Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้แปลมาจากบทความเดิมในภาษามลายูชื่อ “BICARA DAMAI di persimpanganjalan” ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกในบล็อกของ Abu Hafez Al-Hakimเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2556

 

กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่เคแอลครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2013 ที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า การริเริ่มที่จะลดเหตุรุนแรงในเดือนรอมฏอนจากทั้งสองฝ่ายนั้นได้ประสบกับความล้มเหลว แถลงการณ์ที่เผยแพร่ผ่านคลิปวีดีโอของบีอาร์เอ็นในครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2013 โดยสมาชิกฝ่ายกองกำลังของบีอาร์เอ็น ที่ได้กล่าวย้ำถึงจุดยืนของสภาชูรอ (สภาที่ปรึกษา) ของบีอาร์เอ็นต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เป็นการสร้างความกระจ่างให้กับการคาดการณ์จากหลายฝ่ายที่ว่า กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพดังกล่าวกำลังประสบกับทางตัน อีกทั้งยังมีข่าวลือที่ว่าท่านฮาซัน ตอยิบ หัวหน้าทีมคณะพูดคุยของบีอาร์เอ็นจะถูกปลดออกและเปลี่ยนเอาคนอื่นรับหน้าที่แทน นอกจากนี้ยังมีบางฝ่ายที่มองว่าทางฝ่ายบีอาร์เอ็นเองกำลังหาจังหวะที่จะปลีกตัวออกจากกระบวนการสันติภาพครั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าบรรดาแกนนำของบีอาร์เอ็นนั้น ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการดำเนินการและทิศทางของกระบวนการสันติภาพดังกล่าวมากนัก

ในช่วงท้ายของเดือนสิงหาคม 2013 ทางฝ่ายไทยก็ได้ร้องขอคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ประการจากฝ่ายบีอาร์เอ็น โดยผ่านทางผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งผลที่ได้ออกมาก็คือเป็นเอกสารจำนวน 24 หน้า (หรือจำนวน 38 หน้า ในรูปแบบของ Power Point) จากฝ่ายบีอาร์เอ็นที่ได้ลงในรายละเอียดของข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นรายข้อ ถึงแม้ฝ่ายไทยได้ใช้เวลาที่นานพอควรในการพิจารณา ถกประเด็น และให้ความเห็นชอบต่อเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐบาลหลายๆ ฝ่าย สุดท้ายคำตอบที่ต่างเฝ้าคอย ก็ได้มาถึงที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ในที่สุด

เป็นที่เข้าใจกันว่าคำตอบที่ได้จากหัวหน้าคณะพูดคุยของฝ่ายไทย พล.ท.ภารดร พัฒนถาบุตร ที่ส่งผ่านผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งลงวันที่ 25 ตุลาคม 2013 ได้ระบุไว้ว่า ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นทั้ง 5 ประการนั้นเป็นที่ยอมรับในหลักการที่จะอภิปรายกันกันในลำดับต่อไป ทั้งนี้ฝ่ายไทยยังได้เพิ่มเติมอีก 2 ประการที่เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพครั้งนี้ ประการแรกคือ เสนอให้ทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกันเพื่อขจัดความคลางแคลงสงสัยและข้อขัดแย้งระหว่างกันในการดำเนินการลดความรุนแรง และประการที่สอง เสนอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันทำงานในด้านการพัฒนา ด้วยการกระจายรายได้ที่มีความเท่าเทียมกันของประชาชนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา

ในช่วงท้ายของเดือนตุลาคม 2013 รายละเอียดของเอกสารดังกล่าว ได้ส่งถึงหัวหน้าคณะการพูดคุยของบีอาร์เอ็นโดยผ่านผู้อำนวยความสะดวก ที่ได้คาดหวังว่าคงจะได้รับคำตอบที่เป็นไปในแง่ "บวก" เพื่อเป็นการปูทางให้กับกระบวนการสันติภาพสามารถดำเนินไปได้ใหม่อีกครั้ง หลังจากที่ต้องหยุดชะงักมาหลายเดือน

เมื่อได้ส่งถึงไปยังบรรดาแกนนำของบีอาร์เอ็นและฝ่ายที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีการถกเถียงและถอดความอย่างละเอียด ปรากฏว่าคำตอบดังกล่าวยังไม่เป็นที่พอใจสำหรับบรรดานักต่อสู้ ในย่อหน้าแรกของหนังสือจากทางฝ่ายไทยได้เขียนไว้ว่า "the five issues are acceptable for further discussion"(ประเด็นทั้ง 5 ข้อนั้นเป็นที่ยอมรับได้ว่าจะมีการอภิปรายกันในลำดับต่อไป) นั่นหมายความว่าภายหลังจากการอภิปรายกันในการประชุมระหว่างทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นทางการแล้ว ประเด็นทั้ง 5 ข้อนั้นสามารถที่จะยอมรับหรือปฏิเสธก็ได้

ในส่วนของบทนำที่เกริ่นไว้ในข้อเรียกร้อง 5 ประการของบีอาร์เอ็นได้ระบุไว้ว่า"A request for the government of Thailand to agree, in principle, to the five demands.." " (การเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเห็นพ้องยอมรับในหลักการตามข้อเรียกร้อง 5 ประการ..)ซึ่งทางฝ่ายขบวนการได้เห็นพ้องต้องกันว่า ทางรัฐบาลไทยควรที่จะยอมรับต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวทั้งหมดไว้ก่อนเป็นการเบื้องต้น จากนั้นจึงคอยถกกันในรายละเอียดในทุกหัวข้อที่ได้ยอมรับไปแล้วนั้นโดยที่จะมีการถกอภิปรายกันในลำดับต่อไป โดยที่ไม่มีการปฏิเสธข้อเรียกร้องประการหนึ่งประการใดจากทั้ง 5 ประการ

การเห็นพ้องยอมรับในหลักการของรัฐบาลไทยต่อข้อเรียกร้องทั้ง 5 ประการดังกล่าวจะต้องนำวาระเข้าสู่รัฐสภาไทยเพื่อทีจะได้รับการพิจารณาเป็นวาระแห่งชาติ ก่อนที่การร่วมกันอภิปรายกันในรายละเอียดเพิ่มเติมจะสามารถดำเนินต่อไปได้ นั่นหมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เห็นพ้องตกลงกันในการพูดคุยต่อไปในอนาคตจะไม่ถูกปฏิเสธโดยรัฐสภาไทยในภายหลัง ด้วยเหตุนี้ การยืนยันหรือรับรองโดยรัฐสภาของไทยต่อข้อเรียกร้อง 5 ประการนั้นถือเป็นการให้การยอมรับและการทำให้ประเด็นเหล่านี้กลายเป็นวาระแห่งชาตินั้นจึงมีนัยยะสำคัญยิ่ง

เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงจุดยืนนี้ ทางบีอาร์เอ็นได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงถึงจุดยืนผ่านทางยูทูบ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2013 ที่ผ่านมา ซึ่งได้เผยแพร่และเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันไปแล้วว่า พวกเขาได้ยึดถือตามมติเดิมของสภาชูรอของบีอาร์เอ็นที่ได้เคยแถลงผ่านทางยูทูบเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2013 ประเด็นที่น่าสนใจต่อการแถลงที่ได้ประกาศโดยท่านฮาซัน ตอยิบเอง เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2013 นั้น ก็คือเขาได้ประกาศตัวอย่างชัดเจนในฐานะที่เป็นอดีตคณะผู้แทนพูดคุยของบีอาร์เอ็น ภายหลังจากที่หลายเดือนก่อนหน้านี้ก็มีข่าวลือสารพัดเกี่ยวกับการเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยของฝ่ายบีอาร์เอ็น ถึงจุดนี้เรื่องดังกล่าวได้กลายเป็นความจริงไปแล้วหรือ? นี่เป็นสัญญาณว่าบีอาร์เอ็นถอนตัวออกจากกระบวนการสันติภาพไปแล้วเช่นนั้นหรือ?

ไม่ว่าพัฒนาการของเหตุการณ์ที่น่าสนใจเหล่านี้จะมีเบื้องหลังความเป็นมาอย่างไรก็ตามก็เป็นเรื่องภายในของบีอาร์เอ็นเอง และแน่นอนว่าจำต้องคลี่คลายโดยอาศัยภูมิปัญญาของบีอาร์เอ็นเองเท่านั้น ส่วนกลุ่มขบวนการอื่นๆ (พูโล และบีไอพีพี) ที่ได้สนับสนุนกระบวนการสันติภาพอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับบีอาร์เอ็นซึ่งมีฐานะตัวแสดงหลักมาโดยตลอด ก็เห็นพ้องในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวหากว่าเป็นไปตามเช่นนั้นจริง

จนถึงขณะนี้ ไม่ว่าผู้คนจะมีจะมุมมองอย่างไร กระบวนการสันติภาพก็ได้หยุดลงเพียงชั่วขณะหนึ่งแต่ทว่าก็ยังคงดำรงอยู่ ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรทางฝ่ายบีอาร์เอ็นเองควรที่จะให้คำตอบแก่ฝ่ายทางการไทยอย่างเป็นทางการถึงจุดยืนของตนเองผ่านผู้อำนวยความสะดวก เพราะนี่ถือเป็นข้อตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่ายที่ว่า ทุกความเห็นและข้อเสนอแนะใดๆ ก็ตามของทั้งสองฝ่าย จะมีผลใช้ได้ก็ต่อเมื่อได้ยื่นอย่างเป็นทางการในที่ประชุมหรือยื่นผ่านทางผู้อำนวยความสะดวกเท่านั้น ส่วนการแถลงใดๆ ผ่านสื่อมวลชน มิสามารถถือได้ว่าเป็นแถลงการณ์ที่เป็นทางการได้ ยิ่งหากแถลงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ด้วยแล้วยิ่งมิพักต้องพูดถึง

สิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องของฝ่ายบีอาร์เอ็นและบรรดานักต่อสู้ ส่วนฝ่ายไทยก็เช่นกันที่ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างยากลำบาก ภายหลังจากหลายเดือนที่ผ่านมาต้องเผชิญกับการดิ้นรนต่อสู้กับพรรคฝ่ายค้านที่พยายามที่จะตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของรัฐบาลที่อยู่ “ใต้เงา” ของทักษิณ และในที่สุดนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ถูกกดดันให้ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2013 สิ่งนี้ถือเป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชนไทยเพื่อให้แสดงความต้องการของพวกเขาในการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดไว้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2014 หรือไม่เกินสองเดือนนับจากวันนี้ 

ในบริบทของกระบวนการสันติภาพ ความเคลื่อนไหวล่าสุดที่กรุงเทพฯ ได้ก่อให้เกิดคำถามต่างๆ มากมายว่า ชะตากรรมของกระบวนการสันติภาพนี้ในอนาคตจะเป็นอย่างไร? การโค่นล้มรัฐบาลที่นำโดยยิ่งลักษณ์ซึ่งเป็นผู้ที่ริเริ่มผลักดันกระบวนการสันติภาพจะมีผลกระทบต่อกระบวนการสันติภาพดังกล่าวนี้หรือไม่? จะต้องยืดเวลายาวนานไปอีกเพียงใดเพื่อที่ให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วเสร็จหลังการเลือกตั้งทั่วไป พร้อมกับที่บรรยากาศในกรุงเทพฯ จะมีเสถียรภาพมากพอ? อะไรจะเกิดขึ้นหากว่ามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่เป็นพรรคการเมืองอื่นที่ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยที่นำโดยยิ่งลักษณ์ กระบวนการสันติภาพจะดำเนินต่อเนื่องไปได้หรือไม่? หรืออะไรจะเกิดขึ้นหากการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดไว้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2014 จะถูกเลื่อนออกไปเป็นวันอื่นอีก?

ดูเหมือนทางฝ่ายบีอาร์เอ็นนั้น มีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับความต่อเนื่องของกระบวนการสันติภาพ หากว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลกรุงเทพฯ ที่ต้องมีความเกี่ยวข้องกันอย่างแน่นอน  ด้วยเหตุนี้หลายต่อหลายครั้งที่ทางฝ่ายบีอาร์เอ็นได้เน้นย้ำอยู่ตลอดว่า การรับรองโดยรัฐสภาไทยต่อข้อเรียกร้องเบื้องต้นทั้ง 5 ประการนั้นจำต้องทำให้กลายเป็นวาระแห่งชาติเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการชะงักลงกลางคันอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล

พอที่จะสรุปได้ว่า ความจริงแล้วกระบวนการสันติภาพปาตานีนั้นยังคงดำรงอยู่ ในวินาทีนี้กระบวนการได้เดินมาอยู่ตรงทางแพร่ง จะหยุดเพียงชั่วขณะเมื่อมีสัญญาณไฟแดง ท่ามความสับสนและสถานการณ์ที่ไม่มีความแน่นอนของทั้งสองฝ่าย (ฝ่ายไทยและฝ่ายขบวนการ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางฝ่ายไทยก็อาจจะต้องอาศัยเวลาที่ไม่น้อยเช่นกัน เพื่อรอให้สัญญาณไฟแดงเปลี่ยนเป็นไฟเขียว เพื่อให้กระบวนการสันติภาพสามารถก้าวต่อไปได้ใหม่อีกครั้ง สำหรับอุปสรรคและความยากลำบากในกระบวนการสันติภาพนั้นถือเป็นเรื่องปกติ และที่จริงแล้วก็เป็นเรื่องที่พอคาดการณ์ได้ ความจริงแล้วสภาพการณ์ดังกล่าวถือเป็นความท้าทายของทั้งสองฝ่ายที่ต้องตกลงปลงใจที่เลือกใช้แนวทางอันสันติเพื่อหาทางออกให้กับวิกฤตครั้งนี้อย่างชาญฉลาดและประสบความสำเร็จ

ถึงแม้ว่าการพูดคุยในแทร็ค 1 (ระดับบน) จะหยุดชะงักเพียงชั่วขณะ แต่สำหรับนักกิจกรรมเพื่อสังคม บรรดาองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรประชาสังคมซีเอสโอควรต้องใช้ความพยายามของพวกเขาเป็นสองเท่าเพื่อทำความเข้าใจและแสวงหาแรงสนับสนุนจากประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในฐานะที่เป็น“safety net” (ตาข่ายนิรภัย) เพื่อป้องกันมิให้กระบวนการเหล่านี้ต้องล่มสลายในที่สุด การสนับสนุนและความต้องการที่ทรงพลังจากประชาชนทั่วไปที่ต้องการเห็นกระบวนการสันติภาพนี้ประสบกับความสำเร็จสามารถที่จะ "บังคับ " คู่ขัดแย้งทั้งสองให้หวนกลับมาสู่โต๊ะเจรจาใหม่ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม หากว่าสิ่งนี้เกิดขึ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(Stake-holder) ที่มีความกระตือรือร้นจะสามารถกำหนดทิศทางที่แน่นอนของกระบวนการสันติภาพครั้งนี้ เพื่อที่ว่าพวกเขาจะสามารถสัมผัสถึงผลลัพธ์ของกระบวนการดังกล่าว พวกเขามิควรที่จะปล่อยให้การกำหนดชะตากรรมของพวกเขาตกอยู่ในมือของรัฐบาลไทยหรือฝ่ายขบวนการ หรือแม้กระทั่งฝ่ายผู้อำนวยความสะดวกอย่างมาเลเซียเท่านั้น

 

น้ำส้มสายชูและน้ำผึ้ง –จากนอกรั้วปาตานี

ซอฟัร 1435  / ธันวาคม 2013

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net