2) การเคารพในสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และกฎกติกาของสังคม กล่าวคือ การยอมรับในความเป็นอิสระทางคิดและการแสดงออกบนพื้นฐานของความเสมอภาคของสิทธิของแต่ละบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองด้วยกฎกติกาที่ละเมิดต่อกันไม่ได้  

รูปธรรมที่ยืนยันในของคุณค่าทั้งสองอย่างชัดเจนที่สุดก็คือ 1 สิทธิ 1 เสียง

1 สิทธิ 1 เสียง บ่งบอกถึงอะไรบ้าง อันดับแรกคือการบ่งบอกถึงความเป็นคนที่เท่ากัน อันดับต่อมาคือการยอมรับในความเป็นสมาชิกของสังคมเหมือนกัน ไม่ว่าแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันในเรื่องใดก็ตาม อันดับสุดท้ายก็คือ แต่ละคนล้วนแสดงสิทธิในการกำหนดทิศทางของสังคมร่วมกัน ไม่มีใครที่มีสิทธิที่เหนือกว่าหรือมากกว่า ตราบเท่าที่ทุกคนยังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเหมือนกัน

ในสังคมไทย ความพยายามที่จะนำเอาคุณค่าของความดีให้มีความสำคัญและเหนือกว่าคุณค่าอื่นๆ ทั้งหมดนี้มาจากแนวคิดที่เชื่อว่า การเมืองจะทำให้สังคมที่ดีเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อการเมืองได้บรรจุคุณค่าของความดีให้เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมทางการเมือง แนวคิดนี้จึงวางแนวทางที่ทำให้ความดีเป็นรากฐานของการเมือง ด้วยการสร้างศีลธรรมทางการเมืองให้เกิดขึ้นภายใต้เจตจำนงให้คนดีเป็นผู้ปกครองประเทศ

แต่ นี่คือมายาคติ

เจตจำนงให้คนดีเป็นผู้ปกครองประเทศ เกิดจากความคิดที่ว่า ถ้ามีคนดีมาเป็นผู้ปกครองแล้ว ประเทศชาติจะดี สงบสุขและเจริญก้าวหน้า เพราะผู้ปกครองที่ดีจะคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้คนดีเป็นผู้ปกครอง

ความคิดนี้อาจย้อนรอยถอยหลังกลับยังแนวคิดเรื่องราชาปราชญ์ (Philosopher King) ในหนังสือ อุตมรัฐ (Republic) ของเพลโต ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นความพยายามของเพลโตที่แสวงหาผู้ปกครองที่ดีในโลกสมมติที่สมมติว่า เมื่อมีราชาปราชญ์มาปกครอง สังคมที่เป็นอยู่จะสงบสุขและเกิดความเป็นธรรมขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา เพลโตก็ปฏิเสธแนวคิดดังกล่าวและนำเสนอรูปแบบผู้ปกครองในบทสนทนา ผู้ปกครอง (Stateman) ว่า ผู้ปกครองที่ดีควรต้องอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครอง ก็เพราะว่า ไม่มีหลักประกันอันใดต่อผู้ปกครองจะครองตนเป็นผู้ปกครองที่ดีได้หากปราศจากระเบียบและกฏเกณฑ์ที่กำกับแนวทางในการเป็นปฏิบัติตนเป็นผู้ปกครองที่ได้

เสียดายที่ความรู้เกี่ยวกับเพลโตในสังคมไทยจำกัดอยู่เพียงแค่ความคิดเรื่องราชาปราชญ์จนมองไม่เห็นว่า ข้อบกพร่องของความคิดนี้ และยังยึดเป็นแนวทางในการแสวงหาคนดีดังกล่าวที่มาจากโลกสมมติ

กล่าวอย่างสั้นๆ ก็คือ ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันอันใดที่จะยืนยันว่า คนดีซึ่งเป็นผู้ปกครองจะดำรงตนเป็นผู้ปกครองที่ดีได้เมื่อมีอำนาจ นอกจากกฎเกณฑ์ที่กำกับและตรวจสอบการใช้อำนาจนั้นๆ

 

 

 

หมายเหตุ:  เกษม เพ็ญภินันท์ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท