กบฏกับการเปลี่ยนผ่านจากยุคจารีตสู่สมัยใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

อันเนื่องมาจากงานเสวนาวิชาการหัวข้อ “กบฏ : นับหนึ่งจากรัฐจารีตถึงสิบในรัฐสมัยใหม่” ซึ่งผู้เขียนได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำเสนอเรื่อง “กบฏไพร่-ผู้ดี ในสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงธนบุรี” เมื่อวันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2556  จัดโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้วยเห็นว่า ประเด็นแรกเริ่มเกริ่นนำเพื่อเปิดไปสู่หัวเรื่องหลักว่าด้วย กบฏ ปราบดาภิเษก และสังคมการเมืองไทยในคริสต์ศตวรรษที่ 18 นั้น  เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคมร่วมสมัย  น่าจะอภิปรายแลกเปลี่ยนกันได้ต่อไป  จึงขออนุญาตนำมาเสนอเพิ่มเติมไว้ในที่นี้ด้วย 

เกี่ยวกับนิยาม ความหมาย ขอบข่าย ของ “กบฏ” ในมิติเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม 

ดังที่ทราบกันว่า ข้อหากบฏถูกใช้ในสนามทางการเมืองปัจจุบัน  อย่างมีนัยสำคัญอันจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงนิยามความหมายของ “กบฏ” ในสังคมไทยต่อไปได้  เมื่อผู้ประท้วงรัฐบาลนำกำลังบุกยึดสถานที่ราชการ  ก็มีการตั้งข้อหาจากฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม (คนเสื้อแดง)  ต่อกลุ่มผู้ประท้วงว่า “กบฏ” ขณะที่ฝ่ายผู้ประท้วงโดยการนำของคุณสุเทพและกปปส. ก็ตอบโต้ ศอ.รส. และฝ่ายรัฐบาล  ด้วยข้อหาว่าเป็น “กบฏ” เช่นกัน  ปรากฏการณ์นี้มองเผินๆ นับว่าเป็นเรื่องประหลาด  เพราะเราจะเห็นจากประวัติศาสตร์ฉบับทางการ  “กบฏ” หรือ “ขบถ” ก็เพียงในแง่ข้อหาจากฝ่ายรัฐบาลเสียส่วนใหญ่  

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่แนวคิด เป้าหมาย ตลอดจนลักษณะปฏิบัติการของ “กบฏสุเทพ” ก็มีบางประเด็นที่หลายคนคงหวั่นเกรงว่าจะทำให้เกิดการมองกบฏในประวัติศาสตร์แง่ลบตามไปด้วย  หากนำเอากบฏสุเทพนี้ไปใช้เป็นมาตรฐานมองกบฏในอดีต  เพราะเหตุการณ์ในปัจจุบันมักมีอิทธิพลต่อการมองย้อนอดีตของคนในสังคม  ซึ่งจริงๆ กบฏสุเทพ ถ้าจะให้เทียบเคียง แนวคิด เป้าหมาย ตลอดจนลักษณะปฏิบัติการแล้ว  ก็จะสามารถเทียบเคียงได้กับ “กบฏบวรเดช” พ.ศ.2476 และ “ขบวนการฝ่ายขวา” ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  เห็นจะพอได้  แต่จะไม่สามารถนำไปเทียบเป็นแบบเดียวกับกบฏอื่นๆ เช่น กบฏไพร่สมัยอยุธยา, กบฏผู้มีบุญสมัยรัตนโกสินทร์, คณะราษฎร พ.ศ.2475, ขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หรือแม้แต่กลุ่มผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้น    

ปัญหาจึงตกอยู่กับนักวิชาการทางประวัติศาสตร์  ว่าจะมีหลักเกณฑ์อย่างไรในการพิจารณา  จำแนกแยกแยะให้เห็นประเด็นข้อแตกต่างที่แน่ชัด  ในเมื่อในอดีตนั้นการกบฏถือเป็นทางออกอย่างหนึ่งของสังคม  เมื่อมีความอยุติธรรมเกิดขึ้นจากการปกครอง  เพื่อแก้ไขการปกครองที่ไม่เป็นธรรมให้เกิดความเป็นธรรม  หรือเพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบจากการปกครองไม่เป็นธรรม  แต่กรณีที่การกบฏไม่เพียงเป็นผลิตซ้ำความอยุติธรรม  หากยังถือเป็นการเรียกร้องในสิ่งซึ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางสังคมขึ้นขนานใหญ่นั้น  เราควรจะมีมุมมองอย่างไรต่อปรากฏการณ์ในลักษณะนี้ ด้วยความหวังสูงสุดที่จะข้ามพ้นการเมืองมวลชนที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเป็นธรรมทั้งหลาย 

ประการแรก ต้องเข้าใจในเบื้องต้นก่อนด้วยว่า คำว่า “กบฏ” ก็เหมือนศัพท์แสงอื่นๆ ที่เมื่อถูกนำมาใช้ในสนามทางการเมือง  ก็มีโอกาสถูกบิดผันความหมายให้ผิดเพี้ยนไปจากความหมายดั้งเดิม  เมื่อเราจะทำความเข้าใจขอบข่ายความหมายว่าเป็นอย่างไร  เราต้องพิจารณาก่อนว่าใครเป็นผู้ให้ความหมายดังกล่าว  ด้วยภาวะเงื่อนไขอย่างไร  เช่น เป็นความหมายจากฝั่งรัฐบาล ที่ต้องปราบปรามผู้ประท้วงเพื่อนำสังคมกลับสู่ภาวะปกติ หรือจากฝั่งผู้ประท้วง ที่ต้องก่อกระแสสร้างข้อต่อรองกับรัฐบาลและสังคม  พูดง่ายๆ คือ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นมุมมองของใครนั่นเอง 

เหตุดังนั้น เมื่อเราจะพิจารณาในลำดับถัดไป  จึงมีสองทางเลือกในการมองเกิดขึ้น คือ การเลือกมองจากฝั่งใดฝั่งหนึ่ง กับ การมองจากทั้งสองฝั่ง  แต่ความเป็นกลางหรือภาวะวิสัยในการมอง  ก็อย่างที่ทราบกันในหมู่นักวิเคราะห์ทางสังคมศาสตร์  ว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจกระทำได้ในทางเป็นจริง  และเอาเข้าจริงการอ้างความเป็นกลาง  อาจเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดูดี  เมื่อมีการเลือกข้างฝ่ายผู้ก่อความไม่เป็นธรรม  หรือได้เปรียบในสังคมชนชั้นอยู่ก่อนแล้ว  จึงมีการเสนออีกวิธีหนึ่ง คือ การมองจากจุดของผู้ถูกกระทำหรือได้รับความไม่เป็นธรรม วิธีนี้นอกจากจะเป็นวิธีที่ก่อให้เกิดการมองที่เป็นธรรมขึ้นแล้ว  ยังถือเป็นวิธีที่จะช่วยผลักดันการต่อสู้คัดค้านความไม่เป็นธรรมไปด้วยในตัว 

ประการที่สอง ลำพังแค่เลือกมองจากจุดใดจุดหนึ่งคงไม่เพียงพอที่จะนิยาม “ความเป็นกบฏ” ยังจำเป็นต้องพิจารณาประเด็นเรื่องของ “สิทธิธรรม” (Legitimacy) ในขณะที่มีการก่อการอยู่นั้นว่าเป็นอย่างไร  ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับสภาพทางสังคมวัฒนธรรมของยุคสมัย  ที่จะไปกำหนดให้เกิดการยอมรับร่วมกันของคนโดยทั่วไป เป็นหลักการกว้างๆ ที่อาจจับต้องไม่ได้  แต่มีบางสิ่งที่รองรับให้รับรู้ได้ถึงการมีอยู่ของมัน  ถ้าจะให้เปรียบเทียบง่ายๆ ว่าเกี่ยวกับบทบาทประเด็นสิทธิธรรม  ก็จะเหมือนแรงโน้มถ่วงของโลก  ที่เราอาจไม่ได้รู้สึกถึงการมีอยู่ของมัน  แต่การมีอยู่ของมันก็มีผลต่อเราถึงขั้นเป็นเงื่อนไขการมีชีวิตและขีดจำกัดในการกระทำต่างๆ รอบตัวเรา 

“สิทธิธรรม” หรือ “ความชอบธรรม” หรือ “สิทธิอันถูกต้องโดยธรรม” แสดงออกผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ ตัวบทกฎหมาย ระเบียบประเพณี วิถีความเชื่อ โลกทัศน์ในระดับต่างๆ  มุมมองต่ออดีตและอนาคต ฯลฯ  ของคนในแต่ละยุคสมัย 

ในยุคจารีตของไทยสยาม ตามกฎหมายตราสามดวง (พระอัยการกระบถศึก) กำหนดความหมายของ “กระบถ” บ่งชี้ให้หมายถึงผู้ประทุษร้ายต่อพระเจ้าแผ่นดินเป็นการเฉพาะ  แต่ในรัฐสมัยใหม่ที่อำนาจอธิปไตยมิได้อยู่ที่พระมหากษัตริย์ “กบฏ” หมายถึง ผู้ล้มล้างระบอบการปกครอง ฉีกรัฐธรรมนูญ (เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องยืนยันความเป็นองค์อธิปัตย์ของประชาชนในทางการเมืองการปกครอง) 

จะเห็นได้ว่า “กบฏ” ในความหมายของฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดช สนธิ ลิ้มฯ กับพันธมิตรเสื้อเหลือง จนถึง กปปส.ของพรรคประชาธิปัตย์  มีข้อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ข้างต้นได้ว่า  เป็นการใช้มาตรฐานการให้ความหมายแบบ “กระบถ” ในยุคจารีต  ขณะที่มาตรฐานของฝ่ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น  เป็นการมองตามนิยามของรัฐสมัยใหม่ 

สุดท้าย ไม่ว่าจะเลือกมองไปทางไหน สิ่งแรกที่อยากจะขอความกรุณาให้ช่วยพิจารณากัน ก็คือว่า เราอยู่ในยุคสมัยใด และหรือ อยากได้สังคมชนิดไหน ที่เราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างภาคภูมิ สันติ และเสมอหน้าในโลกใบนี้

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท