Skip to main content
sharethis

โบนัสยังคงเป็นของขวัญที่ทำให้คนทำงานได้รู้สึกกระชุ่มกระชวยในช่วงสิ้นปี แต่สำหรับคนทำงานโดยเฉพาะพนักงานฝ่ายผลิต “ฐานเงินเดือนต่ำ” ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ, อิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์ หรืออื่นๆ นั้นกว่าจะได้มานั้นก็ต้องผ่านข้อเรียกร้องและการประท้วงอยู่เนืองๆ

(ที่มาภาพประกอบ: padgettpayrollservices.com)

 

ว่าด้วยตัวเลข

ช่วงปลายปี 2556 ที่ผ่านมาสถาบันการศึกษา บริษัทวิจัย และสื่อสารมวลชนได้เก็บรวบรวมประเด็นว่าด้วยโบนัส ค่าตอบแทน ของคนทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจดังนี้

สถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกับวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดทำโครงการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ ปี 2556/2557 ซึ่งผลการสำรวจนี้ได้เผยแพร่เมื่อเดือน พ.ย. 2556 ที่ผ่านมา (ปีนี้ทำการสำรวจสถานประกอบการทั้งสิ้น 210 สถานประกอบการ ใน 21 กลุ่มธุรกิจ/อุตสาหกรรม) ได้ตัวเลขที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

พบว่าในส่วนค่าจ้างขั้นต้น สำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ จำแนกตามวุฒิโดยเฉลี่ยรวม พบว่า วุฒิ ปวช. จ่ายเฉลี่ย 9,477 บาท วุฒิ ปวส. จ่ายเฉลี่ย 10,475 บาท วุฒิปริญญาตรี จ่ายเฉลี่ย 14,131 บาท วุฒิปริญญาโท จ่ายเฉลี่ย 19,171 บาท และวุฒิปริญญาเอก จ่ายเฉลี่ย 26,119 บาท

เมื่อจำแนกตามสาขาวิชาพบว่า วุฒิ ปวช.สาขาการขาย/การตลาด จ่ายสูงสุด 9,602 บาท สาขาบริหารธุรกิจ จ่ายต่ำสุด 9,347 บาท วุฒิ ปวส. สาขาออกแบบและสถาปัตยกรรม จ่ายสูงสุด 10,928 บาท สาขาบริหารธุรกิจ จ่ายต่ำสุด 10,310 บาท วุฒิปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ จ่ายสูงสุด 16,486 บาท สาขาบริหารธุรกิจ จ่ายต่ำสุด 13,201 บาท วุฒิปริญญาโท สาขาวิศวกรรมศาสตร์ จ่ายสูงสุด 21,095 บาท สาขาสังคมศาสตร์ จ่ายต่ำสุด 17,285 บาท วุฒิปริญญาเอก สาขาคอมพิวเตอร์ จ่ายสูงสุด 30,552 บาท สาขาสัตวแพทย์และเทคโนโลยีอาหาร จ่ายต่ำสุด 22,010 บาท

สำหรับค่าจ้างของผู้มีประสบการณ์ จำแนกตามระดับตำแหน่งโดยเฉลี่ยรวม พบว่าระดับผู้บริหารกลุ่มงานระดับสูง จ่ายเฉลี่ย114,932 บาท ระดับผู้บริหารกลุ่มงานระดับกลาง จ่ายเฉลี่ย 61,387 บาท ระดับผู้บริหารกลุ่มงานระดับต้น จ่ายเฉลี่ย 34,964 บาท ระดับผู้ชำนาญการวิชาชีพในกลุ่มงาน จ่ายเฉลี่ย 26,967 บาท ระดับเจ้าหน้าที่ จ่ายเฉลี่ย 18,832 บาท และระดับปฏิบัติการ จ่ายเฉลี่ย 12,309 บาท ในส่วนของค่าจ้างสำหรับผู้มีประสบการณ์จำแนกตามกลุ่มงาน

พบว่าผู้บริหารระดับสูง กลุ่มงานบัญชี การเงินจ่ายสูงสุดเฉลี่ย 131,363 บาท กลุ่มงานคลังสินค้าจัดส่ง จ่ายต่ำสุดเฉลี่ย 60,739 บาท ผู้บริหารระดับกลาง กลุ่มงาน

เทคโนโลยีสารสนเทศ จ่ายสูงสุดเฉลี่ย 73,086 บาท กลุ่มงานคลังสินค้าจัดส่ง จ่ายต่ำสุดเฉลี่ย 51,463 บาท ผู้บริหารระดับต้น กลุ่มงานเลขานุการ จ่ายสูงสุดเฉลี่ย 44,118 บาท กลุ่มงานคลังสินค้าจัดส่ง จ่ายต่ำสุดเฉลี่ย 30,843 บาท ผู้ชำนาญการ กลุ่มงานเลขานุการ จ่ายสูงสุดเฉลี่ย 33,769 บาท กลุ่มงานคลังสินค้าจัดส่ง จ่ายต่ำสุดเฉลี่ย 24,904 บาท เจ้าหน้าที่ กลุ่มงานเลขานุการ จ่ายสูงสุดเฉลี่ย 25,758 บาท กลุ่มงานคลังสินค้าจัดส่ง จ่ายต่ำสุดเฉลี่ย 16,730 บาท พนักงานปฏิบัติการ กลุ่มงานเลขานุการ จ่ายสูงสุดเฉลี่ย 20,591 บาท และกลุ่มงานคลังสินค้าจัดส่ง จ่ายต่ำสุดเฉลี่ย 11,256 บาท

ผลการสำรวจด้านนโยบายการจ้าง พบว่า สถานประกอบการส่วนใหญ่มีการปรับอัตรากำลัง เฉลี่ยปีละ 1.37 ครั้ง สูงสุด 6 ครั้ง ต่ำสุดไม่มีการปรับ ในขณะที่อัตราการออกของพนักงานเฉลี่ยร้อยละ 18.90 % จากสาเหตุค่าตอบแทนหรือสวัสดิการ, การเจ็บป่วย, ศึกษาต่อ, กลับต่างจังหวัด, ต้องดูแลครอบครัว และความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ตามลำดับ

ผลสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ ประจำปี 2556 และแนวโน้มในปี 2557 พบว่า ค่าจ้างขั้นต้นสำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์เงินเดือนแรก จ้างผู้ที่จบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมเฉลี่ย 16,486 บาท สาขาเภสัชศาสตร์ 15,249 บาท สาขาวิทยาศาสตร์ 14,929 บาท สาขาคอมพิวเตอร์ 14,722 บาท สาขาคณิตศาสตร์ 14,604 บาท สาขาออกแบบและสถาปัตยกรรม 14,602 บาท สาขาพยาบาลศาสตร์ 14,417 บาท สาขาเทคโนโลยีอาหาร 14,250 บาท สาขาสัตวแพทย์ 14,224 บาท สาขาเศรษฐศาสตร์ 14,095 บาท สาขานิติศาสตร์ 13,956 บาท สาขาบัญชี การเงิน 13,875 บาท สาขาเกษตรศาสตร์ 13,777 บาท สาขาศึกษาศาสตร์ 13,749 บาท สาขานิเทศศาสตร์ 13,737 บาท สาขาศิลปกรรมศาสตร์ 13,670 บาท สาขามนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ อักษรศาสตร์ 13,613 บาท สาขาการขาย การตลาด 13,491 บาท สาขารัฐศาสตร์ 13,485 บาท สาขาคหกรรมศาสตร์ 13,395 บาท สาขาสังคมศาสตร์ 13,375 บาท สาขาบริหารธุรกิจ 13,201 บาท ตามลำดับ

คาดการณ์อัตราการปรับค่าจ้าง ประจำปี 2556 มีแนวโน้มลดลง เฉลี่ยของทุกกลุ่มอยู่ที่ 6.10 % โดยมีแนวโน้มอัตราการปรับค่าจ้างโดดเด่น 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มซอฟต์แวร์ คอมพิวเตอร์ และโทรคมนาคม 7.75 % กลุ่มสถาบัน 7.50 % และกลุ่มการค้าและบริการ 7.17 %

การจ่ายโบนัสประจำปี 2555 เฉลี่ยของทุกกลุ่มอยู่ที่ 2.29 เดือน และคาดการณ์การจ่ายโบนัสประจำปี 2556 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.48 เดือน โดยมีแนวโน้มการจ่ายโบนัสโดดเด่นประจำปี 2556 3 อันดับ ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ 4.95 เดือน กลุ่มกระเบื้อง เซรามิก 4 เดือน กลุ่มชิ้นส่วนและอะไหล่ยนต์ 3.43 เดือน

เมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นปี 2555 กับปี 2554 ทิศทางการปรับค่าจ้างขั้นต้นเพิ่มขึ้นภาพรวม ปวช. ปวส. สูงกว่าปริญญาตรีมาก ปวช. 28.94 % ปวส. 21.41 % ปริญญาตรี 4.55 % สืบเนื่องจากการปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูเก็ต เมื่อ 1 เม.ย. 55 หรือปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 39.5 % ทั่วประเทศ ทำให้มีการปรับผลกระทบเพื่อไม่ให้ค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่า ปวช. ปวส. จึงให้น้ำหนักการปรับไปที่ ปวช. ปวส.มากเป็นพิเศษ แต่ปี 2556 กับปี 2555 แรงส่งจากการปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ เมื่อ 1 ม.ค. 2556 เริ่มแผ่วลง

เนื่องจากการปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำเมื่อเทียบกับ 1 เม.ย. 2555 มีทั้งไม่ปรับเลย ปรับ 10 % ปรับ 12 % ปรับ 18 % ปรับ 20 % จนกระทั่งสูงสุดปรับ 35 % หลากหลายแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ ส่งผลทำให้การปรับเพิ่มขึ้นของ ปวช. 6.08 % ปวส. 7.79 % ปริญญาตรี 9.86 % การปรับเพิ่มขึ้นของ ปวช.กับ ปวส.ลดลง เมื่อเทียบกับปี 2555 กับปี 2554 ทิศทางการปรับกลับมาเหมือนเดิมดังในอดีตที่ผ่านมา ที่การปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น

บริษัท เฮย์กรุ๊ป ได้ทำการสำรวจองค์กรชั้นนำในประเทศไทยกว่า 200 แห่ง ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อศึกษาถึงนโยบายการจ่ายค่าตอบแทน อัตราการขึ้นเงินเดือน การจ่ายโบนัสในปี 2556 และการคาดการณ์แนวโน้มในปี 2557 จากผลสำรวจพบว่า

แนวโน้มการขึ้นเงินเดือนแต่ละอุตสาหกรรม - อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มโดดเด่นในเรื่องของการขึ้นเงินเดือนในปีพ.ศ. 2557 สูงสุด 3 อันดับแรก ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ อยู่ที่ 7.08 % ตามมาด้วยกลุ่มสาธารณูปโภค (พลังงานไฟฟ้า) อยู่ที่ 6.91 % และกลุ่มเคมีภัณฑ์อยู่ที่ 6.64 % เนื่องด้วยเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการผู้มีความเชี่ยวชาญด้านสายอาชีพเฉพาะทาง

ทั้งนี้ แนวโน้มการขึ้นเงินเดือนในปี 2557 โดยเฉลี่ยของทุกอุตสาหกรรมลดลงเล็กน้อย โดยปีนี้อยู่ที่ 6.13 %ในขณะที่ปีที่แล้วอยู่ที่ 6.18 %

แนวโน้มการขึ้นเงินเดือนตามระดับของพนักงาน - หากพิจารณาการขึ้นเงินแยกตามระดับของพนักงาน พบว่าพนักงานระดับล่างจะมีอัตราการขึ้นเงินเดือนสูงกว่าพนักงานระดับบน โดยในปี 2557 กลุ่มพนักงานที่มีประสบการณ์ (Supervisory/Junior Professional) มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นเงินเดือนสูงกว่าพนักงานระดับอื่น โดยอยู่ที่ 6.21 %

แนวโน้มการจ่ายโบนัสในแต่ละอุตสาหกรรม - ในส่วนของการจ่ายโบนัสรวมประจำปี 2556 มีแนวโน้มว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับโบนัสสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มสาธารณูปโภค โดยอัตราการจ่ายอยู่ที่ 4.73 เดือน ตามด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ อยู่ที่ 3.91 เดือน และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต อยู่ที่ 3.66 เดือน

เปรียบเทียบการจ่ายค่าตอบแทนในแต่ละอุตสาหกรรม - จากผลการสำรวจพบว่า อุตสาหกรรมที่จ่ายเงินเดือน (Basic Salary) สูงสุด 3 อันดับแรกในปีนี้ คือ กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ตามด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) และกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

อัตราการลาออกตามระดับของพนักงาน - อัตราการลาออกของพนักงานโดยเฉลี่ยในปี 2556 นั้นไม่แตกต่างจากปี 2555 โดยอัตราการลาออกของพนักงานยังคงอยู่ที่ 13 % และพนักงานระดับปฏิบัติการ (Clerical/ Operations) ก็ยังคงมีอัตราการลาออกสูงที่สุด (13 % ในปี 2555 และ 14 %ในปี 2556)

นโยบายการบริหารค่าจ้างค่าตอบแทน - หากพิจารณาการบริหารโครงสร้างเงินเดือนพบว่า องค์กรส่วนใหญ่ ยังคงใช้โครงสร้างค่าตอบแทนรูปแบบเดียวสำหรับทุกตำแหน่งในองค์กร อย่างไรก็ตาม องค์กรหลายแห่งเริ่มมีแนวโน้มการบริหารโครงสร้างค่าตอบแทนมากกว่า 1 โครงสร้างมาใช้ในองค์กร เช่น การบริหารเฉพาะสายงาน โดยเฉพาะสายงานที่มีการแข่งขันสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด

นอกจากนี้ องค์กรส่วนมากยังใช้เงินเดือนพื้นฐาน (Basic Salary) ในการบริหารค่าตอบแทน แต่ก็มีแนวโน้มว่าหลายองค์กรจะเปลี่ยนจากการมองแค่เงินเดือนพื้นฐาน มาเป็นการมองค่าจ้างค่าตอบแทนแบบโดยรวม (Total Remuneration)

เมื่อพิจารณาด้านนโยบายการจ่ายค่าจ้างค่าตอบแทน แม้องค์กรส่วนมากจะกำหนดนโยบายการจ่ายค่าจ้างค่าตอบแทนที่ค่ากลางเมื่อเปรียบเทียบกับตลาด (P50) แต่พบว่าองค์กรหลายแห่งมีแนวโน้มกำหนดนโยบายการจ่ายมากกว่าค่ากลาง (P50 - P75) เนื่องจากตลาดการแข่งขันด้านอัตราค่าตอบแทนมีการแข่งขันสูงขึ้น ฉะนั้นหลายองค์กรจึงต้องการจะจ่ายค่าตอบแทนพนักงานสูงกว่าค่ากลางของตลาดเพื่อจะดึงดูดและรักษาพนักงานเอาไว้

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ได้สำรวจการจ่ายโบนัสพนักงานและผู้บริหารของผู้ประกอบการสาขาต่างๆ ในช่วงปลายปี 2556 มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

อุตสาหกรรมยานยนต์ - โตโยต้าให้โบนัสพนักงานรวม 10 เดือน พร้อมเงินพิเศษ สำหรับเที่ยวสงกรานต์อีก 20,000 บาท ส่วนระดับผู้บริหารรับโบนัส 11 เดือน พร้อมเงินพิเศษอีก 20,000 บาท, ฮอนด้า ออโตโมบิล ให้โบนัส 6 เดือน และมีการเพิ่มเงินพิเศษสำหรับพนักงานในช่วงฟื้นฟูโรงงานอีก 2 เดือน, เอ.พี.ฮอนด้า (ผู้ผลิตและจำหน่ายจักรยานยนต์) แบ่งจ่ายกลางปี 6 เดือน และสิ้นปีอีก 2 เดือน, นิสสัน 6 เดือน โดยแบ่งจ่าย 1 มกราคม 2557 รับขวัญปีใหม่จำนวน 1 เดือน และที่เหลือจ่ายวันที่ 31 พฤษภาคม 2557, เชฟโรเลต จ่ายโบนัส 5 เดือน แบ่งเป็น 4+1 (Variable bonus จ่ายทุกไตรมาส และ Fix bonus 1 เดือน), มาสด้า ในวันที่ 31 ธันวาคม นี้จะมอบให้ก่อน 1 เดือน และจะประกาศอีกครั้งในเดือน เมษายน 2557, มิตซูบิชิให้โบนัส 8 เดือน พร้อมเงินพิเศษอีก 55,000 บาท

กลุ่มธนาคารพาณิชย์และธุรกิจการเงิน - (ปกติธุรกิจในกลุ่มนี้จะให้โบนัสพนักงานเป็นขั้นบันไดตามผลงาน และเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 เดือน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน(บมจ.) จ่ายโบนัสตามเกรด เช่น ผลงานดีเยี่ยม เกรด A+ ซึ่งจะมีประมาณ 5 % ของทั้งองค์กรกว่า 2 หมื่นคน ได้โบนัสตั้งแต่ 4 เดือน ถึงสูงสุด 6 เดือน ทั่วไปเฉลี่ยได้ 3.25 เดือน โดยจะจ่ายงวดที่ 2 ในวันที่ 25 ธันวาคม, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยให้โบนัสตามผลงาน แต่เฉลี่ยอยู่ที่ 1 เดือน, บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จ่ายอย่างต่ำ 1 เดือน และจะจ่ายโบนัสพิเศษให้พนักงานตามผลงานในเดือนมีนาคม 2557 โดยยังไม่ระบุวงเงินสูงสุดต่ำสุด, บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิทฯ (บสส.) อนุมัติให้จ่ายเงินโบนัสทั้งองค์กรในอัตรา 4 เดือน

กลุ่มธุรกิจประกันชีวิต - บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด น่าจะมีการจ่ายโบนัสใกล้เคียงกับปี 2555 เฉลี่ยประมาณ 5 เดือน ซึ่งต้องรอผ่านการพิจารณาโดยบอร์ดบริหารก่อนในต้นเดือนมกราคม 2557 ก่อน, บริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)  (บมจ.) เฉลี่ยที่ 3 เดือน ส่วนฝ่ายสินไหมและการรับประกันภัยเฉลี่ยประมาณ 4  เดือน, บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จ่ายโบนัสพนักงานเฉลี่ย 1 เดือน ลดลงจากปีก่อนที่ให้ 3 เดือน

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ - บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) โบนัสปลายปีก็อาจใกล้เคียงกับปีก่อน คือสูงสุด 12 เดือนสำหรับพนักงานที่มีผลงานยอดเยี่ยม โดยปกติ แอล.พี.เอ็น.จ่ายโบนัสให้พนักงานเดือนธันวาคม หลังจากกลางปีจ่ายไปแล้ว 3 เดือน ที่เหลือจะจ่ายอีกครั้งสิ้นปี

กลุ่มอุตสาหกรรมการบิน - บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ประกาศจ่ายโบนัส 11 เดือน, บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) จ่ายโบนัส 4 เดือน, สายการบินนกแอร์จ่ายโบนัสให้พนักงานไปก่อนหน้าแล้ว 2 เดือน คาดจะจ่ายอีก 2 เดือนก่อนสิ้นปี 2556 นี้, ไทยแอร์เอเชีย คาดว่าจะจ่ายโบนัสราว 4 เดือน, บางกอกแอร์เวย์ส คาดว่าจะจ่ายสูงสุด 6 เดือน โดยเป็นการประเมินตามผลงานแต่ละคน

กลุ่มธุรกิจโรงแรม - จากการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่จะจ่ายเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1 เดือน เช่น เครือโรงแรมเซ็นทาราเฉลี่ยจ่ายไม่ต่ำกว่า 1 เดือน ส่วนรายที่ผลประกอบการดีจะจ่ายเพิ่มและเฉลี่ยบางโรงแรมเคยจ่ายสูงสุดถึง 1.7 เดือน

กลุ่มธุรกิจสื่อ (ข่าว,บันเทิง) - หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจจ่ายโบนัสไม่ต่ำกว่า 1 เดือน, หนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น และคมชัดลึก จ่ายโบนัสไม่ต่ำกว่า 1 เดือน, โพสต์ทูเดย์ จ่ายโบนัสจำนวน 5 สัปดาห์, เครือมติชนคาดว่าจะได้โบนัส 2 เดือน แบ่งจ่ายออกเป็น 2 ครั้งครั้งละ 1 เดือนเช่นเดียวกับปีก่อน, จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จ่ายโบนัสลดลงเหลือเฉลี่ย 1 เดือน ต่ำกว่าปีก่อนที่จ่ายโบนัส 2 เดือน, วอยซ์ทีวี แม้จะยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าจะไม่ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งจ่ายโบนัส 2 เดือน

กลุ่มธุรกิจสื่อสาร (มือถือ) - (ปกติการจ่ายโบนัสพนักงานของค่ายมือถือเป็นแบบขั้นบันไดตามผลงานแต่ละคน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ให้โบนัสปี 2556 อัตราสูงสุด 6 เดือน โดยขึ้นกับผลงาน และจะจ่ายได้ในเดือนกุมภาพันธ์หน้า, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ที่จ่ายโบนัสในเดือนกุมภาพันธ์ โดยโบนัสปี 2556 จะได้ที่อัตรา 3 เดือน, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จะจ่ายหลังตรุษจีน แต่ปีนี้ยังไม่สรุปตัวเลข

 

ความขัดแย้ง

ทั้งนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงานได้คาดการณ์ไว้ว่าช่วงปลายปี 2556 นี้ข้อพิพาทระหว่างนายจ้าง-แรงงานมากกว่าปีที่ 2555 เนื่องจากพนักงานได้ยื่นขอโบนัสไม่ได้ตามข้อเรียกร้องโดยเฉพาะ “ฝ่ายผลิต” ในอุตสาหกรรมยานยนต์-ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ ที่มี “ฐานเงินเดือนต่ำ”

กรณีที่น่าตกใจเกิดในหลายที่ เช่น กรณีกลุ่มสหพันธ์ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย ภายในนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการได้รวมตัวประท้วงบริษัทในเครืออุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากเคยได้โบนัสปีละ 8 เดือน และยื่นข้อเรียกร้องขอเพิ่มเป็น 10 เดือน แต่บริษัทกลับจ่ายเพียง 1 เดือนเท่านั้น

นอกจากนี้ในรอบปลายปี 2556 ที่ผ่านมามี ยังมีตัวอย่างความขัดแย้งในเรื่องการจ่ายโบนัสระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง อาทิเช่น

- กันยายน 2556 พนักงานบริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายเส้นใยสังเคราะห์รายใหญ่ได้พร้อมใจกันหยุดงานประท้วงบริษัท เนื่องจากไม่พอใจที่ได้โบนัสน้อยลงจาก 136 วัน เหลือ 45 วัน ทั้งที่บริษัทมีกำไรจำนวนมาก

- ตุลาคม 2556 สหภาพแรงงานรอยัลปอร์ชเลน กลับเข้าทำงานแล้วหลังเจรจามานานกว่า 5 เดือน (หลังยื่นข้อเรียกร้อง 30เมษายน 2556) จนนายจ้างปิดงาน และลูกจ้างนัดหยุด กลางเดือนกันยายน 2556 นายจ้างยอมจ่ายโบนัสเท่าเดิมหลังขอลดไม่สำเร็จ โดยผลการเจรจาล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 นายจ้างบริษัท รอยัลปอร์ซเลน จำกัด(มหาชน) ได้ตกลงจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานเท่าเดิม คือ 73 วัน

- ตุลาคม 2556 ภายหลังที่พนักงานได้รวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ แต่ทางบริษัท สแตนเล่ย์ เวิร์คส์ จำกัด ได้มีการยื่นข้อเรียกร้องสวนต่อสหภาพแรงงาน เพื่อขอยกเลิกข้อตกลงสภาพการจ้างเดิมที่เคยปฏิบัติมาทั้งหมด รวมถึงการยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มเติมเรื่องการไม่ปรับขึ้นเงินโบนัสและจำนวนเงินขึ้นประจำปีเป็นเวลารวม 3 ปี

- พฤศจิกายน 2556 พนักงานบริษัท เวีย โลจิสติก จำกัด ได้ประท้วงหลังนายจ้างประกาศงดจ่ายโบนัสประจำปี พร้อมยื่นข้อเรียกร้อง ให้นายจ้างปรับเงินเดือนเท่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย และปรับขั้นส่วนต่างประจำปี พร้อมทั้งเสนอให้มีการปรับโบนัสจากเดิม 3 เดือนเป็น 4 เดือน

- พฤศจิกายน 2556 สหภาพแรงงานเซ็นโกเบนซีคิวริท ประเทศไทย ได้ยื่นข้อพิพาทแรงงานที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดระยอง หลังจากที่มีการเจรจาไปแล้วแต่ยังหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้ โดยทางฝ่ายนายจ้างอ้างว่าปีนี้บริษัทมีปัญหาด้านคุณภาพ ผลประกอบการผลกำไรน้อยไม่สามารถจ่ายโบนัสตามที่ทางสหภาพฯ ร้องขอได้โดยทางสหภาพฯได้ขอให้ทางนายจ้างแสดงข้อมูลผลประกอบการผลกำไรของทางบริษัทฯ แต่ทางฝ่ายนายจ้างปฏิเสธโดยอ้างว่าเป็นนโยบายของบริษัทฯไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้

- พฤศจิกายน 2556 สหภาพแรงงานมิตซูบิชิมอเตอร์แห่งประเทศไทย ขอมตินัดหยุดงานหลังเจรจา 25 ครั้งยังตกลงไม่ได้ โดยทางสหภาพแรงงานฯ เสนอตัวเลขโบนัสที่ 8 เดือนพร้อมเงินบวก 95,000 บาทและการปรับเงินค่าจ้างประจำปีที 7.5% พร้อมเงินบวก 570 บาท

- ธันวาคม 2556 บริษัท ยามาฮ่ามอเตอร์พาร์ทแมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จํากัด ได้มีการประกาศชี้แจงการจ่ายโบนัส และผลประกอบการปลายปีของบริษัท ต่อลูกจ้างซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ลูกจ้างเป็นอย่างมากจนเกิดการรวมตัวเพื่อเรียกร้องต่อบริษัทให้จ่ายผลโบนัสเพิ่ม จากเดิม 1เดือน+10,000 บาท เพิ่มเป็น 1 เดือน+20,000 บาท

- ธันวาคม 2556 พนักงานบริษัทไทยบริดจสโตน จำกัด โรงงานผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ของประเทศ เรียกร้องเงินโบนัสจำนวน 5 เดือน แต่ทางผู้บริหารได้เสนอจ่ายโบนัสให้ 3 เดือน บวกเงินพิเศษเพิ่มให้อีก 5,000 บาท

 

0 0 0

สำหรับคนทำงานส่วนใหญ่ในประเทศแล้วโดยเฉพาะฝ่ายผลิต ด้วยฐานเงินเดือนที่ต่ำทำให้เงินก้อนอย่างโบนัสในช่วงปลายปีจึงดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่สร้างความกระชุ่มกระชวยให้มีเรี่ยวแรงทำงานต่อไปในปีถัดไป

ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว ระบบจูงใจโดยใช้โบนัส (Incentive bonus system) คือ “ค่าตอบแทนที่จ่ายให้กับคนงาน โดยถือเกณฑ์จากยอดกำไรของกิจการ เป็นการจูงใจคนงานเพื่อให้มีกำลังใจทำงานเพื่อให้เกิดกำไร ยิ่งกิจการมีกำไรมาก คนงานยิ่งได้โบนัสมากให้แก่คนงานที่สามารถเพิ่มผลผลิตตามจำนวนที่กำหนดไว้”

แต่ในโลกแห่งการแข่งขันของภาคธุรกิจเพื่อเป้าหมายกำไรสูงสุดนั้นและ “โบนัส” ถือเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งที่นายจ้างที่ชอบดำเนินกิจการด้วยการเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในบางที่มักจะพร้อม “ตัด-ลด-แช่แข็ง” อยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุผลนานานัปการ โดยเฉพาะตัวเลขกำไรของบริษัทที่มักจะนำมาอ้างเฉพาะในห้วงเวลาที่ขาดทุนเท่านั้น

นอกจากนี้ยังพบว่าในสถานประกอบการณ์หลายแห่งที่ใช้นโยบายจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานแบบยืดหยุ่น ก็มักจะยอมจ่ายโบนัส (อันเป็นต้นทุนแปรผัน) ก้อนใหญ่เพื่อเป็นการตอบแทนจูงใจให้พนักงาน มากกว่าการพิจารณาปรับขึ้นฐานเงินเดือนอันเป็นต้นทุนคงที่

“ฐานเงินเดือนต่ำ” จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนทำงาน-องค์กรสหภาพแรงงาน (สำหรับพนักงานฝ่ายผลิตค่าแรงต่ำ) หลายที่ต้องเรียกร้อง “โบนัส” ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป (เจรจา, ชุมนุมประท้วง, จนถึงขั้นหยุดงานประท้วง) ซึ่งภาพที่คนทั่วไปนำมามองนั้นมักจะมาพร้อมกับคำว่า “เห็นแก่ตัว” หรือไม่ก็ “ไม่รู้จักพอ”

แต่หากเอาตัวเลขผลประกอบการของนายจ้างมากางกันดูจริงๆ นำผลผลิตและผลกำไรต่างๆ มาเปรียบเทียบสิ่งที่พนักงานต้องนำไปแลก ไม่ว่าจะเป็น ความทุ่มเท, การใช้ชีวิตเกือบตลอดทั้งวันในโรงงาน และอื่นๆ เราอาจจะมีมุมมองเปลี่ยนไปบ้างก็ได้.

 

 

 

ข้อมูลบางส่วนจาก:

ส.อ.ท.สำรวจโบนัสปี 56 เฉลี่ย 2.48 เดือน รถยนต์สูงสุด, คอลัมน์ เข็มทิศเศรษฐกิจ, ประชาชาติธุรกิจ, 22 พฤศจิกายน 2556

อู้ฟู่! โบนัส 11 เดือน โบรกเกอร์รอเฮ 15 เดือน/ค่ายรถยนต์-ประกัน-แบงก์ไม่น้อยหน้า, คอลัมน์ : Big Stories, หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ, วันพุธที่ 18 ธันวาคม 2013

เฮย์กรุ๊ป เผยผลสำรวจเงินเดือนและการจ่ายโบนัส, haygroup.com, 8 พฤศจิกายน 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net