Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แกนนำของกปปส.ยังไม่เสนอแนวทางปฎิรูปเศรษฐกิจแม้ว่าแนวร่วมหลายคนประณามว่าระบบเศรษฐกิจปัจจุบันคือทุนนิยมสามานย์    เนื่องจากแนวคิดและวิธีการแย่งชิงอำนาจของกปปส.คล้ายคลึงกับแนวทางของฟาสซิสต์อิตาลีมากกว่าฟาสซิสต์เยอรมันและฟาสซิสต์ญี่ปุ่น    จึงน่าศึกษาว่ารัฐบาลฟาสซิสต์อิตาลีภายใต้เผด็จการมุสโสลินีปฎิรูปเศรษฐกิจอิตาลีอย่างไร

มุสโลลินีเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรอิตาลีนานถึง 21 ปีตั้งแต่ 10 ปีก่อนการอภิวัฒน์สยามพศ.2475 จนถึง 11 ปีหลังการอภิวัฒน์สยาม   เศรษฐกิจอิตาลีโดนปฎิรูปให้ต่างจากทุนนิยมในสหรัฐอเมริกาและสังคมนิยมในสหภาพโซเวียตเพื่อสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ชาตินิยมเป้าหมายการปฎิรูปคือการสร้างระบบเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งผลิตเพื่อบริโภคโดยไม่พึ่งพาต่างประเทศ  ลักษณะเด่นของเศรษฐกิจพอเพียงยุคมุสโสลินีคือการจัดตั้งสมาคมวิชาชีพในแต่ละภาคการผลิต   ในทางทฤษฎีสมาคมวิชาชีพทำหน้าที่ร่วมกำหนดนโยบายรัฐ   แต่ในทางปฎิบัติไม่ชัดเจนว่าสมาคมวิชาชีพมีอิทธิพลกำหนดนโยบายยุคมุสโสลินีแค่ไหน   

นโยบายที่ดิน
รัฐบาลมุสโสลินีขยายพื้นที่การเกษตรโดยการปล่อยน้ำออกจากพื้นที่ชุ่มน้ำและป่าชายเลนแล้วบังคับให้เจ้าของที่ดินแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินกับเกษตรกรไร้ที่ดินผ่านสมาคมเจ้าของที่ดินเนื่องจากเป้าหมายปฎิรูปที่ดินคือการเพิ่มผลผลิตให้พอเพียงสำหรับบริโภคภายในประเทศ   นอกจากปฎิรุปที่ดินแล้วรัฐบาลก็รับประกันราคาสินค้าเกษตรที่ต้องการเพิ่มผลผลิตด้วย

นโยบายแรงงาน
รัฐบาลมุสโสลินีออกกฎหมายบังคับให้แต่ละอุตสาหกรรมมีสหภาพพนักงานได้สหภาพเดียวและกลุ่มนายจ้างกลุ่มเดียวในแต่ละอุตสาหกรรม    สหภาพพนักงานและกลุ่มนายจ้างต่อรองกันโดยมีรัฐบาลเป็นผู้กำหนดกติกา   กติกาที่สำคัญคือกฎหมายห้ามสหภาพพนักงานนัดประท้วงหยุดงานและห้ามนายจ้างหยุดจ้างงานชั่วคราวเพื่อต่อรองกับสหภาพพนักงาน    กฎหมายนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างเสถียรภาพการผลิต     ในทางปฎิบัติกฎหมายนี้เอื้อประโยชน์ให้นายจ้างมากกว่าพนักงาน  เพราะเมื่อพนักงานประท้วงไม่ได้นายจ้างก็ไม่จำเป็นต้องหยุดจ้างงานชั่วคราวเพื่อต่อรองกับพนักงาน 

นโยบายทุน
แบงค์ชาติอิตาลีอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลมุสโสลินี     หลังมุสโสลินีเป็นนายกฯเพียงปีเดียว   แบงค์ชาติอิตาลีอัดฉีดเงินทุนให้บริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่สุดและสถาบันการเงินเจ้าหนี้ของบริษัทนั้นด้วย10ปีผ่านไปเกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก   เกิดปัญหาหนี้เสียจนเกิดวิกฤตการเงิน   รัฐบาลมุสโสลินีจัดตั้งสถาบันฟื้นฟูอุตสาหกรรมเพื่อเข้าไปถือหุ้นวาณิชธนกิจขนาดใหญ่หลายแห่งที่เกิดวิกฤต   ทำให้รัฐบาลกลายเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำนวนมากที่วาณิชธนกิจเหล่านั้นถือหุ้น   ตั้งแต่นั้นมารัฐบาลใช้สถาบันฟื้นฟูฯเป็นเครื่องมือแทรกแซงภาคเอกชนในทุกอุตสาหกรรมด้วยการถือหุ้นใหญ่ในบริษัทที่ได้กำไรและไม่ได้อยู่ในสภาวะใกล้ล้มละลาย   สถาบันฟื้นฟูฯทำให้ข้าราชการมีอิทธิพลต่อภาคเอกชนและเปิดโอกาสให้ข้าราชการและนักธุรกิจเอื้อประโยชน์ให้กันอย่างไม่โปร่งใสบริษัทที่สถาบันฟื้นฟูฯเข้าไปถือหุ้นนั้นมีตั้งแต่บริษัทจำกัดนอกตลาดหุ้นและบริษัทมหาชนในตลาดหุ้น    (อิตาลีมีตลาดหุ้นตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)สถาบันฟื้นฟูฯมีอายุยืนยาวถึง 70 ปีและเพิ่งโดนยุบไปหลังจากที่อิตาลีหันมาใช้เงินยูโรแทนเงินลิราเมื่อ 10 กว่าปีนี้เอง 

นโยบายการค้าและการเงินระหว่างประเทศ
รัฐบาลมุสโสลินีส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงโดยกีดกันสินค้าต่างชาติด้วยอากรนำเข้า    ส่วนด้านโนบายการเงินระหว่างประเทศมุสโสลินีบังคับให้แบงค์ชาติอิตาลีใช้นโยบายแข็งค่าเงินลิรา    เพราะมุสโสลินีเชื่อว่าการอ่อนค่าของเงินลิราแสดงถึงความอ่อนแอของประเทศการแข็งค่าของเงินลิราทำให้สินค้าอุตสาหกรรมจากอิตาลีตีตลาดโลกไม่ได้และทำให้ภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถขยายฐานการจ้างงาน    แม้ว่าอิตาลียุคมุสโสลินีผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอย่างเรือรบและรถยนต์ได้   แต่ฐานการจ้างงานในยุคนั้นยังอยู่ในภาคเกษตรกรรม   สุดท้ายภาวะเงินเฟ้อทำให้เงินลิราอ่อนค่าลง

การประชาสัมพันธ์นโยบาย
โดยเนื้อแท้ระบบเศรษฐกิจพอเพียงยุคมุสโสลินีคือระบบทุนนิยมที่จำกัดการแข่งขันทั้งในประเทศและนอกประเทศรัฐบาลมุสโสลินีมีเทคนิคด้านการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเชื่อว่านโยบายรัฐบาลเป็นนโยบายที่ดี   อาทิ
ก) นำหน้าชื่อโครงการต่างๆด้วยคำว่า”ศึก”เพื่อกระตุ้นอุดมการณ์ชาตินิยม  เช่น “ศึกธัญพืช”คือโครงการเพิ่มผลผลิตธัญพืช“ศึกที่ดิน”คือโครงการขยายพื้นที่ทำการเกษตร
ข) มุสโสลินีทำพิธีเข้านับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกทั้งๆที่ตอนก่อนเป็นนายกฯเขาเป็นนักสังคมนิยมและไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีจริงทำให้เขาได้รับความไว้วางใจจากคนอนุรักษ์นิยม
ค) มุสโสลินีออกกฎหมายกำหนดให้ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกเป็นศาสนาประจำชาติ    และตั้งตนเป็นผู้อุปถัมภ์ศาสนาประจำชาติ   
ง) พระสันตปาปาและหนังสือพิมพ์นครรัฐวาติกันยกย่องมุสโสลินีอย่างเปิดเผย

จุดจบของฟาสซิสต์อิตาลี
นโยบายรับประกันราคาสินค้าเกษตรและการแทรกแซงภาคอุตสาหกรรมด้วยเงินจากแบงค์ชาติอิตาลีทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ การแทรกแซงภาคเอกชนโดยสถาบันฟื้นฟูฯไม่ได้ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม   ทำให้แรงงานส่วนใหญ่ติดอยู่ในภาคเกษตรนอกจากนี้เกษตรกรที่ผลผลิตไม่ได้รับประกันราคาต้องแบกภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นประกอบกับความขัดแย้งทางการเมืองท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่ 2   ทำให้อิตาลีเกิดสงครามกลางเมืองและมุสโสลินีโดนสังหารในที่สุด    หลังมุสโสลินีเสียชีวิตเพียงปีเดียวประชาชนอิตาลีลงประชามติเปลี่ยนอิตาลีจากราชอาณาจักรเป็นสาธารณรัฐ   

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net