Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


เห็นได้ชัดว่าการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้งในประเทศไทยมักเกิดความรุนแรง แน่นอน ทั่วโลกเวลาชุมนุมกันแบบนี้ก็มักจะเกิดเหตุรุนแรงด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงจากฝ่ายรัฐผู้เข้าปราบปราม หรือจากผู้ชุมนุมเองซึ่งปลุกปั่นยุยงกันและกันให้เกิดความเกลียดชังต่อรัฐ ปัญหาคือ “ทำไมทุกฝ่ายปล่อยให้มีคนตายและบาดเจ็บ” ซึ่งเหตุการณ์ในประเทศไทยสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอและเสื่อมทรุดทางศีลธรรม นั่นคือ ประเทศไทยหมดความชอบธรรมที่จะอ้างสิทธิแห่งความเป็นเมืองพุทธศาสนาใช่หรือไม่? ในเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ปล่อยให้มีคนตายและบาดเจ็บอย่างหน้าตาเฉยโดยไม่ลุกขึ้นมาพูดหรือทำอะไรสักอย่าง เพราะที่ควรเป็นคือคนจำนวนมากในฐานะเจ้าของสิทธิ์อย่างแท้จริงและเป็นเจ้าของพื้นที่ด้วย น่าจะออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับทั้งรัฐบาลและผู้ชุมนุมที่มัวแต่โยนความผิดให้แก่กันแล้วปล่อยให้มีจำนวนผู้บาดเจ็บและล้มตายเพิ่มขึ้นไม่ใช่หรือ แต่กลายเป็นว่า คนส่วนใหญ่ที่อยู่รอบๆพื้นที่ชุมนุมกลับปล่อยให้ความรุนแรงเป็นเรื่องไกลตัวและเลือกที่จะหลับหูหลับตาเป็นศาสนิกชนที่ดีต่อไป จึงมีข้อสังเกตดังนี้

1. ปัญหาเกี่ยวกับการตัดสินใจและมนุษยธรรม

เมื่อมีผู้บาดเจ็บล้มตายเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง รัฐหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรับผิดชอบต่อความผิดในฐานที่ไม่ควบคุมสถานการณ์ ไม่ใช่รัฐผิดในฐานที่ไม่ยอมรับข้อเรียกร้องจนมีคนตาย หมายถึง รัฐต้องแบกรับความเสี่ยงว่าจะต้องใช้วิธีใดจึงควบคุมสถานการณ์ได้ เช่นโจทย์คลาสสิกอย่างโจรกลุ่มหนึ่งเมายาบ้าแล้วเข้าปล้นธนาคารพร้อมจับตัวประกันไว้เป็นจำนวนมาก โจรขู่ว่าถ้าตำรวจพยายามบุกเข้ามาจะระเบิดฆ่าตัวตายพร้อมกับตัวประกันเหล่านั้น ต่อมาโจรยื่นข้อเสนอให้ตำรวจ เช่น ขอเส้นทางหลบหนีพร้อมเงิน แต่ตำรวจเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ไม่อาจเจรจาได้ โจรจึงกดดันตำรวจด้วยการยิงตัวประกันทิ้งต่อหน้าทีละคนทุกหนึ่งชั่วโมง โจทย์คือตำรวจต้องทำอย่างไรเพื่อรักษาชีวิตตัวประกันไว้? ที่น่าสนใจคือ ถ้าโจรคนหนึ่งเห็นว่าตนเป็นเหตุให้มีการตายเกิดขึ้นและต้องการมอบตัวก็ไม่ได้แปลว่าโจรเลือกข้าง แต่อาจแปลว่ามีสำนึกทางมนุษยธรรม ขณะเดียวกันถ้าตำรวจนายหนึ่งพยายามหาข้อเสนอที่ดูเหมือนเอาใจโจรก็ไม่ได้แปลว่าเลือกข้างแต่อาจแปลว่ามีสำนึกทางมนุษยธรรม (ที่ใช้คำว่า “อาจ” เพราะในความเป็นจริงอาจซับซ้อนกว่านั้นก็ได้) แต่สำนึกทางมนุษยธรรมต้องควบคู่กับการบริหารจัดการที่ดีด้วย เช่น ถ้าตำรวจเลือกที่จะรักษาชีวิตตัวประกันโดยให้ในสิ่งที่โจรต้องการทุกอย่าง จะกลายเป็นว่า โจรกลุ่มอื่นย่อมใช้วิธีเดียวกันนี้เพื่อเรียกร้องสิ่งที่ตนเองต้องการเช่นกันในอนาคต ดังนั้น โจทย์แบบนี้จึงตัดสินใจลำบากและไม่ใช่ทุกครั้งที่ตัดสินใจถูกต้อง จุดนี้เราควรเห็นอกเห็นใจผู้ตัดสินใจด้วย ที่สำคัญถ้าเราคิดว่าเรามีวิธีที่ดีกว่าก็ควรจะเสนอเพื่อนำไปใช้ในสถานการณ์จริงเสียเลย ไม่ใช่สักแต่พูดเมื่อเหตุการณ์จบไปแล้ว

ลองกลับมาดูความเห็นของผู้สันทัดกรณีที่อยู่บริเวณโดยรอบเหตุการณ์นี้ดูบ้าง แน่นอนย่อมมีคนที่เห็นว่า ตำรวจควรเสี่ยงเข้าไปช่วยชีวิตตัวประกันโดยให้หน่วยจู่โจมบุกเข้าโจมตีและฆ่าโจรพวกนั้นเสีย ขณะที่อีกส่วนหนึ่งย่อมเห็นว่า ตำรวจควรให้ในสิ่งที่โจรต้องการเพื่อให้ตัวประกันรอดก่อน สมมติเราเพิ่มรายละเอียดว่าโจรที่จับตัวประกันนั้นไม่ใช่คนไทย ทุกคนอาจตะโกนเป็นเสียงเดียวกันว่าให้วิสามัญฆาตกรรมเลยก็เป็นได้ ทำนองเดียวกัน ถ้าโจรที่จับตัวประกันนั้นเป็นคนที่เราคิดว่าเป็นคนดีมากๆล่ะ เราจะยังสนับสนุนให้วิสามัญฆาตกรรมอยู่หรือไม่? และถ้าเราเห็นว่าโจรสมควรถูกวิสามัญฆาตกรรมให้สมกับโทษานุโทษแล้วมนุษยธรรมของเราจะอยู่ตรงไหน? มากไปกว่านั้น เราคิดเห็นอย่างไรกับหลายประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว? และการสอบสวนตัวเองด้วยโจทย์ที่น่าสนใจเหล่านี้เอง ที่สะท้อนให้เห็นการตัดสินใจทางจริยศาสตร์ซึ่งบ่งบอกตัวตนของความเป็นเราและ เรารับตัวเราเองได้หรือไม่ที่เราเห็นด้วยหรือมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการทำร้ายเบียดเบียนชีวิต สมมติว่าเรารับไม่ได้กับการทำร้ายเบียดเบียนชีวิตทุกกรณี เราทำอะไรไปแล้วบ้าง?

2. การมีส่วนร่วมในความเป็นหรือความตายของผู้คน

บางอาชีพของรัฐย่อมมีส่วนในความเป็นความตายของผู้คนอยู่แล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นต้น การตัดสินใจของตำรวจในตัวอย่างข้างต้น ซึ่งการตัดสินใจที่ผิดพลาดหลายๆครั้งก็ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ เช่น ตำรวจควรตัดสินใจสลายการชุมนุมเพื่อยุติจำนวนผู้เสียชีวิตและได้รับผลกระทบไว้เพียงเท่านี้ ในขณะเดียวกันบางครั้งตำรวจก็ไม่ควรตัดสินใจเช่นนั้น ปัญหาคือตำรวจถูกออกแบบให้ควบคุมความปกติสุขของรัฐ มีหน้าที่ดูแลให้เกิดเสถียรภาพและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ ดังนั้น ขั้นตอนในการสลายการชุมนุมของตำรวจจึงเป็นสิ่งที่ตำรวจต้องทำอยู่แล้วโดยหน้าที่ ซึ่งความบาดเจ็บแต่ไม่ถึงขั้นตายจากแก๊สน้ำตาหรือกระสุนยางเป็นสิ่งที่ตำรวจหวังผลให้เกิด ดังนั้น ไม่ใช่ว่าตำรวจทำร้ายประชาชนในประเด็นนี้ แต่เป็นว่าประชาชนเดินเข้าสู่ภาวะที่ยั่วยุให้ตำรวจทำร้ายได้อย่างชอบด้วยกฎหมาย กลับกันถ้าประชาชนมีอาวุธหนักเสียเอง บ่อยครั้งตำรวจจะกลายเป็นผู้สูญเสียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สิ่งที่ผู้ชุมนุมต้องตระหนักคือการออกมาเรียกร้องอย่างยืดเยื้อนั่นหมายถึงคุณกำลังมีส่วนร่วมในความเป็นหรือความตายของผู้คน เช่น ถ้อยคำที่คุณพูดปลุกใจกัน ข่าวลือที่เกิดขึ้นในที่ชุมนุม นั่นสะท้อนให้เห็นถึงการร่วมผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในเหตุการณ์ต่างๆ เช่น หากคุณพูดว่าคุณชุมนุมโดยสงบ แต่ทำไมยังมีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งหรือผู้ที่สนับสนุนการชุมนุมยังใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ปลุกเร้าความโกรธเกลียด รวมกับสนุกปาก ซึ่งนำไปสู่การทุบตีทำร้ายสื่อมวลชน ต้องรู้ว่าการชุมนุมทางการเมืองที่นำไปสู่ความป่าเถื่อนนั้น ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นและไม่ใช่ความผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความเป็นหรือความตายของผู้คนต่างหาก เพราะคุณทำอะไรจนปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนั้นได้อย่างไร? เพราะมันสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนประสบการณ์ของแกนนำในการควบคุมมวลชนให้เป็นไปในทิศทางที่ตนเองต้องการ  และกลับมาที่คำถามว่า เรารับได้หรือไม่ที่ตนเองมีส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้เกิดสถานการณ์รุนแรง ไม่ใช่ในฐานะผู้กระทำความรุนแรง แต่ในฐานะปัจจัยที่ส่งต่อให้เกิดความรุนแรง เช่น การควบคุมอารมณ์ของตนเองไม่ได้ ซึ่งการโยนความรับผิดชอบในฝ่ายรัฐอย่างเดียวนั้นไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไป ตราบใดที่เห็นได้ชัดว่ามีอะไรที่มากไปกว่าการชุมนุมโดยสงบ

3. ชนชั้นกลางผู้ชุมนุมที่ปิดปากเงียบ

นอกจากผลิตตรรกะวิบัติอย่างซ้ำๆ เช่น โจมตีบุคคลอื่น สรุปแบบเหมารวมแล้ว ชนชั้นกลางผู้เห็นด้วยกับตา ฟังอยู่กับหูว่าแกนนำใช้คำผรุสวาท เสียดสี ผลิตซ้ำความเกลียดชัง ยุยงให้เกิดอารมณ์ร่วม ก็ยังปิดปากเงียบ ไม่ออกมาแสดงพลังในฐานะผู้มีสิทธิ์มีเสียงในการชุมนุม เป็นที่น่าสงสัยว่า ทำไมชนชั้นกลางผู้ชุมนุมไม่ออกมาคัดค้าน หรือทำไมไม่รวมตัวกันคัดค้าน พฤติกรรมที่ขัดต่อวิธีการชุมนุมโดยสงบ หรือชนชั้นกลางที่คิดว่าตัวเองกล้าออกมาแสดงออกการเมืองกลับกลัวการ์ดของแกนนำเสียเอง กลายเป็นว่าชนชั้นกลางผู้ชุมนุมที่ถือว่าตนเป็นอารยะ เริ่มกลัวความเถื่อนถ่อยแบบกฎหมู่ของพวกเดียวกันแทนที่จะกลัวกฎหมายของตำรวจ หรือถือไปเองว่าตำรวจหมดความชอบธรรมไปแล้วตามที่แกนนำได้ยุยง เป็นที่น่าสงสัยว่า ชนชั้นกลางเหล่านั้นเหตุใดยังเห็นดีเห็นงามกับพฤติกรรมเหล่านั้นได้ ทั้งที่ ชนชั้นกลางเหล่านั้นมีสิทธิมีเสียงโดยตัวเองที่จะยึดอำนาจคืนมาจากแกนนำ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านทุนหรือความรู้ความสามารถ

มากไปกว่านั้น ชนชั้นกลางผู้ชุมนุมยังมีศักยภาพพอที่จะตั้งต้นยุทธศาสตร์แห่งการปฏิรูปเสียเอง โดยทำการรวบรวมความคิดเห็นในระดับกลุ่มย่อยและนำไปรวมในระดับที่ใหญ่ขึ้นโดยมีเวทีการชุมนุมเป็นศูนย์กลาง โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยนักพูด นักปราศรัย หรืออดีตนักการเมืองเลย (ในเมื่อจะใช้สิทธิของตนเองแล้วก็ไม่เห็นต้องมีตัวแทน) ทำไมชนชั้นกลางผู้ชุมนุมไม่กล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์พวกเดียวกันเองอย่างออกหน้าออกตา เพื่อแนะนำและชี้ทิศทางให้การเคลื่อนไหวมีแนวโน้มประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น ไม่ใช่ยิ่งหมดความชอบธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ หรือชนชั้นกลางผู้ชุมนุมเห็นดีเห็นงามกับผรุสวาท การด่อทออันหยาบคาย การเปรียบคนเป็นสัตว์อย่างซ้ำๆ  การเสียดสีประชดประชันที่ไร้ความหมาย ซึ่งการไม่ปฏิเสธและปิดปากเงียบย่อมเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการเพิกเฉยต่อชีวิตและทรัพย์สิน กลายเป็นว่าเวลาฝ่ายอื่นถูกทำร้ายจนบาดเจ็บหรือล้มตาย ชนชั้นกลางผู้ชุมนุมเหล่านั้นไม่ออกมารับผิดชอบหรือพูดอะไรเลย

4. ชนชั้นกลางผู้ได้รับผลกระทบแต่เพิกเฉย

การชุมนุมยืดเยื้อย่อมทำให้เกิดผลกระทบในหลายระดับ เช่น ระดับของเศรษฐกิจมหภาค หรือ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน อย่างไรก็ดี สภาพคล่องของเศรษฐกิจประจำวันนั้นสำคัญกว่า ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า การจราจรที่ติดขัดหรือการที่ร้านรวงไม่สามารถค้าขายได้ตามปกติเป็นผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และผลกระทบได้ส่งไปถึงชนชั้นล่างอย่างรุนแรงจนหลายคนต้องลาออกหรือลางานแล้วกลับไปทำเกษตรกรรมที่บ้านเกิด

แต่น่าแปลกที่ชนชั้นกลางบริเวณโดยรอบพื้นที่ชุมนุมได้รับผลกระทบมากมาย แต่กลายเป็นว่าชนชั้นกลางเหล่านั้นเลือกที่จะอดทนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและปล่อยให้เกิดขึ้นต่อๆไป ไม่ว่าจะมีคนเจ็บหรือคนตายก็ตาม น่าสนใจที่ชนชั้นกลางเหล่านั้นปล่อยให้ถนนแถวบ้านของตนเปื้อนเลือดจากการปะทะ หรือเป็นการบอกเป็นนัยว่าพวกเขาเห็นด้วยกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น การที่ชนชั้นกลางส่วนใหญ่เหล่านี้รอดูท่าทีอยู่ทำให้ฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้ชุมนุมเองสรุปได้ยากว่าเสียงส่วนใหญ่คิดว่าอย่างไร จนที่สุดก็กลายเป็นสมอ้างและคิดไปเอง ที่แน่ๆ ชนชั้นกลางเหล่านี้ปฏิเสธความรับผิดชอบทางมนุษยธรรมไม่ได้ในฐานะที่ไม่ทำอะไรเลย นั่นคือ ใครจะเป็นใครจะตายก็ตายไป ตราบใดที่ยังไม่ใช่ตัวเอง

หรือชนชั้นกลางไม่รู้วิธีแสดงออกเพื่อรักษาสิทธิของตน นั่นเองเป็นเหตุให้รัฐหรือหน่วยงานที่เป็นมีภาพพจน์เป็นกลางกว่ารัฐ จัดกิจกรรมเพื่อให้ชนชั้นกลางเหล่านี้ร่วมใช้สิทธิเสรีภาพของตนในฐานะประชากรส่วนใหญ่ของสังคม เป็นต้น  การมองหาผู้ได้รับผลกระทบจากการปิดถนนหรือย่านการค้าและให้แสดงความคิดเห็นว่าคิดอย่างไรกันแน่? นั่นคือ คุณยอมให้ผู้ชุมนุมล่วงล้ำเข้ามาในพื้นที่นี้และอนุญาตให้ทำรถติดใช่หรือไม่? เวลานี้เสียงจากผู้ที่ยังเงียบอยู่สำคัญมาก เพราะจะทำให้รัฐหรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประเมินตนเองได้สักทีว่าอะไรเป็นอะไร เพราะการแสดงออกด้วยความคิดเห็นเป็นสิทธิของทุกคน และปริมาณของจำนวนความคิดเห็นจากปัจเจกบุคคลเป็นอะไรที่น่ารวบรวมเพื่อแสดงทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยเริ่มต้นอย่างง่ายที่สุด เช่น พูดคุยสอบถามแม่ค้าร้านตลาด หรือคนขับแท๊กซี่

5. การเรียกหาความรับผิดชอบจากชนชั้นกลาง

ถึงแม้ชนชั้นกลางจะมีจำนวนน้อยกว่าชนชั้นล่างในประเทศนี้ แต่ชนชั้นกลางเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา เทคโนโลยี และข้อมูลข่าวสารรอบด้าน ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียจนทำให้เกิดปรากฎการณ์ต่างๆป็นชนชั้นกลาง แต่กลายเป็นว่าชนชั้นกลางเหล่านี้ไม่แสดงพลังแห่งความคิดเห็นที่ยิ่งใหญ่พอจะเสนอแนะทางออกให้กับสังคม ในขณะที่สามารถติดตามดาราดังได้เป็นแสนคน จึงกลายเป็นว่ามีผู้ที่สมอ้างว่าเป็นตัวแทนของชนชั้นกลางส่วนใหญ่เสนอตัวมาคิดแทนและเคลื่อนไหวแทน ซึ่งเหตุการณ์วุ่นวายเพิ่มขึ้นเมื่อมีผู้สมอ้างเหล่านี้มีส่วนในการก่อให้เกิดความรุนแรง ซึ่งทำให้มีเพื่อนร่วมสังคมบาดเจ็บและล้มตาย กระนั้นก็ดี คนนับแสนเหล่านั้นก็ยังเงียบอยู่ เพราะอะไรกัน?  ความเบื่อหน่ายต่อความขัดแย้งทำให้เพิกเฉยต่อชีวิตของผู้คนได้หรือ? สมมติตั้งคำถามไปยังชนชั้นกลางระดับที่ใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทรงพลังในบรรดาชนชั้นที่เคลื่อนไหวทางการเมือง น่าตั้งคำถามว่า

- จะไม่ออกมาทำอะไรเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนที่เสียหายไปบ้างหรือ?
- จะไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นส่วนตัวจากความรู้ความสามารถบ้างเลยหรือว่าคิดอย่างไรกันแน่?
- จะไม่ใช้โอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีของตนทำประโยชน์อะไรหรือ?

หรือชนชั้นกลางกำลังรอแคมเปญดีๆ ให้เข้าร่วมอยู่ แต่ทำไมไม่สร้างแคมเปญขึ้นมาเอง โดยสร้างจากกลุ่มย่อยๆ และเคลื่อนไหวจนกลายเป็นพลังทางความคิดที่เป็นกลางอยู่เคียงข้างมนุษยธรรม เป็นต้น ถ้ามีดารายอดนิยมที่มีคนติดตามเป็นแสนๆ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ด้านการอยู่เคียงข้างมนุษยธรรม การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องในทุกคนคำนึงถึงมนุษยธรรมคงมีคนสนใจไม่น้อย เสียดายว่า การทำแบบนี้เสี่ยงต่อการเปลืองตัว ไม่ได้ค่าตัว และอาจจะถูกกล่าวหาว่าเลือกข้างจากความสับสนทางจริยศาสตร์ในข้อที่ 1 ได้

ดังนั้น ชนชั้นล่างและเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจงฟัง

ใครที่จนก็จนอยู่ต่อไป ที่โง่อยู่ก็โง่อยู่ต่อไป ที่เจ็บอยู่ก็เจ็บอยู่ต่อไป

ชนชั้นกลางผู้เข้าถึงโอกาสจะไม่ทำอะไรทั้งนั้น นอกจากเงียบ

จะเอาอย่างนั้นจริงๆหรือ?

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net