Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ลองจินตนาการภาพแคมเปญต้านคอร์รัปชั่นรูปแบบใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากจาก สสส. หน่วยงานที่ได้ชื่อว่า เป็นจอมรณรงค์ในด้านต่างๆ เช่น การไม่สูบบุหรี่ การไม่ดื่มเหล้า การตรวจสอบการคอร์รัปชั่นของนักการเมือง หากแคมเปญใหม่ต้านคอร์รัปชั่นของ สสส. ผ่านสื่อต่างๆจะมีภาพการปฏิเสธที่จะลัดคิวขณะที่คนกำลังเข้าแถวกันอยู่ ภาพการปฏิเสธยัดเงินใส่มือตำรวจ ภาพการปฏิเสธการจ่ายแป๊ะเจี๊ยะให้กับโรงเรียน ภาพการปฏิเสธจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับสำนักโยธาขององค์กรปกครองท้องถิ่นของผู้ประกอบการ ภาพการไม่ตบแต่งบัญชีก่อนยื่นจ่ายภาษี ฯลฯ

หาก สสส.มีนโยบายพลิกมุมนำเสนอภาพเชิงวัฒนธรรมการคอร์รัปชั่นไทย ที่กระทำกัน “อย่างเป็นวัฒนธรรมปัจเจก” ดุจดังการสูบบุหรี่ (แต่มากกว่าการสูบบุหรี่) นอกเหนือไปจากภาพการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองที่ สสส.เน้นจับตาเป็นพิเศษ, อะไรจะเกิดขึ้น?

ฝ่ายรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในเมืองไทย ได้ทำการรณรงค์  (แคมเปญ)“ต้านการคอร์รัปชั่น” หรือ “ต้านโกง” มาเป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะวาทกรรมต้านคอร์รัปชั่นที่เริ่มมีเสียงดังหลังจากปี 2549  หรือภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายนปีเดียวกัน โดยเฉพาะพฤติกรรมการคอร์รัปชั่นของนักการ เมืองไทย จนเกิดเป็นองค์กรต้านการเมืองขึ้นมาหลายองค์กร ทั้งแบบเป็นทางการและเครือข่ายประชาชนทั่วไปแบบไม่เป็นทางการ จนกระทั่งได้กลายเป็นวัฒนธรรมเชิงแฟชั่น ทำนองใครไม่ใส่ใจปัญหาการคอร์รัป ชั่นอาจกลายเป็นคนล้าสมัยไปได้

แม้ว่าพฤติกรรมคอร์รัปชั่นของนักการเมืองไทยมีมาตลอดระยะเวลาหลายปีก่อนหน้าปี 2549 แต่ดูเหมือนการรณรงค์จนกระทั่งเกิดการพูดถึงปัญหานี้อย่างจริงจังในช่วงปลายของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยกลุ่มที่มีวัตถุทางการเมืองที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มพันธมิตร จนในที่สุดนำมาซึ่งรัฐประหารในปีเดียวกัน  นอกเหนือไปจากการเกิดขึ้นของวาทกรรมอย่างเช่น ผลประโยชน์ทับซ้อน  คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย เป็นต้น ซึ่งหมายถึงการคอร์รัปชั่นทั้งสิ้น

ดูเหมือนคำว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน” และ “คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” ได้รับความสนใจจากบรรดานักวิชาการไทยและนักวิชาการต่างประเทศบางส่วน เพราะเป็นศัพท์ใหม่ ไม่มีในสารบบศัพทานุกรมการเมืองสากลมาก่อน

หลังจากรัฐประหารแล้วพรรคพลังประชาชนที่แปรสภาพมาจากพรรคไทยรักไทย ได้รับการเลือกตั้ง ด้วยเสียงข้างมากเข้ามาบริหารประเทศก็ยังมีการกล่าวถึงปัญหาคอร์รัปชั่นโดยนักการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง สืบต่อมาจนกระทั่งถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่แปรสภาพมาจากพรรคพลังประชาชน เนื่องจากการยุบพรรคเครือข่ายนักการเมืองไทยรักไทยอย่างซ้ำซาก โดยเหตุการณ์ดังกล่าวถูกโยงไปถึงตระกูลชินวัตร ในแง่ของการสืบทอดอำนาจในการเป็นผู้นำบริหารประเทศ

ในเวลานั้นและต่อจากนั้นบทบาทของนักการเมืองไทยในแง่ของการเป็นตัวการของคอร์รัปชั่นที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยก็เพิ่มพูนขึ้นถึงขั้นขีดสุด การรณรงค์ต้านการคอร์รัปชั่นได้ทำให้นักการเมืองไทย กลายเป็นมนุษย์สายพันธุ์ที่เลวร้ายที่สุด ในสายตาของกลุ่มคนที่เห็นว่าปัญหาคอร์รัปชั่นสำคัญมากที่สุด ทำให้คนส่วนหนึ่งของมองว่า อาชีพนักการเมืองเป็นอาชีพที่สกปรก เพราะนักการเมือง คาดหวังในเรื่องผลประโยชน์ของ ตนและพวกพ้องเพียงอย่างเดียว ถ้ามีโอกาสนักการเมืองเหล่านี้ต้องโกงเพียงอย่างเดียว

กลุ่มคนที่มองว่าอาชีพนักการเมืองสกปรกจ้องที่จะโกงเพียงอย่างเดียว ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางในเมืองที่ฝังใจกับวาทกรรมนักการเมืองย่อมต้องคอร์รัปชั่น จนกระทั่งเกิดเป็นเครือข่ายต้านการคอร์รัปชั่นขึ้นจำนวนมาก และส่วนใหญ่มีฐานที่มั่นในกรุงเทพมหานคร

รวมถึงกระทั่งหน่วยงานสำคัญๆบางหน่วยงานที่มีบทบาทในการสนับสนุนด้านทุนให้กับสื่อสาธารณะจำนวนหนึ่ง ทำการรณรงค์ต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งแน่นอนว่าเป้าหมายและภาพลักษณ์ของการรณรงค์ดังกล่าวส่วนใหญ่พุ่งไปที่อาชีพนักการเมืองเป็นหลัก ทำนองนักการเมืองคือ ตัววายร้ายของการคอร์รัปชั่นทั้งหมด

ปกติแล้วนักการเมืองถือเป็นกลไกหรือเป็นเครื่องมือสำคัญในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของไทย นักการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้งเข้ามา เมื่อนักการเมืองโดนกล่าวหาว่า เป็นตัวการคอร์รัปชั่น ย่อมส่งผลต่อศรัทธาของประชาชนบางกลุ่ม ต่อการเมืองในระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน  จนถึงกับมองว่าการเลือกตั้งเป็นความเลวร้ายอย่างหนึ่ง สู้การนำเอา “ระบบการแต่งตั้งคนดี” มาทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองไม่ได้ ซึ่งนับเป็นจินตนาการของชนชั้นกลางเมือง เพื่อทดแทนระบบตัวแทน แบบเดิมที่พวกเขาเสื่อมศรัทธา

ขณะที่ในส่วนของประชาชนอีกด้าน ได้แก่ คนในชนบทหรือคนในต่างจังหวัด ได้อานิสงฆ์จากระบบตัวแทนในระบบรัฐสภา ซึ่งผลประโยชน์ดังกล่าวอาจมาจากนโยบายประชานิยมต่างๆ ทำให้พวกเขามีความคิดที่แตกต่างจากคนไทยกลุ่มแรกที่เป็นชนชั้นกลางเมืองตลอดถึงชนชั้นสูง ด้วยเหตุนี้ทำให้คนไทยในชนบทหรือต่างจังหวัดส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของระบบตัวแทน และเห็นว่าระบบตัวแทนเป็นที่พึ่งของพวกเขาได้ ช่วยให้พวกเขาได้รับประโยชน์มากกว่าเดิม  จนทำให้ชนชั้นกลางเมืองนำตรรกะเหตุผลอย่างหนึ่งขึ้นมาแก้ต่าง คือ “คนต่างจังหวัดยังไร้การศึกษา ไม่เข้าใจการเมืองและยังยากจน เมื่อมีนักการเมืองให้เงิน สิ่งของและนโยบายประชานิยมก็มีแต่รับลูกเดียว”

“ประชานิยม” ยังไม่ได้รับการตีความให้แน่ชัดว่า ประชานิยมในความหมายของสังคมไทย หมายถึงอะไร โครงการประชานิยมหมายถึงอย่างไร  เป็นโครงการใดบ้าง หรือว่าโครงการทั้งหมดของ รัฐบาล(โดยเฉพาะของพรรคเพื่อไทย)เป็นประชานิยม  ประเด็นเหล่านี้ยังไม่ได้มีการแยกแยะ อย่างเช่น โครงการลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โครงการรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง เป็นประชานิยมด้วยหรือไม่?

โครงการต่างๆเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอาจถูกมองได้ง่ายว่าเป็นประชานิยม แต่ขณะเดียวกันหากจะตัดโครงการเหล่านี้ทิ้งไปเกษตรกรไทยจะอยู่ได้อย่างไร

หากเปรียบเทียบกับการช่วยเหลืออุดหนุนเกษตรกรของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่น เกษตรกรอเมริกัน ซึ่งรัฐบาลมีการช่วยเหลือเกษตรกรของเขา ทั้งในรูปกฎหมายปกป้องและเงินอุดหนุนเช่นกัน, จะเปรียบเชิงไหนถึงจะเรียกว่าประชานิยม? รัฐบาลอเมริกันมีประชานิยมหรือไม่?

หากย้อนดูวิถีที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น, แม้กระทั่งสื่อต่างชาติ ยังมองว่าคนไทยซึ่งมีวัฒนธรรม อุปถัมภ์ เช่น ในชื่อของ “เส้นสาย” หรือชื่อ “เด็กเส้น” แสดงถึงพื้นฐานการคอร์รัปชั่นที่มาจากโครงสร้างทางวัฒนธรรมไทยเอง เป็นที่รู้กันในคนบรรดาคนไทยด้วยกัน (sense of Thai) เป็นต้นว่า การไม่เข้าคิว หรือต่อแถว การจ่ายเงินให้ตำรวจเมื่อทำผิดกฎจราจร การจ่ายให้เงินใต้โต๊ะให้กับข้าราชการแทบทุกหน่วยงานเพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องเวลาและขั้นตอนการอนุมัติต่างๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในนาม “ความรู้สึกหรือสามัญสำนึกคอร์รัปชั่นแบบไทย” 

ขณะที่ในภาคส่วนนอกเหนือไปจากนักการเมืองและฝ่ายรัฐบาลที่ถือเป็นชำเลยหลักแล้ว กลับไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงมากนัก เช่น ในส่วนงานยุติธรรมหรือฝ่ายอำนาจตุลาการ และส่วนงานสำคัญที่ตอนหลังเริ่มถูกตั้งข้อสงสัยมากขึ้น นั่นคือ องค์กรอิสระ ซึ่งการตั้งข้อสงสัยดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของการที่องค์กรอิสระ ไม่ยึดโยงกับประชาชน อีกประเด็นหนึ่งคือ ใครหรือหน่วยงานใด เป็นผู้ตรวจสอบองค์กรอิสระเหล่านี้ โดยเฉพาะในเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่น มากกว่า

ในการมองแค่ความเชื่อมั่นศรัทธาเชิงวัฒนธรรม เช่น การมองว่าผู้พิพากษาตุลาการ ย่อมต้องให้ผลที่ยุติธรรมเสมอ

ในส่วนของหน่วยงานด้านการศึกษาก็เช่นเดียวกัน เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัยของไทยส่วนใหญ่ ในเชิงวัฒนธรรมไทยมักถูกมองว่าเป็นผู้ทรงความรู้และมีวิจารณญาณมากกว่าอาชีพอื่น แต่เมื่อถามถึงการตรวจสอบหรือข้อพิสูจน์เรื่องนี้ ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยมีการคอร์รัปชั่นหรือไม่/คอร์รัปชั่นต่างจากอาชีพอื่นอย่างไร?

ทั้งหมดนำมาซึ่งการปฏิบัติในเรื่องการตรวจสอบหรือการตั้งสมมติ ฐานการตรวจสอบผู้คนในสาขาอาชีพที่แตกต่างกัน อาชีพหนึ่งได้รับการตรวจสอบแต่อีกหลายอาชีพกลับ ถูกเพิกเฉยในการตรวจสอบเชิงการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยยังมีคำถามในส่วนของกลไกประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งก็คือการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบของภาคประชาชนด้วยการกำหนดกฎเกณฑ์ให้ยึดโยงกับการเข้าไปมีส่วนในการกำหนดชะตากรรมขององค์กรต่างๆ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นองค์กรอิสระก็ตาม

ในประเทศไทยจึงทำแคมเปญต้านคอร์รัปชั่นพุ่งเป้าไปที่นักการเมือง และฝ่ายบริหาร (รัฐบาล)อย่างมีนัยสำคัญมากกว่าฝ่ายอื่น เมื่อกล่าวถึงการคอร์รัปชั่นก็จะนึกถึงหน้านักการเมือง ซึ่งถึงแม้ว่าจะพบว่านักการเมืองมีพฤติกรรมการคอร์รัปชั่นจริง แต่โดยเงื่อนไขวัฒนธรรมแล้ว ใช่ว่าส่วนงานอื่นจะไม่คอร์รัปชั่น การทำแคมเปญยังไม่ค่อยเน้นการคอร์รัปชั่นในหน่วยงานอื่น เช่น ฝ่ายข้าราชการ ฝ่ายซึ่งอยู่ในกระบวนการยุติธรรม และฝ่ายองค์กรอิสระ

น่าสนใจว่า ผู้ทำแคมเปญต้านคอร์รัปชั่นได้เงินอุดหนุนการทำกิจกรรมนี้มาจากหน่วยงานหลาย หน่วยงาน เป็นทั้งจากฝ่ายรัฐ ฝ่ายเอกชนและฝ่ายองค์กรเฉพาะ เช่น   สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ถือว่าเป็นหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ที่มีการให้ทุนอุดหนุน ในการทำกิจกรรมสาธารณะต่างๆแม้กระทั่งทีวีสาธารณะ(Thai PBS) เป็นจำนวนเงินจำนวนมากในแต่ละปี

ตามกฎหมายไทยกำหนดให้กรมสรรพสามิต ต้องส่งรายได้จากภาษีบาปให้กับสสส. เช่น ในปี 2554  สรรพสามิตส่งรายได้ให้ สสส.จำนวน 3,400 ล้านบาท รวมเงินที่ส่งให้ สสส. 10 ปี  มากกว่า 10,000 ล้านบาท แต่ก็ยังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า สสส.มีผลงานน้อย การซื้อขายสินค้าบาปยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่การทำแคมเปญของ สสส.บางอย่าง ได้แก่ การรณรงค์การไม่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นการทำแคมเปญเพื่อปัจเจกหรือเพื่อผู้สูบบุหรี่เป็นไปอย่างได้ผล

ส่วนหนึ่งของแผนงานแคมเปญต้านคอร์รัปชั่นของ สสส.ที่ถ่ายทอดลงสู่สื่อสาธารณะได้เน้นไปที่การทุจริตในบรรดานักการการเมืองและฝ่ายบริหาร ถ้าเทียบกับการทำแคมเปญต้านเหล้าต้านบุหรี่แล้วนับว่า ต่างกัน

แคมเปญต้านเหล้า-บุหรี่ เน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงในตัวบุคคลผู้บริโภค  ส่วนแคมเปญต้านคอร์รัปชั่นเน้นไปที่การปฎิรูปบุคคลสาธารณะและองค์กรสาธารณะ

จะเป็นไปได้ไหมที่หน่วยงานที่ได้รับจัดสรรเงินจำนวนมากอย่าง สสส.จะหันมาทำแคมเปญต้านคอร์รัปชั่นโดยการรณรงค์ปฏิรูปวัฒนธรรมการคอร์รัปชั่นเชิงปัจเจก(จิตสำนึก)ของคนไทยให้มากขึ้น  เพราะรากฐานของคอร์รัปชั่นไม่ได้มาจากไหน แต่มาจากการปราศจากจิตสำนึกสาธารณะ

จิตสำนึกดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ส่วนตัว ครอบครัว โรงเรียน สถานศึกษา และทุกๆที่นอกบ้าน 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net