Skip to main content
sharethis

นายกฯ แถลงยืนยันเลือกตั้ง 2 ก.พ. เพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ปกป้องระบอบประชาธิปไตย ด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม เป็นที่ยอมรับของสากล ชี้การปฏิรูปคู่ขนานไม่ขัดเลือกตั้ง ใช้กลไกรัฐสภาเป็นหลักขับเคลื่อนให้ข้อเสนอเป็นจริงได้

21 ธ.ค.2556 เมื่อเวลา 14.30 น. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ อ้างถึงพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดวันเลือกตั้งไว้ในวันที่ 2 ก.พ.57 รัฐบาลยังยันเจตนารมณ์ที่ต้องการพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญและปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ด้วยการให้ประชาชน มีสิทธิ มีเสียงทั่วประเทศ และมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน เป็นผู้กำหนดทิศทางของประเทศ และร่วมกันหาทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองภายใต้กรอบกติกาประชาธิปไตยอันเป็นที่ยอมรับของสากล ในขณะเดียวกัน จากเวทีการระดมความคิดเห็นต่างๆ รัฐบาลมีความเห็นที่สอดคล้องว่า การดำเนินการปฏิรูปประเทศทั้งในมิติของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมนั้น มีความจำเป็น ซึ่งรัฐบาลก็พร้อมที่จะร่วมในการผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์กับประชาชนทั้งประเทศอย่างแท้จริง

ยิ่งลักษณ์ กล่าวรัฐบาลขอยืนยันด้วยว่ากระบวนการปฏิรูปประเทศนั้นสามารถที่จะดำเนินการคู่ขนานกันไป โดยไม่ขัดแย้งกับกระบวนการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรไทย ตรงกันข้ามกลับเป็นความจำเป็นด้วยซ้ำที่การเลือกตั้งจะต้องเดินหน้า

ด้วยเหตุผลที่เมื่อมีฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นตัวแทนของประชาชนแล้ว กลไกรัฐสภาจะต้องเป็นกลไกหลักที่จะขับเคลื่อนให้ข้อเสนอการปฏิรูปต่างๆเป็นจริงขึ้นมาได้ ด้วยแนวคิดดังกล่าว รัฐบาลเห็นว่าเพื่อให้ประชาชน มีความมั่นใจว่าหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 2 ก.พ.57 แล้ว สภาผู้แทนราษฏรและคณะรัฐมนตรีที่เกิดขึ้นใหม่ จะต้องกำหนดให้การปฏิรูปประเทศเป็นวาระแห่งชาติ

ทั้งนี้ยิ่งลักษณ์ได้เสนอเพื่อดำเนินการตามลำดับ 3 ข้อดังนี้

1. พรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกลงรับเลือกตั้งคราวนี้ พร้อมทั้งองค์กรหรือภาคีอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้สัตยาบันว่าหลังจากสภาผู้แทนราษฎร์และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่แล้ว จะมีการจัดตั้งสภาปฏิรูปประเทศไทยขึ้นทันที

2. การจัดตั้งสภาปฏิรูปประเทศไทย จะประกอบด้วยตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพหรือสถาบันต่างๆ ที่มีกฎหมายรองรับพรรคการเมืองทุกพรรค รวมถึงที่ประชุมที่แม้มิได้มีกฎหมายรองรับแต่มีบทบาทที่สำคัญของประเทศเช่น ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ประชุมปลัดกระทรวงและหัวหน้าส่วนราชการ หรือองค์กรอื่นๆในลักษณะที่เทียบเคียงกันได้ ตลอดจนตัวแทนของกลุ่มวิชาชีพทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ รวมถึงกลุ่มที่มีความคิดเห็นทางการเมืองสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนก็ตาม

3. สภาปฏิรูปประเทศไทยสมควรมีวาระการทำงานไม่เกิน 2 ปีและมีหน้าที่สำคัญคือการจัดทำและเสนอกลไกเพื่อปฏิรูปประเทศไทยในระยะยาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปการเมืองให้การเมืองในอนาคตสามารถเป็นปากเสียงแทนประชาชนได้อย่างแท้จริง ข้อเสนอของรัฐบาลดังกล่าวเป็นข้อเสนอเบื้องต้นเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้ฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง นักวิชาการ นักธุรกิจ และพี่น้องประชาชนทุกคน ได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและเสนอแนะเพื่อปรับปรุงให้กลไกเฉพาะกิจดังกล่าวเกิดขึ้นได้โดยเร็วที่สุด และนำไปสู่การปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง

นายกฯ กล่าวด้วยว่าเวทีต่างๆจะได้นำข้อเสนอของรัฐบาลไปพิจารณา และมีข้อแนะนำกลับมายังรัฐบาล ทั้งนี้รัฐบาลตั้งใจไว้ว่า หากทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน กระบวนการปฏิรูปจะเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด รัฐบาลขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคน เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ เพราะเป็นอนาคตของปวงชนชาวไทยทุกคน และรัฐบาลเชื่อว่าหากพี่น้องคนไทยร่วมมือร่วมใจกัน เราจะหาทางแก้ไขวิกฤตทางการเมือง และนำความสงบสันติกลับมาสู่ประเทศชาติของเราทุกคน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net