Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


รายการ ฟันธง “เลือกตั้ง เลื่อน หรือไม่เลื่อน” ช่อง 11 วันที่ 27 ธันวาคม พศ 2556 กกต. สมชัย ได้ โต้แย้งการแสดงความคิดเห็นของผม ในฐานะ โฆษก สปป โดย ได้กล่าวในนาที 16.46 ว่า


“ การเปลี่ยนสถานที่มีการพูดคุยกัน มีการจัดเตรียมจริง ...การเปลี่ยนสถานที่นั้นจะต้องประกาศในราชกิจจานเบกษา ก่อนประมาณ 1วัน ... การเปลี่ยนสถานที่ไม่ใช่ประเด็นที่จะทำให้เหตุการณ์สงบหรือไม่สงบ ขึ้นอยู่กับฝ่ายที่คัดค้านว่ามีความมุ่งมั่นแค่ไหนอย่างไร ผมอ่านแถลงการณ์ของทางกลุ่ม อาจารย์ ผมก็ไม่สบายใจ เพราะบางเรื่อง อาจารย์ ไม่รู้จริง(นาที ที่ 17.17)และก็เขียนไปในแถลงการณ์ เช่นบอกว่า ทำไมไม่รับสมัครทาง อินเทอรเน็ต ทำไมไม่จับฉลากทาง vdo conference   ผมถามว่า อาจารย์อ่านกฎหมาย หรือเปล่า?

"กฎหมายบอกว่ายังไงครับ? การยื่นใบสมัครนั้น จะต้องยื่นต่อ คณะกรรมการ การเลือกตั้ง ในวัน เวลา และ สถานที่ ที่ประกาศในราชิจจานุเบกษา ถ้าไปยื่นข้างนอก ขนาดไปลงบันทึกเวลาที่โรงพักก็ยังบอกเลยว่าไปแอบรับสมัครกันข้างนอกได้อย่างไร เพราะฉะนั้น การจับสลาก ก็ต้องทำต่อหน้า กรรมการ การเลือกตั้ง

"เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆเหล่านี้ผมคิดว่าบางครั้ง สังคมไทย ศึกษาน้อยเกินไป อาจเป็นเรื่องของการที่ว่า คิด จินตนาการว่า  กกต. ทำได้ทุกอย่างทุกเรื่อง และพยายามบอกว่า กกต.มีสิ่งทำได้ดีกว่านั้น กลับไม่ทำ .....

"ผมก็เป็นห่วงว่า บางครั้งถ้าเราอยู่ในสภาพสังคม ซึ่งไม่รู้จริงและทำตัวเป็นผู้รู้
สังคมเสียหายเหมือนกัน ก็ทำให้คนสับสน ว่าทำได้หรือทำไม่ได้”


เนื่องจากผมไม่มีโอกาสโต้แย้งประเด็นกฎหมายในรายการเพราะหมดเวลาถ้าอย่างนั้นเรามาดูกฎหมายกันครับว่าใครกันแน่ที่ไม่รู้จริงใครกันแน่ที่ทำให้สังคมเสียหาย????

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และส.ว. พ.ศ.2550 (แก้ไข 2554)
มาตรา 7 บัญญัติว่า

“ เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับการเลือกตั้งดังต่อไปนี้

(1) กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งซึ่งต้องกำหนดให้มีการเริ่มรับสมัครไม่เกินยี่สิบวันนับจากวันที่
พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้บังคับและต้องกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่าห้าวัน

(2) กำหนดวันที่พรรคการเมืองจะยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งต้องกำหนดให้เป็นวันก่อนวันรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตาม(1) และกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่าห้าวัน

(3) ….”

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามาตรา7(2) แห่งพ.ร.บ.ประกอบนี้บังคับไว้แต่เพียงว่า

1 กกต. ต้องกำหนดวันที่จะยื่นรับสมัครแบบบัญชีรายชื่อ

2 วันที่รับสมัครแบบบัญชีรายชื่อต้องทำก่อนวันรับสมัครแบบเขต

3ต้องเปิดรับสมัครไม่น้อยกว่า 5 วัน

และ มาตรา 42 วรรคท้าย ให้ กกต. ประกาศ รายละเอียด เกี่ยวกับหลักฐานการสมัครและวิธีการยื่นบัญชีรายชื่อในราชกิจานุเบกษา เพื่อให้สังคมรับทราบ

เท่านั้น(!!!!)รายละเอียดที่เหลือเช่นสถานที่รับสมัครกฎหมายไม่ได้บังคับเพราะเจตนาเปิดช่องให้กกต.ใช้อำนาจในการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรจึงจัดให้มีการเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญบังคับไว้ในมาตรา 108 ก็อย่างที่ กกต.สมชัยยอมรับในรายการว่าเปลี่ยนสถานที่รับสมัครได้ก็แค่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 1วันก็มีผลใช้ได้ ซึ่ง

ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่องการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรราชกิจจานุเบกษาเล่ม 130 ตอนที่ 119 ก หน้า 22 ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ลงนามโดยนายอภิชาติ ประธาน กกต.ณขณะนั้นวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556 นั้นกำหนดว่า

ให้หัวหน้าพรรคการเมืองหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อพร้อมด้วยหลักฐานต่างๆต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตั้งแต่วันที่ 23 ถึง 27 ธันวาคม พ.ศ.  2556 ระหว่าง 8.30 น ถึง 16.30น ณ ศูนย์เยาวชนไทยญี่ปุ่นดินแดง

ซึ่งประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งนี้สามารถ(ย้ำว่า) แก้ไขได้ด้วยการออกประกาศใหม่ให้มีวิธีการที่หลากหลายมากขึ้นเพราะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และส.ว. พ.ศ.2550 บังคับแค่ 3 ประการเท่านั้นที่เหลือให้อำนาจดุลยพินิจแก่ กกต. เพื่อให้ กกต. สามารถทำหน้าที่จัดการรับสมัครเลือกตั้งได้

อีกทั้งกรณีการรับสมัครแบบ ส.ส. แบบสัดส่วนผมย้ำว่ากฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องกระทำ ณสถานที่ใดและกฎหมายไม่ได้ห้ามเปลี่ยนแปลงแก้ไขสถานที่หรือวิธีการรับสมัครเพียงแต่บังคับตาม ม 42 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และส.ว. พ.ศ.2550 ที่ให้ยื่นต่อกกต.ตามวันเวลาที่กำหนดพร้อมค่าธรรมเนียมและหลักฐานอื่นๆเท่านั้น

ซึ่งไม่เหมือนกับกรณีการรับสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่กำหนดสถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตกำหนดและทั้ง 2 กรณี (แบบบัญชีรายชื่อและแบ่งเขต) จะนำมาปนเปกันไม่ได้


บทสรุป
แถลงการณ์ฉบับที่ 3 ของสปป. นั้นเจาะจงเฉพาะท่าทีในการทำงานของกกต.บางท่านที่มีต่อปัญหาการรับสมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเท่านั้นโดยกกต.ไม่เลือกหรือหาแนวทางอื่นที่กฎหมายเปิดช่องให้ กกต.กระทำได้ โดยการออกหรือแก้ไขประกาศ กกต.เรื่องการรับสมัครเลือกตั้งได้โดยการประกาศในราชกิจานุเบกษาเพื่อลดความรุนแรงและสูญเสียต่อมนุษย์และทรัพย์สิน

ดังนั้นผมจึงเรียกร้อง กกต.ต้องทำตามหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 235 ที่บัญญัติให้ คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

เพราะ กกต. ต้องทำหน้าที่จัดให้มีการเลือกตั้ง ในวันที่ 2 กพ พศ 2557 ให้ได้ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่เป็นหน้าที่ของ กกต. ต่อ คนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้ง 48 ล้านคน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net